คอลัมนิสต์

ขุมอำนาจการเมืองไทยกับ "สนามม้านางเลิ้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขุมอำนาจการเมืองไทยกับ "สนามม้านางเลิ้ง" : คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย....  บางนา บางปะกง 

 

          ปิดฉากสนามม้านางเลิ้งไปแล้ว คงเหลือไว้แต่ “ตำนานการเมืองไทย” ให้เล่าขานกัน เพราะสนามม้าไทยนั้น ตกอยู่ในมือกลุ่มชนชั้นนำมายาวนานกว่า 50 ปี

          เมื่อเอ่ยถึงสนามม้านางเลิ้งกับการเมือง มิได้มีแค่เรื่อง “สภาสนามม้า” และหลายคนอาจลืมเรื่องสภาสนามม้าไปแล้ว ขอทบทวนกันสักนิด หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “สมัชชาแห่งชาติ” ประกอบด้วยสมาชิกหลากหลายอาชีพจำนวน 2,347 คน

          รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ใช้สนามนางเลิ้ง ประชุมสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เพื่อเลือกสมาชิกด้วยกันเอง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

          สภาสนามม้าเป็นแค่ชื่อที่สื่อเรียกขานสมัชชาติแห่งชาติ แต่สนามม้าในมิติการเมือง ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมาย

          จากจุดเริ่มต้น “ราชตฤณมัยสมาคมฯ” มีวัตถุประสงค์เพื่อการสมาคมสังสรรค์ กีฬาและเริงรมย์ ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นแหล่งการพนันถูกกฎหมาย และกลายเป็นหนึ่งในแหล่งทุนทางการเมือง

          ยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนเข้ามาคุมสนามม้านางเลิ้ง อาทิ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา, พล.อ.สุรสิทธิ์ จารุเศรณี และพล.อ.โชติ หิรัณยัษฐิติ

          ครั้นมาถึงยุครัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง (ปี 2518-2519) พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคชาติไทย ได้เข้ามาดูแลสนามม้านางเลิ้ง ซึ่งเวลานั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ สมัยที่มียศพันโท มานั่งประจำการที่สนามม้านางเลิ้งในฐานะนายทหารคนสนิทของ “เสธ.ฉลาด”

          เล่ากันว่า “เสธ.หนั่น” ร่วมกับเพื่อนนายทหารที่ผ่านสมรภูมิเวียดนาม ได้มาพบปะกันอยู่เป็นประจำ รวมถึงนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่ง จึงกลายมาเป็นสถานที่ประชุมวางแผนก่อการยึดอำนาจ 26 มีนาคม 2520

          หลังหลังกบฏ 26 มีนา กลุ่มนายทหารสาย พล.อ.ฉลาด ต้องรับโทษติดคุกยกแผง พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ได้เข้ามาประธานคณะกรรมการอำนวยการสนามม้านางเลิ้ง 

          เมื่อลูกน้อง พล.อ.ฉลาด ได้รับการนิรโทษกรรมคดีกบฏ 26 มีนา พล.อ.ยศ ก็เปิดโอกาสให้ “เสธ.หนั่น” กับ “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เข้ามาเป็นกรรมการแข่งม้า

          พูดกันตรงๆ สนามม้านางเลิ้งเป็นแหล่งสนับสนุนให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกปี 2522 ที่เขตดุสิต กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ปี 2526 “เสธ.หนั่น” จึงย้ายไปลงสมัคร ส.ส.ที่บ้านเกิด-เขต 2 พิจิตร และได้เป็น ส.ส.สมัยแรก 
ระหว่างที่พล.ต.สนั่นได้เป็นส.ส. เป็นรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรค ปชป. ก็ส่งไม้ต่อให้เพื่อนร่วมชะตากรรมกบฏอย่าง “เสธ.อ้าย” ดูแลสนามม้านางเลิ้ง

          แม้ “พล.อ.บุญเลิศ” จะบริหารสนามม้านางเลิ้งมายาวนานกว่านายทหารคนอื่น แต่ก็ไม่คิดเล่นการเมืองเหมือนเพื่อนรัก อย่างไรก็ตาม เสธ.อ้าย ไม่เคยทิ้งเพื่อนฝูง สนามม้านางเลิ้งจึงเป็นกองหนุนให้นายทหารม้าชื่อ เสธ.หนั่น ตลอดมา

          ปลายปี 2555 พล.ต.สนั่น เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง และเสียชีวิตจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงในต้นปี 2556

          ด้าน “เสธ.อ้าย” ได้จัดตั้งองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) มีจุดมุ่งหมายขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และจัดการชุมนุมมวลชนครั้งแรกที่สนามม้านางเลิ้ง เมื่อ 28 ตุลาคม 2555 แต่ม็อบ เสธ.อ้าย ก็ปิดฉากในวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน เมื่อการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม ไม่บรรลุเป้าหมายคือ มีคนเข้าร่วมนับล้านคน 

          หากจะกล่าวว่า กว่า 40 ปี เสธ.หนั่น กับ เสธ.อ้าย นั้นเปรียบเสมือนตำนานการเมืองสนามนางเลิ้ง ก็คงไม่ผิดนัก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ