คอลัมนิสต์

7 ข้อสรุป... "ร่าง พ.ร.บ.ยา" ฉบับล้าหลัง อันตรายต่อคนไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

7 ข้อสรุป... "ร่าง พ.ร.บ.ยา" ฉบับล้าหลัง อันตรายต่อคนไทย : บทความพิเศษ  โดย...  ไพศาล ลิ้มสถิตย์  ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

 
          พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 เป็นกฎหมายที่ใช้มานาน แก้ไขครั้งล่าสุดปี 2530 แต่กลับมิได้มีการเสนอแก้ไขปรับปรุงในสาระสำคัญเรื่องการคุ้มครองผู้ป่วยและผู้บริโภค ทำให้มีเนื้อหาล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

 

7 ข้อสรุป... "ร่าง พ.ร.บ.ยา" ฉบับล้าหลัง อันตรายต่อคนไทย

( ไพศาล ลิ้มสถิตย์) 

 

          ผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้ยาจึงอาจถูกละเมิดสิทธิ ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือได้รับอันตรายจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม

          กระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ของสภาเภสัชกรรม และอาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ มิใช่เป็นแค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพแต่อย่างใด มูลเหตุของปัญหานี้เกิดจากความไม่เข้าใจในเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ยา อย่างถ่องแท้ ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพบางส่วนไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง มองไม่เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

7 ข้อสรุป... "ร่าง พ.ร.บ.ยา" ฉบับล้าหลัง อันตรายต่อคนไทย

 

          ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วยและผู้บริโภค ที่เสนอโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 มีเนื้อหาที่กระทบต่อผู้ป่วย ผู้บริโภคและสังคม สรุปสาระสำคัญได้ 7 ข้อดังนี้

          1.เปิดช่องให้มีการโฆษณายาเพียงขอจดแจ้งโฆษณาเท่านั้น จนอาจนำไปสู่การโฆษณายาที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาการดื้อยา อีกทั้งยังขาดมาตรการควบคุมการโฆษณายาทางอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ชัดเจน แต่ พ.ร.บ.ยา 2510 บัญญัติให้การโฆษณายาต้องขออนุญาตทุกกรณี

 

7 ข้อสรุป... "ร่าง พ.ร.บ.ยา" ฉบับล้าหลัง อันตรายต่อคนไทย

 

          2.ไม่มีมาตรการควบคุมราคายา ร่าง พ.ร.บ.ยา มิได้กำหนดให้ต้องยื่นโครงสร้างราคายาเมื่อขอขึ้นทะเบียนตำรับยา บริษัทยายังสามารถกำหนดราคายา โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเรียกเก็บค่ายาสูงกว่าราคาต้นทุนหลายเท่า เป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชน ยังไม่มีกฎหมาย เครื่องมือหรือหน่วยงานของรัฐที่จะตรวจสอบในเรื่องนี้ แม้ว่ายารักษาโรคจะเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แต่กลับไม่มีมาตรการควบคุมราคายาแต่อย่างใด จึงต้องอาศัย พ.ร.บ.ยา ในการแก้ปัญหานี้ การควบคุมราคายาในต่างประเทศมีวิธีการที่แตกต่างกัน เช่น ในออสเตรเลียยาที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพที่รัฐบาลจะอุดหนุนราคายาให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยา มีเงื่อนไขสำคัญคือ บริษัทยามีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลราคายาตามกฎหมายชื่อ National Health Act 1953

 

7 ข้อสรุป... "ร่าง พ.ร.บ.ยา" ฉบับล้าหลัง อันตรายต่อคนไทย

 

 

          3.ไม่มีหลักเกณฑ์การทบทวนตำรับยาอันตราย หรือยาที่มีข้อมูลหลักฐานในต่างประเทศว่ามีอันตรายหรือมีความเสี่ยงต่อผู้ใช้ยา อีกทั้งยังไม่มีมาตรการระงับการขายยาชั่วคราว หากพบว่าผู้ใช้ยาได้รับอันตรายจากการใช้ยาดังกล่าว

          4.ส่งเสริมการพนัน มอมเมาประชาชนและผู้บริโภค ร่าง พ.ร.บ.ยา มาตรา 139 (10) และวรรคสอง อนุญาตให้บริษัทยา หรือธุรกิจเกี่ยวข้องสามารถโฆษณากิจกรรมชิงรางวัล ออกรางวัลหรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกันได้ เสมือนผู้ร่างกฎหมายสวมวิญญาณศรีธนญชัย เลี่ยงใช้คำว่า “โฆษณาวัตถุ” เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ไม่ใช่การโฆษณายา กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ยา หรือประชาชนทั่วไปได้สิทธิชิงโชคเงินสด ทองคำ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ฯลฯ

          อย่าลืมว่า “ยาไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป” กฎหมายปัจจุบันมาตรา 90 ห้ามมิให้โฆษณาขายยาโดยวิธีแถมพกหรือออกสลากรางวัลในทุกกรณี เท่าที่มีข้อมูลยังไม่พบว่ามีกฎหมายประเทศใดออกกฎหมายในลักษณะนี้

          5.เปิดโอกาสให้เภสัชกรไม่ต้องอยู่ประจำร้าน ประชาชนหรือผู้ป่วยที่ซื้อยาในร้านยาอาจไม่ได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น เพราะเปิดโอกาสให้เภสัชกรไม่ต้องอยู่ประจำร้านยาตลอดเวลา ทำให้ปัญหาการแขวนป้ายรุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้น ข้อสำคัญคือจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วยหรือผู้ใช้ยา หากมีข้อผิดพลาดในการจ่ายยาขึ้น กฎหมายยาปัจจุบันจะกำหนดให้ร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มียาอันตรายจำหน่าย (ขย.1) กำหนดให้ต้องมีเภสัชกรประจำตลอดเวลาทำการ

 

7 ข้อสรุป... "ร่าง พ.ร.บ.ยา" ฉบับล้าหลัง อันตรายต่อคนไทย

 

          6.ไม่มีโทษทางปกครอง กฎหมายยาในประเทศพัฒนาแล้วจะมีการลงโทษทางแพ่งหรือโทษปรับทางปกครอง เช่น กฎหมายยาของสหรัฐ ฉะนั้น ร่าง พ.ร.บ.ยา จึงควรมีโทษทางปกครอง เพื่อระงับเหตุที่กระทำผิดเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพดีกว่าโทษอาญา เช่น การตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน จำกัดการประกอบการ เพิกถอนใบอนุญาต ปรับทางปกครอง

          7.ข้อถกเถียงประเด็นพยาบาลสามารถจ่ายยาเพื่อรักษาคนไข้ได้หรือไม่  คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นในเรื่องนี้ (เรื่องเสร็จที่ 520/2555) ตามที่ได้มีข้อหารือของกระทรวงสาธารณสุข สรุปคือ กรณีมีการรักษาโรคเบื้องต้นแล้ว หากจำเป็นต้องใช้ยาในการบำบัดโรคแก่คนไข้ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลชั้นหนึ่ง หรือผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่ง สามารถทำการรักษาโรคเบื้องต้น และการให้ภูมิคุ้มกันโรคในสถานพยาบาลได้ตามคู่มือการใช้ยาที่สภาการพยาบาลกำหนดตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการประกอบวิชาชีพการพยาบาลตามข้อกำหนดในการรักษาโรคเบื้องต้นและการให้ภูมิคุ้มกันโรค พ.ศ. 2545 ได้เท่าที่ไม่ขัดกับ พ.ร.บ.ยา 2510

 

7 ข้อสรุป... "ร่าง พ.ร.บ.ยา" ฉบับล้าหลัง อันตรายต่อคนไทย

 

          สภาการพยาบาลควรทบทวนจุดยืนที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ยา อย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันพยาบาลก็สามารถทำหน้าที่จ่ายยารักษาเบื้องต้นแก่คนไข้ที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้อยู่แล้ว พยาบาลไม่ควรแบกรับภาระงานอื่นที่มิใช่งานหลัก มิฉะนั้นอาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยและประชาชน อีกทั้งสภาการพยาบาลควรวิเคราะห์ผลดีผลเสียของร่างกฎหมายนี้อย่างรอบด้าน มิใช่มุ่งเน้นเฉพาะประเด็นที่วิชาชีพตนเองมีส่วนได้เสีย

          ขณะนี้ อย.แบ่งประเภทร้านขายยาแผนปัจจุบัน เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. “ข.ย.1” ต้องมีเภสัชกรควบคุมร้านสามารถขายยาแผนปัจจุบันที่เป็นยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ 2. “ข.ย.2” ผู้ดูแลร้านขายไม่ต้องเป็นเภสัชกรหรือที่เรียกว่า หมอตี๋ เป็นร้านขายยาสามัญประจำบ้านและยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ 3. “ข.ย.3” ร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จสำหรับสัตว์ มีเภสัชกรหรือมีสัตวแพทย์ชั้น 1 หรือชั้น 2 ประจำอยู่ตลอดเวลา

          สำหรับจำนวนสถิติร้านขายยาปี 2560 ในประเทศไทยนั้น ประเภท "ข.ย.1" มีจำนวน 17,156 ร้าน “ข.ย.2” มีจำนวน 2,865 ร้าน “ข.ย.3” มีจำนวน 756 ร้าน

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหาร อย. จึงควรให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภคของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.... ตามประเด็นสำคัญ 7 ข้อข้างต้นอย่างรอบคอบ เพราะกำลังจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายในอนาคต ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
 
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ