คอลัมนิสต์

ส่องโผทหาร... 'นายพล' ล้นกองทัพ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กองทัพบ้านเรามี "นายพล" มากจริงๆ และน่าจะมากที่สุดในโลกด้วยซ้ำ... เรื่องโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

                 บัญชีแต่งตั้งนายทหารระดับนายพล ประจำปี 2561 ที่เพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กันยายน สะท้อนความจริงในกองทัพหลายมิติ

                 โดยเฉพาะความจริงที่ทุกคนควรตระหนักก็คือ กองทัพบ้านเรามี “นายพล” มากจริงๆ และน่าจะมากที่สุดในโลกด้วยซ้ำ !

                 พิจารณาจากจำนวนตำแหน่งที่ประกาศในบัญชีรายชื่อนายทหารระดับนายพลปีล่าสุด (ปี 2561) สูงถึง 935 ตำแหน่ง บางคนมองในแง่ดีว่าสาเหตุที่ตัวเลขเยอะแบบนี้เพราะมีคนเกษียณจำนวนมาก จึงต้องตั้ง “นายพลใหม่” เข้าไปทดแทน แต่วันนี้จะมีตัวเลขมาให้ดูเปรียบเทียบกันให้เห็นจะจะเลยว่า...คำอธิบายนี้ฟังขึ้นหรือไม่

                 จริงอยู่ที่บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายปีนี้ รายชื่อนายพลไม่ได้สูงที่สุดหากเทียบกับช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ไล่เรียงย้อนหลังให้ดูปีต่อปี ดังนี้

                 วาระประจำปี 2560 คือปีที่แล้ว มีรายชื่อในบัญชี 990 ตำแหน่ง มากกว่าปีล่าสุดคือปี 2561 อยู่ที่ 55 ตำแหน่ง

                 วาระประจำปี 2559 ปีที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. มีชื่อในบัญชี 798 ตำแหน่ง

                 วารประจำปี 2558 ปีที่ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. มีชื่อในบัญชีจำนวน 831 ตำแหน่ง

                 วาระประจำปี 2557 ปีที่ พล.อ.อุดมเดช ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. มีชื่อในบัญชีสูงถึง 1,092 ตำแหน่ง โดยข้อน่าสังเกตของบัญชีรายชื่อในปีนั้นก็คือ เป็นปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกษียณอายุราชการจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. หลังจากครองเก้าอี้มายาวนาน 4 ปี และมีนายทหารหลายคนโยกไปเป็นรัฐมนตรี ภายหลังการรัฐประหารของคสช.ในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน

 

ส่องโผทหาร... 'นายพล' ล้นกองทัพ?

                 วาระประจำปี 2556 ปีที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม มีชื่อในบัญชี 861 ตำแหน่ง

                 วาระประจำปี 2555 ปีที่ พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม มีชื่อในบัญชีจำนวน 811 ตำแหน่ง

                 วาระประจำปี 2554 ปีที่ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม มีชื่อในบัญชีจำนวน 584 ตำแหน่ง

                 วาระประจำปี 2553 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. มีชื่อในบัญชี 550 ตำแหน่ง

                 วาระประจำปี 2552 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น รองผบ.ทบ. มีชื่อในบัญชีจำนวน 568 ตำแหน่ง

                 และวาระประจำปี 2551 ปีที่ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ขึ้นเป็น ผบ.ทสส. มีชื่อในบัญชีจำนวน 556 ตำแหน่ง

 

ส่องโผทหาร... 'นายพล' ล้นกองทัพ?

                 สาเหตุที่นำชื่อผู้นำเหล่าทัพที่ได้ตำแหน่งสำคัญในปีนั้นๆ มาใส่ ก็เพื่อให้ย้อนนึกได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในยุคไหน ใครขึ้นเป็นใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าท่านเหล่านั้นเป็นต้นเหตุทำให้ชื่อในบัญชีน้อยหรือมาก

                 แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ หากย้อนกลับไปก่อนปี 2555 คือตั้งแต่ปี 2551 ถึงปี 2554 บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลจะมีรายชื่อราวๆ ปีละ 500 กว่าตำแหน่งเท่านั้น กระทั่งปี 2555 เป็นต้นมา บัญชีรายชื่อพุ่งขึ้นไป 800 กว่าตำแหน่ง หรือจ่อๆ 800 บางปีทะลุถึง 1,000 ตำแหน่ง และ 2 ปีล่าสุดอยู่ที่ 900 กว่าตำแหน่ง

 

ส่องโผทหาร... 'นายพล' ล้นกองทัพ?

(แฟ้มภาพวันกองทัพไทย 18 ม.ค.61)

 

                 คำถามที่ยังไม่มีคำตอบก็คือ ทำไมในช่วงทศวรรษเดียวกัน (ปี 2551-2560) รายชื่อนายทหารชั้นนายพลในแต่ละปีถึงมีจำนวนห่างกันขนาดนี้ และถ้าไม่มีการขยายอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนนายพลที่เกษียณอายุจริง ขนาดของบัญชีรายชื่อก็น่าจะเล็กลง ไม่ใช่ขยายใหญ่ขึ้น และจำนวนนายพลใหม่ก็ไม่ควรเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

                 หากพิจารณาเฉพาะบัญชีรายชื่อปี 2561 คือปีล่าสุด เอกซเรย์ให้ลึกลงไปอีกนิด จะพบว่ามีนายพลใหม่ (พันเอกขึ้นพลตรี) จำนวนทั้งสิ้น 358 นาย คิดเป็นร้อยละ 38 ของรายชื่อทั้งหมดในบัญชี โดยที่เหลืออีก 577 นายเป็นการสลับตำแหน่ง หรือปรับยศ

                 “นายพลใหม่” 358 นาย กระจายอยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 49 นาย กองบัญชาการกองทัพไทย 49 นาย กองทัพบก 137 นาย กองทัพเรือ 61 นาย และ กองทัพอากาศ 62 นาย

                 “นายพลใหม่” ส่วนหนึ่ง ไม่ได้ขึ้นครองอัตราตำแหน่งหลักของแต่ละเหล่าทัพ เช่น เจ้ากรม หรือ ผบ.พล. แต่ได้ติดยศพลตรีในตำแหน่งลอยที่ชื่อว่า “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ตำแหน่งนี้น่าสนใจ เพราะหมายถึงนายพลที่ไม่มีตำแหน่งหลักให้ลง จะมีงานก็ต่อเมื่อได้รับมอบหมาย (ถ้าไม่ได้รับมอบหมายก็ไม่มีงาน ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่มีงาน) แบ่งเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิเฉยๆ ยศ “พลตรี” และผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มียศ “พลโท” กับ “พลเอก”

                 พูดง่ายๆ คือในสาย “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่ไม่มีงานเป็นหลักแหล่งแน่นอน ยังมีการเลื่อนไหลเพิ่มยศเลื่อนขั้นได้อีกด้วย

                 หากนับจำนวน “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในทุกชั้นยศ เฉพาะในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายปีนี้ จะพบว่า สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มีผู้ทรงคุณวุฒิ 53 นาย กองบัญชาการกองทัพไทย 58 นาย กองทัพบก 125 นาย กองทัพเรือ 65 นาย และกองทัพอากาศ 56 นาย

 

ส่องโผทหาร... 'นายพล' ล้นกองทัพ?

                 “ผู้ทรงคุณวุฒิ” บางนายถูกดึงไป “ช่วยราชการ” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายงาน กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยสายงาน กอ.รมน. ทุกวันนี้มี “นายพลตำแหน่งหลัก” รวมอยู่ด้วย เป็นตำแหน่งใน “สำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายใน” หรือ ปรมน. ซึ่งมีในทุกเหล่าทัพ หลักๆ คือกองทัพบก

                 นายพล ปรมน.นี้เองคืออีกหนึ่งเหตุปัจจัยที่ให้บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารปีหลังๆ ขยายใหญ่ขึ้น

ในบางบริบทกองทัพก็ใช้ตำแหน่ง “ผู้ทรงคุณวุฒิ” หรือ “ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ” ในการพักรอคนที่เหมาะสมจะขึ้นตำแหน่งหลักในปีถัดไป หรือใช้เป็น “เก้าอี้รองรับ”

                 สำหรับนายพลที่หลุดจากตำแหน่งหลัก หรืออายุราชการไม่พอที่จะเติบโตสู่ดวงดาว ก็มอบตำแหน่ง “ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ” ที่เลื่อนไหลให้ 1 ชั้นยศเป็นการตอบแทนระหว่างรอเกษียณ

                 ที่น่าตกใจก็คือ รายชื่อนายพลในบัญชีแต่งตั้งทั้งหมด 935 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิทุกชั้นยศมากถึง 357 ตำแหน่ง นอกจากนั้นยังมี “ผู้ชำนาญการ” และ “ที่ปรึกษา” อีกจำนวนหนึ่ง รวมๆ แล้วประมาณ 400 ตำแหน่ง หรือร้อยละ 42 ของรายชื่อทั้งหมดในบัญชีเลยทีเดียว

                 หากอนุมานว่าใน 400 ตำแหน่ง มีนายพลที่ไม่ได้รับมอบหมายงานชัดเจนราวๆ ครึ่งหนึ่ง (ซึ่งจริงๆ มีมากกว่านั้น) ก็เท่ากับว่าเรามีนายพลว่างงาน บางคนไม่มีแม้กระทั่งโต๊ะทำงาน ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน เลี้ยงหลาน ทำธุรกิจ หรือออกรอบตีกอล์ฟ มากกว่าร้อยละ 20 ของรายชื่อนายพลในบัญชี ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ใช่ทั้งหมดของกองทัพประเทศไทย เพราะยังมีนายพลที่ไม่ได้เลื่อนยศ เปลี่ยนตำแหน่ง และไม่ได้เกษียณ จึงไม่มีชื่อในบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายในแต่ละปีอีกจำนวนไม่น้อย

                 นักวิชาการด้านความมั่นคง และอดีตนายทหารระดับสูงในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ประเมินตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการว่า กองทัพของประเทศไทยน่าจะมีนายพลราวๆ 1,500 นาย และประมาณครึ่งหนึ่งไม่มีตำแหน่งหลัก และไม่มีงานรับผิดชอบที่ชัดเจน

                 อย่าถามถึงความคุ้มค่าของภาษีอากรที่ต้องจ่ายไป เพราะนี่คือความพิเศษหนึ่งเดียวของกองทัพไทยที่ต้องบอกว่า “ไทยแลนด์โอนลี่” จริงๆ

---

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ