คอลัมนิสต์

ตั้งวงวิพากษ์ "ไพรมารีโหวต"  หลักการดี แต่รูปแบบอ่อนปวกเปียก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตั้งวงวิพากษ์ "ไพรมารีโหวต"  หลักการดี แต่รูปแบบอ่อนปวกเปียก!  : รายงาน  โดย...   ขนิษฐา เทพจร


 
          ภายใต้ความไม่ชัดเจนในทางออกของปัญหาว่าด้วยเรื่อง "ไพรมารีโหวต" หรือ "การเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส." ที่เขียนไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จะมีทางคลี่คลายอย่างไร

          หลัง "ตัวแทนนักการเมือง" สะท้อนข้อกังวลถึงข้อติดขัด และเสนอว่าในการเลือกตั้งคราวแรก ควรงดเว้นการใช้กลไกดังกล่าวไปก่อน ผ่านการออกคำสั่งพิเศษภายใต้อำนาจของหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือควรใช้ทางเลือกอื่น คือปรับจากไพรมารีโหวตแบบจังหวัดไปเป็น "แบบภาค"
 
          วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง "การเลือกตั้งขั้นต้น : ทางออกการเลือกตั้งหรือทางตันประชาธิปไตย? โดยมีนักวิชาการ นักการเมือง ภาคประชาชนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวและจับตาเกี่ยวกับการเลือกตั้งร่วมสะท้อนในแง่มุมที่น่าสนใจ 

 

ตั้งวงวิพากษ์ "ไพรมารีโหวต"  หลักการดี แต่รูปแบบอ่อนปวกเปียก

 

          โดย "ไชยยันต์ ไชยพร" นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ถึงจุดเปลี่ยนการเมืองไทยภายใต้บทบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำไพรมารีโหวต เพื่อหาตัวแทนที่จะไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ว่าประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมพัฒนาการเมืองไทย ภายใต้กลไกไพรมารีโหวต ต้องไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค เพื่อได้รับสิทธิโหวต แต่คำถามใหญ่คือ การประกาศตัวชัดเจนว่าสังกัดพรรคการเมืองใด จะกลายเป็นปัญหาหรือผลกระทบต่ออาชีพหรือหน้าที่ หรือการเคลื่อนไหวด้านประชาสังคมในพื้นที่หรือไม่
 
          เพราะกติกาบางอย่าง เช่น การสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม หรือข้าราชการ มีข้อบังคับสำหรับคุณสมบัติผู้สมัคร คือไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง ​ดังนั้นเมื่อเปิดหน้าแสดงตนว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดอาจถูกมองว่า “ไม่เป็นกลางทางการเมือง” และทำให้เสียสิทธิหรือเสียประโยชน์ต่อการสมัคร หรือส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือไม่!! รวมถึงแรงเสียดทานอื่นๆ อีกด้วย

 

 

 

ตั้งวงวิพากษ์ "ไพรมารีโหวต"  หลักการดี แต่รูปแบบอ่อนปวกเปียก

 

          "หากผมเป็นตำรวจยศนายดาบ ไปสมัครเป็นสมาชิกประชาธิปัตย์ แต่สารวัตรสมัครพรรคเพื่อไทย ส่วนผู้กำกับสมัครพรรคประชารัฐ ถามว่าจะมองหน้ากันติดหรือพูดคุยอย่างสนิทใจหรือไม่ หรืออีกตัวอย่างผมเป็นอาจารย์รัฐศาสตร์ ให้ความเห็นทางการเมือง หากเปิดหน้าว่าอยู่กับพรรคไหน คนที่ตามอ่านงานวิชาการ หรือฟังสิ่งที่ผมพูด อาจไม่เชื่อ แล้วสิ่งนี้จะกระทบต่ออาชีพได้​ ดังนั้นเมื่อกฎหมายเริ่มใช้ สมมุติฐานแรกคือ ไม่มีข้าราชการส่วนไหนไปสมัครเพื่อใช้สิทธิไพรมารีโหวต เพราะกังวลว่าจะได้รับผลกระทบหากเลือกสมัครผิดพรรค" 
 
          แต่ภายใต้การเกิดขึ้นของ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ หรือ พรรคประชารัฐ ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นของ “คสช.” ทำให้ "อ.ไชยยันต์" มองมุมที่เทียบเคียงประวัติศาสตร์ช่วง 2475-2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ที่พบการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎร และมีข้าราชการ ทหาร ตำรวจ สมัครเป็นสมาชิกจำนวนมาก เพราะหวังต่อรองประโยชน์ที่เขาจะได้ 

 

ตั้งวงวิพากษ์ "ไพรมารีโหวต"  หลักการดี แต่รูปแบบอ่อนปวกเปียก

 

          "หากมีคนเชื่อว่า 2 พรรคนั้นจะกลับมาจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน และคนของพรรคจะได้เป็นนายกฯ จะมีข้าราชการจำนวนไม่น้อยอาจเป็นระดับอธิบดีถูกเกณฑ์ไปเป็นสมาชิกพรรค และเปิดหน้าแสดงตัวชัดเจนเพื่อทำให้เห็นว่าเขาคือฝ่ายสนับสนุน" อ.ไชยยันต์ เปิดมุมมอง
 
          ขณะที่ "สมชัย ศรีสุทธิยากร" อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะนักสังเกตการทางการเมือง ตั้งคำถามไปยังผู้ เสนอให้มีและใช้ไพรมารีโหวต ว่าเป็นการใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหา ที่มีคนเพียงคนเดียวสามารถตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส.ได้ หรือเป็นการเขลาปัญหา เพราะอคติ คิดกลไกเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

          "ผมไม่เห็นประโยชน์กับกลไกไพรมารีโหวตที่เขียนไว้ในพ.ร.ป.พรรคการเมือง ทั้งบทหลักและบทเฉพาะกาลที่ใช้เกณฑ์สมาชิกพรรคที่มาออกเสียงขั้นต่ำเพียง 50 คน สามารถโหวตเลือกผู้สมัครส.ส.ได้ทุกเขตเลือกตั้ง นี่คือพิธีกรรม เขาเขียนไพรมารีโหวตเพื่อให้ดูเหมือนมีอารยะ เหมือนคนที่เจริญแล้ว แต่กระบวนการที่ให้ใช้เสียงขั้นต่ำ 50 คนนั้นอ่อนปวกเปียก และหากจะเปลี่ยนเป็นไพรมารีระบบภาคผมมองว่าคือการหลอกลวง" 
  

 

ตั้งวงวิพากษ์ "ไพรมารีโหวต"  หลักการดี แต่รูปแบบอ่อนปวกเปียก


          นอกจากนี้ในมุมมองของ "นักสังเกตการณ์ทางการเมือง" ระบุว่าหากต้องการคงหลักการให้เกิดกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมเลือกผู้สมัครส.ส.ไม่ควรยกเลิก หรือถอย หรือลดทอนรูปแบบการบังคับใช้ “ไพรมารีโหวต” เพราะในคราวแรกต้องถูกใช้เพื่อเรียนรู้ปัญหา และนำข้อผิดพลาดไปปรับปรุง
  
          "ที่ว่าจะปรับไพรมารีโหวตไปเป็นแบบภาค หากข้อเสนอให้ถอยนั้น มาจากรัฐบาล​, กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) หรือ สนช. ตนมองว่าเป็นภาวะที่ขาดวุฒิภาวะ ทำเหมือนประเทศเป็นของเด็กเล่น อยากคิด อยากเขียนกฎหมายโดยไม่ตกผลึกตั้งแต่เริ่มต้น หรืออยากแก้กฎหมายทั้งที่ยังไม่ทันบังคับใช้ อย่าทำประเทศเป็นของเล่น"
  
          ตัวแทนนักการเมือง "นิกร จำนง" ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ชี้ว่า ระบบ ที่ถูกออกแบบไว้ตามกฎหมาย และ การจัดการ ว่าด้วยขั้นตอนการเลือกมีปัญหาทำให้ความคาดหวังที่จะพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย จากล่าง หมายถึงประชาชน สู่บน หมายถึง นักการเมือง สวนทาง และทำให้ไพรมารีโหวตแบบไทยที่ถูกออกแบบไว้​ ​"เสียของ" 
 
          “ไพรมารีโหวตแม้หลักการจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ในทางปฏิบัติที่เขียนหลักการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเป็นไปได้ยาก เพราะมีความขัดข้องทางกฎหมาย ที่เริ่มจากคำสั่งคสช.​ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องฟังเสียงจากนักการเมืองและประชาชนทำไม่ได้ และเกิดผลกระทบต่อการหาสมาชิกพรรคการเมืองที่ผูกโยงกับการไพรมารีโหวตที่กำหนดให้ใช้จำนวนสมาชิกร่วมโหวตเพื่อหาผู้แทนลงเลือกตั้ง”
 
          “ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา” กล่าวด้วยว่า ทางปฏิบัติของไพรมารีโหวต ไม่ใช่ให้ประชาชนเลือกตัวแทนลงเลือกตั้ง เพราะข้อเท็จจริงคือ ผู้ที่ต้องการเป็นตัวแทนไปลงเลือกตั้ง ส.ส.ในจังหวัดใด ต้องไปหาสมาชิกอย่างน้อย 100 คนเพื่อมาสนับสนุน หรือโหวตตนเองในขั้นตอนของไพรมารีโหวต และสิ่งที่จะกลายเป็นปัญหาถึงขั้นฟ้องร้องกัน คือ การจัดทำไพรมารีโหวตจังหวัดที่มีสิทธิเลือกผู้สมัครได้ทุกเขตเลือกตั้ง อาจมีปัญหาว่าคนที่ถูกเลือกจากเขต 1 อาจไม่ใช่คนที่สมาชิกในเขต 8 ต้องการ นอกจากนั้นปัญหาที่สำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายที่พรรคการเมืองต้องรับภาระ
  
          ทั้งนี้ “นิกร” สรุปตอนท้ายว่ายังสนับสนุนให้มีไพรมารีโหวต แต่ควรผ่อนคลายกติกา หรือใช้อำนาจพิเศษเพื่อแก้กฎหมายที่สร้างปัญหา
 
          ขณะที่ "ยุทธพร อิสรชัย" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่าไพรมารีโหวตไม่ใช่ทางออก หรือเป็นทางตัน สำหรับกระบวนการ ประชาธิปไตย และไพรมารีโหวตที่เขียนไว้ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นเพียงเทคนิคทางการเมืองเท่านั้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้น ตนสนับสนุนให้ขยายพื้นที่ คือ ทำไพรมารีโหวตระดับภาค หรือขยายเวลาบังคับใช้
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ