คอลัมนิสต์

จับตา "5ว่าที่ กกต."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตา "5ว่าที่ กกต." : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...   ขนิษฐา เทพจร

 
          หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบบุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็น กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 5 คน จาก 7 คนที่ถูกเสนอ โดยคณะกรรมการสรรหา  กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตทันทีว่าจะวางใจ หรือเชื่อมือได้แค่ไหน
  

          เพราะปฏิกิริยาของการลงมติโดย “สนช.” นั้น ดูเหมือนมี “ใบสั่งให้เลือก” และข้อสันนิษฐานเชิงประจักษ์ คือ ผลการลงคะแนนที่เกาะกลุ่ม
  
          “อิทธิพร บุญประคอง” เห็นชอบ 186 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง, “ปกรณ์ มหรรณพ” เห็นชอบ 185 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 คะแนน, ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย เห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 12 เสียง, ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี เห็นชอบ 184 เสียง ไม่เห็นชอบ 11 เสียง และ สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ เห็นชอบ 178 เสียง ไม่เห็นชอบ 20 เสียง

          จากผลคะแนนที่เกิดขึ้นกับข้อสันนิษฐานว่า “มีใบสั่ง” ทำให้กลายเป็นปมร้อนต่อยอดที่น่าติดตามว่าขั้นตอนเลือก “ประธาน กกต.” ก่อนนำรายชื่อเข้ากระบวนการรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการจะมี “กระบวนการล็อบบี้” หรือไม่

          ซึ่งข้อสันนิษฐานที่ว่านั้นดังมาจาก “อดีตคนวงในกกต.–สมชัย ศรีสุทธิยากร” ที่โพสต์เฟซบุ๊กสื่อสารในสังคมโดยอ้างถึง ความเป็นไปได้ที่ คนของพรรคการเมือง, คนจากรัฐบาลปัจจุบัน หรือ สนช. จะขอพบปะ เพื่อเป็นตัวกลางขอคะแนนเสียงให้ใครคนใดคนหนึ่ง

          แม้ข้อสันนิษฐานจากอดีตคนวงในกกต. จะถูกปฏิเสธจาก “ประธาน สนช.–พรเพชร วิชิตชลชัย” และ “ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ– มีชัย ฤชุพันธุ์” ว่าประเด็นล็อบบี้เป็นเรื่องธรรมชาติของ “ข่าวรายวัน” และยิ่งเป็นธรรมชาติมากขึ้น เมื่อกระบวนการจะเลือกผู้ใดเป็น “หัวหน้า” สมาชิกที่ต้องออกเสียง แต่ไม่เคยทำงานร่วมกันหรือรู้จักกัน ต้องทำความรู้จักก่อนจะลงมติ
 
          แต่จากปรากฏการณ์เลือก “ประธาน” ในสภาที่แต่งตั้ง โดย “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเช่นธรรมชาติดังว่า เพราะล้วน “ถูกล็อก” มาแล้วจากผู้มีอำนาจสั่งการ
 

          สำหรับ “ว่าที่ ปธ.กกต.” ชุดใหม่นี้ก็เช่นกันที่มี “ชื่อ” แพร่สะพัด ว่า ได้แคนนิเดทแล้วคือ "ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา" ด้วยคุณสมบัติสำคัญ คือ 1.อาวุโสสูงสุด 2.น่านับถือ 3.ภาพพจน์เหมาะสมต่อการสร้างภาพลักษณ์องค์กร กกต.
 
          อีกทางมีข่าวว่า “ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด” อาจเป็นแคนดิเดท เพราะเป็นผู้มีความคุ้นเคยกับการจัดเลือกตั้งมากกว่าใคร และมีบุคลิกยืดหยุ่น
 
          ไม่ว่าผลเลือกประธานกกต.จะออกแนวไหน จะเกิดจากเกมล็อบบี้หรือไม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือ การสร้างประเด็นให้ “จับตา” การทำงานของ ผู้จัดการเลือกตั้ง ว่าจะจัดเลือกตั้งอย่างสุจริต เที่ยงธรรมและเป็นกลางอย่างที่สังคมคาดหวังหรือไม่ ภายใต้ เกมการเมืองที่ใช้เล่ห์กล มนต์คาถา เพื่อให้ “รัฐบาล-คสช.” กุมอำนาจต่อไป

          แต่ลำพังตำแหน่ง “ประธานกกต.” คงไม่ใช่คำตอบชี้ขาดการเลือกตั้งว่าทิศทางเลือกตั้งจะเป็นไปทางไหน
 
          เพราะองค์ประกอบของ “การจัดเลือกตั้ง” ตามกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ที่มีรายละเอียดและเนื้อหาที่ปรับเปลี่ยนจากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา กำหนดให้ใช้รูปแบบ “องค์คณะ” ช่วยตัดสินใจ–ถ่วงดุลการทำงาน

          นั่นจึงเป็นจุดที่สังคมต้องจับตาเช่นกันว่า “ว่าที่กกต.” จะเข้าใจบริบทสังคมการเมือง-การเลือกตั้ง และข้อกฎหมายที่ปรับเปลี่ยนจนทำภารกิจเลือกตั้งนั้น เป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่

          หากพลิกปูมประวัติและความเชี่ยวชาญของ “ว่าที่กกต.ทั้ง 5” ที่ไม่เคยผ่านงานการเลือกตั้งมาก่อน ยกเว้น “ธวัชชัย” ที่ผ่านงานมาบ้างในฐานะเป็น “พ่อเมืองหลายจังหวัด” จึงเป็นความกังวลเล็กๆ ว่า เขาจะรู้เท่าทันและจัดเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างที่สังคมต้องการให้เป็นหรือไม่

          ข้อห่วงใยนี้ไม่เฉพาะคนอยากเลือกตั้งที่สะท้อนออกมา ยังมี “ประธาน กรธ.” ที่สะท้อนความกังวลเช่นกันต่อการปฏิบัติหน้าที่ จัดการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายคาดหวัง

          “ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นกกต.5 คนนั้น ไม่มีความชำนาญ หรือเชี่ยวชาญ ด้านการจัดการเลือกตั้ง เพราะก่อนหน้านี้เขาทำในบทบาทหนึ่ง ในอีกฐานะหนึ่ง ดังนั้นเมื่อรับตำแหน่งใหม่แล้วจึงควรศึกษากฎหมายเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญให้ดี เพราะมีรายละเอียดที่เป็นของใหม่ค่อนข้างมาก” ประธาน กรธ. กล่าวไว้ตอนหนึ่ง

          แต่แม้จะศึกษาข้อกฎหมายจนแม่นยำ ปฏิบัติตนได้ตามบทบัญญัติของกฎหมาย หากในจุดเริ่มต้นที่สังคมตั้งแง่ว่า “รับใบสั่ง” เครดิตของ “ว่าที่กกต.” ย่อมถูกลดทอนไปครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจุดนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ ของผู้ที่จะเข้ามารับหน้าที่
 
          อย่างน้อยข้อพิสูจน์หนึ่ง คือ สำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ การเข้าประชุมที่กฎหมายกกต.ฉบับใหม่กำหนดให้องค์ประชุมต้องใช้กรรมการจำนวน 5 คน ดังนั้นระหว่างที่รอสรรหากกต.ใหม่อีก 2 คน ต่อให้การประชุมเพื่อออกระเบียบหรือปรึกษาหารือ กกต.ลอตแรก 5 คน ต้องเข้าประชุมพร้อมเพรียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดตามมาภายหลัง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ