คอลัมนิสต์

 "พลทหารเลี้ยงไก่" ไม่ใช่แค่เรื่อง "โชคดี" หรือ "โชคร้าย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พลทหารเลี้ยงไก่" ไม่ใช่แค่เรื่อง "โชคดี" หรือ "โชคร้าย" : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

 

          ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับสังคมไทยและสังคมทหารเมื่อมีข่าว “พลทหาร”  หรือที่หลายๆ คนเรียกกันติดปากว่า “ไอ้เณร” ถูกนายทหารยศใหญ่นำไปใช้งานที่บ้านในฐานะ “ทหารบริการ”  คอยรับใช้ทำงานแล้วแต่นายจะสั่ง ซึ่งที่เป็นข่าวออกมาแต่ละครั้งก็เพราะเกิดการโวยวายเรื่องใช้งานไม่เหมาะสม บางครั้งก็ถูกทำร้ายร่างกายจนสังคมต้องถามว่าทำอย่างนี้ได้หรือ

              เอาเข้าจริงเรื่องการนำทหารไป “รับใช้” ที่บ้านเป็นสิ่งที่รู้กันโดยทั่วกันว่ามีมานานแล้ว   และใครที่มีญาติพี่น้องที่เป็นทหารก็จะยิ่งรู้ดีว่า “พลทหาร” สามารถนำมาใช้เป็นแรงงานได้มากกว่าที่คิดและนานกว่าที่่คิด หลายครั้งที่มีการ “ขอแรง” พลทหารไปใช้ในภารกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ราชการ

          เมื่อเกิดเรื่องขึ้นหนึ่งทีก็มักจะมีชุด “คำอธิบาย” ที่จะมาบอกถึงความจำเป็นและข้อดีของการมีระบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนี่คือวัฒนธรรมทหารที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นการอยู่แบบพี่แบบน้อง แบบผู้ใหญ่ดูแลผู้น้อย ผู้น้อยดูแลผู้ใหญ่   เป็นความพยายามที่จะอธิบายว่านี่คือธรรมเนียมอันดีงาม

          มีบางคนไพล่บอกไปว่า การนำพลทหารมารับใช้ทำให้ผู้บังคับบัญชาได้ใกล้ชิดผู้ใต้บังคับบัญชา บ้างบอกว่าเป็นเรื่องสมัครใจที่หลายคนเต็มใจมาทำงานเช่นนี้เพราะสบายมากกว่าการต้องไปฝึกที่กองร้อย  ทำให้มองเป็นเรื่องสมประโยชน์มากไปกว่าเรื่องการบังคับ

          บ้างบอกว่า “พลทหาร” อยากมารับใช้ที่บ้านผู้ใหญ่เพราะต้องการใกล้ชิดและให้นายส่งเสริมให้ได้รับราชการทหารต่อไป
 
          นี่คือความพยายามอธิบายข้อดีของการ “รับใช้นาย”  และอธิบายซ้ำว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจน “ไอ้เณร” ต้องออกมาโวยก็เพราะเป็นความผิดพลาดของตัวบุคคลที่ตัวพลทหารเองอาจจะมีปัญหา หรือ “นาย” ใช้งานผิดประเภท ใช้งานหนัก ลงโทษแรง   พร้อมทั้งสำทับว่าหากได้ “นาย” ดีก็แสนจะสบายมีกินมีใช้ แค่ทำงานแลกเท่านั้น

          แต่เอาเข้าจริงทั้งหมดทั้งมวลกลับไม่สามารถตอบคำถามหลักได้เลยว่าเราเกณฑ์ทหารมาทำไม  เราเกณฑ์เขามา “รับราชการทหาร” เพื่อเป็น “ทหาร” อันทรงเกียรติ หรือมา “รัับราชการทหาร” เพื่อทำให้ผู้บังคับบัญชามีความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน

          หากบอกข้อดีเช่นการให้ผู้บังคับบัญชาได้ใกล้ชิดผู้ใต้บังคับบัญชา ก็มีช่วงอื่นอีกมาที่ผู้บังคับบัญชาสามารถมาคลุกคลีกับ “น้องๆ” ได้ โดยไม่ต้องเรียกไปที่บ้านเพื่อให้ “รับใช้” แลกความใกล้ชิด 

          แล้วในความเป็นจริงสำหรับความสัมพันธ์แนวดิ่งเชิงอำนาจนิยมอย่างที่สังคมทหารเป็นนั้น “ผู้น้อย” มีสิทธิเลือกได้หรือไม่ว่าจะ “ไป” หรือ “ไม่ไป”   เพราะทุกการไปหรือไม่ไปนั้นอาจจะส่งผลต่ออนาคตของเขาตลอดระยะเวลาที่ยังต้องเป็นทหาร  บางครั้งแม้จะไม่อยากก็อาจจำต้องฝืนอย่างน้อยก็เพื่อให้ตัวเองไม่ต้องทนรับสิ่งที่แย่หรือฝืนความรู้สึกไปกว่านี้

          ขณะที่คำอธิบายเรื่องการทำงานที่บ้านอาจจะสบายกว่าฝึกบนกองร้อย เรื่องนี้ก็ไม่มีอะไรรับประกัน แต่คำถามที่สำคัญคือเรา “เกณฑ์” เขามาฝึกเพื่อรับใช้ชาติยามที่มีอริราชศัตรูใช่หรือไม่  เพราะฉะนั้นการฝึกหนักจึงมิควรมีทางเลี่ยงด้วยการใช้แรงงานเข้าแลกเพื่อจะได้ไม่ต้องฝึก โดยมีใครบางคนรอเก็บตกผลประโยชน์จาก “แรงงาน” ที่อยากเลือกความสบายเช่นนี้ 

          การได้ประโยชน์เพราะนายอาจส่งเสริมให้ได้เป็นทหารยิ่งน่าสงสัยว่า ระบบการฝากฝังยังคงมีอยู่ในสายอาชีพนี้ และที่สำคัญการนำผลประโยชน์มาเป็นเหยื่อล่อให้ได้ใช้แรงงาน โดยไม่มีหลักประกันด้วยซ้ำว่า “นาย” จะส่งเสริมจริงหรือไม่

          เหล่านี้สะท้อนวัฒนธรรมอำนาจนิยมในระบบทหารได้เป็นอย่างดี 

          ชะตากรรมที่เขาต้องเจอนั้น ไม่ควรจะเป็นเรื่องที่เขาต้องเสี่ยงว่าจะ “โชคร้าย” เจอนายไม่ดี  หรือจะโชคดีเจอนาย “แสนดี”   เพราะเขาไม่ควรต้องมาทำหน้าที่เหล่านี้เสียด้วยซ้ำไป เพราะการเกณฑ์ทหารนั้นมิใช่การเกณฑ์มารับใช้ใครเป็นการส่วนตัว

          ส่วนเรื่องทางบ้านก็ควรเป็นเรื่องที่ทหารแต่ละนายจะต้องรับผิดชอบตัวเองเฉกเช่นผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นตามปกติ  เพราะคนอื่นหากภารกิจด้านการงานของเขารัดตัวจนไม่มีเวลามาดูแลงานบ้าน หรือภารกิจส่วนตัวก็จะใช้วิธีจ้างแรงงาน จ้างคนอื่นมาทำงานแทน นี่คือวิถีชีวิตปกติของคนทั่วไปที่สังคมทหารอาจต้องเรียนรู้ 

          นอกจากนี้ถ้าเปรียบเทียบกับคำพิพากษาศาลที่เคยออกมาว่า การใช้ทรัพยากรของรัฐในงานส่วนตัวก็ถือว่ามีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งกรณีเช่นนี้ “พลทหาร” ก็ถือเป็นทรัพยากรของรัฐเช่นกัน หากแต่เป็นทรัพยากรบุคคล

          ทั้งหมดทั้งมวลหากต้องการแก้ปัญหานี้จึงไม่ควรมาโทษที่ตัวบุคคลหรือมองเฉพาะเหตุการณ์ หากต้องมองทั้งระบบว่าเรากำลังเกณฑ์ทหารมาทำอะไรกันแน่   เมื่อตั้งหลักได้ถูกต้องเราก็จะได้คำตอบที่ชัดเจนและทางออกที่ยั่งยืนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ซ้ำไปซ้ำมา แต่ถ้าทำไม่ได้เรื่องเช่นนี้ก็จะเกิดวนไปวนมา และคนก็จะยิ่งมองภาพการ “เกณฑ์” ทหารไม่ต่างจากการเกณฑ์แรงงานในสมัยโบร่ำโบราณ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ