คอลัมนิสต์

ขยะใต้พรมบนการคิด "ชักดาบหนี้ครู"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขยะใต้พรมบนการคิด "ชักดาบหนี้ครู" : คอลัมน์ ที่นี่ไม่มีความลับ  โดย : เอราวัณ ทางหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 16 ฉบับ 3385 ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค.2561

 

          “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ประโยคของนักธุรกิจล้มบนฟูกอย่าง สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ในวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แม้เวลาล่วงเลยมา 21 ปี ยังหลอนเจ้าหนี้ทุกผู้ทุกนามมาตราบเท่าทุกวันนี้ ดังนั้นเมื่อแกนนำครูบางส่วนประกาศ “ปฏิญญามหาสารคาม” ว่าด้วยการชักดาบธนาคารออมสิน เพราะหนี้สินมากจนไม่สามารถจะชำระได้ จึงได้รับการต่อต้านจากทุกภาคส่วน เพราะ “เป็นหนี้ก็ต้องใช้” ห้ามใช้แนวคิด “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เด็ดขาด

          แม้ว่าคณะผู้ก่อการนำโดย อวยชัย วะทา จะอ้างว่าเป็นการขอพักหนี้ไม่ใช่ “การชักดาบ” แต่การเรียกร้องให้ครู 450,000 คน ที่เข้าโครงการณาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค. หยุดการชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ นั่นก็คือการ “ชักดาบ” นั่นเอง เพราะการพักชำระหนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคาร ซึ่งต้องรอนโยบายรัฐบาล จึงไม่แปลกที่ ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะออกมาไม่เห็นด้วย พร้อมประโยคที่ว่า “มีหนี้ก็ต้องใช้” ลุงตู่ ยังยกกรณีตัวเอง ว่าเคยเป็นหนี้มาก่อนและใช้จนหมด  ดังนั้น “ปฏิญญามหาสารคาม” จึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

          แต่ก็หาใช่เหตุที่ภาครัฐจะละเลยไม่แก้ไขปัญหาหนี้ครูเหล่านี้ โดยยกแค่ตัวเลขว่าครูกว่า 300,000 คน หรือราว 90% ชำระหนี้ดีอยู่ ภาครัฐทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ต้องเข้าไปดูปัญหาให้ถ่องแท้ว่าโครงการ ช.พ.ค.นี้ มีความฉ้อฉลอย่างไร และแก้ไขปัญหานั้นเสีย

          ความคิดเรื่องโครงการ ช.พ.ค. พยายามสร้างความชอบธรรมในการทำโครงการ แต่แท้จริงคือส่วนหนึ่งในการ “ทำนาบนหลังครู” เริ่มจากการให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้โครงการแรก ไม่เกิน 6 แสนบาทต่อคน แต่มีข้อกำหนดทุกคนที่กู้ต้องทำประกันภัย กับ บริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีคนเป็นประธานธนาคารออมสินกับประธานบริษัท ทิพยประกันภัยฯ เป็นคนคนเดียวกัน (สืบเอาเองใคร แต่มีชื่อย่อว่า ส.) อันนี้จะถือได้ว่าเป็นผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่?  ปิดโอกาสประกันภัยบริษัทอื่นด้วย

          ยังไม่ทันจบโครงการ ช.พ.ค. ก็เปิดอีกโครงการให้กู้เพิ่ม เป็นไม่เกิน 1.2 ล้านบาทต่อราย และปัจจุบันขยายเป็นไม่เกิน 4 ล้านบาทต่อรายซึ่งทุกการขยายวงเงินการกู้จะต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น ที่ใครกู้เต็มวงเงิน 3 ล้านบาท จะต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ บริษัท ทิพยประกันภัยฯ รายละ 7 หมื่นบาทต่อวงเงิน ไปคำนวณดู จะมีเบี้ยประกันในระบบกว่าหมื่นล้านบาท

          เป็นที่ทราบกันในวงการประกันภัยว่า จะมีค่านายหน้าในการทำประกัน ปกติ 20% ของเบี้ยประกัน กรณีนี้ค่า “นายหน้า” เบี้ยประกันมากกว่า 2 พันล้านบาทไปหล่นใส่เท้าใคร ทั้ง “รมว.คลัง” และ “นายกฯ” ช่วยหาให้เจอเหมือนหา “ทีมหมูป่า”ในถ้ำหลวงหน่อย

          ไม่เพียงเรื่องเบี้ยประกันภัย เงินปากถุงการกู้ที่ “ธนาคารออมสิน” ส่งมอบให้กองทุนครูและมีข่าวว่าผู้บริหารกองทุนนี้เอาไปลงทุนให้โรงไฟฟ้าบางโรงกู้แล้วเจ๊งไป 2.5 พันล้านบาท จน “หมอธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” ต้องสังคายนาและให้ธนาคารออมสิน ทำเป็นส่วนลดดอกเบี้ยให้ครูแทนการมาสมทบกองทุน เรื่องเหล่านี้ต้องไม่เงียบไป

          เป็นโอกาสดีที่ครูส่วนหนึ่งร้องขอความช่วยเหลือ แม้การเรียกร้องนั้นจะไม่ได้รับการตอบรับจากสังคม แต่เป็นการจุดชนวนที่ทำให้เราดมกลิ่นความฉ้อฉล “การทำนาบนหลังครู” ที่รัฐบาลจะละเลยไม่แก้ไขไม่ได้เสียแล้ว

......................................
ขยะใต้พรมบนการคิด “ชักดาบหนี้ครู” : คอลัมน์ ที่นี่ไม่มีความลับ  โดย : เอราวัณ 
ลงหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 16 ฉบับ 3385 ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค.2561

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ