คอลัมนิสต์

บทเรียน "ถ้ำหลวง"สังคมเปลี่ยน "สื่อ" ต้องปรับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทเรียน "ถ้ำหลวง"สังคมเปลี่ยน "สื่อ" ต้องปรับ : รายงาน  โดย... ขนิษฐา เทพจร

 
 
          หลังเหตุการณ์ช่วยชีวิต กู้วิกฤติเด็กติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประสบความสำเร็จ ทั้ง 13 ชีวิตที่ประสบภัยถูกช่วยชีวิต ได้สำเร็จและปลอดภัย

          แต่ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์​ กว่า 2 สัปดาห์ มีปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซัดกระหน่ำมายัง “คนข่าว” ต่อเสียงวิจารณ์ ออกทำนองไม่ชอบใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม เพราะหลายกรณีถูกมองว่า "ขัดขวางการปฏิบัติงาน" สร้างอุปสรรคต่อการช่วยเหลือเด็ก ที่สังคมคาดหวังว่าต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงบางกรณี พบการนำเสนอเนื้อหามุ่งประเด็นดราม่า มากกว่าการรายงานข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวที่เป็นคนให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ​

 

บทเรียน "ถ้ำหลวง"สังคมเปลี่ยน "สื่อ" ต้องปรับ

 

          ทำให้ เครือข่ายองค์กรสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ต้องตั้งวง "ถอดบทเรียนการทำข่าวถ้ำหลวง" เพื่อกู้วิกฤติคนทำข่าว และวางบรรทัดฐานการทำหน้าที่ "สื่อมวลชนมืออาชีพ" ในสถานการณ์วิกฤติ

          กับปรากฏการณ์ที่ “สื่อมวลชน” ถูกสังคมตำหนิการทำหน้าที่ ถูกถอดรหัสพฤติกรรม-จุดอ่อนของ “นักข่าวหน้าถ้ำ” โดย "สุภิญญา กลางณรงค์" ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ชี้ให้เห็นปมที่กลายเป็นข้อตำหนิ​ "สื่อมวลชน" เพราะการทำงานที่ล้ำเส้น ทำเกินกติกา และไม่เคารพกรอบกฎหมายที่บังคับใช้ในพื้นที่ภัยพิบัติ รวมถึงพบการละเมิดจริยธรรม จรรยาบรรณของนักข่าว และขาดความเป็นมืออาชีพที่ให้ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทำให้เกิดมุมมองเปรียบเทียบกับสื่อมวลชนต่างชาติ ในเรื่องรายงานข้อเท็จจริง

 

 

บทเรียน "ถ้ำหลวง"สังคมเปลี่ยน "สื่อ" ต้องปรับ

 

          ซึ่งทั้งหมดนั้น เกิดจากความคาดหวังของ "ประชาชน" ที่ต้องการให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเคารพสิทธิเด็ก สิทธิผู้ป่วย 

          "พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เขาต้องการรู้ข้อมูล ข่าวสารที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ปัจจุบันคนดูมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการรับรู้ข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้สื่อหลักต้องปรับตัว และทบทวนการนำเสนอข้อมูล ยอมรับว่าสถานการณ์ถ้ำหลวง ข้อมูลที่ถูกส่งผ่านทวิตเตอร์เป็นที่นิยมอย่างมาก ดังนั้น หนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ต้องทบทวนตัวเอง เพื่อให้การนำเสนอข้อเท็จจริงมีรายละเอียดที่มากกว่าสื่อออนไลน์ เพราะหนังสือพิมพ์นั้นถูกคาดหวังมาก"​ สุภิญญา เสนอแนะ

          ขณะที่สิ่งที่สังคมตำหนิการแสวงหาข้อมูลของสื่อมวลชน ที่บางกรณีพบวิธีการที่ล้ำเส้น และไม่อยู่ภายใต้กรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ “สุภิญญา” ระบุว่า จำเป็นต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน เช่น สื่อโทรทัศน์ ควรให้ กสทช.ประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐ และแจ้งไปยังนักข่าวเพื่อให้ปฏิบัติงานเป็นไปตามกรอบกติกา ขณะที่การทำงานที่ไม่เป็นไปไปตามกรอบจรรยาบรรณ กลายเป็นคำถามว่า สื่อกำกับตนเองอย่างเป็นรูปธรรมจริงหรือไม่ โดยหลังจากนี้ควรสรุปบทเรียน ให้เป็นรูปธรรมและหาทางแก้ไข

 

บทเรียน "ถ้ำหลวง"สังคมเปลี่ยน "สื่อ" ต้องปรับ

 

          "สังคมไม่ต้องการรับข้อมูลที่เร็วเสมอไป หากข้อมูลนั้นไม่ถูกต้อง ไม่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนั้นสิ่งที่ให้บทเรียนสำคัญกับสื่อมวลชน คือ ความอยากรู้อยากเห็นมีความสำคัญน้อยกว่าความปลอดภัยของแหล่งข่าว การได้รับความเคารพสิทธิของบุคคลที่ตกเป็นข่าว ทั้งนี้ยอมรับว่าสื่อมวลชนปัจจุบันมุ่งแข่งขันเพื่อสร้างเรตติ้ง แต่ในสังคมปัจจุบันที่สังคมมีความละเอียดอ่อนต่อการทำงานที่มีคุณภาพ ทำงานภายใต้กรอบกติกา ไม่ละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ทำให้สื่อมวลชนถูกจับตาเป็นพิเศษ และสังคมพร้อมจะวิจารณ์ทันทีเมื่อสื่อมวลชนทำผิดพลาด" 

          ​ทั้งนี้ “สุภิญญา” เสนอแนะต่อการปรับมาตรฐานการทำงานของสื่อมวลชนว่า ต้องเริ่มจากนายทุน หรือผู้อยู่ระดับนโยบาย ที่หวังแต่ผลกำไร ต้องมีสำนึกรับผิดชอบด้วย หากใครก็ตามที่เรียกร้องให้นักข่าวทำงานได้ดีขึ้น “นายทุน” หรือระดับนโยบาย ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี และความน่าเชื่อถือ เน้นการฝึกอบรม และการเพิ่มสวัสดิการให้แก่นักข่าว ขณะที่กองบรรณาธิการ ต้องมีส่วนเติมเต็มการทำงานภาคสนาม ทั้งการให้ข้อมูลเชิงลึก ข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ มากกว่าการสื่อข้อมูลที่นักข่าวได้มาจากการตั้งคำถามถึงความรู้สึก
  

 

บทเรียน "ถ้ำหลวง"สังคมเปลี่ยน "สื่อ" ต้องปรับ


          ขณะที่ วรัชญ์ ครุจิต นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ วิเคราะห์ถึงการทำงานของสื่อมวลชนกับเหตุการณ์ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ว่า การทำงานของสื่อมวลชน มีสิ่งที่ต้องชื่นชม คือมีความทุ่มเท เสียสละ พยายามเข้าพื้นที่, รายงานข้อมูลด้วยความรวดเร็ว ช่วยตรวจสอบข่าว, ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เมื่อได้รับการร้องขอ, เป็นที่พึ่งของประชาชน, นำเสนอมุมสร้างสรรค์ เชิงบวก สร้างกระแสรวมกำลังใจของคนทั่วประเทศ ขยายความร่วมมือและความช่วยเหลือจากทั่วโลก แต่ภายใต้คำชมนั้น ยังมีสิ่งที่ขาด ซึ่ง "อ.วรัชญ์" ชี้ไปตรงจุด ว่า "ขาดความเข้าใจต่อความเปลี่ยนแปลงและความต้องการรับรู้ข่าวสารของผู้บริโภคข่าวสารในภาวะวิกฤติ" แม้ประชาชนต้องการรู้ข่าวสารรวดเร็ว แต่ต้องถูกต้องและไม่ละเมิดสิทธิของเยาวชน เพราะประชาชนอ่อนไหวต่อประเด็นทางจริยธรรมสูง ทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่สื่อมวลชนถูกจับผิด​ ดังนั้นในสถานการณ์วิกฤตินั้น การรายงานข้อมูลที่ความรวดเร็ว ยังสำคัญน้อยกว่าความถูกต้อง ที่เป็นคุณสมบัติอันสำคัญของสื่อมวลชนด้านความน่าเชื่อถือ, "ขาดความใส่ใจ และยึดหลักจริยธรรม", "ขาดความสร้างสรรค์ในการรายงานข่าว" โดยเฉพาะขาดการทำข่าวเชิงรุก ทำให้มีผู้นำไปล้อเลียนว่านักข่าวทำข่าวตามหลังรถพยาบาล และตามหลังเฮลิคอปเตอร์, "ขาดการยอมรับผิดและยอมรับการลงโทษ" และ "ขาดการกำกับกันเองของสื่อมวลชน​"

 

บทเรียน "ถ้ำหลวง"สังคมเปลี่ยน "สื่อ" ต้องปรับ

 

          ตามสาระสำคัญที่ “นักวิชาการ” ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของสื่อมวลชนและกลายเป็นคำตำหนิสื่อมวลชนโดยรวม ดูเหมือนพุ่งเป้าไปที่ “สื่อออนไลน์” ที่ชิงความเร็วให้เต็ม 100 สปีด แต่เมื่อดูเชิงลึกแล้วมีความผิดพลาดที่แฝงในความรวดเร็วนั้นด้วย

          งานนี้ "นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์" ยอมรับถึงการสื่อข่าวออนไลน์ ทั้งข่าว และภาพ รวมถึงข้อมูล จากปรากฏการณ์ถ้ำหลวง พบข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเกิดขึ้นจำนวนมาก ทำให้ถึงเวลาที่ต้องร่วมถอดบทเรียนและวางกติกาที่เกี่ยวกับการจัดการรูปแบบการทำงาน ทั้งสื่อกระแสหลักที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องเช็กข้อมูล รวมถึงสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่ข้อมูล

          "ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ มี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ส่งนักข่าวลงพื้นที่ทำงาน หาข่าว และรูปแบบที่นั่งมอนิเตอร์ ซึ่งไม่ทราบว่าการนั่งมอนิเตอร์นั้นจะมีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนหรือไม่ ดังนั้นในรูปแบบมอนิเตอร์ข่าว เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดที่ถูกส่งต่อความผิดพลาดไปเรื่อยๆ ต้องตรวจสอบข้อมูล" อุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ระบุ

          ขณะที่การทำข่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ ตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส "ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์" ผู้อำนวยการสำนักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมถอดบทเรียนโดยชี้ให้เห็นถึงความคาดหวังของ “ประชาชน” กับ “บทบาทสื่อมวลชน” นั้นเปลี่ยนไป

          “ก่อนหน้านี้สื่อถูกคาดหวังว่า ต้องรู้ข้อมูลที่ดี ลึก ครอบคลุม และเร็วที่สุด แต่รอบนี้ไม่ใช่ เพราะประชาชนเขาตั้งความหวังไว้ว่า จะรู้ข่าวดี เห็นความสำเร็จ และเยาวชนที่ติดในถ้ำสามารถออกมาได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นอะไรก็ตามที่ไปรบกวนความคาดหวังนั้น ย่อมถูกต่อต้าน”

 

บทเรียน "ถ้ำหลวง"สังคมเปลี่ยน "สื่อ" ต้องปรับ

 

          ขณะที่การแสวงหาข้อมูลและถ่ายทอดข้อมูล หรือภาพของสื่อมวลชน “ก่อเขต” ยอมรับว่าบางกรณีขาดความใส่ใจ และไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา เช่น การทำข่าวที่หาข้อมูลมาจากแหล่งข่าวที่สามารถบอกเล่าเหตุการณ์ได้ดีที่สุด ทั้งแหล่งข่าวปิดและแหล่งข่าวเปิด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ความสับสนวุ่นวาย และคนทำงานถูกจับจ้องหมดกำลังใจ จากการตั้งคำถามของสื่อมวลชน ที่รุกไล่ มุ่งเอาคำตอบ แม้ภาวะปกติการตั้งคำถามลักษณะดังกล่าวสามารถทำได้ แต่ในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน คำถามแบบนั้นกลายเป็นภาวะที่สร้างความกดดันให้เจ้าหน้าที่ ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้ คือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องพูดคุยกับนักข่าว ว่าอะไรสื่อสารได้ หรืออะไรสื่อสารไม่ได้ เพื่อให้การทำงานลดความสับสน วุ่นวาย หรือเกิดความไม่พอใจซึ่งกันและกัน​ 

          สำหรับปรากฏการณ์ที่ “ประชาชน” ตรวจสอบ “สื่อมวลชน” ก่อเขต บอกว่าเป็นสิ่งที่ต้องต่อยอด เช่นเดียวกับการทบทวนการทำงานที่ทำให้สังคมยอมรับ เมื่อเทียบกับการนำเสนข้อมูลของสำนักข่าวต่างประเทศ ที่คนไทยหลายคนชื่นชอบ โดยเฉพาะศักยภาพการทำงานและความคิดสร้างสรรค์ภายใต้ข้อจำกัด ขณะที่ในยุคที่ประชาชนสามารถเป็นคนสื่อข่าวได้ ควรหาทางที่ทำให้เขาตระหนักถึงกรอบจริยธรรม​ด้วย
โดยสถานการณ์ถ้ำหลวง กับปรากฏการณ์ “สื่อมวลชน” ที่จะแก้ไขข้อผิดพลาด และทำให้มืออาชีพเป็นระดับมืออาชีพที่แท้จริง ผู้ที่ร่วมเวทีถอดบทเรียน สะท้อนความเห็นโดยย้ำถึงการสร้างมาตรฐานการทำงานก่อนส่งนักข่าวทำงานในพื้นที่ ทั้งองค์ความรู้ในด้านที่เกี่ยวกับการทำงานในสถานการณ์วิกฤติ ขณะที่กองบรรณาธิการต้องทำงานให้หนัก เพื่อกำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ