คอลัมนิสต์

"มหาศึกชิงบัลลังก์ปชป. เป็นมากกว่าผ่าตัดพรรค"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"มหาศึกชิงบัลลังก์ปชป. เป็นมากกว่าผ่าตัดพรรค" : คอลัมน์...  ขยบายปมร้อน  โดย...  จักรวาล  ส่าเหล่ทู

 

          เข้าใกล้ช่วงการคลายล็อกพรรคการเมืองของ คสช. การเมืองก็เริ่มมีสีสันมีความเคลื่อนไหวมากกว่าเดิมหลังซบเซามานาน หลายๆ พรรคเริ่มขยับตัวเล็กน้อย แต่ถ้าถามว่าพรรคไหนขยับตัวหนักสุด ? นาทีนี้ก็ต้องไม่พ้น พรรคประชาธิปัตย์ ที่ใกล้วาระเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ซึ่งการเลือกนั้นจะใช้วิธีการหยั่งเสียงกับสมาชิกพรรคผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งคนในพรรคยกให้เป็นจุดเริ่มต้นประชาธิปไตยทีเดียว  

          สำหรับรายชื่อของผู้ท้าชิงที่เป็นรายชื่อคนในพรรค แน่ๆ แบบแช่แป้งคือ “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งนั่งตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 13 ปี คนต่อมาคือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่สร้างผลงานโดดเด่นคือบทบาท “มือปราบจำนำข้าว” เพราะเกาะติดคดีนี้แบบไม่ปล่อย อีกคนคือ “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคที่มีชื่อเข้าชิงเช่นเดียวกัน

          นอกจากนี้ยังมีศึกนอกพรรค ที่มีคนออกตัวแรงว่าได้รับทาบทามจากคนในให้เข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ “เดอะจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ซึ่งไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ได้ลงทุนลาออกจากพรรค เพื่อร่วมงานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสปท. โดยระบุว่างานปฏิรูปประเทศต้องไม่มีฝักไม่มีฝ่ายเสียก่อน เล่นเอาหลายๆ คนที่ได้ข่าวครั้งแรก ต้องขยี้ตา แคะหูหลายๆ ทีว่าดูผิดและหูฝาดหรือเปล่า ? แต่ดูเหมือนเจ้าตัวมีความหวังไม่น้อย แถมยังออกตัวแรงด้วยการขอยื่น 5 กฎเหล็ก หากอยากให้อลงกรณ์เป็นหัวหน้าพรรค และลั่นวาจาว่า “ประชาธิปัตย์ต้องเปลี่ยนแปลงแล้ว !!” 

          ว่ากันตามตรง ข่าวการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่แค่เรื่องของการเปลี่ยนผู้นำทัพ เพื่อเตรียมลุยสมรภูมิเลือกตั้งที่จะถึงนี้ แต่เป็นเรื่องของขั้วอำนาจภายในพรรคด้วย เริ่มจากฝั่งผู้ท้าชิงคนในพรรค โดย “หมอวรงค์” ที่สงวนท่าทีว่าจะชิงเก้าอี้นี้ แต่ด้วยดีกรีผลงานจับตาคู่แข่งในคดีจำนำข้าวก็น่าจับตาไม่น้อย แต่ชื่ิอนี้น่าจะแป้กในโค้งสุดท้าย ด้าน “จุรินทร์” ที่ช่วงนี้สงวนท่าทีเหมือนกัน แต่มีการวิจารณ์กันว่า ได้รับการหนุนอย่างไม่เป็นทางการจาก “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตแกนนำ กปปส.และอดีตแม่บ้านพรรค  โดยลุงกำนันนั้นถือเป็นคนคุ้นเคยของพรรค ที่ก่อนหน้านี้ ก็มีกระแสข่าวเรื่องการครอบงำพรรค 

          “สุเทพ” มีแนวทางชัดเจนว่าสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เต็มที่ทุกทาง เล่นบทออกตัวแรงที่สวนทางกับแนวทาง “อภิสิทธิ์” ซึ่งพูดเสมอว่าใครสนับสนุน “บิ๊กตู่” ให้ไปอยู่พรรคอื่นได้เลย และระบุชัดว่า “จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าไม่ได้เป็นนายกฯ จากเสียงข้างมาก” แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ปิดช่องทางเสียทีเดียว

          ส่วนจังหวะก้าวของ “อลงกรณ์” นั้น ถูกคนในพรรคที่ใกล้ชิดหัวหน้าพรรคมองว่า “เป็นขั้วของคสช. ที่จะเข้ามาครอบงำพรรคการเมือง” แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธเสียงแข็งว่า “คสช.ไม่ได้ส่งมาหรือเป็นนอมินีให้ แต่ได้รับการชักชวนจากคนในพรรคจริงๆ” แต่ “วัชระ เพชรทอง” ออกมายกให้อลงกรณ์เป็นทหารหนีทัพ ออกจากพรรคไปร่วมเป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สาย อีกทั้งการจะกลับมาของอลงกรณ์ก็คงไม่ง่าย เพราะอาจจะต้องเจอกฎเกณฑ์ที่เข้มกว่าเดิม ซึ่งอภิสิทธิ์แง้มออกมาแล้วว่าอาจมีข้อบังคับพรรค ที่ให้คนนอกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคได้ แต่ต้องได้รับการรับรองจากอดีต ส.ส. 40 คน และใครหน้าไหนจะกล้ายกมือหนุน “อลงกรณ์” เพราะคนลงนามเสนอชื่อผู้สมัครส.ส.นั้นคือ “หัวหน้าพรรค”

          ว่ากันตามตรงแล้ว “อภิสิทธิ์” ย่อมมีภาษีดีกว่าชื่อผู้ท้าชิงเก้าอี้ทุกๆ คน นั่นก็เพราะการสนับสนุนของ “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่คนในพรรคนับถือเป็นอย่างมาก อีกทั้งระบบการหยั่งเสียงอาจจะทำให้ให้มาร์คได้เปรียบมากขึ้น เพราะถ้าถามถึงคนทั่วไปแล้ว “อภิสิทธิ์” จะเป็นคนแรกๆ ที่หลายๆ คนนึกถึงพรรคประชาธิปัตย์ แถมคนทั่วไปก็ไม่ได้ติดตามข่าวสารการเมืองภายในพรรคแบบเกาะติดเสียด้วย

          แต่อย่างที่รู้กันว่า แม้ภาษีของอภิสิทธิ์จะดีกว่าคนอื่นๆ แต่ก็ยังการันตีความมั่นคงในตำแหน่งนี้ไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าวลือเรื่องการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่กระแสข่าวนี้มีมาอยู่เรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่ามีความต้องการบางส่วนในพรรคต้องการเปลี่ยนแปลงพรรคเก่าแก่นี้ เพราะภายใต้การนำทัพลงสนามเลือกตั้งในช่วง 13 ปีของหัวหน้าพรรคสะตอที่ชื่อ “อภิสิทธิ์” นั้น  ชายคนนี้ยังไม่ชนะคู่แข่งในการเลือกตั้งได้เลย

          ซึ่งแน่นอนว่าการลงสนามเลือกตั้งแต่ละครั้ง ใครๆ ก็หวังชนะ และครั้งนี้ก็เช่นกัน ดังนั้นภาพภายนอกที่ออกมา คือพรรคเก่าแก่นี้ควรที่จะต้องได้รับการผ่าตัดครั้งใหญ่ แต่จะเป็นในรูปแบบเปลี่ยนหัวหน้าพรรคหรือจะเป็นหัวหน้าพรรคคนเดิมแต่เปลี่ยนกลยุทธ์นั้น งานนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

          เพราะมันคือความเคลื่อนไหวของพรรคใหญ่พรรคหนึ่งของเมืองไทย ที่อาจเปลี่ยนแปลงวงการการเมือง ที่จะเกิดขึ้นได้อนาคตก็เป็นได้ !!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ