คอลัมนิสต์

กำลังพลตรึง 1 ต่อ 10 ยังไม่สงบไฟใต้จ่อ 15 ปีสูญงบ 3 แสนล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กำลังพลตรึง 1 ต่อ 10 ยังไม่สงบไฟใต้จ่อ 15 ปีสูญงบ 3 แสนล้าน : รายงาน  โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร 



 
          ถึงนาทีนี้ “บิ๊กเดฟ” พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ เริ่มทำงานแล้ว พร้อมนโยบายใหม่ๆ ที่พกมาเต็มกระเป๋า

 

          อย่างเมื่อวานก็เดินสายพบปะพระสงฆ์และพี่น้องไทยพุทธ 3 จังหวัด ทั้งยะลา นราธิวาส และปัตตานี โดย “บิ๊กเดฟ” เดินสายไปทุกที่ทั้ง 3 จังหวัดด้วยตนเอง

          แต่คำถามที่หลายคนสนใจก็คือ เมื่อแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อม นโยบายพร้อม แล้วกำลังพลในพื้นที่มีความพร้อมแค่ไหน ที่สำคัญหลายคนยังคงสงสัยว่าฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะทหาร ตำรวจ ใช้กำลังพลจำนวนเท่าไรกันแน่ในการควบคุมสถานการณ์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

          จากการตรวจสอบข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงพบว่าพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส บวกกับอีก 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีปัญหาความไม่สงบนั้น นับเป็นอำเภอมีทั้งสิ้น 37 อำเภอ สถานะของแต่ละพื้นที่ขณะนี้แบ่งได้เป็น 3 ระดับตามสภาพปัญหาความรุนแรงและแนวทางการจัดการปัญหา ได้แก่

 

 

กำลังพลตรึง 1 ต่อ 10 ยังไม่สงบไฟใต้จ่อ 15 ปีสูญงบ 3 แสนล้าน

 


          หนึ่ง พื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงและ 8 เมืองเศรษฐกิจ รวม 11 อำเภอ (เดิมเรียกว่าพื้นที่สีแดง) พื้นที่เหล่านี้จะยังมีปฏิบัติการทางทหารต่อไป และมีความเข้มข้นในการตรวจตรามากเป็นพิเศษเพื่อป้องกันเหตุร้าย กำลังพลหลักที่ใช้จะเป็น “ทหาร” ทั้งทหารหลักและทหารพราน รวมถึงนาวิกโยธิน


          สอง พื้นที่เร่งรัดพัฒนามี 16 อำเภอ (เดิมเรียกว่าพื้นที่สีเหลือง) พื้นที่เหล่านี้จะเป็นเป้าหมายของงานพัฒนา เพราะเหตุรุนแรงเริ่มเบาบาง ใช้กำลังทหารพราน ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกองกำลังภาคประชาชนในการดูแลความปลอดภัย

 

 

          สาม พื้นที่เสริมสร้างการพัฒนามี 10 อำเภอ (เดิมเรียกว่าพื้นที่สีเขียว) พื้นที่เหล่านี้มีเหตุรุนแรงเบาบาง สถานการณ์เกือบๆ จะเป็นปกติ จึงมุ่งต่อยอดงานพัฒนาและส่งเสริมการลงทุน ใช้กำลังตำรวจโรงพัก ตชด. และกองกำลังภาคประชาชนในการดูแลความปลอดภัย


          สำหรับกำลังพลที่ใช้ในภารกิจดับไฟใต้รวมทั้งหมดอยู่ที่ 39,465 นาย แยกเป็นทหาร 24,004 นาย ตำรวจ 9,809 นาย พลเรือน อส. 5,652 นาย นอกจากนั้นยังมีกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคงอีก 95,974 คน รวมกำลังพลทุกฝ่าย 135,439 นาย

 

          กำลังพลขนาดนี้เทียบกับจำนวนประชากรเกือบๆ 2 ล้านคนที่ชายแดนใต้ ต้องบอกว่ามีกำลังของภาครัฐดูแลพี่น้องประชาชนเฉลี่ยเกือบๆ 1 ต่อ 10 เลยทีเดียว!


          เมื่อรู้ตัวเลขกำลังพลแล้วอีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คืองบประมาณที่ใช้ในภารกิจดับไฟใต้ จากเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 “งบดับไฟใต้” ถูกบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (ยุทธศาสตร์ที่ 1) ใช้ชื่อว่าแผนบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งงบไว้ที่ 12,025.3 ล้านบาท 


          “งบดับไฟใต้” ที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น 12,025.3 ล้านบาทนี้ ลดลงจากงบประมาณปี 2561 เล็กน้อย โดยงบปี 2561 อยู่ที่ 13,295.4 ล้านบาท ส่วนงบปี 2560 อยู่ที่ 12,692 ล้านบาท โดยตัวเลขงบดับไฟใต้ นับเฉพาะงบยุทธศาสตร์ตามแผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ “งบฟังก์ชัน” เท่านั้น ยังไม่รวมงบบุคลากร งบเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มพิเศษ และงบอื่นๆ อีกจำนวนมาก


          สำหรับงบดับไฟใต้ปี 2562 จำนวน 12,025.3 ล้านบาท กระจายอยู่ในกระทรวงและหน่วยงานระดับกระทรวง รวมถึงองค์กรอิสระรวม 16 หน่วยงานที่สำคัญก็เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จำนวน 3,821 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม 1,518 ล้านบาท (แยกตามเหล่าทัพ) กระทรวงมหาดไทย 1,601 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในกำกับ 1,419 ล้านบาท และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 1,958 ล้านบาท


          การใช้จ่ายงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติงานความมั่นคงและงานพัฒนา นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 เป็นต้นมา จนถึงปีล่าสุด คือปีงบประมาณ 2562 รวม 16 ปีงบประมาณ ยอดรวมงบดับไฟใต้ทะลุ 3 แสนล้านบาทไปแล้ว แยกแยะเป็นรายปีงบประมาณได้ดังนี้ 


          ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 16,277 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 21,124 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 25,921 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 25,744.3 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 30,886.6 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 12,692 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 13,255.7 ล้านบาท และปี 2562 จำนวน 12,025.3 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 302,926.9 ล้านบาท


          ข้อน่าสังเกตก็คือ ตั้งแต่งบประมาณปี 2560 เป็นต้นมา งบดับไฟใต้ดูเหมือนจะต่ำลง แต่จริงๆ แล้วในรัฐบาลคสช. นับรวม “งบดับไฟใต้” เฉพาะที่อยู่ในแผนงานบูรณาการเท่านั้น ไม่รวมงบเบี้ยเลี้ยงกำลังพล ค่าตอบแทนพิเศษและค่าเสี่ยงภัยของข้าราชการทุกหน่วยที่ปฏิบัติงานอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ทั้งยังไม่รวมงบบริหารจัดการ หรือที่ทหารเรียกว่า “งบทรงชีพ” ของหน่วยงานพิเศษที่รับผิดชอบเฉพาะภารกิจดับไฟใต้อย่าง ศอ.บต. และกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าด้วย 


          งบมหาศาลขนาดนี้กำลังพลฝ่ายรัฐก็มากมายกว่า 130,000 คน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไฟใต้จะต้องสงบเสียที!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ