คอลัมนิสต์

ทดสอบงาน "กกต.ใหม่"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทดสอบงาน "กกต.ใหม่" : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย... ขนิษฐา เทพจร

 
          ในที่สุด “คณะกรรมการการเลือกตั้ง" (กกต.) ชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จำนวน 5 คนจาก 7 คนได้ฤกษ์เข้าสู่โหมดทำงานกันเสียที

          หลังพิธีรับสนองพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง “อิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน กกต.” และแต่งตั้ง “สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์”, “ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย”, “ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี”, “ปกรณ์ มหรรณพ” เป็นกรรมการ กกต. วันที่ 17 สิงหาคมนี้ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นทำงานอย่างเป็นทางการ

          ประเด็นที่ถูกจับตามากที่สุด ตั้งแต่วินาทีแรกของการปฏิบัติหน้าที่คือ กระบวนการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), เลือกตั้งท้องถิ่น

          ล่าสุดนั้น “วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ” เตรียมจัดคิวของฝ่ายรัฐบาล เข้าหารือกับ “กกต.ชุดใหม่” เพื่อสะสางปัญหา 3 ปมสำคัญ คือ          
          1.กระบวนการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. (ไพรมารีโหวต) ที่มีข้อติดขัดทั้งประเด็นจำนวนสมาชิกพรรค, ระยะเวลาทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง ทำให้ “รัฐบาล” เกิดไอเดียจะปรับรูปแบบไพรมารีโหวต แบบจังหวัด ที่เขียนไว้ในกฎหมายไปเป็น ไพรมารีโหวตแบบภาคแทน
 
          2.การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ที่ต้องรื้อจากของเก่า เพราะเขตเลือกตั้งลดลง และตามกฎหมายกำหนดให้การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ต้องหารือกับ นักการเมืองและภาคประชาชนด้วย
 
          แต่ปัญหาที่เป็นข้อติดขัดสำคัญคือ การเดินหน้าแบ่งเขตยังต้องรอให้ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ดังนั้นกรณีจะทำการไปล่วงหน้า ผ่านการแหกบทบัญญัติ โดยอำนาจมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)


           และ 3.การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เป็นเครื่องมือ, แขน–ขา, กลไกตรวจสอบการเลือกตั้ง ที่มีข้อติดขัด คือ “การถูกยอมรับ” หลัง กกต.ชุดเก่าที่มี “ศุภชัย สมเจริญ อดีตประธาน กกต.” ดำเนินการหาตัวไปแล้วล่วงหน้า เหลือเพียงขั้นตอนเซ็นแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ

          กับในทางข่าวและมุมมองทางการเมือง กับ 3 ประเด็นที่ “วิษณุ” ยกมากล่าวอ้าง และเตรียมหารือกับ “กกต.ชุดใหม่” ถูกมองและเดาทางไว้อย่างง่ายๆ ว่า คงไม่ใช่เวทีหารือหรือขอคำปรึกษา แต่เป็น การแจ้งความต้องการของ “รัฐบาลคสช.” ว่า “ต้องการอะไร” มากกว่า

          ข้อเท็จจริงประการสำคัญคือ “คสช.” เป็นผู้กำหนดโรดแม็พเลือกตั้ง แม้เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย แต่เมื่อโจทย์ถูกกำหนดขึ้น “ผู้ที่จัดการเลือกตั้ง” ต้องทำงานสนองให้ตรงตามเป้าหมายมากที่สุด

          ดังนั้นจึงเป็นประเด็นร้อนที่ต้องจับตาว่า “กกต.ชุดใหม่” จะยึดการปฏิบัติหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย เพื่อรักษาองค์กร รวมถึงรักษาเกียรติประวัติตัวเองที่สะสมมาได้มากน้อยแค่ไหน

          กับบทพิสูจน์แรกที่ “กกต.” ต้องแสดงฝีมือ คือกระบวนการรีเซต “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ทั้ง 616 คน ที่ผ่านขั้นตอนคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กฎหมายและระเบียบ กกต.กำหนด และอยู่ระหว่างส่งรายชื่อไปยังจังหวัดต่างๆ ให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยตรวจสอบความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ก่อนแต่งตั้งให้ทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ

          แม้ข่าวล่าสุด กระบวนการที่จุดกระแส โดย “มหรรณพ เดชวิทักษ์ สนช.” จะยุติลง เพราะเหตุแห่งความไม่พอใจ ที่ “กกต.ชุดเก่า” เร่งคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยไม่รอ “กกต.ชุดใหม่” คลี่คลายลงแล้ว

          แต่โจทย์ที่ถูกตั้งไว้ คือการคุมเกมเลือกตั้งได้แบบเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ยังต้องคงไว้เมื่อ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ที่เป็นเหมือนต้นทางของการกำกับการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรม เป็นธรรมนั้น ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และสามารถรับคำสั่งได้มากน้อยเพียงใด

          เกมที่หวังใจว่า “คุมได้เบ็ดเสร็จ” อาจไม่เป็นแบบนั้น และอาจเป็นตัวอันตรายในจุดชี้เป็นชี้ตายของสมรภูมิเลือกตั้ง

          ดังนั้น เรื่องของ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” จึงเป็นงานแรกที่ “กกต.ชุดใหม่” ต้องพิสูจน์ตัวเอง เพราะการทบทวน หรือจะยืนยัน “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกไปแล้วนั้น เป็นสิ่งที่สังคมจับตา และโยงเรื่องไปถึงความไว้วางใจต่อบทบาทจัดการเลือกตั้ง ที่ใกล้จะมาถึง
อย่างไรก็ดี หลังพิธีรับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “ประธาน กกต. และ กกต.” ภารกิจแรกที่ “ผู้จัดการเลือกตั้งชุดใหม่” ต้องทำ คือ การร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อทำแผนการดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ว. และแผนปฏิบัติการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ระหว่างวันที่ 18–20 สิงหาคม ที่ จ.ชลบุรี

          โดยในงานนั้นอาจเป็นเวทีที่ “กกต.ชุดใหม่” ได้แสดงวิสัยทัศน์ ไปพร้อมๆ กับการรับรู้ความคาดหวังของสังคม ที่ต้องการเห็นทิศทางการเลือกตั้งครั้งต่อไป สุจริต เที่ยงธรรม และเป็นธรรม เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบันไดเปลี่ยนผ่านการเมืองไปสู่จุดที่สังคมคาดหวัง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ