คอลัมนิสต์

เขื่อนไทยปลอดภัยหายห่วง ?? 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เขื่อนไทยปลอดภัยหายห่วง ??  : รายงาน  โดย...  อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ


          “ที่ห่วงคือเขื่อนเล็ก เพราะตั้งแต่ปี 2549 มีการถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่น เขื่อนเล็กมีประมาณ 8,000 เขื่อน ที่ไม่มีคนเฝ้า ซึ่งเขื่อนเล็กคือ ฝาย อ่าง อยู่ในชุมชน เดิมอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน แต่พอมาปี 2549 ถ่ายโอนทั้งหมดก็ไปอยู่ที่องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่าง อบต. คำถามคือ อบต.มีนายช่าง 1-2 คน ทำทุกอย่าง ถนน ไฟ ทาง เขาจะเชี่ยวชาญเรื่องนี้หรือไม่หากเขื่อนเล็กแตกก็ท่วมหมู่บ้าน”

          สถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำในปีนี้แม้หลายฝ่ายจะยืนยันตรงกันว่าไม่น่าห่วงเท่าปี 2554 แต่ก็ต้องบอกว่าปริมาณน้ำที่มีนั้นไม่ธรรมดาเลย  โดยเฉพาะทางภาคตะวันตกที่น้ำเต็มเขื่อนตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน ประกอบกับก่อนหน้านี้มีเขื่อนแตกที่ประเทศลาว แน่นอนว่าเมื่อสองอย่างประจวบกันก็ไม่แปลกว่าจะมีคนจับสองเรื่องมาปะติดปะต่อและตั้งคำถามว่า “เขื่อน” ในประเทศไทยปลอดภัยหรือไม่ 

          ทีมข่าว “คม ชัด ลึก”  จึงได้ไปหาข้อมูลเรื่องนี้กับ  ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          เริ่มต้นการสนทนา “ดร.อนุรักษ์”  อธิบายลักษณะการพังของเขื่อนว่าจะเกิดได้สามลักษณะ ลักษณะแรกน้ำล้นตัวเขื่อน ซึ่งเขาขยายความว่าต้องเป็นการล้นสันเขื่อนไม่ใช่การล้น “สปิลเวย์” หรือทางระบายน้ำล้น เพราะสปิลเวย์นั้นมีไว้ให้ล้นอยู่แล้ว แต่หากจะพังต้องเป็นการล้นเกินระดับสันเขื่อน โดยอ่างเก็บน้ำทุกอ่างจะมีสันสปิลเวย์ซึ่งเป็นช่องระบายน้ำ แต่จะใหญ่หรือเล็กก็ขึ้นกับการคำนวณ และเหนือสันสปิลเวย์ จึงจะเป็นสันเขื่อน ทั้งนี้ระดับสปิลเวย์นั้นจะเป็นตัวบอกระดับเก็บกัก ที่บอกว่า 100% ก็คือส่วนนี้ และที่เหลือด้านบนก็เป็นสันเขื่อน ดังนั้นเราจึงเห็นน้ำ 101% 102% ซึ่งมีการออกแบบเผื่อเอาไว้ 

 

เขื่อนไทยปลอดภัยหายห่วง ?? 

 

 

          หากจะพังน้ำต้องมากกว่าระดับสปิลเวย์มาก จนช่องนี้ระบายไม่ทันโอกาสเกิดขึ้นก็แล้วแต่พื้นที่ โดยแต่ละเขื่อนจะมีการคำนวณจากสถิติ และความเสี่ยง คาบการเกิด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า รีเทิร์นพีเรียด เช่นโอกาสที่จะเกิดฝนเช่นนี้มี 1 ใน 100 ปี  หรือ 1 ใน 1,000 ปี นี่เองจึงเป็นที่มาของคำว่าฝนร้อยปี หรือฝนพันปี ซึ่งเขื่อนไหญ่มีการออกแบบให้รองรับคาบการเกิดได้ไม่ร้อยปีก็พันปี ส่วนเขื่อนเล็กจะอยู่ที่ 25 ปี 

          ทั้งนี้เมื่อน้ำล้นสันเขื่อนก็ต้องดูชนิดเขื่อนด้วย หากเป็นคอนกรีต น้ำอาจจะล้นได้อีกหน่อย มีงานวิจัยว่าหากเป็นเขื่อนดินถ้ามีน้ำล้นเกิน 60 ซม. จะพังทั้งเขื่อน แต่หากเป็นคอนกรีตอาจจะได้ถึง 1 เมตร โดยปกติการดีไซน์เขื่อน เราจะดีไซน์ตัวโครงสร้าง  

          “การพังมีสามแบบ  1.เขื่อนเลื่อนตัวไป 2.เขื่อนกลิ้ง หรือพลิกทั้งเขื่อน และ 3.แบบแมททีเรียลหรืออุปกรณ์ ซึ่งก็เกิดเพราะเขื่อนมีรอยแตก โดยเขื่อนมีหน้าที่เก็บน้ำ หากเก็บน้ำไม่ได้ก็คือมีรอยแตก คอนกรีตทนแรงไม่ได้ก็แตก  หากเป็นเขื่อนดิน ก็จะมีตัวชะดินออกไป” 

          ลักษณะที่สองคือ การคำนวณน้ำไม่พอ การทรุดตัวลงของเขื่อนเนื่องจากเขื่อนมีน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งทั้งหมดก็ทำให้เกิดน้ำล้นสันเขื่อน

          และการพังลักษณะที่สามคือ ลักษณะอื่นๆ เช่น การคำนวณไม่ดี ไม่ได้คำนวณคลื่น หรือเหตุอื่นๆ ที่คาดไม่ถึง 

 

เขื่อนไทยปลอดภัยหายห่วง ?? 

 

          ดร.อนุรักษ์ระบุว่า เขื่อนที่ลาวที่แตกเป็นเขื่อนดิน ซึ่งในประเทศไทยโดยมากเป็นเขื่อนดินเพราะทำง่ายที่สุดและถูกที่สุด ปัญหาคือในเขื่อนที่ลาวคือการกั้นแม่น้ำไม่สามารถกั้นได้สายเดียว เพราะมีแม่น้ำมาหลายสาย เขาก็มีเขื่อนหลัก 1 เขื่อน ส่วนที่เป็นร่องเขาก็มาปิดช่อง เขื่อนที่แตกก็คือ “เซเปียนน้อย” เป็นเขื่อนรอง ที่ปิดช่องเขาขาด ซึ่งน่าจะมีปัญหา เพราะมีรอยแตก ซึ่งมีข่าวเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม แต่มีรายงานเรื่องรอยฉีกตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ดินเริ่มสไลด์ลงและเห็นรอยดินแยก 

          “การพังส่วนใหญ่เรากลัวเรื่องการรับน้ำครั้งแรก เราไม่มีวันรู้ว่าสร้างเสร็จจะมีรูรั่วตรงไหน การบดอัดดินมีสิทธิมีรูมีโพรงอาจจะมีผลเกิดขึ้นได้ ต่อให้มีการทดสอบมาตรฐานทั้งหมด การก่อสร้างไม่มีใครเจาะทุกจุด เพราะเจาะทุกจุดก็คือไม่ได้ก่อสร้าง เขาก็มีมาตรฐาน แต่ก็มีสิทธิเกิดอุบัติเหตุได้ และน้ำแรกที่เก็บ น้ำเริ่มซึมเข้าไป และมีรูอยู่เป็นโพรงมันก็จะแทรกและพยายามไชต่อ หากมีโพรงใหญ่ก็มีสิทธิฉีก การรับน้ำครั้งแรกจึงน่ากลัวที่สุดของเขื่อน” 

          ส่วนที่ไทย “ดร.อนุรักษ์” ชี้แจงว่า ความกลัวเกิดจากการให้ข่าว จริงๆแล้วการให้ข่าวคือการเตือน อย่างเช่น “เขื่อนแก่งกระจาน” หากฟังจากรัฐคือการบอกว่าน้ำกำลังจะล้นสันสปิลเวย์ หากไม่ให้ล้นจะพัง แปลว่าน้ำที่จะออกมาเยอะ และข้างล่างอาจจะมีปริมาณทางระบายที่รองรับไม่พอ เช่นแม่น้ำรับได้ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที หากล้นมาเกินความสามารถก็จะล้นพื้นที่แน่ๆ เตรียมตัวรับการท่วมได้เลย คลองรับได้แค่ 200 หากให้มากขึ้นก็ต้องขยายคลอง แต่คนอยู่กับคลองก็ขยายไม่ได้  

          วิธีการคือ  เราก็เตือนว่าจะโดนท่วม น้ำกำลังจะมา เขาเตือนก่อนสามวันว่ากำลังจะโดน น้ำกำลังขึ้น แต่เขาไม่ได้ให้ข่าวว่าเขื่อนจะแตก   

 

เขื่อนไทยปลอดภัยหายห่วง ?? 

 

          “แต่นี่มีการเอามาผสมกัน ล้นสันสปิลเวย์เป็นเรื่องปกติ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ล้นสันสปิลเวย์ทุกปี เพราะขนาดความจุมีแค่ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่น้ำมาปีละ 2,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งล้นแน่ๆ ทุกปี แต่ที่ไม่เตือนเพราะล้นแล้วช่องน้ำยังใหญ่ เลยไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม บังเอิญแก่งกระจานเขาเตือนและเมืองเพชรบุรี คูรับน้ำไม่พอ ซึ่งนี่คือเอาข่าวสองเรื่องมารวมกัน”

          “หากจะแตกน้ำต้องมหาศาลกว่านี้ และทุกวันนี้ เขื่อนใหญ่มีคนดูเพราะเขากลัวเขื่อนแตก โดยจะเริ่มจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) จะเป็นผู้ทำนายว่าฝนจะตกที่ไหน หากน้ำที่ไหนแตะ 80% จะเปลี่ยนจากสีธรรมดาเป็นสีแดง พอเป็นสีแดง ก็ต้องเตรียมระบายน้ำ เขาดูสปีดการขึ้นของน้ำ มีคนนอนเฝ้าที่เขื่อน จดระดับน้ำทุกวัน ช่วงวิกฤติจดรายชั่วโมง พอ 80% ต้องส่งเรื่องกลับมา และกลับไปที่ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดังนั้นเขื่อนใหญ่จะเห็นการพัฒนาว่ากำลังขึ้นนะ มีเวลาเตรียมตัว หากน้ำเต็มอย่างแก่งกระจานถึงขั้นทำไซฟ่อน หากรูไม่พอก็ระบายเพิ่ม ติดไซฟ่อน เขาเตรียมตัวอยู่แล้วไม่ให้เขื่อนพังให้คนด้านล่างได้ผลกระทบน้อยที่สุด แต่ไม่กระทบเลยคงไม่ได้เพราะบอกให้ฝนตกน้อยไม่ได้”

          อย่างไรก็ตาม “ดร.อนุรักษ์” ระบุว่าที่เขาห่วงเขื่อนเล็ก เพราะตั้งแต่ปี 2549 มีการถ่ายโอนอำนาจให้ท้องถิ่น เขื่อนเล็กมีประมาณ 8,000 เขื่อน ที่ไม่มีคนเฝ้า ซึ่งเขื่อนเล็กคือ ฝาย อ่าง อยู่ในชุมชน เดิมคืออยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน แต่พอมาปี 2549 การถ่ายโอนทั้งหมดก็ไปอยู่ที่องค์กรปกครองท้องถิ่นอย่าง อบต.  คำถามคือ อบต. มีนายช่าง 1-2 คน ทำทุกอย่าง ถนน ไฟ ทาง เขาจะเชี่ยวชาญเรื่องนี้หรือไม่ หากเขื่อนเล็กแตกก็ท่วมหมู่บ้าน  

          ส่วนเขื่อนขนาดกลางมีกรมชลประทานดูแล แต่ด้วยงบที่มีก็ทุ่มไปให้เขื่อนใหญ่ หากเป็นเขื่อนใหญ่ จะมีนายช่างมาเฝ้า ขนาดกลางจะมีบ้าง ระบบเซ็นเซอร์ระดับน้ำก็มีแค่บางเขื่อน

 

เขื่อนไทยปลอดภัยหายห่วง ?? 

 

          เมื่อถามว่าการดูแลต้องเป็นพิเศษไหม “ดร.อนุรักษ์” ระบุว่า การดูแลต้องเหมือนกัน เพราะทุกเขื่อนมีความเสี่ยง หากเราวางระบบ ต้องส่งคนไปดู เขื่อนขนาดกลางกรมชลประทานดูแลอยู่ ก็คิดว่าปกติเขามีนายช่างกรมชลฯ อยู่ หลายๆ แห่งมีการซ่อม ถ้าซ่อมแปลว่ามีคนดู แต่ที่ไม่ได้ซ่อม ต้องไปดูอีกที

          ขณะที่เขื่อนเล็กควรมีการฝึกอบรม ช่าง อบต. จัดโดยกรมชลฯ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เขาไปดูแลเอง เริ่มต้นหากอยู่ในระดับหมู่บ้าน ต้องให้ชาวบ้านช่วยกันดู หากมีปัญหาก็ส่งเรื่องต่อให้กรมชลฯ ดู ให้ชาวบ้านดูบ้านตัวเองก็ดีที่สุด แค่สอนให้เขาดู

          นายมนัส กำเนิดมณี รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีนักวิชาการระบุว่าเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในเขื่อนทั่วประเทศ โดยได้ระบุว่ากรมชลประทานได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ด้วยการควบคุมการเก็บกัก การระบายภายใต้โค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำ หรือเกณฑ์เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ ควบคุมปริมาตรน้ำด้วยการใช้เส้นบนของโค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำเป็นตัวควบคุม ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำบางแห่งมีปริมาตรน้ำเกินเส้นควบคุมด้วยการระบายน้ำผ่านระบบชลประทาน อาคารระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเดิม และใช้วิธีกาลักน้ำ ช่วยเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ 

          สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดจากการระบายน้ำ กรมชลประทานจะพิจารณาแจ้งข้อมูลให้หน่วยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์ และเตรียมขนย้ายสิ่งของ ตลอดจนมาตรการให้การช่วยเหลือเยียวยาตามลำดับต่อไป

 

เขื่อนไทยปลอดภัยหายห่วง ?? 

          ส่วนเรื่องความมั่นคงของเขื่อน กรมชลฯ มีแผนตรจสสอบ เพื่อให้เขื่อนมีความมั่นคงปลอดภัย ตั้งแต่การดำเนินการก่อสร้างหรือภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยการตรวจสภาพด้วยสายตา (ขนาดใหญ่ กลาง เล็ก) หาสิ่งผิดปกติ การกัดเซาะรั่วซึม ทรุดตัว  นอกจากนี้ยังติดเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนสำหรับเขื่อนขนาดใหญ่และกลาง เช่นการไหลซึมผ่านตัวเขื่อน ฐานรากเขื่อน โดยการตรวจสอบจะมีการทำทุกๆ 30 วัน และกรณีวิกฤติจะตรวจสอบทุก 24 ชั่วโมงตามมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่อยู่ในความดูแลของ อปท.  ก็ได้มอบให้เจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำการบำรุงดูแลรักษา การตรวจสอบความปลอดภัย รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม 

          ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ กรมชลฯ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาร และมีศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ SWOC มีหน้าที่ติดตามข้อมูล ตรวจสอบ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ มีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกรมชลฯ htt://wmsc.rid.go.th มีช่องทางออนไลน์เช่นแฟนเพจ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เรารักชลประทาน  รวมถึงสายด่วน 1460 ด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ