คอลัมนิสต์

"หากอะไรดีและถูกหลักการ ผมพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หากอะไรดีและถูกหลักการ ผมพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย" สัมภาษณ์พิเศษ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  :  โดย...   ทีมข่าวเฉพาะกิจออนไลน์

 

          “ประชาธิปัตย์” คือหนึ่งพรรคการเมืองที่มีบทบาทสูงบนสนามเลือกตั้งเมืองไทยหลายสิบปี ทั้งเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมทั้งยังเคยไม่ลงเลือกตั้งจนถูกมองว่า “สมรู้ร่วมคิด” กับบางฝ่ายเพื่อล้มรัฐบาลในช่วงนั้นๆ

          “ประชาธิปัตย์” คือพรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศพรรคหนึ่ง มีหัวหน้าพรรคมาแล้วเจ็ดคน สี่คนเคยทำหน้าที่ประมุขฝ่ายบริหารมาแล้ว

          แม้จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่เพื่อนำทัพลุยเลือกตั้งในปีหน้านั้น หลายฝ่ายฟันธงแล้วว่า "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จะทำหน้าที่แม่ทัพปชป.ลุยศึกหาเสียงคราวนี้

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าอภิสิทธิ์คือหนึ่งในลูกรักของ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค และยังคงได้รับแรงหนุนจากนายหัวชวนต่อไป เพียงเท่านี้กระแสที่หวังจะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคน่าจะแผ่วลง...

          เมื่อคสช.ยึดอำนาจตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 มาจนวันนี้ สถานการณ์บ้านเมืองจนถึงหลังการหย่อนบัตรจะเป็นอย่างไร ประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคการเมืองจะเดินไปในทิศทางใดและมีผลกระทบต่อบ้านเมืองอย่างไร หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีคำตอบ

          0 ความคืบหน้าหลังคสช.คลายล็อกทางการเมือง
          วันที่ 26 กันยายน พรรคจะประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคให้เข้ากับกฎหมายและรับสมาชิกพรรคเพิ่ม ส่วนอื่นๆ นั้นเช่นจำนวนสมาชิกพรรคและทุนประเดิมพรรคนั้น เตรียมพร้อมดำเนินการไว้หมดแล้ว จากนั้นจะประชุมเลือกผู้บริหารพรรคและหัวหน้าพรรค โดยให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมหยั่งเสียง

          การแข่งขันภายในพรรคนั้นไม่ได้สื่อถึงความแตกแยกภายใน แต่มันคือการสร้างสรรค์ สมาชิกพรรคจะเป็นผู้ที่ให้คำตอบว่ากระบวนการประชาธิปไตยในพรรคนั้นมันใช้ได้

          0 หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคต่อ จะมีธงนำในการทำงานอย่างไรและเสนออะไรให้ประชาชนตัดสินใจเลือกพรรคในการเลือกตั้ง

          ธงที่สำคัญสุดคือการนำประชาชนออกจากสภาวะการเมืองและเศรษฐกิจในวันนี้ ประชาชนจะได้คำตอบว่าจะออกจากสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้อย่างไร และเศรษฐกิจจะเติบโตสำหรับทุกคนอย่างไร ไม่เติบโตกระจุกตัว หากกลไกรัฐในการนำเศรษฐกิจไม่ปรับตัวชี้วัด ปัญหาก็ยังเกิดอยู่ วันนั้นพรรคต้องมีคำตอบให้ประชาชนพิจารณา รวมทั้งการดูแลผู้มีรายได้น้อยทั้งหมดให้เกิดความมั่นคง

          หากยังยึดจีดีพีที่สภาพัฒน์ประกาศ เพราะมันวัดไม่ได้ อาจดีใจว่าจีดีพีเพิ่ม แต่ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าวันนี้ประชาชนอยู่อย่างไร รายได้ลดลงหรือไม่ เพราะรายได้ครัวเรือนประชาชนนั้นพบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำที่สูงอยู่ ภาคการเกษตรกระทบมาก คนที่ได้รับผลคือคนที่มีฐานะดีที่สุด

          ประชาชนจะได้คำตอบเกี่ยวกับประชาธิปไตย โดยจะต้องไม่ย้อนกลับมาสู่สภาวะแบบนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นต้องเคารพเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและประชาชน โดยไม่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ยอมรับการตรวจสอบ การเติบโตของประชาธิปไตยโดยไม่ย้อนกลับเหมือนในอดีต

          0 หลังการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ทิศทางของพรรคจะเป็นเช่นใด เพราะกลไกที่ คสช.วางไว้นั้นหลายพรรคสะท้อนว่าทำงานลำบาก

          นโยบายพรรคที่จะประกาศขึ้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศ พรรคจะเดินหน้า สังคมจะได้รับรู้ว่าประเทศจะเดินไปในแนวทางใด 

          หากสิ่งใดที่ติดขัด เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปที่ คสช.วางโรดแม็พไว้ ต้องใช้อำนาจและกฎหมายแก้ไข หากสังคมให้การสนับสนุนพรรค พรรคก็จะแก้ไข และสักระยะต้องมีการสำรวจร่วมกันว่าหากกฎหมายใดเป็นอุปสรรคต่อรัฐบาลใหม่ที่จะทำงาน ก็ต้องพิจารณาร่วมกันให้ตกผลึกว่าควรแก้ไขในแนวทางใด

          “ผมมองว่าไม่มีประโยชน์หากรัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจแล้วรื้อทุกอย่างทันที โดยเฉพาะหากรื้อแล้วเพิ่มอำนาจให้ตัวเองแบบไม่เหมาะสม เพราะหากทำแบบนั้นอาจเกิดวิกฤติอีกครั้ง ประเทศและประชาชนคงไม่อยากให้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้แล้วเกิดการทะเลาะกันทันที เพราะบ้านเมืองควรเดินหน้า ฉะนั้นกติกาใดหากทำการแก้ไขได้ด้วยฉันทามติ มันจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นและยั่งยืน”

          สิ่งใดที่ คสช.และรัฐบาลนี้วางไว้ดีแล้วก็ต้องดำเนินการต่อ แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคก็ต้องมาหารือร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือของคสช.แล้วจะคัดค้านทันที

          วันนี้แม้แต่คสช.บางคนยังไม่มั่นใจเลยว่าสิ่งที่ดำเนินการไว้ในช่วงนี้จะกระทำได้ทั้งหมด เพราะดูรายละเอียดแล้วมันเยอะ

          0 กังวลหรือไม่ว่าหลังการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดความวุ่นวายเหมือนปี 2535 เพราะบางฝ่ายเริ่มทำนายแบบนั้น
          วันนี้ยังไม่รู้ผู้เล่น(ผู้สมัครส.ส.ของแต่ละพรรค)เลยว่าใครจะลงสมัคร ผลเลือกตั้งจะออกอย่างไร ใครจะเป็นรัฐบาลและใครจะเป็นนายกฯ หวังเพียงว่าทุกฝ่ายเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอดีต ไม่ควรให้เกิดขึ้น

          0 เคยแสดงจุดยืนว่าพร้อมที่จะคุยกับพรรคเพื่อไทยและคสช.ในการร่วมมือกับบางภารกิจในอนาคต
          อะไรที่ดีและถูกหลักการ คงไม่ได้มองว่าใครเห็นด้วยหรือไม่ และไม่ได้มองว่าเคยต่อสู้กันมาหรือเป็นพวกกันมา สิ่งดีก็ต้องหนุน สิ่งไม่ดีก็ค้าน โดยไม่มองว่า คสช.หรือพรรคเพื่อไทยหนุนหรือค้าน

          หากผลเลือกตั้งออกมา แล้วไม่ชัดเจนว่าใครชนะเด็ดขาด การพูดคุยคงไม่พ้น ไม่อย่างนั้นมันเดินหน้าต่อไม่ได้ ส่วนจะคุยกับใครและเงื่อนไขใดมันต้องมาว่ากันอีกครั้ง

          การพูดคุยกันนั้นหนีไม่พ้น ยืนยันว่าหากพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านแล้ว คงไม่ต้องจับมือกับใครในการตั้งฝ่ายค้าน เพราะแต่ละพรรคหากไม่เป็นรัฐบาลก็เป็นฝ่ายค้านอยู่แล้ว สมมุติว่าได้เป็นรัฐบาลแล้วต้องจับมือและคุยกับพรรคใดบ้าง ก็ต้องดูว่า จะร่วมมือที่จะพาบ้านเมืองไปในทิศทางใดบ้างเพื่อไม่ให้หลงทาง ไม่มีประโยชน์หากเป็นรัฐบาลแล้วบ้านเมืองไปผิดทิศทาง

          0 เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งในเรื่องรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ไข
          ที่สุดแล้วคงต้องแก้ โดยทุกฝ่ายยอมรับว่าสมควรแก้ไข หากคิดและดำเนินการร่วมกันโดยฉันทามติ โดยมองเห็นร่วมกันว่าเป็นประเด็นที่พึงแก้ไขก็ต้องกระทำ หากมีแนวคิดสุดโต่ง เช่น ห้ามแตะต้องรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าผ่านประชามติมาแล้วนั้น มันไม่สอดรับกับความจริง สิ่งที่ผมรับฟังประชาชนที่ไปลงประชามตินั้นพบว่า ประชาชนยังมีความเห็นที่แตกต่าง และเห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่เห็นด้วยนะว่าต้องร่างใหม่หมด โดยไม่มองว่าเหมือนหรือแตกต่างกับฉบับปัจจุบันที่จะยกเลิก ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องตกผลึกร่วมกันว่าสิ่งใดควรแก้ไข โดยทุกฝ่ายยอมรับมากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

          0 การเลือกตั้งในปีหน้า คาดว่าคะแนนเสียงของพรรคจะเป็นเช่นใด และจะเหมือนการเลือกตั้งก่อนปี 2540 หรือไม่
          ตอบยาก เพราะต้องเดาใจผู้เลือก(ประชาชน)จะใช้เกณฑ์ใด และยังไม่เริ่มต้นหาเสียงเลย

          ที่ผ่านมาประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ (ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ) แต่ครั้งหน้าใช้บัตรใบเดียวเลือกทั้งพรรคและคน ในการเลือกตั้งที่ผ่านๆมา คะแนนที่พรรคได้รับนั้นมากกว่าจำนวน ส.ส.ของพรรคเสียอีก ฉะนั้นควรยืนพื้นให้ได้ว่า คะแนนพรรคต้องยืนพื้นให้ได้ สมมุติว่า ในการเลือกตั้ง พรรคได้คะแนนร้อยละ 35 แต่ความจริง ส.ส.ของพรรคได้จำนวนที่น้อยกว่าร้อยละ 35 เสียอีก

          0 คสช.ทำงานและเสมือนหาเสียงวันนี้ จะกระทบพรรคอื่นหรือไม่
          ไม่ได้มองในมุมพรรค แต่มองว่าหากอยากให้บ้านเมืองเดินหน้ามั่นคง การเลือกตั้งคือต้องเป็นธรรมและเสรี เป็นหน้าที่ คสช.และทุกฝ่ายที่ต้องทำให้เป็นแบบนั้น อะไรที่เบี่ยงเบน มันจะสร้างความเสียหายให้บ้านเมือง หากการเลือกตั้งบิดเบี้ยวมันจะสร้างการเมืองที่ดีไม่ได้

          ไทม์ไลน์"เดอะ มาร์ค”
          “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เกิดเมื่อ 3 สิงหาคม 2507 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร เคยทำหน้าที่อาจารย์ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ลงสนามการเมืองครั้งแรก โดยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2535 และดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย 1) ขณะมีอายุ 27 ปี นับว่าเป็น ส.ส. ที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น และเป็น ส.ส.เพียงคนเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ ในเขตกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภาคกลาง ท่ามกลางกระแส “มหาจำลองฟีเวอร์”

          ปี 2538 เป็นโฆษกพรรคประชาธิปัตย์
          ปี 2540 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลนายชวน หลีกภัย2)
          ปี 2546 ลงแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในนามกลุ่มผลัดใบ แข่งกับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ในนาม "กลุ่มทศวรรษใหม่” แต่พ่ายแพ้

          ปี 2548 เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (พรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งให้แก่พรรคไทยรักไทย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ลาออกจากหัวหน้าพรรค ตามคำสัญญา) ปี 2551 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะอายุ 44 ปี และอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 7 เดือน ก่อนประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 และเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554

          ในช่วงดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารและหัวหน้าพรรค “อภิสิทธิ์” เจอหลากมรสุมและหลายข้อครหาตั้งแต่ พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายอภิสิทธิ์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ที่ก่อให้เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (การทำงานของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำโดยนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีหลากข้อกังขาจากสังคมและเกิดการชุมนุมขับไล่ที่ริเริ่มโดยกลุ่มพันธมิตรฯ และขยายผลเป็นความขัดแย้งทางการเมือง)

          กระทั่งพรรคเพื่อไทยเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมการชุมนุมของ กปปส. ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งปัญหาเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ที่บีบรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงนั้น
เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุบสภา 9 ธันวาคม 2556 พรรคประชาธิปัตย์ประกาศไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 


          2557 ก่อนเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

          การตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร (หลังยุบพรรคพลังประชาชน) หรือกฎเหล็ก 9 ข้อของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ป้องกันการทุจริต ไม่เคยทำให้ประจักษ์ได้ รวมทั้งวิกฤติการเมืองและการเสียชีวิต กรณีคนเสื้อแดงชุมนุมขับไล่รัฐบาลในปี 2552 และ 2553

          ผลการเลือกตั้งส.ส.สองครั้งในช่วงอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค
          2550 คะแนนสัดส่วน 12,138,960 คะแนน ส.ส.สัดส่วน 33 คน ส.ส.เขต 132 คน รวม 165 คน
          2554 คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 11,433,762 คะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 44 คน ส.ส.เขต 115 คน รวม 159 คน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ