คอลัมนิสต์

"บิดาบุญธรรม"ไม่ใช่"บิดาแท้"  ปัญหาจึงเกิดตอนไปสมัครเรียนต่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ"บิดาบุญธรรม"ไม่ใช่"บิดาผู้ให้กำเนิด " การที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งตัดสิทธิไม่ให้โจทก์สอบเข้าเรียนแพทย์ เพราะไม่ได้มีบิดา มีภูมิลำเนาตามประกาศจึงชอบแล้ว

         โดย นายปกครอง

        การเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย นอกจากจะใช้วิธีการสอบคัดเลือก ในบางกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษ มหาวิทยาลัยอาจใช้วิธีการคัดเลือกจากนักเรียนในพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขตามประกาศว่า..ผู้สมัครสอบ บิดา หรือมารดา ต้องมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

 

      มีปัญหาว่า ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบิดาหรือมารดา หมายรวมถึงที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบิดาบุญธรรมด้วยหรือไม่ ??? 
        คดีปกครองที่จะนำมาเสนอในวันนี้ 
        ข้อเท็จจริงในคดีนี้ เกิดจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) ได้ออกประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔ และประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีตามโครงการพัฒนากำลังคน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในแผนการลงทุนเสริมสร้างโครงสร้างสาธารณสุขแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๔๙ – พ.ศ. ๒๕๕๒) ที่จะต้องผลิตแพทย์โดยคัดเลือกผู้เข้ารับการศึกษาจากคนในพื้นที่และให้กลับไปปฏิบัติงานในภูมิลำเนา
        โดยประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งสองปีการศึกษาดังกล่าว ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครประการหนึ่ง ว่า ประกาศฯ ปี ๒๕๕๔ กำหนดว่า...ผู้สมัคร หรือบิดา หรือมารดา  ส่วนประกาศฯ ปี ๒๕๕๕ กำหนดว่า..ผู้สมัคร หรือบิดาผู้ให้กำเนิด หรือมารดาผู้ให้กำเนิด  มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอยู่ในเขตจังหวัดที่มหาวิทยาลัยกำหนด ไม่น้อยกว่า ๓ ปี ต่อเนื่องกันในปัจจุบันนับถึงวันสมัคร 
        นาย ก. ได้สมัครสอบตามประกาศรับสมัครสอบ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔ โดยยื่นเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านของตนและของบิดาบุญธรรม แต่คณะกรรมการฝ่ายตรวจสอบหลักฐานได้ตัดสิทธินาย ก.โดยให้เหตุผลว่า ขาดคุณสมบัติเนื่องจากในวันที่สมัครสอบนาย ก. มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่อยู่ในเขตพื้นที่ที่กำหนด อีกทั้งไม่มีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของบิดาหรือมารดาโดยกำเนิดหรือโดยชอบด้วยกฎหมาย มาเป็นหลักฐานในการสมัครสอบ  
         นาย ก. เห็นว่า ตนมีบิดาบุญธรรมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่ที่ได้รับสิทธิตามประกาศฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ และมารดาผู้ให้กำเนิด เกิดและอาศัยอยู่ที่จังหวัดเดียวกันมา ๒๐ ปีเศษ การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
        นาย ก. จึงนำคดีมาฟ้องอธิการบดี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑) และ มหาวิทยาลัย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งตัดสิทธิการสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาฯ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔ และเพิกถอนประกาศรับสมัครสอบ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕  
     

        การที่ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาฯ โดยกำหนดว่า “...บิดาผู้ให้กำเนิด หรือมารดาผู้ให้กำเนิด...” ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ??? 
       ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยออกประกาศที่พิพาททั้งสองฉบับ และทำการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีตามประกาศ เป็นการดำเนินการที่มีฐานที่มาจากมติคณะรัฐมนตรีตามโครงการพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในแผนการลงทุนเสริมสร้างโครงสร้างสาธารณสุขแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๔๙ – พ.ศ. ๒๕๕๒)        ดังนั้น การที่ประกาศฯ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔ กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ว่า “บิดา” มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านเขตจังหวัดที่มหาวิทยาลัยกำหนด และตามประกาศฯ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕  กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ว่า “บิดาผู้ให้กำเนิด” มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตจังหวัดที่มหาวิทยาลัยกำหนด จึงเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนแพทย์ในชนบท ซึ่งมีเหตุผลความจำเป็นเป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
        นอกจากนี้ ประกาศฯ ก็ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร โดยให้พิจารณาเฉพาะข้อมูลที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของบิดาเท่านั้น แต่ให้พิจารณาไปถึงที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของผู้สมัคร หรือที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของมารดาผู้สมัครด้วย แม้บิดาของผู้สมัครไม่ได้มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตจังหวัดตามที่กำหนด แต่หากตัวผู้สมัครเอง หรือมารดาของผู้สมัคร คนใดคนหนึ่ง มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตจังหวัดตามประกาศดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเข้าสอบคัดเลือกเช่นกัน 
การออกประกาศที่พิพาทจึงไม่เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ฟ้องคดีเกินสมควร
          เมื่อผู้ฟ้องคดี หรือบิดาหรือมารดา ไม่ได้มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตจังหวัดที่มหาวิทยาลัยกำหนด จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติอย่างชัดแจ้ง ส่วนบิดาบุญธรรม แม้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดที่มหาวิทยาลัยกำหนด รวมถึงมารดาผู้ให้กำเนิดเคยเรียนและอาศัยอยู่ที่จังหวัดเดียวกันมานาน ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขตามประกาศทั้งสองฉบับ การตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีในการสมัครสอบตามประกาศ จึงชอบแล้ว
        กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อประกาศรับสมัครสอบไม่ได้กำหนดคุณสมบัติในเรื่องภูมิลำเนาของบิดาบุญธรรม (ซึ่งไม่ใช่บิดาผู้ให้กำเนิด) จึงไม่ต้องพิจารณาภูมิลำเนาของบิดาบุญธรรม

       และนอกจากนี้ คดีนี้ศาลยังจะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการใช้อำนาจของฝ่ายปกครอง โดยหากมีเหตุผลความจำเป็นพิเศษเพื่อประโยชน์ของทางราชการ อาจกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขหรือคุณสมบัติเป็นการเฉพาะก็ได้ และไม่ถือเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนเกินสมควร แต่กระนั้น การใช้อำนาจทางปกครองในลักษณะดังกล่าวจะต้องมีเหตุผลที่หนักแน่นควรค่าแก่การรับฟัง มิฉะนั้นจะถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมได้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. ๒๕๙ – ๒๖๐/๒๕๖๑

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ