คอลัมนิสต์

จับตา "ปรีชา" ตัวเต็ง เลขาธิการปปง.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตา "ปรีชา" ตัวเต็ง เลขาธิการปปง. :  คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...   ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

 

          ครบรอบวันสถาปนาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ปีที่ 19 บรรยากาศไม่ผิดแผกแตกต่างไปจากปีก่อนๆ โดยพิธีการจัดขึ้นที่ห้องโถงชั้นหนึ่งภายในสำนักงาน สะพานหัวช้าง ในช่วงเช้าเป็นพิธีสงฆ์และสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำสำนักงาน มี “พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล” ประธานคณะกรรมการปปง. และข้าราชการในสังกัดร่วมในพิธี ธีมงานในปีนี้เป็นการเปิดรับบริจาคเพื่อนำเงินร่วมสมทบทุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช และมีน้องเจน นฤมล คำพันธ์ มิสแกรนด์สมุทรปราการ มาถ่ายรูปร่วมเป็นที่ระลึกกับแขกเหรื่อ เพื่อเติมสีสันให้แก่โอกาสสำคัญ 1 ปีมีครั้ง

          แต่เมื่อเข้าสู่กิจกรรมวันครบรอบ ซึ่งมี “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดตัวเทคโนโลยีสแกนคิวอาร์โค้ด รับแจ้งเหตุและเบาะแสในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง ปปง.ได้อย่างรวดเร็ว เป้าหมายเพื่อตัดวงจรและขุดรากถอนโคนอาชญากรรม ปรากฏว่า พล.ต.อ.ชัยยะติดภารกิจอื่น ไม่สามารถร่วมกิจกรรมได้ จึงปล่อยมือให้ “พล.ต.ต.ปรีชา สหายานนท์” รองเลขาธิการปปง. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ทำหน้าที่แม่งานเต็มตัว 

          ส่วนบอร์ดปปง.ที่อยู่ร่วมในงานมีเพียง “ประยงค์ ปรียาจิตต์” อดีตเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งอยู่ร่วมงานตั้งแต่ต้นจนจบ

          ส่วน อดีตเลขาธิการปปง. ที่ได้รับการ์ดเชิญเข้าร่วมงานก็ต่างติดภารกิจอื่นกันทั้งหมด จึงแจ้งยกเลิกไม่เข้าร่วมงาน แม้แต่ “พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ” เลขาธิการปปง. คนแรก ซึ่งก่อนหน้านี้ตอบรับเข้าร่วมงานก็แจ้งติดภารกิจอื่นเช่นกัน ที่คุ้นหน้าคุ้นตา ก็มี “ร.ต.อ.หญิงสุวนีย์ แสวงผล” อดีตรองเลขาธิการปปง. เท่านั้นที่มาร่วมงานไม่ขาด 

          สำหรับ พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร อดีตเลขาธิการที่ครองตำแหน่งสั้นที่สุด ไม่ปรากฏตัว…ตามคาด

          ภายในงานครบรอบวันสถาปนา นอกจากการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ข้าราชการดีเด่น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการปปง.แล้ว “วิษณุ เครืองาม” ยังให้ข้อแนะนำถึงแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของปปง.ตอนหนึ่งว่า ลักษณะงานของ ปปง.คล้ายคลึงกับหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ มีภารกิจที่ต้องปฏิบัติในทางลับเพื่อสนับสนุนงานสืบสวนสอบสวนจำนวนมาก อาจเทียบเคียงได้กับหน่วยซีล ซึ่งห้ามเปิดเผยใบหน้าบุคลากร หากใครถูกเปิดเผยใบหน้าก็ต้องลาออกไป 

          “ปปง.ต้องเป็นแมว ทำงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปราม เน้นการตัดวงจรทางการเงิน แต่ภารกิจลับ ก็ต้องไม่ลับเสียจนประชาชนไม่รับรู้ จำเป็นต้องมีช่องทางสื่อสารให้ประชาชนได้รู้บ้างว่า ยังมีปปง.อยู่ และปปง.มีบทบาทช่วยเหลือพวกเขา รวมถึงยับยั้งอาชญากรรมทางการเงินอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะภารกิจปราบปรามมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการปปง.สามารถอายัดบัญชี ยับยั้งการถอนเงินของแก๊งมิจฉาชีพ ส่งเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายได้มากถึง 17 ล้านบาท”

          นโยบายของรองนายกฯ สะท้อนให้เห็นอดีตที่เป็นมาปีกว่าๆ ซึ่งถูกครอบด้วยมาตรา 44 ส่งผลให้ภายในสำนักงานปปง. ทำงานกันเงียบสงัดราวป่าช้า ยุคของ พล.ต.อ.ชัยยะ ต่อเนื่อง พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ การสื่อสารจากสำนักงานปปง.ต่อสาธารณะ เป็นการสื่อสารทางเดียว เน้นไปที่ส่งเอกสารข่าวผ่านไลน์และอีเมล หรือให้รอติดตามเอาเองจากประกาศคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ผ่านหน้าเพจของสำนักงานปปง. ห้ามถามเพราะผู้บริหารไม่พร้อมตอบ ไม่อนุญาตให้สัมภาษณ์ บทบาทที่ออกหน้าออกตามีเพียง 2 ภารกิจ คือ การขายทอดตลาดทรัพย์สิน กับการส่งมอบเงินให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คืนให้แก่เหยื่อคอลเซ็นเตอร์

          หลังจากนี้ จึงต้องจับตารูปแบบการทำงานของปปง. เพราะเมื่อจบกิจกรรมในงานวันสถาปนา “พล.ต.ต.ปรีชา” ออกมาทักทายสื่อมวลชน และแถลงข่าวสั้นๆ ถึงผลงานยึดอายัดทรัพย์สินมูลค่า 13,000 ล้านบาท โดยย้ำว่า วันนี้ขอพูดเรื่องเดียว เรื่องอื่นอย่าเพิ่งถาม ยังพูดไม่ได้เพราะยังเป็นรักษาการ.. ก่อนจะแจกเบอร์โทรศัพท์ให้แก่นักข่าว พร้อมย้ำว่า พี่เป็นตำรวจ ปกติรับโทรศัพท์ทุกสาย ตีหนึ่ง ตีสองก็ยังรับสาย แต่เมื่อมาทำงานในปปง. หลายเรื่องพูดไม่ได้ เพราะเป็นรายละเอียดในสำนวน

          วันนี้สิ่งที่คุยได้คือ ปปง.ได้รับอนุมัติงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและระบบฐานข้อมูลบิ๊กดาต้า โดยจัดตั้งเป็นวอร์รูม รวบรวมและเชื่อมต่อ 6 ฐานข้อมูล ซึ่งจัดเก็บข้อมูลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ฐานประวัติอาชญากร และอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ขอเปิดเผย เพื่อเชื่อมโยง 6 ฐานข้อมูลไปยัง 36 ชุดข้อมูล โดยเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาใหม่ จะทำให้การตรวจสอบ สืบค้น และพิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำความผิดรวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ทั้ง 6 ฐานข้อมูลไม่เชื่อมต่อกันแบบอัตโนมัติ ทำให้ต้องใช้เวลาประมวลผลนานเป็นสัปดาห์ แต่การประมวลผลในระบบใหม่สามารถรู้ผลภายใน 1 วัน หรือเร็วที่สุดภายใน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

          ภายในปี 2562 ซึ่งจะเป็นปีที่ 20 ของการก่อตั้งปปง. จึงตั้งเป้าที่จะก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งเทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล โลกไร้พรมแดน และโลกไร้เงินสด

          นาทีนี้ ถ้าจะถามถึงเต็งหนึ่งว่าที่เลขาธิการปปง. ด้วยการสรรหาในวิธีปกติ ชื่อของ “พล.ต.ต.ปรีชา” ก็คือตัวเต็ง ซึ่งสอดรับกับบทสัมภาษณ์ของรองฯ วิษณุ ที่พูดชัดว่า ถ้าคสช.จะใช้อำนาจแต่งตั้งเลขาธิการปปง.ก็คงใช้ ม.44 ตั้งคนใหม่ขึ้นมาพร้อมกับคำสั่งย้าย พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ ในส่วนของคณะรัฐมนตรีจนถึงขณะนี้ยังไม่มีวาระการแต่งตั้งเลขาธิการปปง. และกรณีนี้ครม.ไม่มีอำนาจแต่งตั้งใคร ไม่มีอำนาจก้าวก่ายแทรกแซง เพราะเป็นอำนาจของบอร์ดปปง. ซึ่งมี พล.ต.อ.ชัยยะ เป็นประธาน ที่จะต้องไปพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และเสนอชื่อส่งมาให้ครม.เพื่อส่งรายชื่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ระบุไว้ในกฎหมาย

          อำนาจในการตรวจสอบธุรกรรมการเงินต้องสงสัยของปปง. เป็นตะแกรงตาถี่ใช้ดักจับและสกัดกั้นความเคลื่อนไหวทางการเงินในช่วงเลือกตั้ง จะสำแดงอานุภาพอย่างไร จึงเป็นประเด็นต้องจับตามอง
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ