คอลัมนิสต์

เมื่อความอยาก ชี้  "จริยธรรม" สังคม 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อความอยาก ชี้  "จริยธรรม" สังคม  : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  อรรถยุทธ  บุตรศรีภูมิ 

 

          ปฏิบัติการช่วย “หมูป่าออกจากถ้ำ” สร้างปรากฏการณ์สามัคคีรวมใจหลายๆ อย่าง ซึ่งมักเกิดขึ้นยามที่พวกเราประสบกับภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์สำคัญๆ และความสามัคคีรวมใจนี้มักจะเกิดทั้งในแบบพลังทางบวกและพลังทางลบ

          พลังทางบวกก็เช่น การระดมความคิดเห็น การระดมการช่วยเหลือ ทั้งอุปกรณ์และบุคลากร ส่วนพลังที่ออกมาในมุมลบที่เห็นชัดคือการตำหนิการทำงานของสื่อมวลชนที่ดูเหมือนจะล้ำเส้น และละเมิดสิทธิของหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของเด็กและสิทธิของผู้ที่ทำงานในพื้นที่

          นับตั้งแต่สังคมได้รับทราบว่ามี  “13 คน”  เข้าไปติดอยู่ใน “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” ทุกสายตาก็พุ่งเป้าไป ณ จุดนั้น ทุกแง่ทุกมุมถูกนำเสนอ ทั้งเรื่องดีและไม่ดี ทีมข่าวและสรรพกำลังถูกทุ่มลงไป ไม่ใช่เพียงเพราะความอยากของ “นักข่าว” หรือ “คนทำข่าว” หากเป็นเพราะสังคมกำลังสนใจเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมไหนต่างก็เรียกความสนใจได้ทั้งสิ้น ทั้งมุมดี มุมไม่ดี มุมข้อเท็จจริง มุมแห่งความเชื่อ

          ยอดเรตติ้ง ยอดไลค์ ยอดวิว ยอดแชร์ ถล่มทลาย แม้จะมีข่าวอื่นที่ใหญ่ขนาดไหนก็มิอาจบดบังความสนใจเหตุการณ์นี้ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตายของอดีตปลัดกระทรวงที่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต ข่าวอุบัติเหตุที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมากเช่นเหตุการณ์เรือล่มเวลาเดียวกันถึงสองวันที่ จ.ภูเก็ต ข่าวเครื่องบินตก ข่าวการผ่าน ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์  ข่าวการพรวดผ่านร่างยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องใช้ไป 20 ปี ด้วยเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง

          ข่าวทั้งหมดถูกกลืนหายไปในความเชี่ยวกรากของการค้นหาและช่วยเหลือทีมหมูป่า

          กระแสข่าวทั้งจริงและข่าวลือหลั่งไหลหลากหลาย ได้รับการส่งต่อตามช่องทางต่างๆ ทั้งช่องทางโบราณสุดอย่างการบอกปากต่อปาก และช่องที่ถือว่าใหม่สุดอย่างการแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทุกคนล้วนสนใจไม่ว่าจริงหรือหลอก

          ทุกคนอยากรู้ทุกแง่ทุกมุม โดยเฉพาะเรื่องยิ่งลับ ยิ่งอยากรู้ และพร้อมจะเปิดรับทุกข้อมูลข่าวสารที่พุ่งเข้ามา ส่วนจะตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นวิจารณญาณของแต่ละคน

          แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้การเปิดรับและความอดกลั้นต่อความอยากรู้ลดน้อยถอยลง เพราะความอยากรู้ตอบสนองได้ด้วยแค่ปลายนิ้ว และไม่จำกัดว่าจะอยู่ ณ ที่ใด เวลาใด ในสมัยก่อนกว่าจะรู้ต้องอยู่หน้าทีวี หน้าหนังสือพิมพ์ และต้องผ่านตัวกลางที่มีอยู่อย่างจำกัด  

          เวลาที่เปลี่ยนไป สื่อกลางที่ว่านั้นมีอยู่อย่างมากมาย และหลายครั้งไม่ต้องรับผิดชอบการนำเสนอ ที่สำคัญทุกความสนใจในโลกของทุนนิยม สามารถเปลี่ยนเป็นเงินเป็นทองได้

          ทุกเรตติ้ง ทุกยอดคลิก ทุกยอดวิว ทุกยอดไลค์ สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ทั้งสิ้น เมื่อทุกความสนใจเปลี่ยนเป็นเงิน “สื่อ” ที่เป็นองค์กรธุรกิจย่อมต้องสนใจกับตัวเลขที่จับต้องได้มากกว่าคุณภาพของสิ่งที่ออกมา

          ความแม่นยำ เที่ยงตรงถูกเบียดแทรกด้วยความเร็ว  ทุกคนพร้อมจะจัดลำดับการรับรู้ไปสู่ความเร็ว  ส่วนความเที่ยงตรงถูกจัดการรับรู้อยู่ในลำดับท้ายที่คนทำข่าวมืออาชีพหลายๆ คนพร่ำร้องเรียกหาคุณภาพ แต่ข้อเท็จจริงพิสูจน์ทราบว่าความอยากรู้นั้นมีผลกับตัวเลขมากกว่าข่าวแบบคุณภาพมากนัก พวกเขาก็ต้องถูกบีบบังคับโดยปริยายให้ทำข่าวที่ตอบสนอง

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมไทยที่เป็นสังคมอันมิค่อยไยดีกับสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ยิ่งทำให้ความอยากรู้เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เช่นอยากรู้ครอบครัวเป็นอย่างไร กินอยู่อย่างไร เจ็บช้ำแค่ไหน ลำบากอย่างไร ออกมาตอนไหน มาแบบสบายหรือมาแบบเจ็บ มารถหรือมาเครื่องบิน ยิ่งใครมีช่องทางไหนที่ยืนยันหรือบอกกล่าวสิ่งที่อยากรู้ได้ก่อน พวกเขาก็พร้อมที่จะหลั่งไหลไปเสพข้อมูลนั้นๆ

          หลายคนประณามสื่อที่เตรียมฉกตัวเด็ก ฉกตัวญาติ แต่เชื่อได้เลยว่าหากวันไหนช่องใดสถานีใด หรือแม้กระทั่งโซเชียลมีเดียของใครคนใดคนหนึ่งสามารถสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องแบบวงในได้ วันนั้น “ตัวเลข” ถล่มทลายอย่างแน่นอน

          การเรียกร้องหามาตรฐานในการทำงาน และการกลั่นกรองของสื่อจึงกลายเป็นเพียงเรื่องที่ตอบสนองจริยธรรมในใจที่ไม่ได้ใส่ใจอะไรจริงจังนัก เพราะการก่นด่า การตำหนินั้น แสดงจริยธรรมที่ถูกเก็บซ่อนเอาไว้และไม่ได้ใช้ได้ง่ายกว่าความอดทนอดกลั้นต่อการอยากรู้ที่อยู่ปลายนิ้วยิ่งนัก

          สื่อที่ดี หรือสื่อที่ไม่ดีนั้นมิอาจแยกออกจากสังคมได้ หากสังคมอยากให้สื่อเป็นแบบไหนก็ต้องเลือกเสพสื่อที่ตนเองอยากเห็นอยากให้เป็น ซึ่งได้ผลกว่าการตำหนิหรือเขียนด่ายิ่งนั้น เพราะการตำหนิอาจใช้เวลาหรือไม่ได้ผล แต่การไม่ชม ไม่คลิก หรือไม่ดูนั้น ได้ผลกันแบบนาทีต่อนาที และอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายในนาทีถัดไปเสียด้วยซ้ำ

          เป็นเรื่องดีที่เราเห็นความเข้าใจของสังคมว่าสื่อแบบใดที่ดี สื่อแบบใดที่เรียกว่ามีมาตรฐาน สื่อแบบใดที่เรียกว่ามีจรรยาบรรณ เพราะถ้าทุกคนรู้เช่นนั้นก็ย่อมที่จะเลือกเสพสื่อใด เลือกที่จะเข้าไปดูข้อมูลแบบไหน เลือกที่จะไลค์ หรือแชร์เนื้อหาลักษณะไหน ถ้าเป็นเช่นนั้นอีกไม่นานเราคงเห็นสื่อที่มีคุณภาพจากสังคมที่มีคุณภาพ

          สังคมเป็นแบบไหน สื่อก็เป็นแบบนั้น สื่อดีมิอาจอยู่ในสังคมที่ความอยากรู้อยู่เหนือความอดกลั้น และสื่อไม่ดีก็มิอาจอยู่ในสังคมที่มีจริยธรรมได้เช่นกัน อำนาจอยู่ที่ปลายนิ้วของทุกคน

          ขณะที่สื่อเองก็พึงตระหนักว่ามิได้อยู่ในสถานะอันตรวจสอบมิได้อีกต่อไป หากแต่ต้องรับการตรวจสอบ  รวมทั้งมีคู่แข่งที่นอกเหนือไปจากสื่อด้วยกัน หากแต่หมายถึงทุกคนเป็นคู่แข่ง ทั้งด้านความเร็ว ด้านจริยธรรม เพราะโลกปัจจุบันทุกคนเป็นสื่อได้เองแล้ว หากอยากอยู่รอดต้องทำให้มากกว่าคนอื่น มิใช่แค่เท่าสองเท่า แต่ต้องทำให้ดีมากกว่าหลายๆ เท่าเลยทีเดียว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ