คอลัมนิสต์

แก้หนี้นอกระบบ โมเดลเก็บแต้มก่อนเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แก้หนี้นอกระบบ โมเดลเก็บแต้มก่อนเลือกตั้ง : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

 

          “ยุติธรรมสัญจร-แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ” ถูกบรรจุให้เป็นภารกิจหลักในโปรแกรมคู่ขนานกับ “ครม.สัญจร” ที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระดมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงตาชั่ง เข้าไปสร้างช่องทางการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

          หนี้นอกระบบที่สร้างทุกข์แสนสาหัสให้แก่คนจนของประเทศ มีความคล้ายกันในรูปแบบและพฤติการณ์ โดยปล่อยกู้ที่คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตรา บังคับให้ทำสัญญาขายฝากไว้เป็นหลักประกัน และมีแก๊งหมวกกันน็อกทำหน้าที่ทวงหนี้-เก็บดอก เมื่อครบกำหนดสัญญาลูกหนี้หาเงินมาไถ่ถอนไม่ทัน-ปิดหนี้ไม่ได้ ถูกยึดทันที ใครอยากอยู่ทำกินต่อ…ต้องจ่ายค่าเช่าหรือต่อดอก โดยการขายฝากเป็นเทคนิคที่เจ้าหนี้นำมาใช้ทดแทนวิธีการบังคับให้ลูกหนี้เซ็นชื่อในกระดาษเปล่า เว้นช่องว่างให้นายทุนเป็นผู้กรอกวงเงินกู้ ซึ่งเมื่อถูกสอบสวนสัญญาเงินกู้จะกลายเป็นโมฆะทันที เพราะลูกหนี้ไม่ได้รับเงินต้นตามที่ระบุในสัญญา

          ผลจากการเดินสายสัญจร เกือบทั่วไทย มีชาวบ้านเข้าร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมราว 2 แสนราย ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปดำเนินการคู่ขนานกับกรมบังคับคดี แตกย่อยเป็นโมเดลตามแผนประทุษกรรมที่พบในจังหวัดต่างๆ โดยพบว่าเป็นปัญหารุนแรงในภาคใต้และภาคอีสาน ส่งผลให้ชาวบ้านและเกษตรกรตกเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง เพียงนายทุนส่งสัญญาณพักดอก ลูกหนี้พากันตบเท้าเป็นม็อบเกษตรกร เคลื่อนขบวนเข้าเมืองกรุงทันที

          ในช่วงหัวโค้งก่อนเดินหน้าเข้าสู่สนามเลือกตั้ง รัฐบาลจึงต้องแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้เป็นมรรคเป็นผล ใช้กำปั้นเหล็กเข้าไปทุบนายทุนเงินกู้ผู้คุมฐานเสียง เพื่อตีตื้นเรียกคะแนน โดยตั้งเป้าที่จะสร้างโมเดลประเทศไทย เป็นคู่มือแก้หนี้นอกระบบ ภายใต้หลักการเป็นหนี้ต้องชำระอย่างเป็นธรรม เจ้าหนี้ห้ามเอาเปรียบ ส่วนตัวลูกหนี้เองก็ห้ามชักดาบ

          จากระบบประมวลผล “บิ๊กดาต้า” ของกรมบังคับคดี ทำให้สามารถระบุตัวตนของนายทุนเงินกู้นอกระบบรายใหญ่ครบทุกจังหวัด เป้าหมายเพื่อดึงนายทุนนอกระบบเข้าเป็นเครือข่ายฟิโก้ไฟแนนซ์ แต่ปรากฏว่า ฟิโก้ไฟแนนซ์ยังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะปล่อยกู้สูงสุดได้แค่ 50,000 บาท ขณะที่สถาบันการเงินของรัฐก็ยังปล่อยกู้ให้น้อย โดยจะประเมินเผื่อหนี้เสีย-ดอกเบี้ยค้างจ่าย เพื่อให้มูลค่าทรัพย์เหลือพอดีเต็มวงเงินเมื่อต้องบังคับคดีขายทอดตลาด ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวทำให้หนี้นอกระบบยังคงความสำคัญ

          ภารกิจเร่งด่วนของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ คือทำอย่างไรไม่ให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินทำกิน เป้าหลักจึงพุ่งไปที่ “ขายฝาก” ลูกหนี้หลายรายถูกเอารัดเอาเปรียบจากกฎหมาย บางรายต้องหาเงินมาต่อดอกทุกวัน หรือทุก 2 หรือ 3 วัน พูดได้ว่าต่อดอกจนไม่มีปัญญาจะหาเงินมาล้างต้น ที่ผ่านมาจึงมีข้อเสนอมากมายให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายขายฝาก อย่างน้อยที่สุดควรแก้ไขให้มีกรอบเวลาในสัญญา เช่น 1-3 ปี เพื่อให้เกษตรกรมีความสามารถเพียงพอที่จะล้างหนี้

          แต่ในช่วงที่ยังไม่มีการแก้กฎหมาย ยุติธรรมสัญจร คงมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โมเดลหลักเป็นการ “โอ้โลม ปฏิโลม” เปิดเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยกรมบังคับคดีจะเป็นแกนหลักในการประสานธนาคารของรัฐเข้ามาเป็นแหล่งเงิน รับเวนคืนโฉนดที่ดิน หรือย้ายหนี้นอกระบบเข้าไปเป็นหนี้ในระบบ ให้ลูกหนี้ผ่อนชำระต่อ

          ในกรณีที่มีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ศูนย์ฯ ลูกหนี้ดีเอสไอจะเข้าไปร่วมไกล่เกลี่ย ขอชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามจริง โดยจะเจรจาให้หักลดดอกเบี้ยส่วนเกินออกไป หากเจ้าหนี้ไม่ยอมเจรจา ยืนกรานจะฟ้องบังคับให้ได้ ก็ต้องโดนรุมกินโต๊ะ ซึ่งความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นคดีอาญาทั่วไป ตำรวจจะรับดำเนินคดี ในส่วนของดีเอสไอจะนำมาตรการภาษีเข้าไปจับ ประเมินรายได้จากบัญชีเงินฝาก-การครอบครองบ้านและที่ดินซึ่งไม่ได้มีที่มาจากการซื้อขาย แล้วฟ้องเรียกเก็บภาษีย้อนหลังบุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ

          มาตรการภาษีทำให้นายทุนเงินกู้ในชัยภูมิ ถูกประเมินภาษีย้อนหลังลอตแรก 230 ล้านบาท ลอต 2 อีก 152 ล้านบาท ขณะที่นายทุน 3 รายในเพชรบูรณ์ มีเงินฝากในบัญชีนับพันล้านบาท ถือครองที่ดินกว่า 1,800 ไร่ กำลังถูกสอบสวนและส่งรายชื่อให้สรรพากรประเมินภาษีย้อนหลัง

          ท้ายที่สุดสำหรับแก๊งหมวกกันน็อก ทวงหนี้ด้วยพฤติการณ์กรรโชกทรัพย์ จะถูกกำราบด้วยกฎหมายฟอกเงิน ยึดทรัพย์ ซึ่งยังต้องติดตามประเมินผลว่า โมเดลคืนความเป็นธรรมให้แก่ลูกหนี้นอกระบบ จะโกยความนิยมให้แก่รัฐบาลได้มากน้อยเพียงใด

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ