คอลัมนิสต์

บทเรียนจาก "บ้านป่าแหว่ง" : เมื่อโจทย์ยังไม่ถูกตีแตก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทเรียนจาก "บ้านป่าแหว่ง" : เมื่อโจทย์ยังไม่ถูกตีแตก : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

 

          บ้างเรียกสุดจะทัดทาน บ้างเรียกลดกระแส ก็สุดแต่ใครจะมอง จากกรณีที่ “คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม" (กบศ.) จะขอทำความตกลงใช้พื้นที่ศูนย์วิจัยพืชสวน จ.เชียงราย สร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5  รวมทั้งที่พักอาศัย โดยจะย้ายมาจากริมดอยสุเทพ หรือที่รู้จักกันไปทั่วประเทศแล้วในนาม “บ้านป่าแหว่ง”

          ว่ากันตามจริงแล้ว “บ้านป่าแหว่ง” นั้น ในทางกฎหมายไม่มีอะไรผิดหรือขัดแม้แต่น้อย เพราะมีการเตรียมการเลือกสรรมาอย่างดี  แต่พอถึงเวลาแล้วกลับไม่สามารถเดินต่อได้ เนื่องจากกฎหมายไม่เป็นไปในทางเดียวกันกับความรู้สึกของคนในพื้นที่ 

          พื้นที่ป่าแหว่งที่ใช้สร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์และที่พักนั้น ดูด้วยตาอย่างไรก็เป็นพื้นที่ป่า และที่สำคัญเป็นป่าที่ได้รับความเคารพและต้องการอนุรักษ์จากประชาชนในพื้นที่ การเจาะพื้นที่บ้านพักเข้าไปท่ามกลางดงไม้จึงไม่ต่างจากการเจาะเข้าใจกลางหัวใจของคนเชียงใหม่

          เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องป่า เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องขวัญหรือความเชื่อ  หากแต่เป็นหลายองค์ประกอบที่หลอมรวมมาเป็นเรื่องเดียว

          “การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ” ด้วยการไม่ยอม และยืนกรานที่จะเดินหน้าโดยอาศัยกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้เรื่องราวบานปลายขึ้นไปอีก จากเดิมที่เป็นเรื่องการปลูกบ้านในพื้นที่ป่าเข้ามาสู่ปริมณฑลของข้อสงสัยเรื่องอภิสิทธิชน คำถามหลั่งไหลเข้ามาว่าการที่ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายเช่นนี้ เพราะมีการทำให้ถูกกฎหมายโดยคนถือกฎหมายหรือไม่ 

          เสียงเรียกร้องให้รื้อจึงกระหึ่มขึ้น  แม้จะมีมติจากรัฐบาลที่จะไม่ให้ใช้บ้านพักดังกล่าว แต่ก็ยังคงถูกตรวจสอบและตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง เช่นเหตุใดจึงมีข้าราชการบางกลุ่มเข้าไปอาศัยในส่วนที่เป็นอาคารชุด แถมรถที่เข้าไปอยู่ก็มีข้อสงสัยว่าอาจจะมิใช่ของข้าราชการชั้นผู้น้อยด้วยซ้ำไป

          เรื่องไม่เงียบหายไปง่ายๆ หากแต่ถูกตรวจสอบจากภาคประชาสังคมอยู่เรื่อยๆ และเรื่องราวก็ดำเนินต่อมาจนถึงวันที่ กบศ.มีมติที่จะย้ายที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ออกจากเชียงใหม่ไปอยู่ที่เชียงราย โดยยังมีคำชี้แจงว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 40 ไร่เศษ และการก่อสร้างก็จะเน้นอาคารชุดซึ่งประหยัดพื้นที่ โดยระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี

          มีหมายเหตุว่าทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลจะพิจารณาให้งบประมาณดำเนินการเมื่อใดด้วย ดังนั้นระหว่างที่ยังรอดำเนินการก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ที่ทำการอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 พื้นที่เดิมอยู่ก่อน

          แน่นอนว่ามติเช่นนี้ยังความสงสัยเพิ่มขึ้นอีก  ประการแรกคือ หากมีการย้ายจริง พื้นที่ “ป่าแหว่ง” จะทำอย่างไร จะมีการใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นหรือไม่ โดยภาคประชาชนมีข้อเรียกร้องประการเดียวคือให้ “รื้อ”

          และไม่ว่าจะรื้อ หรือไม่ใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเสียเปล่าของงบประมาณ  เรื่องเช่นนี้ใครจะรับผิดชอบ  เพราะงบประมาณที่ใช้นั้นเกือบหนึ่งพันล้านบาท หากเทียบโครงการก่อสร้างแห่งใหม่ ก็น่าที่จะใช้งบประมาณเท่ากันหรือมากกว่าตามค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งน่าจะหมายความว่ากว่าจะเรียบร้อยอาคารที่ทำการและที่พักอาศัยแห่งนี้อาจจะมีมูลค่าเกินสองพันล้านบาท

          โดยประชาชนผู้เสียภาษีได้แต่ยืนดูตาปริบๆ เพราะท่านได้ประทับตราไว้เสียตั้งแต่ต้นว่าถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ 

          ข้อสงสัยประการต่อมาคือ การที่ระบุว่า “ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลจะพิจารณาให้งบประมาณดำเนินการเมื่อใดด้วย ดังนั้นระหว่างที่ยังรอดำเนินการก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ที่ทำการอาคารศาลอุทธรณ์ภาค 5 พื้นที่เดิมอยู่ก่อน” แปลความได้ว่าจนกว่าจะมีงบประมาณใหม่มาให้ก่อสร้างพวกเขายังคงยืนยันที่จะอยู่ในพื้นที่ “ป่าแหว่ง” ต่อใช่หรือไม่

          โดยอ้างเรื่องการต้องรอให้ที่ใหม่แล้วเสร็จ  ซึ่งเอาเข้าจริงพวกเขาก็ชี้ว่าเป็นเรื่องปลายเปิด เพราะไม่รู้ว่ารัฐบาลจะอนุมัติเมื่อไหร่เช่นกัน จะเกิดอะไรขึ้นหากรัฐบาลไม่อนุมัติงบประมาณชุดใหม่ หรืออนุมัติล่าช้า รวมถึงต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง  หากเป็นเช่นนี้จะมี “บางคน” อยู่ไปพลางใช่หรือไม่ 

          ไม่แปลกที่มติ “ย้าย” ไปสร้างที่ใหม่นี้ไม่ได้ให้ความมั่นใจใดๆ กับผู้ที่คัดค้านเลยแม้แต่น้อย ซ้ำยังเป็นการตอกย้ำว่าพวกเขาไม่ได้ทำผิดอะไร หากแต่เป็นเรื่องในพื้นที่ที่ทำให้อยู่ไม่ได้ และหากจะให้ย้ายก็ต้องใช้ที่ทำการเดิมไปเรื่อยๆ จนกว่าที่ใหม่จะเสร็จ 

          และแน่นอนคำถามที่ว่า หากใช้ที่เดิมก่อนมาสร้างที่เชิงดอยสุเทพ จะสามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่ หรือการไม่มีบ้านพักหรูจะกระทบต่อการทำงานอย่างไร ในขณะที่ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำเงินเดือนต่ำเตี้ยเรี่ยดินกลับต้องขวนขวายหัวหกก้นขวิด ไม่จ่ายค่าเช่าก็ต้องกัดฟันผ่อนกันรากเลือดโดยไม่มี “หลวง” มาสร้างบ้านให้อยู่แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เงินเดือนก็ไม่ใช่น้อย

          ดังนั้นก่อนที่จะออกมติเช่นนี้ พวกเขาควรทำความเข้าใจรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะหากยังตีโจทย์ไม่แตกว่าทำไมชาวบ้านถึงคัดค้าน หรือทำไมเรื่องราวถึงบานปลาย ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนก็จะถูกตั้งคำถาม และไม่ได้รับการต้อนรับทั้งสิ้น   ไม่ว่าจะอ้างว่าถูกกฎหมายเพียงใดก็ตาม

          ดีไม่ดีจะต้องย้ายไปเรื่อยๆ เป็นไร่เลื่อนลอยไม่รู้จบรู้สิ้น พอๆ กับงบประมาณที่ถมลงไปอย่างไม่รู้จุดหมาย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ