คอลัมนิสต์

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด 3 ทางที่จะทำให้ "บิ๊กตู่" รีเทิร์นตำแหน่งนายกฯ แต่ "บิ๊กตู่" จะเลือกไหม...หรือจะมีรายการ "พลิกโผ" ??

 

                 ย่างเข้าสู่เดือนกันยายน การเมืองเข้มข้นขึ้น หลายเรื่องปักหมุดนัดหมายไว้ที่เดือนนี้

                 อย่างแรกเป็นเดือนที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกฯ ประกาศไว้ว่าจะประกาศท่าทีอนาคตทางการเมืองที่ชัดเจน

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"


(อ่านต่อ..."บิ๊กตู่" ลั่นวาจา กันยายน อนาคตการเมืองชัดเจน!!!)

 

                 อย่างที่สองเดือนกันยายนจะเป็นเดือนที่ครบกำหนดเวลา 90 วัน นับจากมีการทูลเกล้าฯ “ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้าย” คือ ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หากมีการพระราชทานกลับคืนมา ก็จะมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไม่เกินช่วงกลางเดือนนี้

                 สำหรับกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้ทันที แต่ในส่วนของกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.จะต้องรออีก 90 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้

                 อย่างที่สาม “การคลายล็อกพรรคการเมือง” ซึ่งล่าสุดทาง คสช.แพลมออกมาแล้วว่าจะคลายกฎเหล็ก คลายล็อกอะไรบ้าง จะนับ 6 เรื่อง หรือ 9 เรื่อง ก็สุดแล้วแต่ แต่ใจความสำคัญคือการคลายล็อกเรื่องทางธุรการของพรรคการเมือง หลักๆ คือให้ประชุมพรรคการเมืองเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค เพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรค และคลายล็อกเรื่องระยะเวลาในการเดินตามกฎ เช่นเรื่องการหาทุนประเดิม 1 ล้านบาท การหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน ภายใน 180 วัน จากเดิมให้เริ่มต้นนับตั้งแต่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา (ตามคำสั่งคสช.ที่ 53/2560) ก็ให้เริ่มนับใหม่ตั้งแต่คำสั่งฉบับใหม่ออกมา

                 รวมไปถึงการปลดล็อกเรื่อง “ไพรมารีโหวต” จากเดิมฝ่ายผู้มีอำนาจแสดงท่าทียืนยันว่ายังไงก็ต้องมีไพรมารีโหวต ล่าสุดแสดงอาการชัดเจนว่าพร้อมถอย โดยบอกว่าจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 ออกมากำหนดกฎเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ใหม่ สรุปใจความสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ให้ตรงกัน คือ “ยกเลิกไพรมารีโหวต”

                 อย่างที่สี่ คือ ความเคลื่อนไหวของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะเป็นพรรคที่ทำหน้าที่เป็น “นั่งร้าน” ให้ พล.อ.ประยุทธ์มีกำหนดว่าในเดือนนี้จะจัดประชุมพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดแรก

                 เดิมมีข่าวว่า “สองรัฐมนตรี” ในรัฐบาลบิ๊กตู่ จะลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคนี้ คือ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ล่าสุดทั้งสองคนออกมาปฏิเสธข่าว

                 “ยังไม่ได้มีอะไรชัดเจน เพราะเป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งผมเคยพูดไว้ในเรื่องการที่จะทำประโยชน์ให้บ้านเมือง เพียงแต่จะเป็นในรูปแบบไหน อย่างไร ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้ลาออกอย่างที่เป็นข่าว และไม่ได้มีแผนที่จะลาออกในเวลาอันใกล้นี้” อุตตม พูดไว้เมื่อ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา

                 เมื่อถามว่าหากมีการเชิญไปเป็นหัวหน้าพรรคตามที่มีข่าวจะไปไหม อุตตม ไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่ไป แต่บอกว่า “ถึงวันนั้นถ้ามีจริงค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คิด”

 

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"

(อ่านต่อ..."อุตตม"ปัดข่าวลาออกร่วมพรรคประชารัฐ)

 

                 เช่นเดียวกันกับสนธิรัตน์ ที่บอกว่า “เมื่อถึงเวลาที่คิดว่าต้องตัดสินใจก็ต้องตัดสินใจ ส่วนเวลาที่เหมาะสมนั้น ต้องดูสถานการณ์การเมืองตอนนั้นว่าเป็นอย่างไร จะมีการเลือกตั้งเมื่อไร เมื่อการเลือกตั้งชัดเจนแล้ว สถานการณ์การเมืองชัดเจนแล้ว ก็จะดูว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นจะดำเนินการอย่างไร หรือหยุดเพียงแค่นี้ ต้องตัดสินใจตอนนั้นอีกที”

 

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"

(อ่านต่อ..."สนธิรัตน์" ปัดข่าวไขก๊อกไปนั่งเลขาฯพลังประชารัฐ)

 

                 ความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐจะพ่วงความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มสามมิตร” ไปด้วย ซึ่งทางกลุ่มก็ประกาศไว้แล้วว่าเดือนกันยายนนี้จะชัดเจนว่าจะไปอยู่พรรคไหน

                 แหล่งข่าวจากกลุ่มสามมิตรบอกว่า กลุ่มจะเข้าไปอยู่พรรคพลังประชารัฐแน่นอน ส่วนสองรัฐมนตรีข้างต้นจะยังไม่ไปเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐตอนนี้และในอนาคตก็อาจจะไม่จำเป็นต้องไปเป็นด้วยซ้ำ เพราะสามารถทำหน้าที่ในบทบาทอื่นได้ แต่ชัดเจนว่าทั้งสองจะไปอยู่พรรคพลังประชารัฐเช่นเดียวกับกลุ่มสามมิตรแน่นอน

                 “เวลาที่จำเป็นที่ทั้งสองคนต้องเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคอย่างแน่นอน คือ ช่วงใกล้ๆ กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ก่อนมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เพราะจะมีเงื่อนไข ใครที่จะลงสมัครส.ส.จะต้องเป็นสมาชิกพรรคมาไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่งทั้งสองน่าจะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ” แหล่งข่าวกล่าว

                 การเริ่มต้นเดือนกันยายนจึงย่อมหมายถึงสถานการณ์การเมืองเพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งกำลังงวดเข้ามาๆ

 

                 อนาคต “บิ๊กตู่” กับ 3 ทางเลือก

                 กลับมาที่ประเด็นแรก เรื่องอนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” ที่เจ้าตัวประกาศไว้ว่าจะชัดเจนในเดือนกันยายน

"ถ้ายังไม่ถึงก็ยังไม่ต้องถาม ถ้าถึงก็รู้เองนะ ผมไม่เคยลืมพูดอะไรไว้...ผมจะอยู่อย่างไรต้องไปดูกฎหมาย ดูรัฐธรรมนูญ การจะอยู่ต้องดูว่าอยู่เพื่ออะไร ทำอะไร จำเป็นหรือไม่แล้วจะไปอยู่พรรคไหนก็อีกเรื่องนึง แล้วจะไปอยู่ได้อย่างไร ข้อสำคัญจะไปอยู่พรรคไหนก็ตาม ถ้าประชาชนไม่เลือกพรรคนั้นแล้วจะมาได้อย่างไร ใช่หรือไม่” คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา

                 ถึงตอนนี้มี 2 คำถาม

                 หนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจนจริงหรือ

                 สองจะมีแนวทางไหนให้ “บิ๊กตู่” เดินได้บ้าง ที่จะทำให้ได้กลับมาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งอีกครั้ง

                 สำหรับคำถามแรกมีคำถามซ้อนไปอีกว่าสไตล์ “บิ๊กตู่” ที่ปกติจะ “ดึงเกมยาว” ตลอด หากอะไรยังไม่ชัวร์จะไม่พูดไม่ทำเด็ดขาด เหมือนตอนเข้ามายึดอำนาจเมื่อปี 4 ปีที่แล้ว มีการทอดสะพานให้อยู่นานกว่าบิ๊กตู่จะยอมตามรวมถึงตอนนี้น่าจะยังไม่ถึงเวลา “จำเป็นจริงๆ” ที่จะต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนหรือไม่?

                 อย่างไรก็ตามด้วยความที่ “บิ๊กตู่” พูดไว้ชัดเจนมาก หากไม่ทำอะไรเลยก็คงถูกไล่บี้ไม่เลิกรา จึงมีความเป็นไปได้ว่าหัวหน้า คสช.จะ “แพลม” อนาคตทางการเมืองออกมาอีกสเต็ป แต่คงไม่ถึงกับชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์

                 อย่างมากก็คงแค่บอกว่ามีความพร้อมที่จะลงสนามการเมืองตามกติกาเงื่อนไขที่มีอยู่ แต่ยังคงไม่สามารถบอกได้ชัดว่าจะเป็นช่องทางไหน อย่างไร หรือจะไปเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไหน

                 “ผมจะไปพูดแทนพรรคได้ยังไง จะมีพรรคไหนมาเสนอชื่อผมบ้างผมจะรู้ได้ยังไง อาจจะไม่มีใครเสนอชื่อผมก็ได้” ลีลาพลิ้วของ “บิ๊กตู่” น่าจะออกประมาณนี้

                 คำถามที่สอง จะมีแนวทางไหนบ้างที่จะทำให้ได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งหลังเลือกตั้ง

                 อันนี้ “บิ๊กตู่” ไม่ตอบแน่ๆ แต่เราต้องมาวิเคราะห์กัน

                 ย้อนเวลากลับไปมีทางหนึ่งที่ “บิ๊กตู่” ไม่เลือกแล้ว คือการลงสู่สนามเลือกตั้งแบบเต็มตัวด้วยการลงสมัครส.ส. ทางนั้นทำไม่ได้เพราะเลยเวลาแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหาก คสช. หรือ ครม. จะลงสมัครส.ส.ต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปีที่แล้ว

                 ณ เวลานี้ หนทางที่มีให้ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกได้มีอยู่ 3 ทาง

 

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"

 

                 1.อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ถึงวันนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าถ้าเป็นช่องทางนี้ก็น่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังแต่งองค์ทรงเครื่องกันอยู่

                 หาก “บิ๊กตู่” เลือกทางนี้ ด้านหนึ่งก็คงมีเสียงชื่นชมถึงความตรงไปตรงมากล้าหาญที่ลงสู่สนามเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็คงจะมีเสียงโจมตีมาพร้อมกันด้วยว่าที่ทำมาทั้งหมด ที่วางกติกาโน่นนี่มา ก็เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง พร้อมๆ กันก็คงมีเสียงเรียกร้องให้ออกจากตำแหน่ง “หัวหน้า คสช.” เพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขันด้วย

                 อย่างไรก็ตามสำหรับเสียงโจมตีนั้นจนถึงวันนี้หาก “บิ๊กตู่” คิดจะหวนคืนสู่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งไม่ว่าทางไหนก็คงต้องโดนโจมตีอยู่แล้ว การก้าวสู่สนามเลือกตั้งอย่างเปิดเผยน่าจะโดนโจมตีน้อยกว่าการเล่นบท “อีแอบ” ด้วยซ้ำ

                 ส่วนแรงกดดันให้ลาออกจากคสช.นั้น หากภายในคสช.เหนียวแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะก้าวลงจากตำแหน่ง และมอบให้คนที่ไว้วางใจได้ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล

                 ยังมีการวิเคราะห์ถึงเหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องเลือกทางนี้ด้วยว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง ก็จะเป็นพลังดูดทั้งคนที่จะมาอยู่กับพรรคนี้ และดูดพรรคกลางๆ ไม่ให้ไปทางอื่น

                 "หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยู่ในบัญชีของพรรคการเมือง แรงที่จะดูดให้พรรคการเมืองต่างๆ มารวมกับพรรคพลังประชารัฐน่าจะอ่อนลง พรรคกลางๆ เช่น พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทย อาจจะสวิงไปอยู่กับอีกฝั่ง หากพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ลง มีความเป็นไปได้สูงที่ฝั่งเพื่อไทยจะสามารถดึงพรรคต่างๆ ไปร่วมตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ” นักวิเคราะห์การเมืองวิเคราะห์

                 ทางที่ 2 รอเป็นนายกฯ ก๊อกสอง คือ หลังจากรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมืองได้ ก็ใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด คือ 500 จาก 750 คน เพื่อเลือกนายกฯ นอกบัญชี หรือที่ฝ่ายเชียร์ “บิ๊กตู่” พยายามเรียกว่า “นายกฯ คนกลาง”

                 แต่หนทางนี้จะเสี่ยงมาก!!

                 เสี่ยงเพราะต้องใช้เสียงมากถึง 500 เสียง ซึ่งไม่ง่าย เพราะต้องหา ส.ส.ให้ได้อย่างน้อย 250 เสียง เพื่อไปบวกกับ ส.ว. 250 เสียง ที่คาดว่า คสช.จะคุมได้ทั้งหมด

 

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"

 

                 ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประกาศไว้ชัดเจนว่าพรรคจะไม่สนับสนุนคนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคมาเป็นนายกฯ

                 แม้ลึกๆ จะมีความเชื่อกันอยู่ว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ หากต้องเลือกระหว่างเพื่อไทยกับ “พล.อ.ประยุทธ์” พรรคประชาธิปัตย์คงจะเลือก “บิ๊กตู่” มากกว่าแต่เพื่อความปลอดภัย ก็เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะเลือกหนทางนี้

                 บ้างก็มองว่าหากจะเลือกทางที่สอง “บิ๊กตู่” น่าจะเลือกทางที่สามเลยมากกว่า

                 ทางที่ 3 คือ อยู่เฉยๆ รอเวลาที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่คาดว่าจะเป็นพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นนายกฯ ต่อไป ซึ่งจะเป็นนายกฯ ที่ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่เหมือนปัจจุบัน

                 ปมหนึ่งที่น่าสนใจและชวนสงสัยในเจตนาของรัฐธรรมนูญ 2560 คือ ไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกฯ ว่าต้องเลือกให้เสร็จเมื่อไหร่ ต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดว่าต้องเลือกนายกฯ ให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก

 

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"

 

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"

 

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"

 

                 นั่นคือหากสภาตั้งรัฐบาลไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถเป็นนายกฯ ต่อไปได้ “ไม่มีกำหนด”

                 มีการพูดถึงเกมที่จะสกัดไม่ให้พรรคการเมืองอีกฝั่งตั้งรัฐบาลได้ คือพรรคพลังประชารัฐและพันธมิตรต้องมีส.ส.รวมกันไม่น้อยกว่า 125 เสียง

                 ทำไมต้องเป็น 125 เสียง เพราะถ้าฝั่งนี้ได้ 125 เสียง ไปบวกกับ ส.ว.ของคสช.อีก 250 เสียง ก็จะได้ 375 เสียง คือครึ่งหนึ่งของรัฐสภา ก็หมายความว่า อีกฝั่งจะไม่มีทางได้ ส.ส.เกินครึ่ง

                 แต่ถ้าเป็นสูตรนี้ก็หมายความว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็น “การเลือกตั้งลวงโลก” ประเทศไทยในสายตาประชาคมโลก คงตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

                 ทั้งหมดนี้คือหนทางที่คาดกันว่า “บิ๊กตู่” จะเลือก

 

3 ทางรีเทิร์น ของ "บิ๊กตู่"

 

                 เท่าที่ฟังสุ้มเสียง หากเทียบในสามทางน่าจะมีเสียงเชียร์ให้ “บิ๊กตู่” เลือกทางแรกมากกว่า

                 ถามว่าแล้วจะมีรายการ “พลิกโผ” ไม่เลือกทางไหน แต่เป็น “บิ๊กตู่” เลือกที่จะเก็บกระเป๋ากลับบ้าน หันหลังให้การเมือง ประกาศไม่รับตำแหน่งนายกฯ อีก ไม่ว่าฟ้าจะถล่ม ดินจะทลาย ได้หรือไม่

                 ก็ต้องบอกว่า การเมืองไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

                 สุดท้ายจะเลือกทางไหนก็ต้องถามใจ “บิ๊กตู่” !!

================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ