คอลัมนิสต์

คสช.เซตโรดแม็พการเมืองบีบทุกพรรคร่วมเดิมพัน สุญญากาศการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 คสช.เซตโรดแม็พการเมือง บีบทุกพรรคร่วมเดิมพัน "สุญญากาศการเมือง" : รายงาน  โดย...  ขนิษฐา เทพจร 

 
 
          เมื่อโรดแม็พเลือกตั้งใกล้จะถึงฤกษ์นับหนึ่งในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้  หลัง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) อีก 2 ฉบับ (ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.) ประกาศใช้ตามไทม์ไลน์ที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ 

          ก่อนถึงวันนั้น คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน จัดเสวนาเรื่อง "อนาคตประเทศไทย ตายหรือตันก่อนการเลือกตั้ง" โดยมีนักการเมืองและนักเคลื่อนไหว เข้าร่วมสะท้อนทัศนะต่อสถานการณ์ทางการเมือง และถอดสมการการเมืองช็อตต่อช็อต
  
          เปิดเวทีกันที่ "จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)" ฟันธงว่าบรรยากาศทางการเมืองจะวุ่นวายเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ออกแบบให้มีปัญหาได้ตลอดทั้งนี้ตนมองว่าปัญหาที่จะเป็นตัวสร้างอันตราย คือประเด็น “นายกฯ คนนอก” 
  
          "หากเลือกตั้ง หักมุมแบบไม่ทันตั้งตัว เอาคนนอกสนามมาเป็นนายกฯ เชื่อว่าปัญหาจะเกิด แม้หลุดยกแรกมาได้ และได้นายกฯ คนนอก ยกสองคือ การเข้าสู่เวทีสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องตรวจสอบ ถ่วงดุล หากนายกฯ เป็นคนที่ทุกคนคิดกันเขาจะอดทนมากน้อยแค่ไหน เพราะก่อนเป็นนายกฯ คนนอก เขามีไม้ มีเสื้ออาญาสิทธิ์ ชี้เป็นชี้ตาย ออกกฎหมายเป็นรัฎฐาธิปัตย์ เมื่อเป็นนายกฯ ในสภาแล้ว เสื้อและดาบอาญาสิทธิ์ไม่มีแล้ว"
 
          ทั้งนี้ "จตุพร" ในฐานะคอการเมืองใกล้สนามซึ่งไม่มีสิทธิ์เข้าสังกัดพรรคหรือลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย เสนอแนวทางคลายบรรยากาศที่ไม่ซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 ว่า “นักการเมืองต้องหาโอกาสต้องคุยกัน เพื่อคลายล็อกทางจิตใจ ทำข้อตกลงร่วมกัน ภายใต้กติกาปัจจุบันว่าจะร่วมยอมรับเงื่อนไขเดียว คือ เลือกนายกฯผ่านการรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และยอมรับการตัดสินใจของประชาชน จากนั้นคือคุยกับผู้มีอำนาจเพื่อทำเป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เดินหน้า โดยยึดประชาธิปไตยและผลประโยชน์ของส่วนรวม” 
 

            ขณะที่ "สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ" แกนนำกลุ่มนิวบลัดพรรคชาติไทยพัฒนา เกริ่นถึงความรู้สึกของเพื่อนฝูงต่อสถานการณ์การเมืองไทย ว่า “เบื่อฉิบ....” เพราะมีแต่คนมองว่าการเมืองไทยไม่ตันก็ตาย แต่หากมองในมุมของนักธุรกิจนั้นไม่มีทางที่จะทำให้เป็นสถานการณ์ดังกล่าว ต้องหาทางเพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า ดังนั้นกับประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าทางตัน จุดตายจะอยู่ที่การรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และมีสมาชิกส.ส.ในสภา พรรคชาติไทยพัฒนายืนยันว่าต้องพิจารณาบนสถานการณ์ หากร่วมรัฐบาลแล้วทำให้การเมืองในสภาเดินหน้าได้ เสนอกฎหมายได้ พิจารณางบประมาณได้ จะไปร่วมทันที แต่หากเข้าร่วมแล้วยังเป็นสภาเสียงข้างน้อย ขอปฏิเสธ
 
          "ระบบรัฐสภาไทย คือ ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลกัน หลายคนมองว่าต้องสร้างเพอร์เฟกต์โมเดลให้นักการเมืองจับมือกัน ปล่อยให้พรรคทหารเข้าสภา แต่หากขาดการถ่วงดุล พรรคชาติไทยพัฒนาไม่เอา และขอยอมเป็นฝ่ายค้าน เพื่อให้กลไกของรัฐสภาเดินหน้าได้ และให้การเมืองออกจากวังวนของปัญหา" แกนนำนิวบลัดชาติไทยพัฒนาระบุ
  
          ขณะที่ พรรคการเมืองใหญ่ทั้ง "เพื่อไทย"และ "ประชาธิปัตย์" สะท้อนมุมมองที่ตรงกันว่า  พรรคใหญ่ไม่ใช่เงื่อนไขที่นำไปสู่ทางตันทางการเมือง
  
          โดย "จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย" ย้ำว่า พรรคเพื่อไทยไม่ใช่เงื่อนไขที่จะนำไปสู่ทางตันทางการเมือง เพราะระบบถูกออกแบบไม่เหมือนเดิม คือพรรคไหนได้เสียงข้างมากจะมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล แต่รอบนี้คือใครได้เสียงส.ส.เพียง 126 เสียง และมีส.ว.สนับสนุน 250 เสียง สามารถเป็นนายกฯ ได้
 
          “จาตุรนต์” ชี้ให้เห็นถึงแผนของ “คสช.” ต่อทิศทางการเมืองโดยย้ำว่า   รัฐธรรมนูญออกแบบโดยตั้งใจให้เขียนกติกา เพื่อปูทางไปสู่บทสรุปที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องร่วมมือกับ “คสช.” โดยนำอนาคตของประเทศเป็นเดิมพัน
 
          "รัฐธรรมนูญขียนโดยตั้งใจให้ผู้นำคสช.ต้องกลับมาเป็นนายกฯ ผ่านการได้เสียงสนับสนุนจากส.ว.จำนวน 250 เสียง และต้องการอีกอย่างน้อย 126 เสียงจากส.ส. เพื่อลงมติโหวต แต่สภาพการบริหารที่สภาผู้แทนราษฎรได้เสียงไม่ถึงครึ่งอาจทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยเดินหน้าไม่ได้ต้องยุบสภา ดังนั้นเพื่อป้องกันกรณีดังกล่าวพรรคการเมืองต้องร่วมกับคสช. เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้" จาตุรนต์ระบุ
 
          ในอีกตัวแปรที่เป็นบทบังคับให้พรรคการเมืองต้องยอมร่วมรัฐบาลกับ “คสช.” "แกนนำพรรคเพื่อไทย" ชี้ว่ามีอยู่จริง คือ การสร้างแนวทางให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง   เพราะกรณีที่รัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่สามารถบริหารงานได้ต้องยุบสภา จนเกิดสุญญากาศทางการเมือง ดังนั้นนักการเมืองที่หวังดีและไม่อยากให้ปัญหาเกิด อาจเฮโลไปร่วมและให้ผู้นำคสช. ตั้งรัฐบาลได้ง่าย 

          “จากนั้นเขาจะมีเสถียรภาพมากและพยายามปกครองประเทศยาวไป 10- 20 ปี”
 
           "จุดยืนของพรรคแบบไร้เงื่อนไขพิเศษใด คือไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของผู้นำคสช. ไม่ว่าจะมาจากการเสนอชื่อโดยพรรค หรือเสนอจากภายนอก หากผู้นำคสช.ตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยขอเป็นฝ่ายค้าน ทั้งนี้พรรคขอเปิดโอกาสเป็นพันธมิตรกับทุกพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนคสช. ส่วนจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ ยังไกลที่จะให้คำตอบ" แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุ

          มุมมองในฟากฝั่งของ พรรคประชาธิปัตย์ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคระบุว่า" บอกว่าการเมืองไม่มีทางตัน เมื่อทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งหรืออีกความหมายคือ ยอมรับการตัดสินใจของประชาชนนอกจากนั้นแล้วยังมีเงื่อนไขที่เป็นจุดชี้ทางออกการเมืองใน 4 ประเด็น และตนขอเรียกร้องว่า 1.ผู้นำประเทศหลังการเลือกตั้งยึดมั่นระบบประชาธิปไตย   2.พรรคไหนได้เสียงข้างมากเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล  3.ฝ่ายบริหารเมื่อได้อำนาจแล้วต้องไม่ทำให้เกิดสถานการณ์เผด็จการรัฐสภา และ 4.ยึดกฎหมาย รวมถึงหลักนิติธรรมและนิติรัฐ

          อย่างไรก็ดีในบทส่งท้ายของเวทีที่ถูกมองถึงโอกาส 2 พรรคการเมืองใหญ่ร่วมงานกัน เพื่อไม่ให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง  "จาตุรนต์" ประกาศความเห็นส่วนตัวว่า “พร้อมจะเป็นวิปฝ่ายค้านร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เพราะฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องมีนโยบายใดๆ สอดคล้องกัน” ส่วน "แกนนำพรรคประชาธิปัตย์" ตอบคำถามในบทส่งท้ายว่า “จะยึดตามกฎเกณฑ์และกติกาที่กำหนดไว้”

          จากเวทีสะท้อนความคิดและมุมมองการเมืองจากตัวแทนของนักการเมืองและคนขับเคลื่อนการเมืองคงมองเห็นถึงจุดยืนเบื้องต้น แต่สุดท้ายไพ่การเมืองจะหงายให้ฝ่ายไหนชนะต้องรอติดตามบนสถานการณ์ที่ถูกออกแบบไว้จาก “รัฐธรรมนูญ” และ “คสช.”
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ