คอลัมนิสต์

เปลี่ยนรูปแบบ "ไพรมารีโหวต" ตอบโจทย์ "ใคร" ??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปลี่ยนรูปแบบ "ไพรมารีโหวต" ตอบโจทย์ "ใคร" ?? : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  ขนิษฐา เทพจร 

 
          เป็นประเด็นการเมืองที่รอลุ้นถึงทางออกว่าจะออกมาทรงไหน กับการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ของพรรคการเมือง หรือ ไพรมารีโหวต ตามโมเดลที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หมวดว่าด้วยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และมีจุดผ่อนปรนในบทเฉพาะกาล มาตรา 145 กำหนดไว้

          หลังจากที่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ปิดห้องประชุมสโมสรกองทัพบก รับฟังข้อเสนอและทางออกแห่งปัญหาที่ “พรรคการเมือง” ต้องเผชิญระหว่างทางที่มุ่งไปสู่การเลือกตั้งต้นปี 2562
 
          ไพรมารีโหวต คือปมปัญหาที่สองรองจากการขอให้ “คสช.” ผ่อนปรนคำสั่งที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ในชั้นนี้สิ่งที่ “นักการเมือง” ลุ้นและตั้งตารอคอย คือปัญหาไพรมารีโหวต จะออกมาแนวไหน
 
          หลังจากที่ถูกเสนอไป 3 ทางเลือก คือ 1.ยกเลิกการใช้ไพรมารีโหวต โดยถาวร 2.เว้นวรรคการใช้ไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งคราวแรก และ 3.ปรับรูปแบบจากไพรมารีโหวตรายจังหวัด ไปเป็นแบบรายภาค
 
          แต่พอเวลาผ่านไปเกือบเดือน ข้อเสนอเริ่มตกผลึก ล่าสุด “วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ ยอมรับว่ามี 4 แนวทางที่เตรียมเสนอให้ คสช.พิจารณา คือ 3 ทางเลือกขั้นต้น และเพิ่มอีกแนวทาง คือ การใช้ระบบหรือกลไกอื่นที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 กำหนด
  
          เบื้องต้นในทางเลือกของแนวทางทั้ง 4 คือ การออกคำสั่ง คสช. เพื่อแก้กฎหมาย คลายปมปัญหา แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย หากจะออกคำสั่งทางกฎหมาย เพื่อแก้ไขกฎหมาย เพราะเรื่องไพรมารีโหวต มีรายละเอียดที่พึงพิจารณาให้รอบคอบหากจะทำให้เป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์ รัฐธรรมนูญ มาตรา 45

          งานนี้ “อุดม รัฐอมฤต" กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มองว่าขั้นตอนทำไพรมารีที่เขียนไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองเป็นเดดล็อกสำคัญทั้งเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคที่ต้องมาประชุมและลงมติเลือกผู้สมัคร ส.ส. และเขตเลือกตั้ง
 
          แม้ว่าบทเฉพาะกาลในพ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 145 จะผ่อนคลายให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกสามารถใช้ไพรมารีโหวตระดับจังหวัด แทนระดับเขตเลือกตั้ง หากพรรคการเมืองได้จัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไว้แล้วในจังหวัดใดให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ในทุกเขตจังหวัดนั้น
 
          แต่ขั้นตอนประชุมเพื่อส่งผู้สมัครตามบทหลักถูกล็อกไว้ที่จำนวนสมาชิก โดยหากใช้องค์ประกอบของ “สาขาพรรค” สมาชิกต้องมาประชุมขั้นต่ำ 100 คน ขณะที่ “ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด” ต้องมีสมาชิกประชุมขั้นต่ำ 50 คน
  
          และเมื่อผ่อนปรนให้ใช้การประชุมระดับจังหวัดเพื่อส่งผู้สมัครได้ทุกเขตอย่างที่บทเฉพาะกาล มาตรา 145 กำหนด ยังต้องนำบรรทัดฐานเรื่องสมาชิกที่มาประชุมต้องนำมาเป็นเกณฑ์พิจารณา เพื่อให้ขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย
 
          ดังนั้นเมื่อมีแนวคิดจะใช้ ไพรมารีโหวตแบบภาค “อุดม” มองว่ายังจำเป็นต้องใช้เกณฑ์สมาชิกเป็นฐานเช่นกัน แต่ที่จะเป็นปัญหาซ้อนปัญหาคือ กรณีที่พรรคการเมืองไม่มีฐานสมาชิกในจังหวัดนั้น หรือมี แต่จำนวนไม่ถึงเกณฑ์กำหนด “โหวตเตอร์ของจังหวัด” จะมีสิทธิ์ออกเสียงหรือร่วมกระบวนการหรือไม่
  
          ตามประเด็นนี้ “มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานกรธ. เห็นพ้องด้วยว่าหากปรับไพรมารีโหวตเป็นระบบภาค แต่เกิดกรณีที่พรรคการเมืองไม่มีฐานสมาชิกในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หากยึดตามเจตนาของกฎหมายจะไม่สามารถให้สมาชิกพรรคที่อยู่ในอีกจังหวัดมาโหวตผู้ลงเลือกตั้ง ส.ส. ที่ไม่ใช่พื้นที่ของตัวเองได้ เพราะหากทำได้เท่ากับได้ยกอำนาจให้แก่บุคคลอื่นเลือกผู้แทนของพื้นที่ตัวเอง
   
          หากเป็นเช่นนั้นอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่หลังผ่านเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส.อาจถูกร้องเรียนว่าไม่ใช่ผู้ผ่านกระบวนการไพรมารีโหวตที่แท้จริง!

          แต่กระบวนการแก้กฎหมายที่อาจจะเกิดขึ้นวันหน้าอาจเขียนช่องทางเพื่อไม่ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน แต่ปัญหาใหญ่ที่ต้องถูกตั้งคำถาม คือ เจตนารมณ์ที่ต้องการให้ประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปการเมือง จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่!! และใครจะรู้ได้ว่าประเด็นนี้จะไม่ถูกยกเป็นโจทย์ที่สร้างปัญหาทางการเมืองตามมาภายหลัง

          ขณะที่ผู้ผลักดันไพรมารีโหวต อย่าง “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” สนช. ต่อประเด็นถกเถียงเรื่องจะเลิก จะผ่อนปรน หรือหาแนวใหม่ เพื่อแก้ปัญหไพรมารีโหวตนั้น เขายืนยันในประเด็นเดียว คือ “ไพรมารีโหวต” ต้องมีต่อไป โดยยึดหลักการและขั้นตอนที่เขียนไว้ พ.ร.ป. พรรคการเมืองและไม่เห็นด้วยที่จะปรับไปใช้ไพรมารีโหวตแบบภาค หรือยกเลิกไปทั้งหมด
  
          "หากใช้ไพรมารีแบบภาคแทนไพรมารีโหวตแบบจังหวัดจะถูกมองว่า นี่คือการลดทอนการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค เพราะไม่รู้ว่าเกณฑ์คนเข้าร่วมประชุมเพื่อเลือกผู้สมัครส.ส. ของพรรคนั้นจะใช้เกณฑ์มากน้อยแค่ไหน"

          ขณะที่โจทย์ของการเซตให้มี “ไพรมารีโหวต” ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น “พล.อ.สมเจตน์” บอกว่า นี่คือกลไกที่จะปฏิรูปการเมืองและตรงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่เขียนให้สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. โดยบทหลักกำหนดไว้ว่า ให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตทุกเขตเลือกตั้งและในเขตเลือกตั้งนั้นต้องมีสมาชิกพรรคสังกัดอยู่ด้วย โดยแบ่งเป็นจังหวัดใดที่เป็นที่ตั้งของสาขาพรรค ที่องค์ประกอบต้องมีสมาชิกจำนวน 500 คนขึ้นไป ต้องมีผู้ร่วมประชุมอย่างน้อย 100 คนและจังหวัดใดที่ไม่มีสาขา ให้ตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัด โดยตัวแทนพรรคนั้นต้องมีสมาชิก 100 คนขึ้นไป ส่วนองค์ประชุมที่จะใช้เพื่อโหวตเลือกผู้สมัคร ส.ส คือ 50 คน
 
          แต่ในคราวแรกของการเลือกตั้งทั่วไปหลักเกณฑ์ดังกล่าวถูกผ่อนปรนลงมาคือ พรรคใดที่มีสาขาหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจะได้สิทธิ์ส่งผู้สมัครทุกเขตเลือกตั้ง
  
          เหตุผลที่ผ่อนปรนให้เพราะเข้าใจว่าไพรมารีโหวต คราแรกอาจทำให้พรรคการเมืองเกิดความยุ่งยาก โดยเฉพาะการหาสมาชิกพรรคที่ครบตามกติกากำหนด แต่เนื่องด้วยคสช.ยังคงประกาศห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว จึงเป็นประเด็นใหญ่ที่ผูกโยงกับการหาสมาชิกพรรค
  
          ท้ายสุดแล้วมาตรการผ่อนปรนที่เขียนไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองก็ไม่เพียงพอ เพราะนักการเมืองยังเรียกร้องให้ “หย่อนมากกว่านี้”
 บทสรุปของจุดนี้ฐานะผู้หวังดีที่ต้องการปฏิรูปการเมืองด้วยระบบไพรมารีโหวต คือ เจตนาของนักการเมืองที่ไม่ต้องการปฏิรูปตัวเอง ไม่ยอมถ่ายอำนาจไปให้สมาชิกพรรค ซึ่งขัดกับหลักการปฏิรูปการเมือง
 
          แต่บทลงเอยของเรื่องนี้จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าไม่ว่าจะออกมารูปแบบไหนคงหาจุดลงตัวที่ทุกฝ่ายพอใจได้ยาก เพราะการเมือง คือ เรื่องของเกมชิงอำนาจ หากผู้มีอำนาจปัจจุบันยังคงอยากกุมอำนาจ ทางที่ออกมาคงเข้าอีหรอบที่ว่า ต้องเป็นฝ่ายกำชัยเท่านั้น
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ