คอลัมนิสต์

"ลุงตู่ - สมคิด - สนธิรัตน์ -อุตตม" โปรดฟังทางนี้ !!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มี 2 ประเด็นข้อกฎหมายที่มาเกี่ยวข้องกับ "ลุงตู่ - สมคิด - สนธิรัตน์ -อุตตม" กรณีพรรคพลังประชารัฐ ครอบงำหรือไม่??? ลงสมัคร ส.ส.ได้หรือไม่??

 

                 ในขณะที่ “กลุ่มสามมิตร” เดินหน้าโชว์พลังดูด และรัฐบาลนำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เดินหน้าโครงการ “ประชารัฐ” ท่ามกลางกระแสข่าวที่ชัดขึ้นๆทุกวันว่ากลุ่มนี้จะไปรวมตัวกันที่ “พรรคพลังประชารัฐ”

                 มีประเด็นที่ถูกจับตาและถูกตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับ “กลุ่มสามมิตร” และ “พรรคพลังประชารัฐ”

                 โดยเฉพาะหลังจากที่นายกฯ ออกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา 

 

"ลุงตู่ - สมคิด - สนธิรัตน์ -อุตตม" โปรดฟังทางนี้ !!

(อ่านต่อ..."ไทยนิยม-ประชารัฐ"มีเพื่อแก้ปัญหาไม่ใช่ปูทางการเมือง)

                 “จะโจมตีผมเรื่องอะไร ในเมื่อพรรคพลังประชารัฐยังไม่ประกาศออกมาเลย เป็นแค่เพียงการจองชื่อไว้เฉย ๆ ...ผมยังไม่รู้เลยว่าพรรคไหนเป็นอย่างไร รู้แต่เพียงว่ามี 79 พรรค และกกต.ก็ยังไม่ได้รับรองทั้งหมด เป็นแค่เพียงการจองชื่อ ยื่นหนังสือขอจดทะเบียนเฉยๆ รอให้เขาประกาศมาก่อน วันข้างหน้ายังอีกยาวไกล หลายเดือน ค่อยมาว่ากัน”

                 “หลายคนบอกว่าโครงการไทยนิยม โครงการประชารัฐได้เปรียบ ทั้งที่โครงการนี้เกิดมานานแล้ว ไม่ใช่เป็นโครงการหรือการทำงานที่จะมุ่งไปสู่การเลือกตั้ง มันไม่ใช่ แต่ผมต้องการที่จะแก้ปัญหาให้ประชาชนในทุกพื้นที่ทั้งจังหวัด อำเภอ ตำบล ซึ่งให้งบประมาณไปเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลา 3-4 ปี และปีนี้ก็ต้องลงอีกครั้ง ในส่วนของหมู่บ้านโดยประชาชนเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอะไร ไม่ใช่ว่ารัฐบาลเอาไปให้ เพื่อให้เขารักผม มันไม่ใช่ แต่เป็นการแก้ปัญหาในพื้นที่เพื่อลดความเดือดร้อน สร้างห่วงโซ่ของเขาขึ้นมาในพื้นที่ ซึ่งประชาชนในพื้นที่จะต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ อธิบายเรื่องโครงการประชารัฐ

                 มีประเด็นข้อกฎหมายมาเกี่ยวข้องอยู่ 2 ประเด็น

                 ประเด็นแรก เรื่องการครอบงำพรรค ตามกฎหมายพรรคการเมือง ที่ถูกมองว่าเขียนกติกานี้ขึ้นมาเพื่อสกัดไม่ให้ “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามายุ่งเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย แต่วันนี้เริ่มมีคำถามถึงคนในรัฐบาลแล้วว่ากำลังมายุ่งเกี่ยว “ครอบงำพรรคพลังประชารัฐ” หรือไม่ โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” ซึ่งมีข่าวว่าจะมาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคนี้ ถึงแม้วันนี้การตั้งพรรคพลังประชารัฐยังไม่เรียบร้อยก็ตาม

                 อีกประเด็น คือ "รัฐมนตรีที่จะมาลงสมัคร ส.ส." ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 263 กำหนดไว้ในส่วนของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งให้บังคับใช้กับในส่วนของรัฐมนตรีและสมาชิก คสช.ด้วย

                 รัฐธรรมนูญกำหนดว่าบุคคลดังกล่าวจะมาลงสมัครเป็น ส.ส.ไม่ได้ เว้นแต่จะได้ลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับบนี้ประกาศใช้ไปเมื่อ 6 เมษายน ปีที่แล้ว

                 อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามเกี่ยวกับการที่บุคคลดังกล่าวจะมาเป็นรัฐมนตรี และการเป็นสมาชิกพรรค

                 “อุดม รัฐอมฤต” โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อธิบายหลักกฎหมายในทั้ง 2 ประเด็น

                 ในเรื่องการครอบงำพรรคนั้น อาจารย์อุดม บอกว่า เป็นเรื่องข้อเท็จจริงว่ามีการมาครอบงำหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับการที่คนๆนั้นจะมาอยู่ในบัญชีรายชื่อเป็นนายกฯ หรือแม้กระทั่งเรื่องการบริจาคพรรค

                 “การมาอยู่ในบัญชีนายกฯของพรรค หรือการมาบริจาคเงินให้พรรค หากเขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการครอบงำพรรคแล้ว เรื่องการครอบงำต้องดูที่พฤติกรรม ดูที่ข้อเท็จจริง ขณะเดียวกัน คนที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีนายกฯหรือไม่ได้บริจาคให้พรรคก็เช่นเดียวกัน” โฆษก กรธ. อธิบาย

                 อาจารย์อุดม ยังอธิบายไปถึงเรื่องรัฐมนตรีจะมาเล่นการเมือง ซึ่งมีบางคนตีความว่า ผู้ที่มาเป็นรัฐมนตรีทีหลัง คือ หลังจากรัฐธรรมนูญบังคับใช้ไป 90 วันแล้ว ไม่อยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา 263 คือ รัฐมนตรีเหล่านั้นสามารถมาลงสมัคร ส.ส.ได้

                 แน่นอนรัฐมนตรีเหล่านี้ รวมถึง นายสนธิรัตน์ และ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีข่าวว่าจะเข้ามาอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ

                 อาจารย์อุดม อธิบายว่า ดูจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า ข้อบังคับหลักคือ สนช. รัฐมนตรี และ สมาชิก คสช. จะสมัคร ส.ส.ไม่ได้ แต่มีข้อยกเว้นว่า “ยกเว้นลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้”

                 “ในความเห็นของผมจึงเห็นว่า หากใครไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ยกเว้น คือ ลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีได้ภายใน 90 วันหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ คนนั้นก็ไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้”

                 อย่างไรก็ตาม ย้ำว่านี่คือความเห็นส่วนตัวของอาจารย์อุดม แม้ว่าท่านจะเป็นโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้เขียนรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเห็นของท่านจะเป็นที่สุด เรื่องนี้หากมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นจริง ผู้ที่จะชี้ขาดได้ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น

                 ในส่วนของ “สนธิรัตน์” กับ “อุตตม” นั่นคือส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งที่ต้องจับตาคือ “บิ๊กตู่” หากจะลงมาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรคจริงๆ คงจะมีปัญหาร้องเรียนกันอุตลุด

                 เป็นประเด็นให้ “บิ๊กตู่” ต้องคิดหนัก ว่าสุดท้ายจะเอาอย่างไร

                 นี่ยังไม่นับรวมถึงเรื่องการใช้งบประมาณที่จะถูกมองว่านำไปใช้ในการหาเสียงเอื้อประโยชน์ให้พรรคที่ตัวเองมีรายชื่อเป็นนายกฯอีกด้วย ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการใช้งบประมาณหากเป็นรัฐบาลปกติ หลังยุบสภาจะกำหนดเงื่อนไขการใช้ไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 169

                 ในข้อกฎหมายอาจจะไม่ผิด เพราะไม่ได้ห้ามไว้ชัดๆ 

                 แต่บางเรื่องก็ไม่ได้จบแค่เรื่องข้อกฎหมาย ยังมีเรื่องความเหมาะสมด้วย !!

=================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ