คอลัมนิสต์

เจ้าสาวเบบี๋ชายแดนใต้(ภาค 2)…"อำนาจพ่อ" หรือ "สิทธิเด็ก" ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจ้าสาวเบบี๋ชายแดนใต้(ภาค 2)…"อำนาจพ่อ" หรือ "สิทธิเด็ก" ? :  รายงาน  โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

          ปัญหาการออก “ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก” ของ 4 จังหวัดชายแดนใต้ประเทศไทย ยังคงเป็นกระแสร้อนแรงระดับประเทศ มุมมองของฝ่ายเอ็นจีโอ ฝ่ายรัฐและฝ่ายศาสนา ล้วนแล้วแต่น่าสนใจ เพราะกรณีนี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในเรื่อง “หลักสิทธิมนุษยชน” ในชุมชนมุสลิมบางแห่งที่ถูกปกปิดมาตลอด...

          คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ “เจ๊ะ อับดุล การิม” ชายมาเลเซีย วัย 41 ปี จากเมืองกัวมูซัง รัฐกลันตัน เดินทางเข้ามาจัดพิธีสมรสกับเด็กหญิงไทยวัยเพียง 11 ขวบ เป็นภรรยาคนที่ 3 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม แล้วถูกเปิดโปงจากภรรยาคนที่สองผ่านเฟซบุ๊ก จนกลายเป็นพิธีแต่งงานเด็กที่ถูกต่อต้านไปทั่วโลก

          เนื่องจากทนไม่ได้ที่ “เจ้าสาววัย 11 ขวบ” เป็นเพื่อนของลูกนายการิม แถมนายการิมยังให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองเฝ้ามองและหลงรักเด็กคนนี้มาตั้งแต่อายุ 7 ขวบแล้ว !?!

          ที่ผ่านมานายการิมมีภรรยาอยู่แล้ว 2 คน และลูกอีก 6 คน การแอบพาเพื่อนลูกมาจัดพิธีแต่งงานที่มัสยิดในสุไหงโก-ลก เมืองชายแดน จ.นราธิวาส ของไทย มีจุดประสงค์เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายมาเลเซียที่ห้ามแต่งงานกับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ชาวสื่อสังคมออนไลน์ในมาเลเซียกว่า 2.5 หมื่นราย ร่วมกันลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org รณรงค์ต่อต้านการแต่งงานกับเด็ก และขอเปลี่ยนกฎหมายเพิ่มอายุจาก 16 ปี เป็นไม่ต่ำกว่า 18 ปีด้วย

 

เจ้าสาวเบบี๋ชายแดนใต้(ภาค 2)…"อำนาจพ่อ" หรือ "สิทธิเด็ก" ?

 

          นับเป็นการกดดันให้ตำรวจมาเลเซียจับกุม “นายการิม” มาขึ้นศาลชารีอะฮ์ในรัฐกลันตัน ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วว่าผิดจริงและสั่งปรับเงินจำนวน 1,800 ริงกิต หรือประมาณ 1.5 หมื่นบาท เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 หลังจากนายการิมยอมรับความผิดที่ลักลอบไปแต่งงานในไทยแบบผิดกฎหมายมาเลเซีย

          แม้นายการิมยอมรับผิดกับศาลมาเลเซีย แต่เขายังยืนยันว่าการแต่งงานตามพิธีศาสนาอิสลามในไทยไม่ได้ผิดไปด้วย ถือว่าเด็กคนนี้ยังเป็น “เจ้าสาวเบบี๋” ของเขาอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย เพราะแต่งงานโดยพ่อแม่อนุญาตเรียบร้อยแล้ว

          ประกอบกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของ “เจ้าสาวเบบี๋” ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอะไรมากนัก มีเพียงเครือข่ายเอ็นจีโอที่ไม่ยอมแพ้ พยายามหาทางช่วยเด็กออกมาจากการแต่งงานอื้อฉาวครั้งนี้

          การต่อสู้เพื่อ “เจ้าสาวเบบี๋ ภาค 2” คือ การปะทะของ “2 สิทธิ” ระหว่าง “สิทธิเด็ก” กับ “สิทธิพ่อ”

          “สิทธิเด็ก” หมายถึงเด็กไทยทุกคนควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุถึง 15 ปี หรือจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมถึงสิทธิในการได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวอย่างอบอุ่น ปลอดภัย มีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม ได้รับการปกป้องคุ้มครองให้รอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกทอดทิ้ง หรือการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ “สิทธิพ่อ” ตามหลักกฎหมายอิสลามที่ใช้ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้หญิงจะแต่งงานได้ถ้าผู้อนุญาตคือผู้ปกครองที่มีความสัมพันธ์ทางด้านเชื้อสายและเป็นผู้ที่ไม่สามารถแต่งงานกับเจ้าสาวได้ หมายถึงพ่อแท้ๆ พี่ชายหรือน้องชายแท้ๆ

          หมายความว่า พ่อคือผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินว่าจะให้ลูกแต่งงานกับใครหรือให้แต่งอายุเท่าไรก็ได้ !

 

เจ้าสาวเบบี๋ชายแดนใต้(ภาค 2)…"อำนาจพ่อ" หรือ "สิทธิเด็ก" ?

 

          เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้มีอำนาจดูแลบริหารจัดการจังหวัดชายแดนใต้ทั้งหมด ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในเรื่องนี้ว่า พื้นที่ชายแดนภาคใต้มีเด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก เพราะตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว ผู้ชายมุสลิมสามารถมีภรรยาได้ 4 คน ถือเป็นสิทธิของพวกเขา ส่วนใหญ่ผู้หญิงแต่งงานตั้งแต่อายุ 14-17 ปี ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยว่าเด็กที่แต่งงานก่อนอายุอันควรจะมีปัญหาส่งผลต่อความเป็นอยู่ในอนาคต หากสามีไม่เลี้ยงดูหรือหย่าร้าง แต่ก็ยอมรับว่าหากเป็นเรื่องทางศาสนา รัฐไทยจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

          “ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้สั่งการอะไรเรื่องนี้ ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องทางศาสนาของเขา ว่ากันไป เราไปยุ่งกับศาสนาเขาไม่ได้ ทหารดูเรื่องความมั่นคงเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน” พล.ท.ปิยวัฒน์กล่าว

          ทั้งนี้ “กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก” หรือ “พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489” เป็นกฎหมายที่ใช้เฉพาะพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่ 4 จังหวัดนี้ หากต้องการแต่งงานหรือหย่าร้าง และจัดการมรดก สามารถทำได้โดยไม่ต้องไปทำตามระเบียบพิธีในกฎหมายแพ่งเหมือนจังหวัดอื่นๆ

          กฎหมายอิสลามข้างต้น ไม่ได้กำหนดไว้ว่า ชายหญิงแต่งงานกันได้เมื่ออายุเท่าไร มีเพียงการใช้คำว่า “บรรลุศาสนภาวะ” หมายถึงพ้นจากการเป็นผู้เยาว์เมื่ออายุ 15 ปีบริบูรณ์ หรือผู้ชายมีน้ำกาม หรือผู้หญิงมีประจําเดือน ก็สามารถเข้าพิธีสมรสได้

          ส่วนการแต่งงาน หรือ “การนิกะห์” คือการทำพิธีในมัสยิด มีผู้รู้ทางศาสนาเป็นผู้ดำเนินการ ไม่มีขั้นตอนอะไรมากนัก เพียงแค่ “พ่อ” อนุญาตก็แต่งงานได้ มีผลตามกฎหมายทันที แตกต่างจากคู่สมรสคนไทยในจังหวัดอื่นๆ ที่การแต่งงานจะสมบูรณ์ต่อเมื่อไปจดทะเบียนสมรสที่หน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น และถ้าอายุไม่ถึง 17 ปี ต้องให้ศาลอนุญาต

 

เจ้าสาวเบบี๋ชายแดนใต้(ภาค 2)…"อำนาจพ่อ" หรือ "สิทธิเด็ก" ?

 

          “อำนาจพ่อ” กลายเป็นหลักฐานสำคัญทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบางคนคิดว่า คดีของนายการิมไม่ผิดตามกฎหมายไทย เพราะจัดพิธีที่มัสยิด มีอิหม่ามมาทำพิธีให้ และในรูปภาพที่โชว์ในสื่อสังคมออนไลน์ก็มีภาพพ่อและแม่เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีสมรสเบบี๋ด้วย

          ตามหลักศาสนาอิสลามนั้น ผู้หญิงจะแต่งงานได้ต่อเมื่อ “พ่อ” อนุญาต หากไม่มีพ่อจะเป็นพี่ชายหรือน้องชายหรือญาติที่เป็นผู้ชายเท่านั้นที่มีสิทธิอนุญาต ผู้ปกครองที่เป็นผู้หญิงไม่มีอำนาจ และตัวเจ้าสาวเองก็ไม่มีสิทธิตัดสินด้วยตัวเอง ไม่ว่าอายุจะมากน้อยเท่าไรก็ตาม

          “อับดุลอาซิซ เจ๊ะมามะ” รองประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” ว่า คดีนี้นายการิมทำผิดตามกฎหมายมาเลเซีย แต่สำหรับของไทยแล้วนั้น ถือว่าการแต่งงานสมบูรณ์ถูกต้อง เพราะ “พ่อ” เป็นคนพามาแต่งงานเอง ถือว่ามีการอนุญาตแล้ว เป็นการทำตามระเบียบกฎหมายเฉพาะของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

          “ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปคุยกับเด็กแล้ว ก็ไม่ได้ผิดปกติอะไร เพราะพ่อแม่เด็กไปทำงานกับนายการิมที่มาเลเซีย เหมือนกับเป็นเจ้านายกับลูกน้อง เมื่อถึงเวลานายการิมอยากแต่งงานด้วย พ่อแม่ก็ไม่ได้กีดกันหรือขัดขวาง พามาแต่งงานในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อยากให้กรณีนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่อนุญาตให้แต่งงานในเด็กเล็กแบบนี้ ตอนนี้ประชุมร่วมกับฝ่ายมาเลเซียแล้ว สรุปว่าต่อไปนี้ทางคณะกรรมการอิสลามของ 4 จังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล จะออกระเบียบเพิ่มเติม ขอความร่วมมือไม่ให้อิหม่ามหรือผู้นำทางศาสนาทำพิธีแต่งงานให้แก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี”

          รองประธานกรรมการอิสลามฯ กล่าวยืนยันว่า หลังเกิดคดีอื้อฉาวนี้ได้หารือพูดคุยกับคณะกรรมการอิสลามจากหลายจังหวัด ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าการแต่งงานกับเด็กเล็กแบบนี้ไม่ควรมีอีก และในอนาคตไม่ควรอนุญาตทั้งกับคนไทยและคนต่างชาติ ซึ่งทางตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียก็เห็นด้วยและพร้อมที่จะสนับสนุนไม่ให้ชาวมาเลเซียแอบหนีมาแต่งงานกับเด็กแบบนี้ที่ประเทศไทยอีก ถือเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ

          อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่จบง่ายๆ เนื่องจากเครือข่ายปกป้อง “สิทธิเด็ก” ไม่เห็นด้วยที่จะยอมให้ “เจ้าสาวเบบี๋” ตกเป็นภรรยาของนายการิมอย่างถูกกฎหมาย

 

เจ้าสาวเบบี๋ชายแดนใต้(ภาค 2)…"อำนาจพ่อ" หรือ "สิทธิเด็ก" ?

 

          เพราะนี่คือหลักฐานการละเมิดทางเพศกับเด็กที่ชัดเจน

          “รอซิดะห์ ปูซู” ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงหาสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มองว่าการออกใบอนุญาตให้แต่งงานกับเด็กเล็กได้ คือหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมุสลิมตามชายแดนใต้ที่ไม่มีใครอยากพูดถึง ผู้ปกครองหลายครอบครัวยอมยกลูกสาวตัวเล็กๆ ไปแต่งงานกับผู้ชาย เพราะว่าฐานะยากจนไม่มีทางเลือก พ่อแม่ไม่ได้เรียนหนังสือ ลูกๆ ก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะรัฐละเลยไม่เคยให้ความสำคัญในการแก้ไขความยากจน เด็กเล็กหลายคนจำใจแต่งงานเพราะถูกละเมิดทางเพศแล้วด้วย พ่อแม่ยากจนไม่กล้าไปฟ้องตำรวจ กลัวปัญหาหลายอย่าง และคนที่ข่มขืนเด็กอ้างว่าไม่ผิดหลักศาสนาด้วย อิหม่ามจัดพิธีแต่งงานให้เด็กเล็กอายุเท่าไรก็ได้

          "มีหลายกรณีที่เด็กถูกละเมิดทางเพศ แล้วพ่อไปจับแต่งงานกับคนที่ข่มขืนเขา สุดท้ายเด็กกลุ่มนี้จะมีอาการคล้ายกันคือ เงียบ ขรึม สภาพจิตใจย่ำแย่ มีภาวะเครียดเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน แล้วพอตั้งท้องมีลูก ก็เลี้ยงลูกไม่เป็น เลี้ยงไม่ได้ดีเหมือนคนอื่น เพราะไม่มีความสุขและไม่ค่อยมีความรู้ ลูกที่เกิดมาจากแม่ที่ยังเด็กส่วนใหญ่ภาวะโภชนาการไม่ดี อ่อนแอตั้งแต่ยังเป็นทารก บางคนถูกสามีทิ้งไปหาเมียใหม่ แม่ที่ยังเป็นเด็กกลุ่มนี้ต้องกลับไปอยู่กับครอบครัวเดิม หรือหนีไปหางานทำที่อื่น ทิ้งลูกให้ตายายเลี้ยง กลายเป็นปัญหาครอบครัวซ้ำซากต่อไป”

          ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงฯ ข้างต้น เสนอว่า อยากให้มีการเก็บข้อมูลว่าพื้นที่แต่ละหมู่บ้านของ 4 จังหวัดชายแดนใต้นั้น มีเด็กเล็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวยากจนจำนวนเท่าไร รัฐบาลต้องสั่งการให้ อบต.เข้าไปดูแล เพราะงบประมาณมีอยู่แล้ว เด็กเหล่านี้ได้สิทธิเรียนฟรีก็จริง แต่ไม่มีเงินค่ารถค่าขนมไปโรงเรียน สิ่งนี้คือสิทธิเด็กขั้นพื้นฐาน ถ้าเด็กได้ไปโรงเรียนก็มีความรู้มีโอกาส ไม่ถูกละเมิดทางเพศได้ง่าย การสำรวจประชากรแบบลงพื้นที่มีความสำคัญมาก จะไปรอให้พวกเขาเดินทางเข้ามาลงทะเบียนคนจนคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากพวกเขาเข้าไม่ถึงข้อมูล เชื่อว่าเจ้าหน้าที่หมู่บ้านแต่ละแห่งรู้ข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่รัฐบาลจะสนใจรวบรวมแล้วอยากช่วยแก้ปัญหาเด็กยากจนจริงหรือไม่

 

เจ้าสาวเบบี๋ชายแดนใต้(ภาค 2)…"อำนาจพ่อ" หรือ "สิทธิเด็ก" ?

 

          สอดคล้องกับความคิดเห็นของ “บัณฑิต แป้นวิเศษ” มูลนิธิเพื่อนหญิง ที่มองว่าคดีนี้รัฐไทยเพิกเฉย แต่ไม่ได้มองถึงมิติสิทธิเด็ก เจ้าสาวยังเป็นเด็กเล็กอายุแค่ 11 ขวบ ควรอยู่ในโรงเรียนสนุกสนานกับเพื่อนๆ ไม่ใช่ไปแต่งงานกับผู้ชายอายุคราวพ่อ การแสดงความเห็นของตัวแทนภาครัฐไทยแสดงให้เห็นถึงความไม่รู้เรื่องกฎหมายและสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ

          “สิ่งที่ต้องรีบทำเร่งด่วนคือ ประสานหาตัวน้องคนนี้มา ไม่รู้ว่าอยู่ที่มาเลเซียหรือไทย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพต้องเข้าไปพูดคุยกับเด็กและครอบครัว ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ช่วยเด็กออกมาจากสภาพปัญหานั้น ใช้กระบวนการเยียวยาฟื้นฟูครอบครัวและเด็กอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เด็กกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติเหมือนเด็กคนอื่น อย่าปล่อยให้เด็กไม่มีทางออก แล้วคิดว่าการแต่งงานคือทางเลือกดีที่สุด แม้แต่คนมาเลเซียที่เป็นมุสลิมด้วยกันยังรับไม่ได้ รู้สึกสงสารเด็กไทยคนนี้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยกลับเฉยๆ เห็นเป็นเรื่องปกติ” ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวแสดงความผิดหวัง

          “สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์” อดีตคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ยืนยันว่า การแต่งงานของนายการิมผิดกฎหมายไทยหลายข้อหา เพราะผิดกฎหมายอาญาระบุห้ามกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ไม่ว่าเด็กยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษหนักจำคุกหลายสิบปี แม้แต่ในกฎหมายอิสลามที่ยกเว้นให้ 4 จังหวัด ก็ไม่สามารถคุ้มครองนายการิมได้ เพราะเป็นกฎหมายแพ่ง แต่ไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายอาญา พร้อมกล่าวแนะนำตำรวจทิ้งท้ายว่า

          “ตำรวจไทยต้องไปตามล่าจับกุมตัวเดี๋ยวนี้ เพราะทำผิดกฎหมายไทยหลายข้อหา และประเทศมาเลเซียก็มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทยด้วย อยู่ที่ตำรวจไทยว่ากำลังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่า ถ้ามีหลักฐานว่าพ่อรับสินสอดจากฝ่ายชาย อาจโดนความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ถือว่าส่งเด็กให้ผู้ชายคนนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กโดยมิชอบ”

          คดีเจ้าสาวเบบี๋ กำลังถูกจับจ้องจากทั่วโลกว่าจะลงเอยอย่างไร...โดยเฉพาะ “ดร.วัน อะซีซะห์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสตรีมาเลเซีย กล่าวฟันธงว่า การแต่งงานของคู่นี้ถือว่าผิดกฎหมาย จะต้องทำให้แยกทางกัน เพราะกฎหมายครอบครัวของมาเลเซีย กำหนดให้ผู้ชายแต่งงานเมื่ออายุ 18 ปี ส่วนผู้หญิงไม่ต่ำกว่า 16 ปี 

          เมื่อศาลมาเลเซียมีคำพิพากษาว่าผิดไปแล้ว ตอนนี้กำลังรอว่ากระบวนการกฎหมายไทยจะเอาอย่างไรต่อไป ...

          วินาทีนี้ทั้ง 2 ฝ่ายยังหาข้อยุติไม่ได้... จุดจบของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร... ต้องตามต่อในเจ้าสาวเบบี๋ ภาค 3
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ