คอลัมนิสต์

สังคมร่วมเยียวยา "ทีมหมูป่า"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

         ข่าวคราวเด็กๆ จากทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี่” ที่เพิ่งได้รับการช่วยเหลือออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นข่าวที่สร้างความปีติยินดีแก่คนทั้งโลก ล่าสุดสื่อทั้งระดับชาติและนานาชาติรายงานข่าวว่าทีมหมูป่าทั้ง 12 คน และโค้ชเอก กำลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ท่ามกลางความห่วงใยและการจับตามองจากทั้งสื่อและสังคม

         ปรากฏการณ์ถ้ำหลวงทำให้เด็กๆ ธรรมดาทั้ง 12 คน กลายมาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ และน่าจะสร้างผลกระทบไม่น้อยต่อร่างกายและจิตใจของพวกเขา นับจากวันที่ได้รับการกู้ภัยและส่งกลับคืนสู่ชีวิตเดิมๆ ที่เคยดำเนินมา

          ต่อกรณีดังกล่าว ผศ.ดร.กุลยา พิสิษฐ์สังฆการ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาคลินิก และอาจารย์จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ผู้ประสบภัยรุนแรงในชีวิตอาจมีอาการความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เกิดขึ้น

          อาการดังกล่าวทำให้ร่างกายมีการตอบสนองอยู่ 2 แบบ อย่างแรกคือการ Fight หรือการต่อสู้เหมือนระแวงระวังภัย หวาดกลัวต้องตั้งการ์ด เกิดเป็นความลุกลี้ลุกลน เห็นอะไรก็กลัวไปก่อน ถ้าเห็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเตือนใจถึงภัยพิบัติที่ตนเองเคยประสบจะสะเทือนใจ กลัว เก็บไปฝัน

           แบบที่สองคือการ Fright หรือกลัวจัด ผู้ที่เคยประสบภัยจะหนีไป ไม่ใช่เฉพาะทางกาย แต่รวมถึงทางจิตใจ จะตัดการรับรู้ ตัดอารมณ์ ตัดการเมินเฉย

            “เข้าใจว่ามีหลายคนอยากซักถามน้องๆ ด้วยความหวังดี แต่เด็กมีความพร้อมไม่เท่ากันในการตอบคำถาม เราต้องขอพื้นที่ให้เด็กได้พร้อมที่จะถ่ายทอดข้อมูล ให้เขาประมวลสิ่งที่เกิดขึ้น ให้เขาได้คลี่คลายความรู้สึกก่อนว่าตามการรับรู้เรื่องราวของเขา เขาตีความว่าอย่างไร การถามเมื่อเด็กไม่พร้อม ก็เหมือนการเอาการตีความของเราไปใส่หัวเด็ก”

           อาจารย์กุลยาเน้นย้ำว่าต้องรอให้เด็กๆ พร้อมที่จะตอบคำถาม ซึ่งอาจต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแล การที่สื่อเอาแต่นำเสนอถามคำถามซ้ำๆ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์เสมือนเอาภาพที่เด็กๆ กลัวไปยื่นให้ดู เหมือนคนกลัวผีแล้วเอาแต่เล่าเรื่องผีให้ฟัง จะทำให้มีอาการแย่ลง เกร็งกลัว และอาจทำให้เกิดอาการ PTSD แบบที่สอง คือการเลี่ยงหนีได้

             ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา และอาจารย์จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าเหตุการณ์ถ้ำหลวงที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นคุณภาพจิตใจของคนที่มีความเมตตาและมีความเป็นห่วงคนที่เราไม่รู้จักและไม่เคยพบเห็น มีการร่วมมือร่วมแรงกัน เป็นสังคมแห่งความเมตตาที่เชื่อในพลังความดีของมนุษย์

          กระนั้น ก็มีบทเรียนที่ได้เรียนรู้ที่ควรจะมาปรับใช้ คือ แม้คนจำนวนมากในสังคมจะเป็นห่วงเด็กๆ และโค้ชที่ประสบเหตุ แต่ก็ควรรู้จักการละวาง ไม่เข้าไปยุ่งและก้าวก่าย โดยเฉพาะความอยากรู้ข้อมูลโดยเร็ว ควรปล่อยให้เด็กและโค้ชมีพื้นที่ที่จะปรับตัวกลับเข้าสู่สิ่งแวดล้อมเดิมๆ และมีความเป็นส่วนตัว สามารถได้ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่

          “เด็กๆ ไม่ใช่ดารานักร้อง เซเลบ ที่ต้องมาตอบคำถาม แม้ว่าเราเป็นห่วงแต่เราก็ควรส่งเสริมสิ่งที่เป็นพลัง ไม่ควรถามคำถามที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจซึ่งจะส่งผลระยะยาว และก่อนที่เราจะถามคำถาม ควรตั้งคำถามกับตัวเองเสียก่อนว่าเราถามเพื่ออะไร ถ้าถามเพราะอยากรู้ก็ไม่ควร แต่ถ้าถามเหมือนคุยธรรมดาในชีวิตประจำวัน ให้เขาได้กลับไปสู่อ้อมอกครอบครัวได้ก็ทำได้” อาจารย์ณัฐสุดากล่าว พร้อมเสริมว่า คนในสังคมควรปล่อยให้เด็กๆ ได้ใช้ชีวิตในความเป็นเด็กอย่างเต็มที่

         นอกจากนั้น ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กๆ ไม่ได้อยากเป็นอะไรมากไปกว่าการเป็นเด็ก และขณะนี้ไม่ควรเลือกคำตั้งชื่อเด็ก เช่น “เหยื่อ ฮีโร่ ผู้รอดชีวิต” ให้มองว่าเขาเป็นเด็กที่เพิ่งผ่านสถานการณ์รุนแรงมีผลกระทบมากมาย

         “เวลาที่เราเรียกคนอื่นโดยไม่ได้เรียกชื่อ เช่นเรียกด้วยคำพูดอื่น มันมีความหมาย เพราะคนเราอยากให้เรียกด้วยชื่อมากกว่า ลองนึกดูสิถ้าเราเรียกว่า คุณเสื้อเหลือง ยัยอ้วน ตาแว่น เรารู้สึกอย่างไร เช่นเดียวกับเด็กๆ เขาอยากเป็นตัวของเขาเอง ไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ ไม่อยากเป็นเหยื่อ ไม่อยากเป็นผู้รอดชีวิต เพราะมันจะย้ำให้เขานึกถึงสิ่งที่ผ่านมา คือความเจ็บปวด ความกลัว หรือความรู้สึกที่ไม่ได้อยากนึกถึง”

          อาจารย์พรรณระพีชี้ว่า สิ่งที่สื่อและสังคมกระทำได้และควรกระทำคือการให้พื้นที่ เหมือนเวลาคนเป็นลมอย่าเพิ่งไปมุง เพราะขณะนี้เด็กๆ กำลังอ่อนไหวและมีความบอบช้ำทางจิตใจ ต้องการการดูแลด้านจิตใจจากผู้เชี่ยวชาญด้วยกันก่อน เด็กๆ จะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพที่ดี

           “เด็กและโค้ชเพียงอยากได้ชีวิตของเขาคืนมา และสังคมก็ควรเคารพตรงนี้ด้วย” ผศ.ดร.พรรณระพีกล่าวทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ