คอลัมนิสต์

"เจ้ามังคุด" สุดคลั่ง!! สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขนาดเปลี่ยนมาเป็นมังคุด ก็ยังคงรุนแรงมาเป็นอันดับ 1 ของปีนี้อยู่ดี กลายเป็นว่า จากราชาผลไม้ มาเป็นราชินีผลไม้ สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน!!

          ลุ้นๆๆ ตอนที่ สมิทธ ธรรมสโรส อดีตประธานศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมาระบุว่า ถ้าช่วงค่ำวันอาทิตยที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา หากว่าเจ้าพายุไต้ฝุ่นมังคุด ไม่เซย์บายไทยแลนด์ไปขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ และเวียดนามตอนบน อาจวกเข้าไทยโดยตรง!!!

          อ้าวแบบนี้ก็ได้เหรอ? ตอบเลยได้สิ เพราะจะเอาอะไรกับอภิมหาธรรมชาติสร้าง!! แถมหากว่าวกเข้าไทยจริง ยังจะมีความรุนแรงสร้างความเสียหายเหมือนกับ “พายุใต้ฝุ่นเกย์” ที่เคยเข้าภาคใต้ของไทย ซึ่งคนไทยยุคหนึ่งจะจำได้ดีว่ามัน “หฤโหด” ขนาดไหน

"เจ้ามังคุด" สุดคลั่ง!!  สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน

          ปรากฏว่าในที่สุด เจ้ามังคุดก็ไปแล้วจริงๆ ตอนนี้คนไทยโล่งใจ แต่คนจีนสิ แย่!!!

          เพราะหลังจากที่ กรมอุตุนิยมวิทยาไทย ออกมาระบุว่า ตี 4 ของวันจันทร์ที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา พายุไต้ฝุ่น “มังคุด” (MANGKHUT) บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหนานหนิง ประเทศจีน ประมาณ 63 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 23.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.9 องศาตะวันออก

          โดยคาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าสู่เขตมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในวันอังคารที่ 18 ก.ย.2561 นั้นปรากฏว่า ที่กำลังอ่วมเลยของเข้าวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ คือ “ฮ่องกง”

"เจ้ามังคุด" สุดคลั่ง!!  สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน

          เพราะเราได้เห็นโลกโซเชียล พากันแชร์ภาพ และคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของพายุขณะเคลื่อนตัวผ่านทางใต้ของฮ่องกง

          กระจกหน้าต่างอาคารสูงหลายแห่งแตกกระจาย โดยน้ำมือเจ้ามังคุดสุดบ้าคลั่ง ถึงขนาดทำเอาต้นไม้ใหญ่ถอนราก ซัดตู้คอนเทนเนอร์ลอยทะเล และตึกระฟ้าสั่นไหว อะไรจะปานนั้น

          ก็ขอเอาใจช่วยประเทศใด พื้นที่ใดก็ตาม ที่ต้องรับเจ้ามังคุดที่ถึงจะชื่อไทย แต่พวกเราไม่ได้ส่งไป (เพราะเค้าไปเอง) มา ณ ทีนี้

          ว่าแล้ว ก็เกิดความสงสัยขึ้นมาอีกครั้ง ว่าทำไมเจ้าพายุถูกนี้ถึงมีชื่อว่า “มังคุด”

          หลายคนอาจมีความรู้กันอยู่แล้ว แต่เชื่อว่า คงมีอีกหลายคน ยังคงสงสัยอยู่ดีว่า ทำเราต้องตั้งชื่อพายุไว้อย่างน่ารัก น่ากินขนาดนี้ ลองนึกถึงมังคุด ผลไม้ไทยสุดอร่อยแล้ว ก็ยังอดแปลกใจไม่ได้

"เจ้ามังคุด" สุดคลั่ง!!  สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน

          และถ้าย้อนกลับไปดู ที่ผ่านมาพายุในไทยก็มีชื่อเรียกอีกมากมาย เช่น ทุเรียน ขนุน บัวลอย ฯลฯ

          แต่ชื่อนี้ล้วนมีที่มา โดยหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อพายุ เดิมทีประเทศสหรัฐอเมริกา จะเป็นผู้ตั้งชื่อพายุของทั่วโลกมาโดยตลอด เพราะอย่างที่รู้ว่าประเทศนี้คือพี่ใหญ่ที่มีเรื่องเทคโนโลยี ดาวเทียมตรวจสภาพ อากาศ อะไรเกี่ยวกับการดูความเคลื่อนไหวของพายุ พี่เขามีหมด!

          อย่างครั้งที่พี่เค้าเคยเจอพายุลุกหนึ่ง ซึ่งได้รับการตั้งชื่อผู้หญิง จากในอดีตที่ตั้งเพราะนักเดินเรือสมัยก่อน ออกเรือนานๆ คิดถึงคนรัก ก็เลยนำชื่อเธอเหล่านั้นมาใช้เป็นชื่อพายุ ฟังแล้วจะรู้สึกอ่อนโยนอ่อนหวาน ทำให้ดูรุนแรงน้อยลง

          แต่แล้ว เมื่อเจอเข้ากับ เฮอร์ริเคน “แคทรีนา” ที่เข้าถล่มช่วงเดือน ส.ค.2548 ปรากกว่ามันไม่เป็นอย่างนั้น เพราะพายุลูกนี้นับว่าสร้างความเสียหายที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยเธอยังถูกจัดความรุนแรงตามมาตราเฮอร์ริเคนในประเภทที่ 5 ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุด!

          จนกระทั่งต่อมา มีนักสิทธิสตรีในสหรัฐฯ ออกมาประท้วงว่าการตั้งชื่อพายุทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงโหดร้าย ภายหลังจึงมีการตั้งชื่อผู้ชายผสมปนเปเข้ามา   

          อย่างไรก็ดี ช่วงปี 2543 ประเทศและดินแดนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 14 แห่ง ที่เป็นสมาชิกของ “คณะกรรมการพายุไต้ฝุ่น” ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) ลุกขึ้นมาจัดระบบการตั้งชื่อ "พายุหมุนเขตร้อน" ในแถบนี้ใหม่ คือ จะไม่เอาเฉพาะแต่ชื่อฝรั่งแล้ว

          ว่าแล้ว ก็ได้กำหนดให้แต่ละประเทศ หรือดินแดนใดก็ตามที่เป็นสมาชิก จัดส่งชื่อพายุในภาษาของตนมาให้ประเทศละ 10 ชื่อ รวมทั้งสิ้นได้ 140 ชื่อ ซึ่งอนุญาตให้กำหนดใช้ภาษาท้องถิ่นในแต่ละประเทศในการตั้งชื่อพายุได้

"เจ้ามังคุด" สุดคลั่ง!!  สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน

         สำหรับบ้านเราก็เป็นสมาชิกอยู่ เพราะประเทศเราตั้งอยู่ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้ มีสมาชิกชาติอื่นๆ ได้แก่ กัมพูชา, จีน, เกาหลีเหนือ-ใต้, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเก๊า, มาเลเซีย ไมโครนีเซีย (รัฐอิสระอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือหมู่เกาะอินโดนีเซีย) ฟิลิปปินส์, สหรัฐฯ และเวียดนาม

         ทั้งนี้ชื่อพายุจะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 28 ชื่อ ชื่อพายุแต่ละชื่อ จะเรียงลำดับอักษรของชื่อประเทศในภาษาอังกฤษ เริ่มจากกัมพูชา เรื่อยไปจนถึงเวียดนามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย ไทยเราอยู่อันดับที่ 12 เมื่อใช้หมด 1 กลุ่มก็จะขึ้นชื่อแรกในกลุ่มที่ 2 เรียงกันเรื่อยไปจนครบทุกกลุ่ม แล้วจึงกลับมาใช้ชื่อแรกของกลุ่มที่ 1 ใหม่อีกครั้ง

         ในการตั้งชื่อของไทย กรมอุตุนิยมวิทยาได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณารายชื่อ และความหมายของชื่อขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนเสนอชื่อพายุในภาษาไทย กับที่ประชุมของ ศูนย์เตือนภัยพายุไต้ฝุ่นร่วม หรือ เจทีดับบลิวซี (Joint Typhoon Warning Center (JTWC)) ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะกวม ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก

         ที่สุดแล้ว ไทยเราได้ตั้งชื่อพายุของไทยตามลำดับ ดังนี้ พระพิรุณ, ทุเรียน, วิภา, รามสูร, เมขลา, มรกต, นิดา, ชบา, กุหลาบ และ ขนุน

          เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าเป็นในส่วนของพายุหมุนในเขตร้อนภูมิภาคแปซิฟิก ไทยเราก็ยังไปเป็นสมาชิกร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย ที่ดูแลสภาพอากาศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียตอนเหนืออีกด้วย พูดๆ ง่ายๆ ว่าพี่ไทยเข้าร่วมกับเขาไปเสียหมด

          โดยภูมิภาคนี้มีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ, อินเดีย, มัลดีฟส์, เมียนมา, โอมาน, ปากีสถาน, ศรีลังกา และไทย

          ทีนี่เขาให้ส่งรายชื่อพายุ 8 รายชื่อ ซึ่งเป็นชื่อของ "พายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ" โดยพายุหมุนในภูมิภาคนี้จะเรียกว่า "พายุไซโคลน"

          และชื่อจากประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นชื่อเรียกของอัญมณี ได้แก่ มุกดา, ไข่มุก, เพชร, ไพลิน, โกเมน, โมรา, เพทาย และ อำพัน

          แต่หากจะกล่าวสำหรับ พายุในกลุ่มที่ "เจ้ามังคุด" สังกัดอยู่ทั้ง 10 ลูกที่ไทยตั้งชื่อ (และเปลี่ยนชื่อแล้วเรียบร้อยบางลูก) ก็ไล่ตามลำดับรายชื่อข้างต้น ดังนี้

"เจ้ามังคุด" สุดคลั่ง!!  สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน

"เจ้ามังคุด" สุดคลั่ง!!  สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน

          พายุโซนร้อน “พระพิรุณ” (Prapiroon) เพิ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ช่วง ก.ค.2561 ที่ผ่านมา และเคลื่อนตัวไปทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น จนเดือดร้อนประชาชนต้องอพยพกันนับแสน!

         พายุใต้ฝุ่น “มังคุด” (Mangkhut) ที่เรากำลังเจออยู่ตอนนี้ ซึ่งแทนที่จะเป็น “พายุทุเรียน” ก็เพราะเหตุผลที่ว่า ครั้งที่พายุใต้ฝุ่นทุเรียนขึ้นฝั่งช่วงปลาย พ.ย.-ต้น ธ.ค. 2549 เป็นพายุที่รุนแรงมาก ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากในประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นเหตุให้มีประชาชนหลายหมู่บ้านเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโคลนถล่มที่ภูเขาไฟมายอน

         ดังนั้น ช่วงปี 2551 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “ทุเรียน” มาเป็น “มังคุด” แทน ก็เพื่อลดความหวาดกลัวต่อพายุชื่อเดิมที่อาจมีอีกครั้งในอนาคต หรือเพื่อลดความเข้าใจผิดว่า พายุนั้นจะสร้างความเสียหายแบบเดิมที่ชื่อเดียวกันเคยทำไว้

         อย่าง พายุใต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” ที่เกิดขึ้นช่วง3 -11 พ.ย. 2556 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ คือ ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีนตอนใต้ รวม 6,195 ราย, สูญหายอีก 1,785 ราย โดยเฉพาะที่ฟิลิปปินส์นั้นหนักสุด

         ซึ่งพายุ “ไห่เยี่ยน” นั้น เป็นชื่อที่ตั้งโดยประเทศจีน หลังจากการถล่มจบลง ต่อมาได้รับการเปลี่ยนไปเป็น “ไป๋ลู่” ตั้งแต่ปี 2558

         หลายคนมองว่า ก็คล้ายๆ เลขรหัสของเครื่องบินที่ประสบอุบัติเหตุ ที่พอมีเครื่องบินใหม่ที่มาบินเส้นทางเดิม รหัสของเครื่องบินจะถูกเปลี่ยนใหม่เป็นเลขลำดับต่อไปแทน นั่นเอง

         แต่พอมาตอนนี้ หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า ขนาดเปลี่ยนมาเป็นมังคุด ก็ยังคงรุนแรงมาเป็นอันดับ 1 ของปีนี้อยู่ดี กลายเป็นว่า จากราชาผลไม้ มาเป็นราชินีผลไม้ สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน!!

         ส่วน พายุไต้ฝุ่น "วิภา" (Wipha) เคยเกิดขึ้นช่วงปี 2556 ที่พัดถล่มญี่ปุ่น (อีกแล้ว) ลมกรรโชกแรง คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วมากมายและสูญหายอีกเพียบ บ้านหลายหลังบนเกาะอิสุ โอชิมะ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโตเกียวเป็นระยะทางประมาณ 120 กม. ได้พังทลายลง และความเสียหายอื่นๆ อีกมากมาย

         นับเป็นไต้ฝุ่นลูกที่ 26 ของปี 2556 โดยสามารถบันทึกปริมาณน้ำฝนบนเกาะได้ 122.5 มิลลิเมตร/ชั่วโมง

         ต่อไป พายุใต้ฝุ่น “รามสูร” ที่เกิดขึ้นช่วง เดือน ก.ค. 2557แค่ชื่อก็เสียวแล้ว และก็เป็นไปตามชื่อ เพราะสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ประเทศฟิลิปปินส์ชนิดที่ยากเกินกว่าจะบรรยายได้ จนกระทั่งต่อมาช่วงปี 2558 พายุรามสูรจึงถูกถอดออก และเปลี่ยนชื่อไปเป็น “บัวลอย” ในปี 2559

         มาที่ พายุโซนร้อน “เมขลา” (Mekkhala) เคยพัดถล่มเวียดนาม มาแล้วช่วงกันยายน 2551 แต่ไม่รุนแรงเท่ากับที่เกิดขึ้นช่วง ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งเป้นพายุใต้ฝุ่นเมขลา ที่ทำเอาฟิลิปปินส์อ่วมอีกครั้ง โดย

         ผู้เสียชีวิตเป็นผู้หญิง 1 คน หลังถูกนั่งร้านใกล้กับเวทีที่ใช้รับเสด็จ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมัน คาทอลิก ประกอบพิธีมิสซากลางแจ้งในเมืองทาโคลบัน พังลงมาทับหลังพิธีมิสซาเสร็จสิ้น ขณะที่มีรายงานเครื่องบินโดยสารของเจ้าหน้าที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ และคณะรัฐมนตรี ที่มาร่วมรับเสด็จโป๊ปที่เมืองทาโคลบัน รวม 11 คน ยางระเบิดและลื่นไถลออกนอกรันเวย์ แต่โชคดีไม่มีผู้บาดเจ็บ

         ต่อมา พายุใต้ฝุ่น “มรกต” เกิดขึ้นช่วงเดือน ส.ค.2552 ซึ่งก็รุนแรงพอๆ กัน โดยเฉพาะกับประเทศไต้หวัน ที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 700 ราย รวมทั้งสูญหายเกือบ 100 คน เฉพาะหมู่บ้านเจ้าหลินแห่งเดียวชาวบ้านถูกฝังกลบทั้งเป็นมากถึง ราว 400 คน ถือเป็นภัยธรรมชาติถล่มไต้หวันรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี

"เจ้ามังคุด" สุดคลั่ง!!  สุดท้ายก็ร้ายกาจพอกัน

         ดังนั้น ตามสูตรเดิม คือ ต้องเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง หลังจากตอนแรก มีชื่อว่า "หนุมาน" มาก่อน แต่ถูกกรมอุตุนิยมวิทยาของอินเดียคัดค้าน เนื่องจากเหตุผลทางศาสนา จึงเปลี่ยนเป็น "มรกต" ในปี พ.ศ. 2545 ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็น "อัสนี" (Atsani) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 นั่นเอง

         มากันที่ พายุ “นิดา” (Nida) เกิดขึ้นช่วงเดือน ส.ค. 2559 บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 65 กิโลเมตรทางตะวันออกของเกาะฮ่องกงส่ง ผลกระทบหลายประเทศ เช่นจีน

         โดยเฉพาะฮ่องกง ที่เจอฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง ซัดบ้านปลิวไปเป็นหลังๆ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทุกอย่างต้องหยุดชะงัก โรงเรียนปิด และระบบขนส่งมวลชนหยุดให้บริการ ฯลฯ

         ต่อกันที่ พายุใต้ฝุ่น “ชบา” (Chaba) ซึ่งพัดเข้าสู่คาบสมุทรเกาหลี ช่วงเดือน ต.ค.2559 โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองบนเกาะเชจูและเมืองสำคัญทางใต้ของประเทศเกาหลีใต้ ส่งผลให้การเดินทางทั้งหมดถูกระงับบริการ และโรงไฟฟ้า 2 แห่ง จาก 5 แห่ง ถูกระงับการทำงานเพื่อความปลอดภัย

         ที่สุดพายุไต้ฝุ่นชบาสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 5 ราย และสูญหาย 5 คน

         มาถึง พายุโซนร้อน “กุหลาบ” (Kulap) เกิดขึ้นช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่ก่อความรุนแรงมากเท่ากบัที่กล่าวไปแล้ว

         กระทั่งมาถึง พายุโซนร้อน “ขนุน” (Khanun) ช่วง ต.ค.ปี 2560 ที่ผ่านมา ก็เห็นกันแล้วว่าร้ายไม่เบา แต่ก่อนหน้านั้นราวปี 2555 พายุขนุนก็เคยมาแล้วรอบหนึ่ง

         แต่ที่แน่ๆ อดคิดไม่ได้ว่า วนลูปเวียนมาชื่อไทยเมื่อไหร่ จัดหนัก เลวร้าย รุนแรงทุกลูก เช่น พระพิรุณ รามสูร มรกต ทุเรียน ขนุน วันนี้ก็ “มังคุด” !! ที่เผลอๆ อาจต้องเปลี่ยนชื่ออีกรอบ และยังมี บารีจัต (ชื่อที่ตั้งโดยประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่เข้าถล่มพร้อมๆ กันตอนนี้

         และหากว่าต่อไปถ้ามีพายุก่อตัวขึ้นอีก ก็จะใช้ชื่อในลำดับต่อไป คือ จ่ามี ตามด้วย ก็องเรย นั่นเอง!!

         พอจะเข้าใจกันขึ้นมาบ้างแล้วใช่ไหมพี่น้อง!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ