คอลัมนิสต์

"ใบอนุญาตแต่งเด็ก"...ช่องลับ 4 จังหวัดไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ใบอนุญาตแต่งเด็ก"...ช่องลับ 4 จังหวัดไทย : รายงาน

  
          ภาพ “ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก” จากสุดขอบชายแดนประเทศไทย เขตสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ถูกสื่อมวลชนทั่วโลกประโคมข่าวช่วงต้นเดือนกรกฎหาคมที่ผ่านมา โดยในรูปมีชายมาเลเซียวัย 41 ปี “เจ๊ะ อับดุล การิม” นั่งอยู่กับผู้ชายอีก 4 คนพร้อมด้วยเด็กหญิงวัย 11 ขวบ ขณะกำลังทำเอกสารใบอนุญาตให้แต่งงานกัน
  

          หนุ่มใหญ่อยากแต่งงานกับเด็กหญิงห่างกันถึง 30 ปี กลายเป็นข่าวใหญ่ เพราะนายการิมมีภรรยาแล้ว 2 คน ลูก 6 ใช้วิธีหลบเลี่ยงกฎหมายมาเลเซียจนถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่นั่นตามแฉไปทั่วโลก
  
          เรื่องนี้คงเป็นความลับหรือเป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัวของนายการิมไปตลอดชีวิตหาก ภรรยาคนที่ 2 ไม่นำภาพนี้มาโพสต์ประจานเสียดสีในเฟซบุ๊กว่า สามีของเธอแต่งกับเด็ก 11 ขวบ ทั้งที่เด็กหญิงคนนี้คือเพื่อนเล่นรุ่นเดียวกันกับลูกชายของเธอ
  
          รอยเตอร์, บีบีซี, เดอะมิลเลอร์, สเตรทไทม์ ฯลฯ สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่นำเสนอข่าวน่าละอายพ่อเอาเพื่อนลูกวัยเพียง 11 ขวบมาเป็นภรรยาคนที่ 3 อย่างพร้อมเพรียงกัน โดยเฉพาะประเด็นที่นายการิมใช้วิธีหลีกเลี่ยงกฎหมายมาเลเซียที่ไม่อนุญาตให้แต่งงานเด็กต่ำกว่า 16 ปี มาแต่งงานในพื้นที่พิเศษ 4 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา เพื่อเอา ใบอนุญาตแต่งงานกับเด็ก อย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย พร้อมการรับรองจาก “โต๊ะอิหม่าม” หรือผู้นำศาสนาอิสลามประจำมัสยิดของไทยด้วย

 

"ใบอนุญาตแต่งเด็ก"...ช่องลับ 4 จังหวัดไทย

 

          สื่อมวลชนจากมาเลเซียรายงานว่า ชายคนนี้อ้างว่าตัวเองก็เป็น “อิหม่าม” เช่นกันในหมู่บ้าน เมืองกัวมูซัง รัฐกลันตัน มีลูกแล้วกับภรรยาทั้ง 2 คน จำนวน 6 คน อายุ 5–18 ปี หมายความว่าภรรยาคนที่ 3 ของเขาอายุน้อยกว่าลูกคนโต 7 ปี และเด็กคนนี้ไม่เคยเข้าโรงเรียนนายตำรวจใหญ่แห่งรัฐกลันตันของมาเลเซีย ยืนยันว่าการแต่งงานครั้งนี้ไม่ได้รับการอนุมัติจากศาลศาสนาถือเป็นการแต่งงานที่ผิดกฎหมายมาเลเซีย

          ในอดีตนั้นการอนุญาตให้แต่งงานในเด็กอายุน้อยๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชุมชนหลายแห่งทั่วโลก แต่ปัจจุบันกฎระเบียบเหล่านี้ถือเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะละเมิดสิทธิเด็กและสิทธมนุษยชนอย่างรุนแรง ทำให้เด็กต้องมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเด็กในอนาคต
  
          ปัจจุบันประเทศที่นับถืออิสลามเกือบทั่วโลกมีข้อกำหนดให้แต่งงานได้เมื่อผู้หญิงมีอายุ 16-18 ปีขึ้นไป ถ้ากรณีอายุน้อยกว่านั้นต้องส่งเรื่องให้ศาลหรือคณะกรรมการตัดสิน เหลือเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังออกใบอนุญาตแต่งงานกับเด็กได้อย่างถูกกฎหมายอย่างง่ายดาย เช่น ซาอุดีอาระเบีย และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล  หลังรับรู้เรื่องราวที่สื่อทั่วโลกประณามการแต่งงานกับเด็กเล็กที่ จ.นราธิวาส คนไทยส่วนใหญ่เกิดคำถามขึ้นในใจอย่างน้อย 2 ข้อ คือ
   
          ทำไมต้องแค่ 4 จังหวัดเท่านั้น? และการแต่งงานครั้งนี้ไม่ผิดกฎหมายไทยจริงหรือ?
 
          อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อธิบายให้ฟังว่า
 
          4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับสิทธิพิเศษตาม กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก หรือ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489" ทำให้คนในพื้นที่นี้สามารถแต่งงานหรือหย่าร้างกันได้ โดยไม่ต้องไปทำธุรกรรมจดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนหย่าในที่ว่าการอำเภอหรือจังหวัด ขอเพียงมีผู้นำศาสนาอิสลามในชุมชนหรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเห็นด้วยแล้วออกใบอนุญาตให้ก็พอ

 

"ใบอนุญาตแต่งเด็ก"...ช่องลับ 4 จังหวัดไทย

 

           "รวมถึงเรื่องการจดทะเบียนภรรยาคนที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 ด้วย หากเป็นคนนับถือมุสลิมแล้วอยู่ที่จังหวัดอื่นในประเทศไทยถ้าอยากจดทะเบียนภรรยาคนถัดไปต้องมาจดทะเบียนใน 4 จังหวัดภาคใต้นี้เท่านั้น แต่เรื่องแบบนี้ทำไม่ได้ที่มาเลเซียต้องให้ศาลสั่งอนุญาต โดยเฉพาะการขอแต่งงานกับเด็กเล็ก ตอนนี้พบคดีร้องเรียนมาหลายครั้งแล้วว่าชายมาเลย์หนีกฎหมายประเทศตัวเองมาแต่งงานกับหญิงไทยผ่านทางคณะกรรมการอิสลาม แล้วสักพักก็ขอหย่าไปแต่งกับเมียคนใหม่แทน ทำให้ชายแดนใต้มีสถิติการหย่าร้างสูง ตอนนี้คณะกรรมการสิทธิฯ พยายามรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง กฎหมายมาเลเซียห้ามไม่ให้แต่งงานกับเด็ก หรือกฎหมายในประเทศอื่นๆ ที่นับถือศาสนาอิสลามหรือศาสนาอื่นก็ห้าม เพราะถือว่าเด็กในวัยนี้ควรเป็นวัยเรียนรู้ได้ไปศึกษาเล่าเรียนมากกว่าจะต้องถูกจับแต่งงาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ"

          ยิ่งไปกว่านั้น “อังคณา” แสดงความเป็นห่วงว่า หากกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกของ 4 จังหวัดภาคใต้ แค่ระบุว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือนแล้วสามารถแต่งงานได้ ขอเพียงพ่อแม่จัดพิธีให้รับรู้ โดยไม่ได้ระบุอายุขั้นต่ำไว้ ทำให้ผู้ชายไทยและมาเลเซียที่อยากมีภรรยาเด็กถือเป็นช่องโหว่เข้ามาขอ “ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก” อย่างง่ายดาย เช่นกรณีผู้ชายจากมาเลเซีย ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือกฎหมายมาเลเซียไม่ยอมรับเด็กหญิงรายนี้ เมื่อย้ายไปอยู่มาเลเซียจะไม่ได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น หากสามีเสียชีวิตก็ไม่มีสิทธิในมรดกเหมือนภรรยาคนอื่น และไม่ได้รับความช่วยเหลือใด หรือสวัสดิการใดๆ ยิ่งถ้ามีลูกด้วยกันแล้วเด็กที่เกิดมาอาจมีปัญหาเช่นกันเพราะแม่ไม่ได้แต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายของมาเลเซีย
 
          สำหรับคำถามที่ 2 การแต่งงานกับเด็ก 11 ขวบไม่ผิดกฎหมายไทยจริงหรือ?
 
          “สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์” อดีตคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ยืนยันว่าผิดกฎหมายไทยอย่างแน่นอนและผิดหลายข้อหาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นชายไทยหรือชายชาติใดในโลกหากมีเพศสัมพันธ์กับเด็กต่ำกว่า 13-15 ปี ถือว่าผิดกฎหมายอาญาที่ระบุว่าห้ามกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี โทษไม่ว่าเด็กยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษหนักจำคุกหลายสิบปี

 

"ใบอนุญาตแต่งเด็ก"...ช่องลับ 4 จังหวัดไทย


 
          “หลายคนเข้าใจผิดว่ากฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก อนุญาตให้ทำได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วกฎหมายนี้ ยกเว้นให้ 4 จังหวัดไม่ต้องทำตามกฎหมายแพ่ง แต่ไม่ได้ยกเว้นกฎหมายอาญา กรณีของนายการิมมาละเมิดทางเพศจะแต่งงานกับเด็ก 11 ขวบ ตำรวจไทยต้องไปตามล่าจับกุมตัวเดี๋ยวนี้เพราะทำผิดกฎหมายไทยหลายข้อหา และประเทศมาเลเซียก็มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทยด้วย อยู่ที่ตำรวจไทยว่ากำลังละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่า”
  
          นายสรรพสิทธิ์กล่าวต่อว่า นายการิมนอกจากทำผิดกฎหมายอาญาที่มีโทษหนักแล้วยังถือเป็นคนทำทารุณกรรมเด็กเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ส่วนพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่อนุญาตหรือไปเป็นพยานให้เด็กแต่งงานก็ทำผิดกฎหมายนี้ด้วย เพราะถือว่าไม่ได้เลี้ยงดูลูกอย่างเหมาะสม ทำให้เด็กขาดโอกาสและอาจต้องตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ยิ่งไปกว่านั้นถ้ามีการรับสินสอดจากฝ่ายชายจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพราะส่งมอบเด็กให้แต่งงานกับผู้ชายคนนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กโดยมิชอบ
  
          ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ เปิดเผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่าปัญหา “ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก” เป็นประเด็นที่เครือข่ายพยายามเรียกร้องให้แก้ไขมานานแล้วเนื่องจากประเทศนับถือศาสนาอิสลามอื่นๆ ยกเลิกไปเกือบหมด แม้แต่มาเลเซียที่ประชากรเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดยังรับไม่ได้ สั่งยกเลิกไม่ให้ออกใบอนุญาตแต่งงานกับเด็กหากไม่ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจากศาล
 
          “ไม่มีใครอยากยุ่งกับเรื่องนี้ แม้รู้สึกสงสารเด็ก เพราะกลุ่มที่มีอำนาจในการอนุญาตให้แต่งงานกับเด็กเป็นกลุ่มคนมีอิทธิพลที่ชาวบ้านนับหน้าถือตา พวกเขาไม่สนใจเรื่องสิทธิเด็กหรอก แค่อ้างว่าเด็กอยู่ในชุมชน เป็นประเพณีวิถีชีวิตแบบชุมชนต่อเนื่องกันมานาน ต้องให้รัฐบาล คสช. หรือหน่วยงานรัฐ เข้าไปจัดการอย่างจริงจัง ช่วยให้พวกเขาปรับเปลี่ยนทัศนคติความคิดแบบนี้ให้ได้ เพราะถ้าเด็กแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยก็ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีความรู้ การเลี้ยงลูกเป็นไปแบบยากลำบากเพราะฐานะยากจน เมื่อมีลูกมากเพราะไม่ได้คุมกำเนิด สุดท้ายเลี้ยงไม่ไหว ต้องรีบให้แต่งงาน กลายเป็นว่ายกลูกสาวให้ไปแต่งงานตั้งแต่อายุน้อย วนเวียนเป็นปัญหาสังคมซ้ำไปซ้ำมา” ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายเอ็นจีโอกล่าวด้วยน้ำเสียงเศร้าสลด
  
          “ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก” ของพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ นอกจากกลายช่องโหว่ละเมิดสิทธิเด็กของผู้ใหญ่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแล้ว ยังเป็นต้นตอสำคัญของ “วัฏจักรความจนซ้ำซาก” ชุมชนหลายแห่งไม่สามารถพัฒนาไปได้เพราะผู้หญิงถูกกดทับไม่ได้เรียนหนังสือ ถูกล่อลวงให้แต่งงานตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อแต่งงานโดยสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมและไม่มีประสบการณ์ชีวิต ไม่มีการศึกษา สุดท้ายก็กลายเป็นแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงดูและปกป้องลูกได้อย่างเหมาะสม
 
          การแก้ปัญหาความรุนแรงใน "พื้นที่ชายแดนภาคใต้" ล้มเหลวในทุกรัฐบาล ถึงเวลาแล้วที่ "รัฐบาล คสช." ควรทบทวนสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะการเริ่มต้นแก้ปัญหาในครอบครัว
 
          อาจเป็นไปได้ว่า “ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก” คือหนึ่งในต้นตอสำคัญ ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวจนนำไปสู่การปัญหาสังคม การสร้างความรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบในประเทศไทย?
  
          ปัญหา “ใบอนุญาตแต่งงานเด็ก” ควรมีการศึกษาให้รอบคอบถึงผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะศึกษาเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นที่ไม่อนุญาตให้แต่งงานกับเด็ก!?!
 
          2558แก้ก.ม.เพิ่มโทษ “ละเมิดเด็ก”
          พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 23) พ.ศ.2558 แก้ไขกฎหมายอาญา “การกระทำความผิดในคดีกระทำชำเราเด็ก”
 "มาตรา 277
          -เด็กอายุยังไม่เกิน 15
          โทษจําคุกตั้งแต่ 4–20 ปี โทษปรับตั้งแต่ 80,000–400,000 บาท
          -เด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี
          โทษจําคุกตั้งแต่ 7–20 ปี โทษปรับตั้งแต่ 140,000–400,000 บาท
          หรือจําคุกตลอดชีวิต

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ