คอลัมนิสต์

เรตติ้งพุ่ง!!"บิ๊กตู่"ขยับลงการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรตติ้งพุ่ง!!"บิ๊กตู่"ขยับลงการเมือง : รายงาน โดย... ทีมข่าวเฉพาะกิจออนไลน์  


          เหตุผลที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศตัวลงสนามการเมืองอย่างเป็นทางการไปนั้น เป็นเพราะบิ๊กตู่มั่นใจแล้วว่า คะแนนเสียงที่จะได้ในการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ จะผลักดันให้กลับมานั่งเป็น ‘นายกรัฐมนตรี’ อีกสมัย ภายหลังรับผลวิจัยเช็ก ‘เรตติ้ง’ ของตัวเองที่จัดทำโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขยับสูงในทุกภูมิภาค
นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ได้ทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดในการแก้ไขปัญหาในทุกๆ ด้านของประเทศ ควบคู่ไปกับการทำวิจัยความพึงพอใจและความต้องการของประชาชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยคาดหวังแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดเเละตรงความต้องการ

          โดยก่อนหน้านี้ กอ.รมน. ได้เก็บข้อมูลความพึงพอใจและความต้องการของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลคสช.ใน 3 โครงการ ประกอบด้วย ปี 2558 โครงการสำรวจทัศนคติและความต้องการของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติปี 2559 โครงการสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยเพื่อการสร้างสังคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และปี 2560 โครงการสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อการดำเนินงานตามนโยบายสัญญาประชาคมความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองของรัฐบาลสนับสนุนศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป

          เมื่อพิจารณาทั้ง 3 โครงการ จะเห็นได้ว่าความพึงพอใจของประชาชนภาพรวมทั้งประเทศที่มีต่อพล.อ.ประยุทธ์ เพิ่มสูงในช่วงต้นของการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน คะแนนเต็ม 10 ได้ 7.02 และค่อยๆ ลดระดับลง ในช่วงปี 2560 เหลือ 5.73 แต่เมื่อนำตัวเลขมาเปรียบเทียบกับความนิยมของประชาชนต่อพรรคเพื่อไทยที่ได้ 4.68 ถือว่าคะเเนนของพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในระดับที่มากกว่า

          หากดูตัวเลขเป็นรายภูมิภาค พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนเหนือกว่า พรรคเพื่อไทย คือ ภาคกลาง 5.83 เพื่อไทย 5.18 ภาคใต้ 5.67 เพื่อไทย 4.98 คะแนน และกรุงเทพมหานคร 5.75 เพื่อไทย 4.68 ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานทิศนั้น พรรคเพื่อไทยที่ได้ 5.84 ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ได้ 5.78 สำหรับภาคเหนือ อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือพรรคเพื่อไทย 5.63 พล.อ.ประยุทธ์ 5.62

          แม้ผลวิจัยของกอ.รมน. เมื่อปี 2560 ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ “สอบผ่าน" เพราะความพึงพอใจของประชาชนอยู่ในระดับปานกลาง แต่ตัวเลขดังกล่าวยังไม่เพียงพอ หากบิ๊กตู่คิดจะกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ‘ยุทธวิธี’ ลงพื้นที่ด้วยตัวเองของพล.อ.ประยุทธ์ โดยเลือกจังหวัดที่มีคะแนนเสียงไม่เข้าเป้าผ่านครม.สัญจร พร้อมทุ่มงบประมาณจึงเริ่มขึ้น

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประชากรติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศ คือ ‘ตัวแปร’ สำคัญในการกำหนดทิศทางการเมือง ไม่เพียงแต่พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นที่มองเห็น พรรคเพื่อไทยยังต้องการรักษาฐานเสียงสำคัญตรงนี้เอาไว้ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาเเละชาติพัฒนา ต่างรักษาพื้นที่นี้ไว้ และจากฐานข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคง กองทัพภาคที่ 2 พบความเคลื่อนไหว 3 พรรคการเมือง (เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย) และกลุ่มสามมิตร กำลังแย่งชิงพื้นที่มวลชนผ่านกิจกรรมงานบุญ

          พื้นที่สำคัญนี้ที่มีจำนวนส.ส.มากที่สุดในเมืองไทย (ประชากร 189,110 คน ต่อ ส.ส. 1 คน) ดังนั้น จึงต้องปรับลดส.ส.เขตใน 23 จังหวัดลง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยภาคอีสานมีการปรับลดส.ส.ลงมากที่สุด 10 เขต ใน 10 จังหวัด จังหวัดละ 1 เขต (เดิมมี 126 เขต ปัจจุบันเหลือ 116 เขต) ) พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีคะแนนตามหลังคู่แข่งสำคัญอย่าง ‘พรรคเพื่อไทย’ จึงเป็นที่มาครม.สัญจรที่ จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2561 และ จ.อุบลราชธานี-อำนาจเจริญ-ยโสธร-ศรีสะเกษ วันที่ 23-24 กรกฎาคม 2561 รวมทั้งครม.สัญจร จ.เลยเเละเพชรบูรณ์ ​17-18 กันยายน 2561 ในขณะที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้วิธีการเดียวกัน ขยับคะแนนที่ดีอยู่แล้วให้เพิ่มสูงยิ่งขึ้น 

          ตอกย้ำด้วย “นโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” และการคืนฉโนดที่ดินทำกินให้ประชาชนทั่วประเทศ ที่ได้ใจไปเต็มๆ หลังพบตัวเลขคนอีสานทั้ง 20 จังหวัด เป็นหนี้นอกระบบสูงสุดในประเทศถึง 570,000 ราย และมีการคืนโฉนดที่ดินไปแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี และกาฬสินธุ์ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานทั้ง 3 ครั้งนั้นแสดงให้เห็นความสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลางมีคนเป็นหนี้นอกระบบสูงอันดับสอง ภาคเหนือและภาคใต้ ลดหลั่นลงมา โดยมีตำรวจภูธรภาคเป็นประธานในการคืนโฉนดที่ดิน

          “การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและคืนโฉนดที่ดินให้ชาวบ้าน เป็นนโยบายได้ใจชาวบ้าน เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการแต่ไม่รู้จะไปพึ่งใคร ภาคอีสานทำได้ประสบความสำเร็จมากที่สุด คสช.จึงให้กองทัพภาคที่ 1, 3 และ 4 มาดูแนวทางการแก้ปัญหาของทัพภาค 2 และจากนโยบายดังกล่าวทำให้คะแนน คสช.ขยับเพิ่มขึ้นจากตัวเลขผลสำรวจปี 2560 ประมาณ 1-2% โดยคะแนนความนิยมไต่ระดับขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นที่พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหาร” แหล่งข่าวหน่วยงานความมั่นคง ระบุ

          สำหรับงานวิจัยของกอ.รมน.ที่เคยทำไว้ในช่วง 6 เดือนแรกหลังการรัฐประหาร ประชาชนพึงพอใจการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ ในภาพรวมของประเทศจากคะแนนเต็ม 10 ได้ 7.02 คะแนน ส่วนในรายภูมิภาค พบว่า ภาคเหนือ 6.94 คะแนน ภาคกลาง 7.09 คะแนน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6.83 คะแนน ภาคใต้ 7.36 คะแนน ส่วนกรุงเทพมหานคร 6.93 คะแนน

          เมื่อนำเปรียบเทียบตารางระดับคะแนนของกอ.รมน.ที่กำหนดไว้ คือ คะแนน 1.00-2.80 หมายความว่า พึงพอใจมาก คะแนน 2.81-4.60 หมายความว่า พึงพอใจในระดับน้อย คะแนน 4.61-6.40 หมายความว่า พึงพอใจในระดับปานกลาง คะแนน 6.41-8.20 หมายความว่า พึงพอใจในระดับมาก คะแนน 8.21- 10.00 พึงพอใจระดับมากที่สุด

          "การวิจัยครั้งนี้เปลี่ยนรูปแบบ และต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะกำลังเข้าสู่ห้วงการเลือกตั้ง การดำเนินการใช้ทีมงานชุดเดิมในการลงพื้นที่เกาะติดทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด รวมถึงการพูดคุยสอบถามประชาชนด้วยปากเปล่า ผลวิจัยที่ได้มา นายกรัฐมนตรี พอใจเพราะตัวเลขบ่งชี้ว่าประชาชนพึงพอใจในระดับมาก ในขณะเดียวกันการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ทำให้ท่านได้ไปเห็นกับตา ได้ยินกับหู จึงทำให้ท่านมีความมั่นใจมากขึ้น” แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุ

          นอกจากผลสำรวจคะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์แล้ว กอ.รมน.ยังวิเคราะห์สถานการณ์ “พรรคเพื่อไทย” ว่า “จะไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเหมือนเช่นการเลือกตั้งที่ผ่านมา” เนื่องจากความไม่ชัดเจนคนมานั่งเป็นแกนนำ และอดีตส.ส.ในสังกัดย้ายพรรคโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน

          ขณะที่ "พรรคประชาธิปัตย์” มีปัญหาภายใน มีการเสนอชื่อบุคคลขึ้นมาแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำงานการเมืองไม่เข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ส่วนภาคใต้และภาคกลาง กำลังจะเสียฐานเสียงสำคัญให้กลุ่มกปปส. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ในฐานะที่ปรึกษาพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์

          กอ.รมน.ประเมินตัวเลขพบว่า การเลือกตั้งในปีหน้าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะได้ส.ส.รวมกันไม่น่าจะพอตั้งรัฐบาลผสมโดยสองพรรคนี้ได้ (ค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณ 10-20%) จึงเป็นที่มาของประโยค “ผมสนใจงานการเมือง” ของพล.อ.ประยุทธ์

          เเหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงระบุด้วยว่า คะเเนนนิยมปีนี้ของพล.อ.ประยุทธ์ ขยับขึ้นกว่าปีที่เเล้ว โดยเฉพาะจังหวัดที่คะเเนนนิยมต่ำ โดยโครงการรัฐบาลเเละการลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ของครม.สัญจร ช่วยทำให้คะเเนนนิยมดีขึ้นเเละเน้นวัดคะเเนนนิยมกับพรรคเพื่อไทย โดยตอนนี้พล.อ.ประยุทธ์มีเรตติ้งดีกว่าเเบบเห็นชัด

          เเหล่งข่าวกล่าวอีกว่าตรงนี้จะช่วยให้ผู้สมัครส.ส.ที่จะมาสังกัดพรรคใหม่เเละพรรคอื่นๆ ได้คะเเนนขึ้นเเละสามารถเบียดกับอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยหรือบางพรรคได้ เพราะอดีตผู้สมัครส.ส.จะมีคะเเนนของตัวเองในพื้นที่ เเละเมื่อบวกเรตติ้งของพล.อ.ประยุทธ์ในปีนี้ก็ประเมินได้ว่าน่าจะสู้กับพรรคเพื่อไทยได้ โดยเฉพาะจังหวัดที่คะเเนนของพล.อ.ประยุทธ์ไม่ดี เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่เเล้วไปสำรวจใหม่พบว่าประชาชนให้
          เรตติ้งพล.อ.ประยุทธ์เพิ่มเเบบเห็นชัด

          จุดนี้รอวัดใจกันในวันหย่อนบัตรว่า "ความฝัน” ของบิ๊กตู่จะสมปราถนาหรือไม่!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ