คอลัมนิสต์

ไทยแลนด์โอนลี่!ไร้อำนาจสั่งห้ามเรือออกจากฝั่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยแลนด์โอนลี่!ไร้อำนาจสั่งห้ามเรือออกจากฝั่ง : รายงาน  โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร


 
          มีคนตั้งถามว่า ขับรถฝ่าไฟแดงยังโดนจับ ห้ามเครื่องบินขึ้น-ลง ยังมีหอบังคับการบิน แต่ห้ามเรือออกจากฝั่งนี่ทำได้จริงไหม และหน่วยงานใดรับผิดชอบ ?

          เป็นคำถามที่ดังก้องหลังเกิดเหตุการณ์ “เรือล่ม” ในอ่าวภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมติดอันดับโลก จนมีผู้เสียชีวิตร่วมครึ่งร้อย ชื่อเสียงประเทศไทยฉาวโฉ่ได้อีก

          ย้อนดูเหตุการณ์ ปรากฏว่ามีการแจ้งเตือนเรื่องสภาพอากาศและคลื่นลมในทะเลอย่างชัดเจน แต่เรือท่องเที่ยวก็ยังฝ่าฝืน พานักท่องเที่ยวเป็นร้อยฝ่าคลื่นสูงออกไป สุดท้ายก็อับปาง

          คำถามข้างบนที่ท้าทายประสิทธิภาพการรับมืออุบัติภัยของไทย วันนี้มีคำตอบแล้วจากคนระดับผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ

 

ไทยแลนด์โอนลี่!ไร้อำนาจสั่งห้ามเรือออกจากฝั่ง

 

          “โดยหลักกฎหมายแล้วเราไม่สามารถสั่งห้ามเรือนำเที่ยวออกทะเลได้ หน่วยงานรัฐทำได้เพียงแค่ประกาศแจ้งเตือนถึงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่ในข้อกฎหมายไม่สามารถห้ามได้” นี่คือคำตอบจากผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงานที่เรียกได้ว่าเป็น “เจ้าทะเล” ของเมืองไทย

          ทางออกของปัญหานี้ก็หนีไม่พ้นคำว่า “บูรณาการ”

          “เหตุการณ์ในครั้งนี้มีองค์ประกอบหลายประเด็นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่นเรื่อง สภาพอากาศ เรื่องคนขับเรือ รวมถึงตัวเรือ ฉะนั้นหลังจากนี้ หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนจะบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวทางทะเลทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ซ้ำอีก” ผบ.ทร.กล่าว

 

ไทยแลนด์โอนลี่!ไร้อำนาจสั่งห้ามเรือออกจากฝั่ง

 

          โปรดสังเกต “การบูรณาการ” คือการสร้างความร่วมมือ แต่ปราศจากอำนาจบังคับ คำถามคือเมื่อพ้นห้วงเวลา “ไฟไหม้ฟาง” แบบไทยๆ ไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่


          ข้อมูลที่ “ล่าความจริง” ตรวจสอบได้ก็คือ ปัจจุบันการแจ้งเตือนความเสี่ยงภัยพิบัติ ตลอดจนสภาพอากาศต่างๆ เป็นหน้าที่ของ “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” ในสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. กระทรวงมหาดไทย ซึ่งข่ายงานของ “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” ในระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ก็ใช้กำลังคนและอุปกรณ์ส่วนใหญ่ของ ปภ.จังหวัด หรือ ปภ.ระดับเขตนั่นเอง โดยปัจจุบันสำนักงาน ปภ.มีหน่วยงานระดับเขต กระจายอยู่ทั่วประเทศ 18 เขต

ไทยแลนด์โอนลี่!ไร้อำนาจสั่งห้ามเรือออกจากฝั่ง

 

          ฉะนั้น ประสิทธิภาพการทำงานของ “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” จึงไม่ได้ยกระดับจากงาน “รูทีน” ในความรับผิดชอบของ ปภ.สักเท่าไร หนำซ้ำยังเพิ่งย้ายมาเป็น “หน่วยงานฝาก” อยู่ใน ปภ. ซึ่งคนใน ปภ.บอกว่า ทำงานลักลั่นยิ่งกว่า ปภ.เองในสังกัดมหาดไทยเสียอีก (ลองเปิดเว็บศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ บางหน้าตัวหนังสือยังยึกยือ เป็นภาษาต่างดาวอยู่เลย)

          สำหรับปัญหาการแจ้งเตือนคลื่นลมในทะเล หลักปฏิบัติของ ปภ. คือ มีหน้าที่แจ้งเตือน และออกประกาศเตือนเท่านั้น หากสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ เห็นว่าต้องห้ามเรือออกจากฝั่ง ปภ. หรือ “ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ” ก็ไม่มีอำนาจสั่งห้ามเรือออกจากฝั่ง ทำได้เพียงทำรายงานถึงผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้สั่งการเองว่าจะให้หน่วยงานใดออกเฝ้าระวังไม่ให้เรือออกจากฝั่ง เช่น กองทัพเรือ หรือกรมเจ้าท่า ซึ่งหลายๆ ครั้งก็สายเกินไป หรือไม่ทันการณ์

 

ไทยแลนด์โอนลี่!ไร้อำนาจสั่งห้ามเรือออกจากฝั่ง

 

          ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติของ ปภ. ซึ่งเคยประจำอยู่ตามเมืองท่องเที่ยวชายทะเล เช่น ภูเก็ต เล่าให้ฟังว่า แม้ถึงที่สุดแล้ว ผู้ว่าฯ จะออกประกาศ “ห้าม” ไม่ให้เรือออกจากฝั่ง แต่ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายสั่งระงับเรือออกจากฝั่งได้อยู่ดี คือเป็นแค่ประกาศข้อมูลให้รู้เฉยๆ ว่าทางการห้ามแล้วนะ แต่ถ้าอยากเสี่ยงออกเรือ ก็ยังออกได้ เพียงแต่ต้องไปรับความเสี่ยงเอาเอง

          ส่วนกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็มีเนื้อหาเน้นไปที่ขอบเขตและบทบาทการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ในการรับมือกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นแล้ว พูดง่ายๆ คือเป็นกฎหมายแบ่งหน้าที่ของส่วนราชการ ไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันภัยพิบัติหรืออุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ