คอลัมนิสต์

100เสียงพลังประชารัฐถึงจะอุ้มลุงตู่เป็นนายกฯ อีกรอบได้ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

100เสียงพลังประชารัฐถึงจะอุ้มลุงตู่เป็นนายกฯ อีกรอบได้ : คอลัมน์...  กวาดบ้านกวาดเมือง  โดย... ลมใต้ปีก

 

          สัญญาณเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 มาอย่างชัดเจนเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับสุดท้ายคือ กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ 11 กันยายน ที่ผ่านมา ตามมาด้วยประกาศ ม.44 ในการคลายล็อกทางการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมเตรียมตัวเลือกตั้งได้ ณ บัดนี้เป็นต้นไป

          คำถามตามมาทันที พรรคการเมืองใดจะได้รับชัยชนะ และใครจะได้จัดตั้งรัฐบาล ท้ายที่สุดใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ดูกันตามหน้าไพ่ทางการเมืองหนีไม่พ้น 3 พรรคการเมืองใหญ่ คือเพื่อไทย ที่ยังไม่รู้ว่าคนแดนไกลอย่าง ทักษิณ ชินวัตร จะเลือกใครระหว่าง ลูกเขย หลานชาย หรือคนในพรรค ประชาธิปัตย์ที่แม้จะแย่งกันฝุ่นตลบในเวลานี้แต่ฟันธงว่าหนีไม่พ้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะะนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง กับพลังประชารัฐที่เสนอ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงแข่งขัน

          3 พรรคใหญ่นี้ใครมาวินอยู่ที่การแย่งปลาในอ่าง (ส.ส.) 400 ที่นั่งในสภา ส่วนอีก 100 ที่นั่งเป็นการแบ่งกันกิน "ดอกไม้ในแจกัน” คือถูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา, ชาติพัฒนา, อนาคตใหม่, รวมพลังประชาชาติไทย, ประชาชาติ และอื่นๆ ที่อาจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา

          ใน 400 ที่นั่งซึ่ง 3 พรรคใหญ่ต้องแย่งจำนวนกันนี้ มีสมการที่ว่าถ้าพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมาอย่างพลังประชารัฐที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะได้เสียงสนับสนุน 7 ล้านเสียงขึ้นไป จะได้เป็น ส.ส.ราว 100 ที่นั่งนั้น จะทำให้โอกาสที่จะผลักดัน “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรีสดใสขึ้น เพราะการได้ 100 ที่นั่ง นั่นหมายความว่าจะตัดคะแนนไม่ให้เพื่อไทยได้ถึง 200 ที่นั่งและประชาธิปัตย์จะไม่ถึง 150 ที่นั่งโดยปริยาย

          เสียง 100 ที่นั่ง จับมือกับพรรคเล็กได้สัก 80 ที่ บวกกับส.ว. 250 คนก็เกินพอที่จะได่รับการสนับสนุนในสภาให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และถ้าเป็นดังนี้ประชาธิปัตย์ก็ง่ายต่อการเข้าร่วมรัฐบาล ทิ้งเพื่อไทยและอนาคตใหม่ให้เป็นฝ่ายค้าน

          แต่หากพลังประชารัฐได้ส.ส.ไม่ถึง 80 ที่นั่ง นั่นหมายความว่า เพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะได้ที่นั่งมารวมกันราว 320 ที่นั่งบวก แต่หาพรรคร่วมอีก 2-3 พรรคก็สามารถรวมกับคนของประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีทิ้งให้พลังประชารัฐพรรคเดียวเป็นฝ่ายค้าน

          ไม่ต้องไปค้นหาพันธมิตรพรรคการเมืองที่สัญญาด้วยลมปากว่าจะร่วมหัวจมท้ายขนาดมีสัตยาบันกันยัง “ฉีกทิ้ง” ได้ เมื่อถึงเวลาทุกคนวิ่งเป็นรัฐบาลไว้ก่อน เพราะเป็นฝ่ายค้าน “มันอดอยากปากแห้ง”

          100 เสียง ส.ส.จึงเป็นทั้งเป้าหมายและการบ้านที่ผู้อยู่เบื้องหลังพลังประชารัฐ (ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็ววัน) ต้องไปให้ถึง จะได้หรือไม่อยู่ที่สองขั้วในแกนนำที่อยู่เบื้องหลังต้องตกลงและผลักดันกันให้ได้ เพราะยังไม่ลงรอยทางความคิดกันระหว่างขั้วสร้างภาพลักษณ์ที่หลังเสียงปาร์ตี้ลิสต์ 7 ล้านคะแนน กับที่หวังส.ส.เขตและรวบรวมอดีตส.ส.เพื่อความมั่นใจในชัยชนะ จะลงเอยที่ขั้วไหนนำพรรคการเมืองแห่งนี้ก็สุดจะคาดเดา แต่ที่แน่ๆ ต่กว่าร้อยมีสิทธิ์เป็นผู้นำฝ่ายค้านมากกว่านายกรัฐมนตรี  แต่การได้มาซึ่งส.ส. 100 ที่นั่งไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่บรรดากุนซือในพลังประชารัฐคิด ใช่ว่ามีเงินและอำนาจจะหิ้วกระเป๋าไป หรือบังคับข่มขืนจิตใจให้คนเลือกได้ เพราะถึงแม้โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยนแต่ระบบอุปภัมภ์ในสังคมไทยที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจลงคะแนนยังเป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อยกว่านโยบาย ทั้งหมดเป็นโจทย์แห่งความท้าทายในสนามเลือกตั้งที่จะวัดกันว่าพลังประชารัฐจะได้เป้าที่ตั้งเพื่ออุ้มลุงตู่ เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกรอบหรือไม่
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ