คอลัมนิสต์

โค่นดีเอสไอ หวังตัดตอนคดีพิเศษ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โค่นดีเอสไอ หวังตัดตอนคดีพิเศษ? : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

 

          หลังจากซุ่มเงียบมานาน ในที่สุดรัฐบาลก็แบไต๋ถึงการปรับรื้อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ตามคำกล่าวสวยๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูป

          ที่ผ่านมา “โมเดลยุบทิ้งดีเอสไอ” ถูกปล่อยเพื่อหยั่งกระแสเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นการยุบหน่วย โอนย้ายข้าราชการกลับสังกัดเดิม ยุบเพื่อรวบงานสอบสวนไปรวมไว้ในมือตำรวจฝ่ายเดียว หรือควบรวมดีเอสไอเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอัยการ เพื่อรองรับการร่วมสอบสวนของอัยการ

          สเต็ปแรกในการปฏิรูปดีเอสไอ เกิดขึ้นในสมัย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ดำรงตำเเหน่ง รมว.ยุติธรรม ซึ่งมองว่าอำนาจในการใช้ดุลพินิจรับ-ไม่รับสอบสวนคดีพิเศษ เป็นดุลพินิจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของอธิบดีดีเอสไอ ทำให้เกิดปัญหารับสอบสวนคดีขี้หมูราขี้หมาแห้ง แม้แต่คำกล่าวเปรียบเปรย “เสือ สิงห์ กระทิง ปู” ก็เป็นคดีพิเศษ ดังนั้นการจะรับหรือไม่รับสอบสวนคดีพิเศษ ต้องผ่านความเห็นชอบเป็นมติจากคณะกรรมการกลั่นกรองคดีพิเศษ อำนาจที่เคยเป็นของอธิบดีดีเอสไอจึงต้องถูกลดทอน แต่ยังไม่เข้าไปแตะกองคดีเพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อสำนวนคดี 

          สเต็ปที่ 2 ปรับลดภารกิจ โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ เเละ รมว.ยุติธรรม ได้เสนอให้ปรับลดกฎหมายแนบท้าย พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ ตัดคืนให้ตำรวจไป 18 ฉบับ ระหว่างนั้นก็ลดบทบาทดีเอสไอ ประชุมรับคดีพิเศษเพียงปีละครั้ง ห้ามให้สัมภาษณ์ถึงคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบ สอบสวนเสร็จให้ส่งไปอัยการทันที ไม่ต้องเป็นข่าว คล้ายกับทำให้ดีเอสไอค่อยๆ ถูกลืมเลือนไปเอง

          สเต็ปที่ 3 ปรับย้ายเกลี่ยสัดส่วน โดยเก้าอี้รองอธิบดีดีเอสไอ ถูกกดดันมาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากอำนาจในการปรับย้ายตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว แว่วว่า มีประโยคทองลอยลมมาว่า "จะยอมไปดีๆ ไปลงในตำแหน่งที่ต่อรองได้ หรือจะไปด้วยมาตราพิเศษ” เป็นผลให้ รองฯ 2 พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ตัดสินใจโอนย้ายไปเป็นรองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) และรองฯ 3 พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ยอมสไลด์ไปเป็นรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

 

 

          ส่วน พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองฯ 1 อาจขยับขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ขณะที่ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองฯ 4 ซึ่ง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ขอให้เหลือไว้ช่วยทำงานก็ยังหนาวๆ ร้อนๆ 

          หนักไปกว่านั้นคือ คำขาดที่ให้อธิบดีดีเอสไอจิ้มย้าย 5-6 ผอ.กองคดีพ้นจากดีเอสไอ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเป็นการปิดห้องถามหาความสมัครใจ ซึ่งมีผู้ตอบรับแล้ว 2 คน รายแรกขอโอนกลับตำรวจ อีกรายขอไปราชทัณฑ์ พักงานสอบสวนไปเป็น ผบ.เรือนจำ สลับให้ ผบ.เรือนจำ มาสอบสวนคดีพิเศษบ้าง งานคดีคงมีสีสันไปอีกแบบ 

          ก่อนถึงกำหนดนัดในวันที่ 16 กันยายน ซึ่งรัฐมนตรีนัด ผอ.กองคดี-รองผอ.กองคดี กินข้าวเที่ยง เชื่อว่าหลายคนต้องรีบหาลู่ทางให้ตัวเอง ส่วนกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบคดีบุกรุกป่า กับกองคดีต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งอยู่ระหว่างสอบสวนคดีฟอกเงินอ่างวิคตอเรียซีเครท ผอ.กองคดีถอดใจ ส่งมอบสำนวนคดีให้รองผอ.กองคดี ซี 8 รับไปทำต่อ แต่ในยามนี้ไม่แน่ใจว่า สำนวนคดีจะถูกส่งต่อไปที่ไหน เพราะมีทีท่าว่า นโยบายปฏิรูปจะล้วงเข้าไปถึงอดีตตำรวจระดับ 8 อีก 20-30 รายด้วย

          ในวาระปฏิรูป ปฏิเสธไม่ได้ว่าอดีตตำรวจก้าวขึ้นมาคุมตำแหน่งบริหารในดีเอสไอจริง ในสัดส่วน ผอ.กองคดี มีพลเรือนและทหารแทรกตัวเข้าไปอย่างละ 1 ที่นั่ง แต่ทว่าพวกเขาโอนย้ายมาดีเอสไอตั้งแต่เป็นผู้กอง สารวัตร ผู้กำกับ จนปัจจุบันเพื่อนร่วมรุ่นขยับเป็นผู้การ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผบ.เหล่าทัพ การที่พวกเขาจะก้าวหน้าไปตามสายงานจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และถ้าคำนวณกันเป็นตัวเลขการรับราชการ 15 ปีในดีเอสไอ นานกว่าที่พวกเขาเคยเป็นตำรวจเสียอีก ข้อหาอดีตตำรวจจึงเป็นธรรมหรือไม่

          การย้ายคนที่ถูกเรียกว่าอดีตตำรวจออกไปจากวิชาชีพที่ถนัด แล้วนำพลเรือนที่ไม่ถนัดมาบริหารงาน คล้ายการบริหารแบบกลับหัวกลับหางพิกลพิการไปจากหลักการที่ดี หากมองในแง่ดีตามที่ปลัดยุติธรรมชี้แจงถึงการปฏิรูปการทำงานในรูปแบบการบูรณาการ โดยนำหมอผ่าศพมาช่วยสอบสวนแม้ไม่ตอบโจทย์มากนัก หรือนำอดีตเจ้าพนักงานสืบสวนความประพฤติให้มาสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีขั้นตอนมากไปกว่าคดีอาญาปกติ

          ทำให้ยังมองไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ที่เรียกกันว่า “ปฏิรูป” แง่ดีที่ว่า..อาจเหลือเพียง แบ่งปันความเจริญหรือไม่

          ข้อเท็จจริงอีกเรื่องที่กระทรวงอาจไม่รู้ คือ พนักงานสอบสวนหลายคนที่เป็นพลเรือน ผ่านหลักสูตรอบรมและผ่านงานภาคสนามมาเกือบ 10 ปี ยังสอบสวนสำนวนทั้งเล่มไม่ได้

          นาทีนี้...คงไม่มีใครค้านการเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แต่การปรับเปลี่ยนควรให้ความสำคัญต่องาน สำนวนคดี ต้องอยู่ในมือคนที่ทำได้ ส่วนคนที่มีประวัติทำสำนวนบกพร่อง จงใจทำสำนวนอ่อน หรือเรียกรับสินบน ก็สมควรถูกจิ้มออก ซึ่งดูจะเป็นเหตุเป็นผลกว่า

          ว่าไปแล้ว 4 เก้าอี้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็มีสัดส่วนของอดีตตำรวจอยู่ครึ่งหนึ่งเช่นกัน !

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ