คอลัมนิสต์

สารพัดชะตากรรม "ไอ้เณร"ทหารเกณฑ์รับใช้ใคร?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สารพัดชะตากรรม "ไอ้เณร"ทหารเกณฑ์รับใช้ใคร? : รายงาน 

 

          แม้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะออกมาย้ำเมื่อวานนี้ (17 ก.ค.) ว่าในกองทัพไม่มีระบบ “พลทหารรับใช้” ซึ่งหมายถึงทหารเกณฑ์ที่ถูกส่งไปอยู่ตามบ้าน “นาย” หรือบ้านผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วย หรือของกองทัพก็ตาม / แต่ถ้าฟังดีๆ ก็จะพบว่ามีการนำทหารเกณฑ์ไปใช้งานตามบ้านนายจริงๆ แต่เป็นลักษณะ “ขอยืมตัว”

          แต่ข้อมูลที่ได้รับมาจากแหล่งข่าวในกองทัพยืนยันได้ว่ามีการจัดระบบ “พลทหารรับใช้” หรือที่เรียกภาษาทางการว่า “พลทหารประจำตัวผู้บังคับบัญชา” จริง ส่วนจะใช้คำว่า “ยืมตัว” หรือ “สมัครใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย” หรือ “สั่งให้ไปอยู่บ้านนาย” อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
          อย่างหน่วยทหารขนาดใหญ่หน่วยหนึ่งมีการพูดคุยเป็นวาระการประชุมอย่างเป็นทางการของผู้บังคับบัญชา กำหนดระเบียบการขอตัว “พลทหาร” ไปเป็น “พลทหารประจำตัวผู้บังคับบัญชา” สรุปได้ว่า นายทหารที่มีสิทธิ์ขอ “พลทหาร” ไปเป็น “พลทหารประจำตัว” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “พลทหารรับใช้” นั้น ต้องมียศ “พันโท” ขึ้นไป และยังมีการกำหนดจำนวน “พลทหารประจำตัวผู้บังคับบัญชา” เอาไว้ว่า หากเป็นนายทหารตั้งแต่ยศ “พลเอก” ลงมาถึง “พันโท” จะมี “พลทหารประจำตัว” ได้เพียง 1 คนเท่านั้น (แต่ถ้าเป็นนายทหารระดับ “จอมพล” ก็จะมี “พลทหารรับใช้” ได้มากกว่า 1 คน)
 

 

สารพัดชะตากรรม "ไอ้เณร"ทหารเกณฑ์รับใช้ใคร?


          แม้ระเบียบจะกำหนดเอาไว้แบบนี้ แต่ในทางปฏิบัติจริงกลับพบว่า มีการส่ง “พลทหาร” เวียนไปทำหน้าที่ “พลทหารประจำตัวผู้บังคับบัญชา” แบบไม่ให้ขาดตอน เช่น พลทหารคนหนึ่ง ถูกส่งไปอยู่บ้านนายคนหนึ่ง เมื่อถึง “ผลัดพัก” หรือ “วันหยุด” ของพลทหารคนนั้น ซึ่งตามระเบียบกำหนดว่า ทำงาน 30 วัน ได้พัก 10 วัน เมื่อพลทหารคนแรกกลับไปพัก ก็จะมีการส่ง “พลทหาร” อีกคนไปทำหน้าที่แทน ไม่มีขาดตอนแม้แต่วันเดียว ระบบแบบนี้จะเรียกว่าใช้ พลทหาร 1 คน ต่อนาย 1 คนหรือเปล่า เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา
 

          นอกจากนั้นการส่ง “พลทหาร” ไปช่วยงานที่บ้านผู้บังคับบัญชา ไม่ได้มีเฉพาะผู้บังคับบัญชาที่อยู่ในราชการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้บังคับบัญชาที่เกษียณอายุไปแล้วด้วย โดยเฉพาะกับหน่วยทหารที่เป็นหน่วยรบ หรือหน่วยที่มีวัฒนธรรมการดูแล “นาย” ไปจนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่รู้กันดีในหมู่ทหาร

          ฉะนั้นหากใครเคยไปเยี่ยมตามบ้านของอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว หรือนายทหารนอกราชการ ก็จะพบ “พลทหาร” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ไอ้เณร” ทำงานรับใช้อยู่ตามบ้านเหล่านั้น บ้านละ 1 คนบ้าง 2 คนบ้าง โดยพลทหารเหล่านี้ก็ทำหน้าที่ดูแลบ้าน ทำความสะอาด ล้างรถ ตัดต้นไม้ จ่ายตลาด ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ภารกิจของการเกณฑ์ทหาร หรือการรับใช้ชาติแต่อย่างใด แม้ตัวพลทหารคนนั้นๆ จะยินยอม ด้วยเหตุผลที่ว่าสบายกว่าอยู่กองร้อย ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องถูกหักเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง แต่ถ้าถามถึงความเหมาะสม สังคมก็น่าจะพิจารณาได้ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่

          เรื่องการ “ยืมตัว” พลทหารไปทำงานตามบ้านผู้บังคับบัญชายังไม่จบ เพราะไม่ใช่แค่ “บิ๊กทหารเกษียณแล้ว” หรือ “นายทหารนอกราชการ” เท่านั้นที่ได้สิทธิ์นี้ (ทั้งๆ ที่น่าจะไม่ควรได้) แต่ยังรวมไปถึงบุคคลที่ไม่ใช่ทหาร ก็ยังขอ “พลทหาร” ไปใช้งานได้ด้วยเช่นกัน

          ข้อมูลจากหน่วยทหารหน่วยหนึ่งระบุว่า มีพระวัดดังใน จ.นครปฐม ซึ่งเคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง จนมีเส้นสายคอนเนกชั่นในหมู่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ขอตัว “ทหารเกณฑ์” ไปช่วยทำงานที่วัด โดยขอมาทั้งหมด 60 นาย

          พระดังวัดนี้รู้จักสนิทสนมกับอดีตนายทหารระดับผู้นำกองทัพจึงมีการใช้อิทธิพลสั่งการให้หน่วยทหารหลายๆ หน่วย จัดกำลัง “ทหารเกณฑ์” หน่วยละ 10 นาย ส่งไปให้พระดังรูปนี้ใช้งาน รวมทั้งสิ้น 60 นาย โดยวัดที่ขอทหารเกณฑ์ไปทำงาน เป็นวัดขนาดใหญ่ มีเนื้อที่หลายร้อยไร่และมีสวนสมุนไพร พระดังจึงต้องการ “ทหารเกณฑ์” ไปทำงานในสวน ซึ่งเป็นงานที่หนัก

          หนำซ้ำพระชื่อดังรูปนี้ยังมีนิสัยเข้มงวด ควบคุมการทำงานของทหารเกณฑ์ด้วยตนเอง มีการสั่งลงโทษเวลาทำงานผิดพลาดบกพร่อง เหมือนกับการฝึกทหารจริงๆ บางรายถูกลงโทษไม่ให้กินข้าวก็มี สุดท้ายทหารเกณฑ์ที่ถูกส่งไปช่วยงานที่วัดหลายคน ร้องเรียนกลับมายังหน่วยต้นสังกัดเพื่อขอกลับไปอยู่กองร้อยเหมือนเดิม จนผู้บังคับหน่วยหลายๆ หน่วยไม่ยอมส่งทหารเกณฑ์ในสังกัดของตนไปทำงานที่วัดแห่งนี้อีก กระทั่งสุดท้ายทางวัดต้องจำยอมยกเลิกการขอใช้บริการทหารเกณฑ์

          นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำทหารเกณฑ์ไปใช้งานผิดประเภท นอกเหนือจาก 3 ภารกิจ 3 เงื่อนไขที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ชี้แจงเอาไว้ก่อนหน้านี้

          ขณะที่ความเห็นจาก พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ แห่งมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มองว่า การที่ทหารเกณฑ์ถูกเรียกไปใช้งานที่ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร ซ้ำยังเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา จริงๆ แล้วผู้บังคับบัญชาควรไปจ้างคนอื่นที่ไม่ใช่คนในราชการมาทำงานมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ชายไทยไปเกณฑ์ทหารเพื่อไปรับใช้ชาติ ต้องเสียสละเวลาทำงาน การศึกษา และเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัวไปทำงานเพื่อชาติ แต่กลับต้องโดนขูดรีดแรงงาน ฉะนั้นกองทัพต้องมีความเข้มงวด ไม่ใช่ปล่อยให้ทำจนกลายเป็นประเพณีแบบนี้

          จากข้อมูลทั้งหมดน่าจะเป็นประเด็นที่กองทัพและสังคมจะได้ร่วมกันพิจารณาว่า สรุปแล้ว...เป็นทหารเกณฑ์ได้อะไรมากกว่าที่คุณคิด...จริงหรือไม่?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ