คอลัมนิสต์

"เรือล่ม" บนความสับสนของกฎหมาย 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เรือล่ม" บนความสับสนของกฎหมาย  : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย....  อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

 

           เหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นอีกครั้งที่ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยฉายชัดให้เห็นถึงผลแห่งความไม่เอาไหนของการบังคับใช้กฎหมาย การโยนกลอง ซึ่งที่สุดทำให้เกิดความเสียหายชนิดคาดไม่ถึงโดยมีผู้เสียชีวิตร่วมครึ่งร้อย

           ความบกพร่องและจุดเสี่ยงถูกเปิดออกมาเรื่อยๆ เช่นการไม่ยอมเชื่อฟังคำเตือน ฝ่าฝืนเอาเรือออกจากฝั่งทั้งที่สภาวะอากาศไม่อำนวย หรือกระทั่งเสื้อชูชีพที่ถูกติดตั้งเอาไว้ จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่เสื้อชูชีพตามแบบที่ถูก หากเป็นเพียงเสื้อพยุงตัว ที่มีประสิทธิภาพแตกต่างกันอย่างมากมาย เล่นเอาหลายคนตกอกตกใจไปตามๆ กัน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาในการลงเรือไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวหรือโดยสารก็เคยผ่าน เคยใส่  “เสื้อพยุงตัว” โดยเข้าใจว่าเป็น “เสื้อชูชีพ” มาโดยตลอด

           เมื่อเหตุเกิดขึ้น เราได้รับรู้ว่ามีการแจ้งเตือนว่าจะมีพายุ ซึ่งเรือควรงดออกจากฝั่ง ตามสามัญสำนึกเราก็นึกคิดเอาว่าเรื่องแบบนี้น่าจะเป็นเหตุที่สามารถห้ามเรือออกจากฝั่งได้ในกรณีที่เล็งเห็นอันตราย โดยเฉพาะเรือโดยสารที่ต้องมีภาระรับผิดชอบกับผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก

          แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นว่าเรือโดยสารที่มีผู้อยู่บนเรือร่วมร้อยชีวิต ออกมาแล่นอยู่กลางทะเลจนเกิดเหตุและผู้โดยสารจำนวนมากไม่สามารถพาชีวิตตัวเองกลับเข้าฝั่งได้ 

           แล้วมหกรรมโยนกลองก็เกิดขึ้น เมื่อฝ่ายเตือนภัยระบุว่าได้เตือนแล้วว่าไม่ควรออกจากฝั่ง ขณะที่ทางท่าเรือก็บอกว่าทำได้แค่เตือนแต่ไม่มีอำนาจในการห้ามเรือออก เพราะเป็นวิจารณญาณของเจ้าของเรือที่จะเอาเรืออกจากท่า ส่วนทางเรือก็ระบุว่ารับคำสั่งเตือนช้าเกินไป

          สิ่งที่น่าตกใจคือ เหตุไฉนเรือถึงฝ่าฝืนประกาศเตือนและออกจากท่าไปได้ ทั้งๆ ที่มีผู้โดยสารเต็มลำและออกไปเสี่ยงกลางทะเล จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรม และจริงหรือที่ “ท่าเรือ” ไม่มีอำนาจในการห้ามเรือออกจากฝั่ง

           ยิ่งฟังยิ่งแปลกอยู่ไม่น้อย ในเมื่อท่าเรือทุกท่า ต้องขึ้นทะเบียนกับการท่าเรือที่เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมาย นั่นหมายถึงการท่าเรือต้องมีภาระหน้าที่ตามกฎหมายเช่นกันในการรับผิดชอบว่าจะให้เรือลำใดเข้าเทียบหรือออกจากท่า หากเห็นว่าอะไรที่จะก่อให้เกิดความไม่ชอบมาพากล อะไรที่เสี่ยงอันตรายทั้งต่อเรือลำนั้น หรือต่อผู้อื่น ผู้ควบคุมสมควรต้องมีวิจารณญาณและอำนาจในการห้ามมิให้ใครเข้าหรือออกจากท่าได้ตามความต้องการ

           หากเป็นจริงก็เท่ากับกฎหมายเรามีรูโหว่รูเบ้อเร่อที่พร้อมจะก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจากภายในที่จะออกไปสู่ภายนอก หรือจากภายนอกที่จะเข้ามาภายในก็ตามที  

           หรือเอาจริงๆ อาจจะไม่ใช่ปัญหาเรื่องกฎหมายหรืออำนาจที่มีอยู่หากแต่เป็นเพราะการปฏิบัติแบบขอไปที แบบไม่ปรับหรือบังคับใช้กฎหมายให้ตีความไปถึง เพื่อไม่ให้ภาระตกกับตัวเอง  

           มิน่าเราจึงได้เห็นเรือที่ยัดผู้โดยสารเข้าไปจนแทบโป่งแตกแต่ยังสามารถเคลื่อนตัวออกจากท่า ได้ทั้งท่าเรือน้ำจืด ท่าเรือน้ำเค็ม แบบที่คนมองยังสงสัยว่านอกจากเสี่ยงอันตราย และขัดต่อกฎหมายขนาดนั้นทำไมถึงยังปล่อยให้ออกไปได้แบบเที่ยวแล้วเที่ยวเล่า  และเมื่อเกิดเหตุแต่ละครั้งค่อยมาล้อมคอกกันทีหนึ่ง

           นอกจากนี้ยังมีเรื่องเสื้อชูชีพ ที่คนทั่วไปแทบไม่เคยรู้กันมาก่อนว่า “เสื้อสีส้มๆ แดงๆ” ที่ห้อยนั้นเป็นเสื้อชูชีพตามที่นิยามไว้ หรือเป็นเพียงเสื้อพยุงตัวที่ใช้ลอยตัวได้ชั่วคราว   เหตุใดข้อมูลเหล่านี้จึงไม่ค่อยรู้กันอย่างแพร่หลายในประชาชน และเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่อยู่ที่ว่า เหตุใดผู้ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบไม่ยอมตรวจตราให้เรือทุกลำที่ขนส่งผู้โดยสารมี “เสื้อชูชีพ” ที่ถูกต้องตามนิยามติดตั้งอยู่

           เพราะจากข้อมูลที่ได้รับเสื้อทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย และเมื่อถึงคราวคับขันเรื่องเหล่านี้จะชี้เป็นชี้ตายให้ผู้ที่ใช้มัน

          แม้จะมีผู้ที่พยายามกล่าวอ้างว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเพราะ “ทัวร์จีน”  หรือ “บริษัททัวร์จีน” ก่อปัญหากันเองจนทำให้คนจีนกันเองต้องประสบภัย แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดขึ้นทั้งเรื่องที่เนื่องมาแต่การฝ่าฝืนและการอาศัยการตีความแบบเคร่งครัดจนเกิดช่องโหว่

           เรื่องที่เกิดขึ้นแบบนี้เราไม่สามารถไปกล่าวหาว่าใครเป็นคนทำกันเองได้เลย เพราะเราต่างหากเป็นผู้ที่เปิดช่องว่างของกฎหมายและการบังคับใช้ จนเรื่องราวเตลิดไปจนใหญ่โตและมีความเสียหายอย่างเกินประมาณ

           ปัญหาของเราจึงไม่ได้อยู่ที่การไม่มีกฎหมาย หรือการที่กฎหมายมีบทลงโทษที่ต่ำเกินไป  หากแต่อยู่ที่การละเลยการบังคับใช้ และการปรับแต่งกฎหมายมาใช้เพื่อให้คุ้มครองสวัสดิภาพ ความสงบเรียบร้อยของสังคม

           กฎหมายที่มีอยู่จะไร้ค่าไปในทันที  บทลงโทษที่แสนจะรุนแรงก็จะไม่มีความหมาย ตราบใดที่ยังไม่บังคับใช้กับทุกคน  ใครเล่าจะสนใจกฎหมายเมื่อรู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้จริงจังอะไรหนักหนา  ใครเล่าจะทำตามกฎหมายที่เป็นข้อผูกมัด ในเมื่อคนที่ฝ่าฝืนยังมีสิทธิเลือกว่าจะถูกจับหรือไม่ผ่านพฤติการณ์สีเทา

           หากเราบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นจริง ต่อให้มี “ทัวร์จีน” ซึ่งเรามักโยนความผิดเรื่องความเห็นแก่ตัวและการนิยมละเมิดกฎกติกาไปให้มากแค่ไหน พวกเขาก็จะต้องทำตามกฎหมายที่เราวางเอาไว้ เพราะเมื่อใดฝ่าฝืนนั่นย่อมหมายถึงความเสี่ยงที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย   แม้จะการันตีว่าจะไม่มีใครทำผิด 100% ไม่ได้ แต่การฝ่าฝืนและความเสี่ยงที่ต้องรับก็จะน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ

           และโมเดลเช่นว่าใช่จะใช้ได้เฉพาะกับอุบัติภัย หากแต่ใช้ได้กับแทบทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้ ตั้งแต่เรื่องสังคมไปยันการเมือง
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ