คอลัมนิสต์

"ไม่สนองนาย"?  ปมปลดฟ้าผ่า "เลขาฯ ป.ป.ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "ไม่สนองนาย"?  ปมปลดฟ้าผ่า "เลขาฯ ป.ป.ง" : รายงาน  โดย...   อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

 

          คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 12/2561 ให้ “พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร” พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการพิเศษประจำสำนักนายกฯ

          เรียกง่ายๆ ว่า “เด้งฟ้าผ่า” ปลด “พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์” โดยให้เหตุว่าต้องการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารราชการที่เกิดขึ้นและป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน 

          แต่อัตราที่ย้ายไปนั้น ถือเป็นอัตราพิเศษที่มีไว้แขวนผู้ถูกตรวจสอบ ซึ่งยังไม่มีใครให้ความชัดเจนได้ว่าเขาถูกร้องเรื่องอะไร  

          เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่ๆ เพราะหนึ่ง เช้าวันที่มีคำสั่ง (14 ส.ค.) “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เรียกประชุม คสช.ด่วน โดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยอมรับหลังการประชุมว่ามีการหารือเรื่องลับ เรื่องตัวบุคคล

          และอีกหนึ่งเพราะ “พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์” เพิ่งเป็นเลขาธิการ ป.ป.ง. ป้ายแดง เนื่องจากเพิ่งได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการป.ป.ง. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา เท่ากับเขาอยู่ในตำแหน่งนี้เพียง 46 วัน หรือไม่ถึงสองเดือน!!!

          ถ้าย้อนดูจะเห็นว่าองค์กรแห่งนี้มีการใช้ ม.44 แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงมาแล้วครั้งหนึ่ง  ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2559   ครั้งนั้นเป็นคำสั่ง ม.44  ที่  24/2559 โดยแต่งตั้ง “พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล” เป็นเลขาธิการป.ป.ง. โดยเหตุผลและที่ต้องใช้ ม.44 ก็เพราะครั้งนั้นอดีตเลขาธิการอย่าง “พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์” อยู่ในตำแหน่งมาสี่ปี  ซึ่งถือว่าครบตามกำหนดแล้ว ดังนั้นจึงต้องหาผู้มาดำรงตำแหน่งแทนและให้ไปเป็นที่ปรึกษาป.ป.ง.  ก่อนที่จะย้ายไปประจำทำเนียบรัฐบาล

          คสช.เล็งเห็นความสำคัญของคนที่จะมาบริหารป.ป.ง. ซึ่งเป็นเหมือนมือไม้ และหากทำเรื่องอะไรไปก็จะมีผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงต้องเลือกคนที่ไว้ใจ ดังนั้นชื่อของ “พล.ต.อ.ชัยยะ”  จึงเป็นตัวเลือกเนื่องด้วยสัมพันธ์ที่ดี แต่ต้องโอนย้ายจากตำรวจให้มาดำรงตำแหน่ง โดยไม่ต้องผ่านการสรรหา นี่คือที่มาของ ม.44

          และเมื่อเป็นเลขาธิการป.ป.ง. เขาก็ได้ดึง “รมย์สิทธิ์”  จากรองผู้บัญชาการสำนักงานข้าราชการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเป็นรองเลขาธิการ ป.ป.ง. เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 

          ทั้งนี้เมื่อ “พล.ต.อ.ชัยยะ” มาเป็นเลขาธิการ ก็เสนอปรับโครงสร้างของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือที่เรียกกันว่าบอร์ด ป.ป.ง.  และหัวหน้า คสช. ก็ออกคำสั่งตามมาตรา 44 อีกครั้ง ครั้งนี้เป็นฉบับที่ 38/2560 มีเนื้อหาสำคัญ 3 ประการ

          1.เปลี่ยนการเลือกประธานบอร์ดจากเดิมที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้เป็นการคัดเลือกกันเองของคณะกรรมการ

          2.ให้อำนาจบอร์ดป.ป.ง. ในการแทรกแซงการทำงานของสำนักงาน โดยสามารถระงับยับยั้งการกระทำของคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานและเลขาธิการที่เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

          3.ปรับออกสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ 

          โดยนัยตามคำสั่งนี้จะทำให้บทบาทของประธานบอร์ด ป.ป.ง. มีผลต่อการทำงานค่อนข้างมาก และคำสั่งนี้ออกมาช่วงเดือนสิงหาคม ก่อนที่ “พล.ต.อ.ชัยยะ” จะเกษียณอายุราชการสองเดือน

          จนกระทั่งวันที่ 30 กันยายน  “พล.ต.อ.ชัยยะ” ก็เกษียณอายุราชการ และในวันที่ 6 ตุลาคม  คณะกรรมารป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินก็มีมติตั้งเขาขึ้นเป็นประธานบอร์ดตามคาด

          ย้อนกลับมาฝั่ง “พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์” เมื่อโยกมาเป็นรองเลขาธิการ ป.ป.ง.  ก็ทำงานเป็นมือเป็นไม้ให้ “พล.ต.อ.ชัยยะ” มาตลอด โดยเฉพาะระหว่างที่เลขาธิการป.ป.ง. ในขณะนั้นต้องรักษาอาการป่วยหนัก โดยเขาได้ทำงานให้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นคดีอายัดทรัพย์ของ “อภิชาติ จันทร์สกุลพร” หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” คดีอายัดทรัพย์ของ “อลิสา อัศวโภคิณ”  บุตรสาว “อนันต์ อัศวโภคิณ” เจ้าสัวแลนด์แอนด์เฮาส์  ในคดีวัดพระธรรมกาย

          นอกจากนี้ภายใต้การนำ “พล.ต.อ.ชัยยะ”  ป.ป.ง.ก็เคยส่งคนมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับ “พานทองแท้ ชินวัตร” ในคดีฟอกเงิน “กฤษฎามหานคร”

          เมื่อ “พล.ต.อ.ชัยยะ” เกษียณ ก็มีการผลักดันให้ “พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์” ขึ้นเป็นเลขาธิการแทน แต่เนื่องด้วยยังมาดำรงตำแหน่งไม่ครบวาระการบริหาร ทำให้ที่ผ่านมาเขาเป็นได้เพียงรักษาการเลขาธิการ ป.ป.ง. จนเมื่อครบวาระ ครม.จึงแต่งตั้งและได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น “เลขาธิการ ป.ป.ง.” เสียที แต่ก็อยู่ภายใต้การกำกับของ “ชัยยะ” อย่างเคร่งครัด 

          ดูเหมือนว่าหลังจากพ้นช่วง “ฮันนีมูน” ความสัมพันธ์ของทั้งสองดูจะไม่ดีนัก เมื่อมีเสียงแว่วว่าคดีในมือป.ป.ง. ไม่ค่อยเดินหน้า โดยคดีที่เดินหน้าจริงๆ ก็มีเพียงคดี “เงินทอนวัด” ที่เป็นคดี “นโยบาย” และการคืนเงินเหยื่อ “คอลเซ็นเตอร์”

          แต่กับคดีอื่นโดยเฉพาะคดีการเมืองกลับไม่ค่อยคืบหน้า เสียงแว่วว่ามีการคัดค้านกันหลายครั้งว่าทำไม่ได้ โดยอ้างติดขัดข้อกฎหมาย หรืออย่างคดี “พานทองแท้” ที่ระยะหลังออกอาการแปลก เพราะคดีนี้สำนักงานป.ป.ง.เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับกลุ่มของพานทองแท้ แต่จู่ๆ กลับทำหนังสือไปถามหน่วยงานอื่นว่า คดีความผิดหลักสอบเสร็จหรือยัง พร้อมร้องขอให้ส่งเอกสารหลักฐานทั้งหมดในสำนวนคดีแบบรับรองสำเนาถูกต้อง

          เมื่อการสั่งงานแล้วไม่เดินหน้าความไม่เข้าใจกันก็ขยายมากขึ้น และสุดท้ายกลายเป็นที่มาของคำสั่ง “เด้งฟ้าผ่า”

          เพราะจากนี้ไปรัฐบาลต้องใช้งานป.ป.ง.มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเมือง  ที่ถือเป็นภารกิจหลักเฉพาะหน้า เมื่อสั่งก็ต้องทำ การคัดค้านเนื่องด้วยความไม่สะดวกใจหรือเหตุผลใดย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้กุมอำนาจรัฐแน่ๆ  เพราะเป็นที่รู้กันว่าศึกใหญ่อย่างการเลือกตั้งกำลังจะมาถึงในเร็วๆ นี้ 

          มีการพูดถึงการควบคุมเส้นทางการเงินที่อาจจะไหลมาในช่องทางต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก หรือการใช้อำนาจตามกฎหมายป.ป.ง. เข้าไปตรวจสอบนักการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้าม และเป็นที่รู้กันว่าหลายคนก็มีประวัติติดอยู่ในโซน “สีเทา” 

          การปลด “พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์” ในวันนี้แสดงถึงการใช้อำนาจที่ชัดเจนทั้งของ “คสช.” และ “พล.ต.อ.ชัยยะ” ว่ามีความแข็งกร้าวเพียงใดและมีความสัมพันธ์ที่ดีขนาดไหน คนต่อไปที่จะมาทำงานก็ต้องตอบรับตอบสนองให้ได้อย่างดี ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการวางตัวคนที่จะมาทำงานแทนไว้แล้ว

          และสัญญาณการปลดครั้งนี้ก็เป็นการประกาศให้ทราบทั่วไปรัฐบาลพร้อมที่จะใช้ป.ป.ง. เพื่อเป็นเครื่องไม้เครื่องมือขนาดไหน แต่เรื่องความเป็นอิสระนั้นคงต้องเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ และที่สำคัญคนจะมาเป็นเลขาฯ ป.ป.ง. คนใหม่ จะไม่ใช่เบอร์หนึ่งอีกต่อไป และไม่ต้องพูดถึงเรื่องความเป็นอิสระ เพราะมีเงาทั้งของ “พล.ต.อ.ชัยยะ” และ “คสช.” ครอบอยู่อีกชั้นหนึ่ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ