คอลัมนิสต์

"บิ๊กป้อม" ปราการนี้ยังแกร่ง !!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถ้าใครคิดว่า "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ตกที่นั่งลำบาก หลังถูกปลดพ้นคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ต้องบอกเลยว่าคิดผิด !!

 

                 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีคำสั่ง คสช. เรื่องปรับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) และถอดชื่อ“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ออกจากการเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ 

เกิดประเด็นว่า “บิ๊กตู่” กำลังจะทำอะไรกับ “พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์" หรือไม่ ?

 

                 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. รีบชี้แจงว่าการเอาชื่อ “บิ๊กป้อม” ออกจากคณะกรรมการที่ คสช.ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการทุจริต “ไม่ใช่การปลด” แต่ต้องการแบ่งเบางานให้ และไม่เกี่ยวกับกรณีที่ “บิ๊กป้อม” ถูกตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนาฬิกาหรู ที่เรื่องค้างอยู่ที่ป.ป.ช.มากกว่าครึ่งปี และมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมที่รองนายกฯ ประวิตร มีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้

                 “ไม่มีอะไร แค่แบ่งงานท่านออกมาบ้าง พล.อ.ฉัตรชัย (สาริกัลยะ รองนายกฯ ที่มีชื่อมาเป็นรองประธาน คตช.) ยังไม่ได้รับผิดชอบ จึงแบ่งงานของพล.อ.ประวิตร ออกมาเท่านั้นเอง ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น อย่าไปคิดให้เป็นอย่างอื่นสิ ไม่มีปัญหาอะไรทั้งนั้นแหละ”

                 ส่วนปรับเพราะเรื่อง “นาฬิกาหรู” หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า “ไม่เกี่ยว ผมไม่สนใจ เรื่องไหนใครตรวจสอบก็รับไปสิ เขาตรวจสอบว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น ผมไปเกี่ยวอะไรเล่า ไม่เกี่ยว"

                 อย่างไรก็ตาม แม้นายกฯ บอกว่าไม่เกี่ยวกับเรื่อง “นาฬิกาหรู” แต่ก็มีการวิเคราะห์กันว่า การเอา “บิ๊กป้อม” ซึ่งมีภาพว่ามีปัญหาเกี่ยวกับเรื่อง “ความไม่โปร่งใส” ออกมา ก็ย่อมเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล

                 หลังมีประเด็น “ถูกปลด” ไปช่วงต้นสัปดาห์ ในช่วงปลายสัปดาห์เราก็ได้เห็นภาพ “บิ๊กป้อม” ลงพื้นที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ จ.อุดรธานี

                 แม้การลงพื้นที่ของ “บิ๊กป้อม” จะไม่ครึกโครมเท่าการลงพื้นที่ของ “บิ๊กตู่” แต่ภาพที่ปรากฏออกมาก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มีชาวบ้านหลักหมื่นมารอต้อนรับเหมือนกัน มีภาพชาวบ้านมามอบดอกไม้ให้เหมือนกัน

                 มีการวิเคราะห์ว่าการลงพื้นที่แก้ปัญหาหนี้นอกระบบของ พล.อ.ประวิตร คือยุทธศาสตร์อีกขาของคสช.เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากชาวบ้าน นอกจากเหนือจากการตระเวนลงพื้นที่ของ “บิ๊กตู่” ที่นอกจากมี ครม.สัญจรในทุกภูมิภาคแล้ว ยังมีภารกิจออกพบปะพี่น้องในพื้นที่ต่างๆ ที่ตอนนี้เพิ่มความเข้มข้นในพื้นที่ กทม.ด้วย เช่นการลงพื้นที่ตรวจจราจรทั้งทางรถทางเรือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่มีเสียงตะโกน “บิ๊กตู่สู้ๆ...บิ๊กตู่อยู่ต่อ...” ให้เห็นเป็นระยะๆ

                 เป็นยุทธศาสตร์ที่มาหนุนเสริมนโยบาย “ประชารัฐ” ของรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เข็น “ประชานิยม” แบบ คสช. ออกมาเรื่อยๆ เพียงแต่คนใน คสช. อาจจะรู้สึกอึดอัดขัดใจ เพราะ “ผลที่ได้” ต้องใช้เวลาพอสมควร อาจจะไม่ทันใจ “สไตล์ทหาร"

                 ส่วนยุทธศาสตร์ “ดูด” ที่ “กลุ่มสามมิตร” เป็นตัวเดินเกม ดูเหมือนจะชะล่าใจไปนิด เดินไปเดินมาเลยกลายเป็นเดินไป “ติดหล่ม” ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก ถูกกกต.ออกมาส่งเสียงปราม ขณะที่คนใน คสช.แสดงท่าทีขึงขังและ “ตีตัวออกห่าง”

                 ล่าสุดมีข่าวออกมาว่าอาจต้องมีการปรับยุทธศาสตร์นี้ใหม่ให้กลุ่มสามมิตรตั้งเป็นพรรคใหม่ขึ้นมาอีกพรรค เพื่อตัดตอนคสช. แล้วปลายทางค่อยกลับมารวมกันหนุน “บิ๊กตู่” แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าไม่มี “กลุ่มสามมิตร” เดินเกมการเมืองให้ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่หมายมั่นปั้นมือไว้ก็คงจะอ่อนลง

                 วกกลับมาที่นโยบาย “คืนความสุขให้ประชาชน” ด้วยการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบนี้ ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นแม่ทัพนั้น คสช.ได้ทำมาตั้งแต่ต้น แต่เพิ่งมารุกหน้าในช่วงหลังนี้ โดยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ได้เดินทางลงพื้นที่ที่ จ.ขอนแก่น ครั้งนั้นมีชาวบ้านมาร่วมงานประมาณ 3,000 คน มีการแจกโฉนดที่ดินที่ชาวบ้านเอาไปใช้กู้เงินนอกระบบแบบไม่เป็นธรรมคืนให้ชาวบ้านได้ 135 คน

 

"บิ๊กป้อม" ปราการนี้ยังแกร่ง !!

                 ครั้งล่าสุดที่ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการคืนโฉนดให้ชาวบ้าน 780 ฉบับ เนื้อที่รวมกว่า 3,700 ไร่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท มีชาวบ้านมาร่วมงานประมาณหมื่นคน

                 สำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของคสช.นั้น เป็นการร่วมมือกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทหาร ตำรวจ ซึ่งแน่นอนเจ้าภาพรายใหญ่ คือ ตำรวจและทหาร

                 พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่มีมาต่อเนื่องยาวนาน รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามแก้ไขปัญหามาตลอดซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความยากจนของประชาชนที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

 

"บิ๊กป้อม" ปราการนี้ยังแกร่ง !!

                 “บางส่วนของผู้มีรายได้น้อยต้องการลงทุน เพื่อหารายได้ บางส่วนก็นำไปซื้อบ้านและใช้ในการบริโภค ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ในระบบได้ เนื่องจากมีขั้นตอนมากมาย และไม่มีความรู้ ความเข้าใจ จึงเป็นช่องทางให้เกิดการกู้หนี้นอกระบบ และเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ซึ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.การเรียกดอกเบี้ยเกินพิกัด 15 เปอร์เซ็นต์ของกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็นบุคคลที่เอาเปรียบและทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ที่อยู่ในรูปของนิติกรรมอำพราง และการขายฝากขายจำนอง หรือโอนลอยไว้

                 การจ่ายหนี้โดยมีทั้งแบบดอกเบี้ยรายวันและดอกเบี้ยรายเดือน บางคนถูกติดตามทวงหนี้ ในลักษณะการข่มขู่และการใช้ความรุนแรงรวมถึงการสร้างความอับอายให้เกิดขึ้น

                 รัฐบาลปัจจุบันเห็นว่าเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมในการเข้าถึงแหล่งทุน และเป็นเรื่องของความยากจนที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยมองว่าต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่เราจะต้องร่วมกันแก้ไข"

                 “ปัญหาหนี้นอกระบบยังถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลกำหนดขึ้น และให้ความสำคัญ โดยถือว่าผู้ที่กระทำในลักษณะปล่อยกู้นอกระบบ เป็นหนึ่งในฐานความผิดของผู้มีอิทธิพล”โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปดูแล โดยดำเนินการใน 2 เรื่องหลักโดยเน้นมาตรการจากเบาไปหาหนัก คือการไกล่เกลี่ยลูกหนี้กับเจ้าหนี้ผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยยึดจากข้อเท็จจริงในการประนอมหนี้ ยึดถือดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ก็จะมีการทำข้อตกลงกันใหม่เพื่อให้เกิดสัญญาที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งขณะนี้สามารถเจรจาประนีประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ไปได้กว่า 200,000 ราย

                 "ในส่วนของเจ้าหนี้ ไม่ยอมเจรจาเนื่องจากถือสัญญาที่ได้เปรียบอยู่ เราก็จะใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยสืบสวนจากพยานบุคคล จากลูกหนี้ หากแจ้งตรงกันว่าถูกฉ้อโกง ตำรวจก็จะเข้าไปดำเนินการ ในการขอหมายศาลเข้าค้นเมื่อเจอหลักฐานต่างๆ เจ้าหนี้ก็จะโดนมาตรการทางภาษีและยึดทรัพย์ ทำให้เจ้าหนี้ต้องยอมคืนทรัพย์สินที่ยึดไป แต่หนี้ที่ลูกหนี้ยืมมายังคงอยู่”

                 พล.ท.คงชีพ กล่าวอีกว่า รัฐบาลพยายามหาช่องทางสินเชื่อในระบบเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึง ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลในส่วนของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ทางกระทรวงการคลังออกไว้ให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ที่อยากจะปล่อยกู้อย่างถูกต้องจะต้องลงทะเบียนกับกระทรวงการคลังในลักษณะเข้าไฟแนนซ์ โดยสามารถเรียกดอกเบี้ยได้ร้อยละ 36 ต่อปี ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด

                 นอกจากนี้รัฐบาลกำลังออกกฎหมายในเรื่องของธนาคารชุมชนให้ประชาชนร่วมกันออมเงินและปล่อยกู้กันเอง โดยมีรัฐเข้าไปกำกับดูแล และสนับสนุนเงินออมให้อีกส่วนหนึ่ง ถือเป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบอีกช่องทางหนึ่ง

                 “สำหรับตัวลูกหนี้เมื่อได้รับโฉนดคืนแล้ว รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเหลือดูแลลูกหนี้ เพื่อฟื้นฟูเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพ ให้มีความรู้ทางด้านการเงินโดยให้คำปรึกษาในเรื่องของอาชีพ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้ โดยไม่ขาดทุน และมีขีดความสามารถในการชำระหนี้ที่กู้ไว้ทั้งในและนอกระบบ ทั้งนี้ลูกหนี้ทั้งหมดจะต้องยึดหลักความพอเพียง มีวินัยในการใช้เงิน หลีกเลี่ยง การขายฝากหรือการลงนามในเอกสารที่ขาดความรู้ และถูกเจ้าหนี้ไปทำนิติกรรมอำพรางอย่างที่ผ่านมา”

                 “โฉนดที่ดินทั้งหมดที่ประชาชนได้รับคืนมานั้น ยังจ่ายหนี้ไม่หมด เพียงแต่ได้มีการทำสัญญาการกู้ยืมที่เป็นธรรมเอาไว้ ลูกหนี้ยังต้องใช้หนี้ที่เป็นจริงให้เจ้าหนี้ เพียงแต่รัฐบาลเข้าไปดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายในส่วนของลูกหนี้ก็จะได้รับดอกเบี้ย ตามที่กฎหมายกำหนด ในส่วนของเจ้าหนี้ก็จะไม่ขาดทุน หากต่อไปลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ยอมจ่ายหนี้ทางเจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องดำเนินการตามกฎหมายได้”

                 ส่วนกรณีที่ชาวบ้านได้โฉนดที่ดินไปแล้วจะนำไปกู้ยืมต่อนั้น พล.ท.คงชีพ บอกว่า ถือเป็นอิสรเสรีเพียงแต่รัฐให้ความช่วยเหลือทั้งระบบ คือให้ประชาชนสามารถกู้หนี้ในระบบได้ ก็ขึ้นอยู่กับตัวของประชาชนเองด้วยว่าจะใช้ชีวิตต่อจากนี้อย่างไร จะหยุดความพอเพียง หรือฟุ้งเฟ้อเหมือนเดิม

                 จากข้อมูลที่ชาวบ้านมาลงทะเบียนกับกระทรวงการคลังและศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ พบว่าภาคอีสานเป็นภาคที่มีประชาชนมาลงทะเบียนว่าเป็นหนี้นอกระบบมากที่สุด คือประมาณ 570,000 ราย รองลงมาเป็นภาคกลาง ประมาณ 220,000 ราย ส่วนภาคเหนือและภาคใต้ มีผู้มาลงทะเบียนเพียง 350 ราย และ 700 ราย ตามลำดับ

                 พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ในจำนวนลูกหนี้ทั้งหมดที่สำรวจพบ ทางรัฐบาลจะเข้าไปดูแลทั้งหมด แต่เชื่อว่าคนที่เป็นหนี้นอกระบบยังมีมากกว่านี้ แต่เกิดความลังเลไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือได้จริงหรือไม่ จึงยังไม่ได้มาแจ้งข้อมูล แต่หลังจากนี้ที่ได้เริ่มทยอยคืนโฉนดที่ดินให้ประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบ จะทำให้ประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่มาแจ้งรายชื่อเกิดความมั่นใจ และเข้ามาแจ้งรายชื่อมากขึ้น และตัวเลขจะพุ่งสูงมากกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มตลาด พ่อค้าแม่ค้า เนื่องจากตัวเลขในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2559 มีประชาชนที่ระบุว่ามีรายได้น้อยต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีมาลงทะเบียนเกือบ 7 ล้านคน และในจำนวนนี้แจ้งว่าเป็นหนี้นอกระบบ 1.3 ล้านคน ดังนั้นหากมีประชาชนมาแจ้งรายชื่อรัฐบาลก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เรื่อยๆ จนกว่าจะหมดไป

                 สำหรับกรณีที่ถูกมองว่าเป็นมาตรการนี้เป็นยุทธศาสตร์หาคะแนนเสียงของคสช. นั้น โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าไม่อยากให้เอาไปโยงว่าเป็นการหาเสียง รัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยต่างหามาตรการในการแก้ไขปัญหากันมาตลอด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีนโยบาย แนวทางอย่างไร ทั้งนี้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

 

"บิ๊กป้อม" ปราการนี้ยังแกร่ง !!

                 “พล.อ.ประวิตร เน้นย้ำว่าในทุกๆ เดือนจะต้องคืนทรัพย์สินให้ประชาชน” โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว

                 นี่เป็นเพียงบทบาทหนึ่งของ “บิ๊กป้อม” ที่ตอกย้ำความโดดเด่น และความแข็งแกร่งของ “ป้อมปราการ” นี้ !!

======================================

โดย จิตตราภรณ์ เสนวงค์, สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ