คอลัมนิสต์

จับตา คสช. ปลดล็อก 6  ข้อการเมือง สร้างบรรยากาศเลือกตั้ง ? 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตา คสช. ปลดล็อก 6  ข้อการเมือง สร้างบรรยากาศเลือกตั้ง ?  : รายงาน  โดย....   อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ


          ในวันนี้ (28 ส.ค.) คาดการณ์ว่า “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายจะเสนอต่อรัฐบาลและคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ  เพื่อให้มีคำสั่งทางกฎหมายปลดล็อกทางการเมือง 6 ข้อ  นัยว่าเพื่อเตรียมการรองรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า

          ที่ผ่านมาแม้หลายคนในรัฐบาลรวมถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในต้นปี 2562 แต่ดูเหมือนว่าเมฆหมอกแห่งความไม่มั่นใจจะยังคงปกคลุม  นั่นไม่ใช่เพียงเพราะที่ผ่านมามีการเลื่อนมาครั้งแล้วครั้งเล่า หากแต่เป็นเพราะบรรยากาศแห่งการเมืองยังไม่เอื้ออำนวยอันเนื่องมาจากพรรคการเมืองยังถูกผูกมัดโดยกฎหมายและคำสั่งทั้งของ คสช. และหัวหน้า คสช. อันเปรียบเหมือนกฎหมายสูงสุด

 

จับตา คสช. ปลดล็อก 6  ข้อการเมือง สร้างบรรยากาศเลือกตั้ง ? 

 

          เอาเข้าจริงแม้โรดแม็พการเลือกตั้งจะงวดเข้ามาทุกขณะเพราะยังเหลือเพียงขั้นตอนการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ขณะที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศและมีผลบังคับใช้ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับปรากฏว่ากฎหมายทั้งสองฉบับที่ใช้แล้วนั้นก็มีผลเสมือนหนึ่งยังไม่ได้ใช้ เพราะพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งกลับไม่สามารถทำหลายอย่างที่กฎหมายบัญญัติได้ อันเนื่องมาแต่คำสั่ง “พันธนาการ” ของ คสช. 

          พรรคการเมืองส่วนใหญ่ถูกจับมัดไม่อาจดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นทาง “การเมือง” หรือทาง “ธุรการ” ไหนจะต้องเร่งหาสมาชิกเพิ่มหลังจากถูกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 อันมีผลให้รีเซตสมาชิกพรรคแบบกลายๆ เพราะหากทำไม่ได้การทำไพรมารีโหวต ที่ทั้ง คสช. สนช. กรธ. ต่างประสานเสียงยืนยันก่อนหน้านี้ว่าเป็นการปฏิรูปการเมือง จะทำได้อย่างไร  หากพรรคไหนทำไม่ทันก็มีสิทธิว่าจะไม่ได้ส่งผู้สมัคร

          มิพักต้องพูดถึงการขยับประชุมพรรคเพื่อทำนโยบายเพื่อคัดสรรกรรมการบริหารชุดใหม่ หลังจากถูกแช่แข็งมาร่วม 4 ปี ล้วนแต่เป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่ต้องทำในระยะเวลาอันจำกัด เสียงกระทุ้งให้ปลดล็อกจึงดังขึ้นเรื่อยๆ

          ที่สุด คสช. ก็เหมือนจะเริ่มตื่น แต่ด้วยเหตุผลอันใดก็มีคำอธิบายหลากหลาย  แต่พวกเขากำลังจะพิจารณาปลดล็อก 6 ข้อ

 

จับตา คสช. ปลดล็อก 6  ข้อการเมือง สร้างบรรยากาศเลือกตั้ง ? 

 

          โดยข้อแรกคือ  ให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมได้  เพราะหากยังปล่อยไปเช่นนี้พรรคการเมืองจะมิอาจขยายได้  เพราะหลังจากคำสั่ง 53/2560  มีเพียงสองพรรคที่มีสมาชิกเกินหมื่น  นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ที่มี 80,000 คน ส่วนอันดับสองอย่างเพื่อไทยยังมี 10,000 คน

          ขณะที่พรรคอื่นนั้นล้วนอยู่ในระดับหลักพันหากเป็นพรรคกลาง ส่วนพรรคเล็กอยู่ในระดับหลักร้อย  มิพักต้องพูดถึงพรรคตั้งใหม่ที่ยังเปิดรับสมาชิกพรรคไม่ได้ด้วยซ้ำมีแต่เพียงผู้ร่วมจดตั้งหลักสิบหลักร้อยเท่านั้น 

          หากเป็นในอดีตตัวเลขสมาชิกพรรคอาจมีค่าในการเปลี่ยนเป็นตัวเลขขั้นต่ำของการดำรงสถานะเป็นพรรคการเมืองและการเปลี่ยนเป็นตัวเงินสนับสนุนพรรค  แต่กับกติกาใหม่นี้มีค่ามากกว่านั้น เพราะจำนวนสมาชิกคือสิ่งจำเป็นในการส่งสมาชิกรับสมัครเลือกตั้ง

          เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า การจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องทำ “การเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ไพรมารีโหวต”  

          และเงื่อนไขของไพรมารีโหวตนั้นผูกอยู่กับสมาชิกพรรค ซึ่งอย่างต่ำต้องมีจังหวัดละ 100 คน  ตีความแบบง่ายๆ ประเทศไทยมี 77 จังหวัด (รวม กทม.) หากต้องการจังหวัดละ 100 คน ต้องมีสมาชิกขั้นต่ำ 7,700 คน ซึ่งขณะนี้มีเพียงสองพรรคเท่านั้นที่เกินขั้นต่ำ

 

จับตา คสช. ปลดล็อก 6  ข้อการเมือง สร้างบรรยากาศเลือกตั้ง ? 

          แต่หากเจาะลึกเอาเข้าจริงๆ แล้ว ขณะนี้แม้แต่พรรคใหญ่ยังอาจมีปัญหามีสมาชิกในบางจังหวัดไม่ครบ 100 เช่นประชาธิปัตย์ในบางจังหวัดภาคอีสาน และเพื่อไทยในบางพื้นที่ภาคใต้  ยิ่งเวลางวดยิ่งต้องหาให้ได้และดูเหมือนจะเป็นปัญหาของพรรคเล็กและพรรคใหม่มากกว่าพรรคใหญ่เสียอีก

          เรื่องที่ 2 ที่จะมีการปลดล็อกคือเรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้ง จริงอยู่ที่ตอนนี้กกต.มีอำนาจหน้าที่ในการทำงานหลายๆ อย่าง แต่เมื่อกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งยังไม่ออกมาทำให้พวกเขายังไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ในขณะที่มีพรรคการเมืองบางพรรคต้องการออกแบบพื้นที่เพื่อกำหนดความได้เปรียบในคะแนนเสียง นี่จึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาเตรียมปลดล็อกเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง 

          เรื่องที่ 3 คือ ให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการเกี่ยวกับไพรมารีโหวตได้ หลังจากที่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถหาสมาชิกได้  ขั้นต่อไปคือการอนุญาตให้ทำไพรมารีโหวต เพราะหากยังติดล็อกเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง หรือห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง  พวกเขาก็ย่อมไม่อาจจะประชุมทำไพรมารีโหวตได้เลย นี่จึงเป็นที่มาของการปลดล็อก นอกจากนี้แล้วที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษคือ “กระบวนการไพรมารีโหวต” ที่เดิมกำหนดให้ทำในระดับจังหวัด  แต่จากล็อกที่คสช.ก่อขึ้นและคาดว่าจะเป็นปัญหาต่อพรรคใหญ่ พรรคเดิม แต่ดูเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะพรรคใหญ่สามารถปรับตัวได้ ขณะที่พรรคใหม่ พรรคเล็กกลับจะมีปัญหาในการหาสมาชิกให้ครบตามจำนวน จึงต้องดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไพรมารีโหวต เพื่อตอบสนองบางพรรคการเมืองหรือไม่ 

          ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงพวกเขาก็ต้องตอบคำถามเช่นกันว่าเหตุใดจึงปรับ และตอนแรกที่ีคนทักท้วงเรื่องความไม่เหมาะสมของระบบ แต่พวกเขาก็ยังดึงดันจะเอาโดยอ้างการปฏิรูปการเมืองจะใช้ชุดคำอธิบายแบบไหน 

          เรื่องที่  4 ให้ตั้งกรรมการเพื่อสรรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ ซึ่งคือรูปแบบการทำไพรมารีโหวตสำหรับส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ 

          เรื่องที่ 5 ติดต่อประสานงานกับสมาชิกได้  นัยก็เพื่อการทำไพรมารีโหวตเช่นกัน  

          และเรื่องที่ 6  ซึ่ง “วิษณุ เครืองาม”  อ้างว่าจำไม่ได้  แต่เขายืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง

          ดังนั้นหากดูจากประเด็นทั้ง 6 ข้อ จะเห็นว่าหลักๆ มีจุดประสงค์หลักสองเรื่องคือ  หนึ่งเรื่องการทำไพรมารีโหวต และสองเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่คำถามใหญ่คือการปลดล็อกครั้งนี้เป็นไปเพื่อพาประเทศเข้าสู่การเลือกตั้งจริงหรือไม่ และทำให้พรรคการเมืองถูกถอดพันธนาการหรือไม่

          คำตอบคือไม่ จริงอยู่ที่การทำไพรมารีโหวตและการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นหนึ่งในกระบวนการเลือกตั้ง แต่การให้พรรคการเมืองขยับเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนกับพรรคกลับยังไม่ได้รับอนุญาต  พรรคการเมืองยังจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ “การเมือง” ไม่ว่าจะเป็นการทำนโยบาย การปฏิสัมพันธ์อื่นทางการเมืองนอกจากการหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง  ซึ่งเหล่านี้นอกจากเรื่องเชิงพิธีการอย่างการหาผู้สมัครหรือเข้าคูหา เรื่องของการสร้างบรรยากาศการเมืองที่เป็น “อิสระ” และ “ยุติธรรม” ก็ถือเป็นหนึ่งในการนำไปสู่การเลือกตั้งที่แท้จริง
ดูเหมือนว่าการหาเสียง การนำเสนอนโยบาย หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองปกติ ถูกนำไปผูกโยงกับเรื่องความมั่นคง จนพวกเขาไม่กล้าที่จะคลายมัดเปลาะอื่นๆ พร้อมทั้งปลุกผี “ประชาธิปไตย” ว่าหากปล่อยให้การเมืองขยับหรือมีบรรยากาศประชาธิปไตยก็อาจจะเกิดความไม่สงบขึ้นมาได้ในบ้านเมือง

          การปลดล็อกหากตั้งต้นด้วยเจตนาให้เกิดบรรยากาศประชาธิปไตยก็จะทำให้ทางเลือกเป็นไปแบบไม่ยาก  แต่หากมีวาระซ่อนเร้นมากับการปลดล็อกเรื่องก็จะวุ่นวายและเป็นปัญหาใหม่ที่ผูกขึ้นเหมือนที่เคยเป็นๆ มา
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ