คอลัมนิสต์

"จัดระเบียบวัยรุ่น" ถามเรายัง "ฟัง" เราก่อน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข่าวเล็กๆ แต่สุดท้ายไม่เล็ก เพราะ "เด็กๆ ไม่ยอม!"

 

          จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา กับการแก้ไขเพิ่มร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ที่ให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา โดยได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย

 

          สำหรับกฎที่เปลี่ยนไปมีเนื้อหาสรุปคร่าวๆ ดังนี้

          1.ห้ามรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

          2.ห้ามแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม โดยห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า “ในที่สาธารณะ” ออก และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย

          3.ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พักเพื่อเที่ยวเตร่ หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืน” ออก

          แต่แล้ว ปรากฏว่า “มันไม่โอ” ก็เพราะเมื่อหันมามองในมุมของผู้ได้รับผลกระทบจากกฎนี้ พวกเขาคงอยู่เฉยไม่ได้

          โดยช่วงวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา กลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศ (สนท.) บุกไปถึงหน้ากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกเรื่องข้อเรียกร้องของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา พร้อมป้ายข้อความ “หยุด! ควบคุมเสรีภาพ นักเรียน นักศึกษา” ด้วย ก็พอจะเข้าใจได้เลยว่า พวกเขาไม่เอาด้วย

 

"จัดระเบียบวัยรุ่น" ถามเรายัง "ฟัง" เราก่อน?

“โค้ชกบ” ธีรยุทธ เสือแก้วน้อย วิทยากรด้านวัยรุ่นและครอบครัว เจ้าของเพจ “จิตวิทยาวัยรุ่น  By โค้ชกบ”

 

          ตัวแทนคือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ประธาน สนท. ระบุตอนหนึ่งว่า

          “อยากขอให้ยกเลิกร่างกฎกระทรวง และขอให้ ศธ.ให้คำสัญญาว่าสิทธิเสรีภาพของนักเรียน นักศึกษา จะไม่ถูกคุกคาม เพราะถึงวันหนึ่งหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐมนตรี หรือแม้แต่ปลัด ศธ. จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่ากฎกระทรวงนี้จะไม่ถูกนำมาใช้ปิดปากเราในการแสดงออก”

          งานนี้ ถ้ามองประเทศเป็น “บ้าน” หลังหนึ่ง เลยกลายเป็นว่าเวลานี้ผู้ออกกฎก็เหมือนกับผู้ปกครองที่กำลังเจอปัญหาช่องว่างความไม่เข้าใจขึ้นในครอบครัว กับลูกวัยฮอร์โมนเข้าแล้วจังๆ

          และถ้าจะให้เห็นภาพว่ากฎที่ปรับเปลี่ยนไปนั้น ไม่เข้าแก๊ปวัยรุ่นอย่างไร ฟังผู้หลักผู้ใหญ่ นักวิชาการ ของบ้านเมืองมามากแล้ว ลองมาฟังมุมมองจากคนเล็กๆ คนหนึ่ง ที่จะมาอธิบายพฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นกันบ้าง ว่าทางที่ควรไปนั้น ควรไปทางไหนกันแน่ และเชื่อเถอะนี่คือทางออกคลาสสิกที่สุดแล้ว

          เขาคือ “โค้ชกบ” ธีรยุทธ เสือแก้วน้อย วิทยากรด้านวัยรุ่นและครอบครัว เจ้าของเพจ “จิตวิทยาวัยรุ่น  By โค้ชกบ” ผู้ไม่ยอมให้แว่นของความเป็นผู้ใหญ่มาเบี่ยงเบนสายตาไปจากความเป็นโจ๋

          เพราะจากเด็กที่เคยเดินหลงทางมาก่อน จนกระทั่ง มีคนรับฟังและให้สติ เขาจึงกลับมาค้นพบตัวเอง ตัดสินใจเรียนในสาขาจิตวิทยาวัยรุ่น แล้วก้าวมาสู่การเปิดคอร์สอบรมเพื่อครอบครัว

          โค้ชกบออกตัวว่า “เห็นด้วย” ว่าการมีกฎหมายจำเป็นต้องมีไว้ เพราะยังมีวัยรุ่นเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า “สายดาร์ก” ซึ่งเข้าข่ายต้องมีกฎไว้จัดการ และหากลไกทางสังคมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อรองรับพวกเขา

          เพียงแต่ถ้าจะมีก็ต้องเคร่งครัด จริงจัง อย่าให้มันเป็นแค่ตัวหนังสือ !

 

"จัดระเบียบวัยรุ่น" ถามเรายัง "ฟัง" เราก่อน?

 

          แต่หากจะแก้ให้ครบลูป ต้องวนขึ้นไปยังพื้นที่แรก ซึ่งก่อเกิดวัยรุ่นทั้งหลายก่อน นั่นคือ “ครอบครัว”

          “ผมว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่ถูกเข้าใจผิดอย่างแรงเลย ในสังคมไทยเลี้ยงเขามาแบบเด็ก แต่คาดหวังให้เขาเป็นผู้ใหญ่ การกำหนดกฎเกณฑ์บางข้อที่ว่ามา มันก็เกิดจากทัศนคติไม่เชื่อศักยภาพของวัยรุ่น แต่นี่ยังไม่เท่าไหร่ ยังมีเรื่องการไม่เชื่อในสถาบันครอบครัวด้วย”

          “พอเข้าวัยรุ่นแล้ว กฎต่างๆ ไม่สามารถใช้บังคับพวกเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน มันเหมือนกับเวลาที่เราเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ตอนลูกเป็นเด็กเล็กๆ เราจำกัดเวลาการใช้มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือจำกัดเวลาเล่นเกมของเขาได้ แต่พอเขาเป็นวัยรุ่นเต็มตัว เราก็ไม่สามารถใช้กฎเดียวกันในการจำกัดเวลาของเขาได้ นี่แค่เรื่องมือถือ แล้วถ้าเป็นเรื่องการนอนล่ะ พอมา ม.ต้น ม.ปลาย เราไม่สามารถไปบอกให้ลูกนอนสองทุ่มนะ สามทุ่มนะ ได้แล้ว”

          ถามว่าทำไมพอเข้าสู่วัยรุ่น กฎต่างๆ ถึงใช้ไม่ได้กับพวกเขาอีกต่อไป โค้ชกบหัวเราะก่อนจะตอบว่า

          “ผมก็สงสัย แต่เราลองมองย้อนกลับนะครับ ว่าในขณะที่เราอยากให้เขาเป็นผู้ใหญ่ ดูแลตัวเองได้ มีความคิดเป็นของตัวเอง เขาคิดเป็น ทำเป็น แล้วทำไมเวลาเขาต้องการคิดเอง ทำเอง เกี่ยวกับการกำหนดเวลาชีวิตของตัวเอง เราถึงมีปัญหากับเขา แปลว่าเรากำลังมองพวกเขาเป็นเด็กอยู่ เรารู้ตัวหรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว เรากำลังอยากให้เขาเป็นเด็กตลอดเวลา ให้เชื่อเราตลอด”

          ที่สำคัญคืออย่าลืมธรรมชาติของวัยรุ่น ซึ่งโค้ชกบเรียกมันว่า “หน้าที่ที่วัยรุ่นพึงมี" คือ 1.การรวมกลุ่ม และ 2.เขาต้องไม่เหมือนเดิม

          “ธรรมชาติของวัยรุ่น หรือหน้าที่ของวัยรุ่นหนึ่งที่สำคัญคือ “การรวมกลุ่ม” ถ้าวัยรุ่นคนไหนไม่มีกลุ่มอยู่ นั่นแปลว่าเขาพลาดมากสำหรับชีวิตนี้ เขาจะไม่มีความสำเร็จของชีวิตในด้านนั้นเลยนะ”

          ส่วนหน้าที่ข้อต่อมา คือ “วัยรุ่นเขาต้องไม่เหมือนเดิม”

          “หมายถึงตอนเด็กเมื่อห้าปีก่อนเขาเคยเป็นอย่างไร ตอนนี้ถ้าเขายังเหมือนเดิม แปลว่าเราเลี้ยงลูกพลาดแล้วนะ ห้าปีก่อนเขาเชื่อฟังเรา ตอนนี้เขายังเชื่อฟังอยู่ แปลว่าเราไม่ได้สร้างทักษะชีวิตให้แก่เขาบางข้อแล้ว เพราะเขาต้องมีหน้าที่ไม่เหมือนเดิม และการดื้อก็คือส่วนหนึ่งของหน้าที่นี้”

          ถามว่าจะเอาวัยรุ่นให้อยู่หมัดได้ยังไง โค้ชกบบอกเลย เริ่มจากในบ้าน ขจัดความกลัวก่อน

          “เราต้องออกจากความกลัวได้แล้ว ผู้ใหญ่อย่างเรากำลังกลัวเลยต้องหาวิธีป้องกัน เช่น ห้ามลูกว่าห้ามเล่นเกมเกินวันละกี่ชั่วโมง เพราะเรากลัวว่าเขาจะเล่นเกมมากไป แทนที่เราจะไปใช้วิธีคือไปทำให้บ้านน่าอยู่ขึ้น ทำตัวเองให้บ่นน้อยลง ลงไปเล่นไร้สาระกับลูกบ้าง ซึ่งวิธีนี้จริงๆ แล้วทำแล้วยั่งยืนมากเลยนะ”

          บ้านที่น่าอยู่ทำอย่างไร โค้ชกบบอกว่าร้อยละเกือบร้อย วัยรุ่นสายดาร์กที่หันหลังให้แก่ครอบครัวอย่างสิ้นเชิง เพราะบ้านไม่น่าอยู่ ถามว่าทำไมพวกเขาถึงคิดว่าบ้านไม่น่าอยู่

          “อยู่บ้านเหมือนไม่มีตัวตน ได้รับความรักในรูปแบบที่เขาไม่ต้องการ แต่ผู้ใหญ่คิดว่าเพียงพอแล้ว มันไม่ใช่ แต่บ้านที่ดีและทำให้วัยรุ่นอยากอยู่บ้านก็คือบ้านที่สมาชิกในบ้านรับฟังเขาทุกเรื่อง”

          “คือวัยรุ่นร้อยละ 99 รู้หมดแหละว่าอะไรดีไม่ดี อะไรถูกผิด แต่บางทีธรรมชาติของเขา มันทำไม่ได้ มันจึงต้องการพลังในการเปลี่ยนแปลง และพลังนั้นมาจากคนในบ้านของเขาเอง”

          พลังนั้นคือ “การรับฟัง โดยไม่ตัดสิน”

          “ผมเคยมีโอกาสได้คุยกับน้องคนหนึ่ง ผมก็ฟังสิ่งที่เขาพูดเล่ามา ผมรู้เลยถ้าเป็นผู้ใหญ่ทั่วไปจะตกใจมากกับแนวคิดของเด็กคนนี้ เพราะมันน่ากลัวมาก เช่น อยากจะทำร้ายคนนั้นคนนี้ จากนั้นผมก็ไปโค้ชคุณแม่ของเขาว่าให้รับฟังเขาก่อน ต่อให้อยากสอนอยากเถียงยังไง ก็ให้ฟังก่อน”

          “ตอนนี้เวลาผ่านไป กลายเป็นว่าเขาไปเจอสถานการณ์หนึ่ง แล้วลูกของเขาสามารถได้ข้อสรุปด้วยตัวเองว่าเรื่องไหนดีไม่ดี ที่สุดนอกจากเขาเกิดความไว้ใจที่จะเล่าปัญหาให้คนที่บ้านฟังแล้ว อีกระดับคือเขาจะสามารถแก้ปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง”

          เหนืออื่นใด โค้ชกบฝากไว้ว่า ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น และรู้กันอยู่แล้วว่า ขึ้นชื่อว่า “ธรรมชาติ” มันขวางกันไม่ได้ แต่ถ้าเรายังไปฝืนไปขวางก็น่าคิดว่ามันจะเกิดผลสะท้อนแบบไหน?

///////////

ติดตามเพจ จิตวิทยาวัยรุ่น  By โค้ชกบ 

ได้ที่ลิงค์นี้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ