คอลัมนิสต์

ชาวโลกไม่ยอม!"เจ้าสาวเบบี๋"4จว.ชายแดนใต้"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชาวโลกไม่ยอม!"เจ้าสาวเบบี๋"4จว.ชายแดนใต้" : รายงาน  โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

          ชาวมาเลเซียเกือบ 2 หมื่นคน ร่วมกันลงชื่อในคำร้องผ่านเว็บไซต์รณรงค์ change.org ขอให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายเพิ่มเกณฑ์อายุของเยาวชนเป็น 18 ปี เพื่อป้องกันปัญหาจับเด็กมาแต่งงาน หลังเกิดคดีอื้อฉาวของ “เจ๊ะ อับดุล การิม” ชายมาเลเซีย วัย 41 ปี มาจัดพิธีแต่งงานที่ จ.นราธิวาส กับเด็กหญิงไทยวัยเพียง 11 ขวบ เพื่อเป็นภรรยาคนที่ 3 จนถูกต่อต้านไปทั่วโลก...

          แม้รัฐบาลมาเลเซียมองว่าเรื่องนี้เป็นการทำผิดอย่างชัดเจน เนื่องจากกฎหมายมาเลเซียระบุว่า การแต่งงานกับผู้เยาว์ต้องได้รับความเห็นชอบจาก “ศาลศาสนา” ไม่เช่นนั้นจะมีความผิดโดนโทษปรับ 1,000 ริงกิต ประมาณ 8,800 บาท โทษจำคุก 6 เดือน หรืออาจโดนทั้งจำคุกและปรับเงิน

          แต่นายการิมผู้มีภรรยาอยู่แล้ว 2 คนและลูกอีก 6 คน อ้างว่าเขาพาเด็กมาแต่งงานในไทย เพราะไม่ผิดกฎหมายในประเทศไทยและพ่อแม่เด็กก็อนุญาตด้วย เพียงแต่ภรรยาคนที่สองไม่ยินยอม เพราะเจ้าสาวเป็นเพื่อนเล่นกับลูกของเธอ จึงเอาเรื่องไปเปิดเผยในเฟซบุ๊ก

          เรื่องนี้ชาวสื่อสังคมออนไลน์ในมาเลเซียแสดงความเห็นต่อต้านอย่างรุนแรง รวมถึงกลุ่มปกป้องสิทธิเด็กในหลายประเทศ

          เครือข่ายเอ็นจีโอในมาเลเซียออกแถลงการณ์ประณามว่า การแต่งงานกับเด็กเป็นเรื่องที่สังคมมุสลิมและสังคมโลกยอมรับไม่ได้ เพราะขัดต่อหลักพื้นฐานของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์กรสหประชาชาติ

          เด็กในวัยนี้ควรได้รับการศึกษาไปโรงเรียน และการที่เด็กอายุน้อยขนาดนี้เมื่อแต่งงานจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของเด็กในอนาคต ที่สำคัญจิตใจของเด็กยังไม่พร้อมเป็นภรรยาหรือเป็นแม่ กลุ่มคุ้มครองสิทธิเด็กองค์กรพยายามเรียกร้องรัฐบาลให้เข้ามาจัดการคดีนี้ และกำหนดอายุขั้นต่ำให้เด็กแต่งงานได้จาก 16 ปี เป็น 18 ปี

ชาวโลกไม่ยอม!"เจ้าสาวเบบี๋"4จว.ชายแดนใต้"

 

          พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กลายเป็นพื้นที่ออก “ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก” รวมถึงการจัดพิธีแต่งงานกับเด็กอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้อย่างไร ?

          เนื่องจาก กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก หรือ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489" เป็นกฎหมายเปิดโอกาสให้ชาวมุสลิมในพื้นที่ 4 จังหวัดนี้สามารถแต่งงานหรือหย่าร้าง และจัดการมรดกกันได้โดยไม่ต้องไปทำตามระเบียบพิธีในกฎหมายแพ่งเหมือนจังหวัดอื่นๆ

          กฎหมายฉบับนี้ให้ความหมายของการสมรส หรือ “การนิกะห์” ว่าเป็นการผูกนิติสัมพันธ์ทางการสมรสระหว่างชายและหญิง เพื่อเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย เมื่อทำพิธีนิกะห์ในมัสยิดหรือมีผู้รู้ทางศาสนาจัดการให้เรียบร้อย ถือว่ามีผลตามกฎหมาย แต่หากคู่สมรสใดอยากไปจดทะเบียนที่อําเภอตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ได้

          โดยเกณฑ์อายุของการนิกะห์หรือการสมรสนั้น กฎหมายอิสลามฯ ไม่ได้ระบุว่าให้ทำได้เมื่ออายุเท่าไร มีเพียงการใช้คำว่าเมื่อชายและหญิง “บรรลุศาสนภาวะ” เช่น พ้นจากการเป็นผู้เยาว์ หมายถึงอายุ 15 ปีบริบูรณ์หรือ ผู้ชายมีน้ำกามเคลื่อนด้วยเหตุใดๆ ส่วนกรณีผู้หญิงหากมีประจําเดือนแล้วก็สามารถสมรสได้เช่นกัน

          หมายความว่า ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม สามารถทำพิธีแต่งงานหรือหย่าได้ทันที ขอเพียงมีผู้นำศาสนาอิสลามในชุมชนหรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเห็นด้วย หรือบางครั้งอาจมีการออกใบอนุญาตสมรสให้ด้วย ไม่ต้องไปที่ว่าการอำเภอหรือหน่วยงานของมหาดไทยเหมือนที่จังหวัดอื่นๆ ขณะที่กฎหมายแพ่งที่ใช้นอกเหนือจาก 4 จังหวัดนี้ระบุว่า หากแต่งงานก่อนอายุ 17 ปี ต้องได้รับคำสั่งศาล หรือต้องให้ศาลอนุญาตก่อนถึงจดทะเบียนสมรสได้

          พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย(กอท.) ให้ข้อมูล “คม ชัด ลึก” ว่า คดีของนายเจ๊ะ อับดุล การิม ที่กำลังสร้างกระแสต่อต้านไปทั่วโลกนั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยทราบเรื่องแล้ว และได้สั่งให้มีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่ามีการแต่งงานแบบไม่ถูกต้องแบบนี้จริงหรือไม่ การแต่งงานจัดที่มัสยิดใดและใครเป็นผู้อนุญาตออกเอกสารแต่งงาน

          “เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่การแต่งงานจริง อาจเป็นการแต่งงานแบบหลอกลวงมากกว่า เพราะตามขั้นตอนแล้วต้องมีคณะกรรมการกลางประจำจังหวัดและสถานกงสุลใหญ่มาเลเซียประจำจังหวัดสงขลาให้การรับรองถึงจะจดทะเบียนสมรสได้ การแต่งงานกับเด็กที่อายุต่ำขนาด 11-12 ขวบ ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะออกใบทะเบียนสมรสให้ง่ายๆ หรือไปแต่งงานที่มัสยิดไหนก็ได้ ต้องดำเนินเรื่องผ่านระดับกรรมการจังหวัด มีหลายฝ่ายช่วยกันพิจารณา”

          ส่วนกรณีที่เครือข่ายสิทธิเด็กและสตรีเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎระเบียบของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับสิทธิพิเศษตามกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก ที่ไม่ระบุอายุขั้นต่ำก่อนแต่งงานของเด็กผู้หญิงไว้ จนก่อให้เกิดปัญหาการแต่งงานกับเด็กก่อนวัยอันควรนั้น พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวอธิบายว่าทาง กอท.ได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสากล

          “วสันต์ ทองสุข” อิหม่ามประจำมัสยิดนูรุ้ลอิบาดะห์ กรุงเทพฯ อธิบายถึงหลักการจัดพิธีแต่งงานของผู้นับถืออิสลามว่า ตามหลักการศาสนาแล้ว ผู้หญิงจะแต่งงานได้ต่อเมื่อ “พ่อ” หรือ พี่ชาย น้องชาย อนุญาตเท่านั้น ไม่ได้กำหนดเรื่องอายุของฝ่ายหญิง เพราะผู้หญิงไม่มีสิทธิตัดสินด้วยตัวเองไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม และผู้ที่จัดพิธีแต่งงานให้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นอิหม่ามหรือ ผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิดเท่านั้น ขอเป็นเพียงผู้รู้หรือครูสอนศาสนาอิสลามก็ได้ โดยมีพยานรับรู้ 3 คน กับเงินสินสอดที่ฝ่ายเจ้าบ่าวมอบให้เจ้าสาว 125 บาท
สำหรับคดีโด่งดังชายชาวมาเลเซียมาขอแต่งงานกับเจ้าสาวเด็กอายุ 11 ขวบนั้น ท่านอิหม่ามวสันต์ แสดงความเห็นว่า

 

ชาวโลกไม่ยอม!"เจ้าสาวเบบี๋"4จว.ชายแดนใต้"

 

 

          “เด็กยังไม่มีวุฒิภาวะ ไม่เหมาะสมที่จะให้รีบแต่งงาน สังคมต้องตั้งคำถามว่าทำไมพ่อถึงอนุญาต ความเป็นพ่ออยู่ที่ตรงไหน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ถ้าสืบพบว่ามีการขายลูกถือว่ามีความผิดทั้งนั้น”

          ขณะนี้หลายฝ่ายมองว่า กฎระเบียบเหล่านี้ผู้ที่กำหนดหรือมีอำนาจคือ “รัฐ” ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือผู้ที่ทำตามกฎหมายที่ระบุไว้ เมื่อไม่ได้กำหนดอายุการแต่งงานของผู้หญิงก็ถือว่าอิหม่ามหรือผู้จัดพิธีสมรสให้ไม่ได้ทำผิด หากไม่อยากให้มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นก็ต้องเปลี่ยนกฎหมาย ระบุอายุให้ชัดเจนหรือระบุเงื่อนไขว่าถ้าการแต่งงานมีเจ้าสาวเป็นผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องผ่านกระบวนการ ผ่านคณะกรรมการ หรือมีขั้นตอนทางกฎหมายที่แตกต่างจากการแต่งงานทั่วไปอย่างไรบ้าง
 
          สาเหตที่ทั่วโลกต่อต้านไม่ให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงนั้น เนื่องจากมีรายงานวิจัยยืนยันจำนวนมากมายเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพของเด็กกลุ่มนี้

          เช่น รายงานจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ” ให้ข้อมูลว่าเด็กหญิงที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกหลังจากมีประจำเดือนไม่ถึง 3 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกสูง จากกลุ่มตัวอย่างพบว่าเด็กที่มีเพศสัมพันธ์ 3 ปีหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก มีสารบ่งชี้ที่ก่อมะเร็งปากมดลูกสูงถึงร้อยละ 50

          นอกจากนี้ งานวิจัยของ “กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ” กล่าวถึงปัญหาการแต่งงานของเด็กเล็กทำให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร นอกจากเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว หากเกิดการตั้งครรภ์ขณะที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เด็กที่กลายเป็นแม่วัยเยาว์กลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะตกเลือดหลังคลอด เยื่อบุมดลูกอักเสบ ฯลฯ และอาการแทรกซ้อนอื่นๆ

          ยิ่งไปกว่านั้นทารกที่เกิดจากแม่เยาว์วัยอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่มีอัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์มากกว่าแม่อายุระหว่าง 20-29 ปี ถึงร้อยละ 50 และมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ และมักเกิดภาวะความเครียดรวมถึงโรคซึมเศร้า

          “รัชดา ธนาดิเรก” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในเครือข่ายสิทธิเด็กและสตรี กล่าวถึงคดีนี้ว่า เป็นคดีใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังติดตามว่า รัฐบาลไทยจะจัดการอย่างไร เพราะผ่านมาหลายวันแล้วยังไม่มีการเคลื่อนไหวจากหน่วยงานของรัฐอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากอ้างว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกี่ยวกับกฎระเบียบประเพณีของคนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

          “ตอนนี้รัฐบาลและภาครัฐอาจกำลังเข้าใจผิด เพราะเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นเรื่องการละเมิดทางเพศเด็กเล็ก และเป็นการกระทำที่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายมาแต่งงานกับเด็ก รัฐบาลไทยต้องถือเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ เพราะทั่วโลกจับตามอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางเพื่อน ส.ส.ชาวมาเลเซียก็ติดต่อสอบถามมาว่า รัฐบาลไทยจัดการอย่างไร เราก็ตอบว่ายังไม่ทราบเพราะตอนนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเหมือนช่วงเวลาปกติทั่วไปที่อาจเปิดตั้งกระทู้สดหรือเป็นวาระเร่งด่วนพิเศษหรือมีมอบหมายให้คณะกรรมาธิการไปติดตามคดีอย่างใกล้ชิด”

 

ชาวโลกไม่ยอม!"เจ้าสาวเบบี๋"4จว.ชายแดนใต้"

 

          นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กข้างต้นกล่าวต่อว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมาหลายคดีแล้ว ทำให้ภาคใต้มีแม่วัยเด็กจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้ง ไม่อยากให้คนไทยมองว่าเป็นเรื่องภายในของผู้ที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่อยากให้เข้าใจตรงกันว่าเมื่อเด็กเล็กต้องถูกล่อลวงให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก ยิ่งเมื่อตั้งครรภ์ก็ยิ่งเกิดความลำบากมากขึ้น และมีปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ไม่มีทักษะในการใช้ชีวิต ขาดโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน หากสามีทอดทิ้งหรือหย่า จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนผู้หญิงอื่นทั่วไป

          “สังคมต้องช่วยกันขับเคลื่อนและสร้างความเข้าใจให้ชุมชนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้เข้าใจเรื่องสุขภาวะและสุขภาพของผู้หญิงมากขึ้น เพราะแม้แต่เพื่อนผู้ชายมุสลิมบางคนเมื่อเราถามถึงเรื่องนี้แล้ว มักอ้างว่าไม่ใช่เรื่องผิด เพราะครอบครัวของเด็กผู้หญิงยากจน ถ้ามีผู้ชายฐานะดีมาช่วยเอาไปเลี้ยงก็น่าจะดีกว่า ซึ่งทัศนคติแบบนี้ไม่ควรมีอยู่ในสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว เมื่อเด็กยากจนต้องไปช่วยให้การศึกษาหรือช่วยให้มีอาชีพ ไม่ใช่ให้ไปมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น ที่สำคัญการอนุญาตให้เด็กได้แต่งงานอย่างถูกกฎหมายได้เป็นช่องโหว่ให้แก๊งค้าประเวณีเด็กมาเอาเด็กจากพ่อแม่ไปขายต่อ นี่คือการค้ามนุษย์อีกรูปแบบหนึ่ง”

          อดีต ส.ส.รัชดา ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเรื่องอนุญาตให้เด็กแต่งงานกับผู้ที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกครั้งที่กลุ่มสตรีหรือกลุ่มเรียกร้องสิทธิเด็กออกมาเคลื่อนไหวจะถูกต่อต้านจากผู้ชายในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจหรือมีอิทธิพลในชุมชนชายแดนภาคใต้ ดังนั้นอยากให้รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตำรวจ ภาคประชาชน ฯลฯ ช่วยกันขับเคลื่อนให้ยกเลิกการแต่งงานกับเด็ก คนในสังคมไทยอย่ามองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องครอบครัวหรือปัญหาในชุมชน เนื่องจากเด็กทุกคนคืออนาคตของประเทศไทย ไม่ควรถูกละเมิดสิทธิ แต่ควรได้รับการปกป้องและพัฒนาชีวิตให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพทุกคน

          เกณฑ์การสมรสที่ไม่ระบุอายุขั้นต่ำของฝ่ายหญิง เพียงแต่ขอให้มีประจำเดือนเท่านั้น กลายเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ทำให้เกิดปัญหาเด็กผู้หญิงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกบังคับหรือล่อลวงให้แต่งงาน โดยอ้างว่าไม่ผิดกฎหมาย !

          กลายเป็นคำถามว่า ชาวโลกไม่ยอม แล้วทำไม “คนไทย” นิ่งเฉย ?

          ทำไมไม่มีการช่วยกันผลักดัน ทำให้เรื่องนี้ผิดกฎหมายเหมือนจังหวัดอื่นๆ ?

          ถึงเวลาหรือยังที่เด็กทุกคนจะได้รับการปกป้องสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเกิดในที่พื้นที่ของชาติใดหรือนับถือศาสนาใดก็ตาม !?!
 
          “ไม่ให้เด็กแต่งงาน” ภายใน2573 
          เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” (กสม.) "การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร หรือผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถือเป็นการตัดอนาคตของเด็กผู้หญิงในการได้รับการศึกษา ตลอดจนเป็นการปิดโอกาสในการพัฒนาความพร้อมด้านต่างๆ สู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก(CRC) และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 26 ที่บัญญัติให้การปฏิบัติต่อเด็กต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองของตน

          ซึ่งคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) วินิจฉัยแล้วว่า การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรถือเป็นการกระทำก่ออันตรายให้แก่เด็ก และมีข้อเสนอแนะให้รัฐภาคีทั้งสองอนุสัญญา ออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร รวมทั้งในการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ (Universal Periodic Review) ครั้งล่าสุด คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) มีข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยออกกฎหมายห้ามจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรทุกกรณี นอกจากนี้ การจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรเพราะความยากจนถือเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยเฉพาะชายสามีที่เป็นผู้ใหญ่ ย่อมถือว่าได้กระทำผิดต่อเด็กหลายกรณี

          กสม. จึงขอให้บุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องนำข้อห่วงกังวลดังกล่าวของ กสม.ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการ เพื่อมิให้มีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควร และเห็นว่า ควรดำเนินการอนุวัติกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งสังคมโลกมีเป้าหมายร่วมกันประการหนึ่งว่า จะต้องไม่มีการจัดให้เด็กแต่งงานก่อนวัยอันควรภายในปี 2573

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ