คอลัมนิสต์

ทางออกสำหรับบีทีเอส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

เหตุการณ์รถไฟฟ้าบีทีเอสทำงานขัดข้องจนกระทบต่อการเดินทางของมวลชนในเมืองหลวงกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้ประชาชนต่างไม่พอใจกับมาตรฐานการทำงานของบีทีเอส ขณะที่สำนักข่าวหลายแห่งมีการเก็บสถิติในรอบปีนี้ พบว่าบีทีเอสขัดข้องรวมแล้วมากว่า 28 ครั้ง โดยเฉพาะเดือนมิถุนายน ขัดข้องไปแล้วกว่า 9 ครั้ง

 

ทั้งนี้ บีทีเอสได้ออกมาชี้แจงว่า สาเหตุของการขัดข้องสืบเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนคลื่นวิทยุที่ใช้กับระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้า เพื่อให้มีความเสถียรและเพื่อรองรับการให้บริการเส้นทางต่อขยายสีเขียว นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารจากภายนอกเข้ามารบกวนสัญญาณเดินรถ ทำให้มีความล่าช้ากว่าปกติ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ที่ปรึกษาอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าคลื่นสัญญาณที่บีทีเอสระบุ คือคลื่นสัญญาณระหว่างขบวนรถและเสาสัญญาณที่ติดตั้งอยู่ข้างราง ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณระหว่างรถและรางเพื่อดูความเร็วและตำแหน่งรถ เนื่องจากบีทีเอสเน้นการขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ

“การใช้ระบบอัตโนมัติทำให้รถวิ่งได้หลายเที่ยวต่อวัน เพราะสัญญาณที่ส่งไปส่วนกลางจะคำนวณให้ว่ารถขบวนนี้ถึงไหน อีกคันต้องวิ่งด้วยเวลาเท่าใดจะได้พอดีกัน แต่พอขัดข้องขี้นมาก็ต้องใช้ระบบแมนวล ขับด้วยมือ คนขับก็ต้องขับให้มีระยะห่างเพื่อความปลอดภัย ทำให้ล่าช้า”

ทั้งนี้ คลื่นสัญญาณที่บีทีเอสเลือกใช้ คือสัญญาณคลื่นความถี่ 2400 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นที่มีขนาดความถี่ดังกล่าวเป็นคลื่นที่ไม่ต้องขออนุญาต ใครก็สามารถใช้ได้ ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้ในระบบคมนาคม โดยเฉพาะสัญญาณคลื่น wifi ที่มีความถี่ใกล้เคียงกัน ซึ่งการใช้คลื่นที่มีความถี่เดียวกันก็มีความเสี่ยงที่จะถูกรบกวนกันเป็นเรื่องปกติ

ดร.สุพจน์วิเคราะห์ว่าสาเหตุของปัญหารถไฟฟ้าบีทีเอสที่เพิ่งจะปรากฏในปัจจุบัน อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากทุกวันนี้ระบบอินเทอร์เน็ตที่ใช้ wifi แพร่หลายมากขึ้นจากในอดีต ส่วนอีกสาเหตุที่มีการพูดถึงกันคือการถูกรบกวนโดยคลื่นสัญญาณของดีแทค และทีโอที ซึ่งมีความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ไม่น่าจะใช่สาเหตุ เพราะแม้จะมีการปิดสัญญาณไปกว่าหลายแห่ง แต่รถไฟฟ้าก็ยังขัดข้อง

อาจารย์สุพจน์กล่าวว่า การรบกวนกันของคลื่นความถี่เดียวกันทำให้เกิดการลดสัญญาณของตัวเองลง คลื่นที่ถูกรบกวนหรือถูกแทรกจะมีสัญญาณขาด ไม่ต่อเนื่อง ทำให้รถไฟฟ้าถูกชะลอและหยุดลงและเมื่อเกิดปัญหากับขบวนหนึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อขบวนที่เหลือด้วยเพราะรถไม่รู้ว่าตนเองอยู่ในตำแหน่งใด

การใช้คลื่นความถี่ 2400 เมกะเฮิรตซ์ในระบบรถไฟในต่างประเทศ ใช้เฉพาะในรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเป็นที่อับสัญญาณไม่มีสัญญาณอื่นรบกวน และในรถไฟภายในสนามบินซึ่งเป็นพื้นที่ปิดที่สามารถควบคุมได้เท่านั้น และการใช้รถไฟฟ้าที่มีคลื่นความถี่ 2400 เมกะเฮิรตซ์ มาวิ่งในพื้นที่เปิด พื้นที่สาธารณะ ผ่านตึกอาคารต่างๆ ใจกลางเมืองที่มีการใช้ระบบ wifi กันมหาศาล จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

ทางออกที่ขณะที่มีการนำเสนอและทางบีทีเอสจะรีบนำไปปรับใช้ คือการใช้เครื่องกรองสัญญาณ ตัดสัญญาณบางส่วนที่มีความถี่ใกล้เคียงกับความถี่ 2400 เมกะเฮิรตซ์ออกไป เพื่อให้รถไฟฟ้าสามารถรับสัญญาณได้ดีขึ้น

แต่วิธีการแก้ไขอย่างยั่งยืนที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนไปใช้คลื่นความถี่เฉพาะเจาะจงแบบอื่น ในบางประเทศมีการใช้คลื่นความถี่ขนาด 400, 800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งหากใช้คลื่นความถี่เฉพาะเจาะจงดังกล่าวจะต้องมีระบบเทคโนโลยีรองรับ เช่น ระบบเสาสัญญาณที่รับได้เฉพาะคลื่นความถี่เฉพาะ

"เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องหาคลื่นความถี่เฉพาะให้รถไฟฟ้า ดูว่าคลื่นแบบไหนเหมาะสม คลื่นที่คนไม่ได้ใช้ จากนั้นต้องทำแผนแม่บทคลื่นความถี่ในระบบขนส่งราง เพื่อให้บีทีเอสและกระทรวงคมนาคมขออนุญาตการใช้คลื่นสัญญาณต่อไป”

ล่าสุด บีทีเอสได้ตัดสินใจขยับช่องสัญญาณความถี่จากช่วง 2400 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้ช่วงความถี่ย่าน 2480–2495 เมกะเฮิรตซ์ แต่ก็ยังคงต้องจับตาดูต่อไปว่าความถี่นี้จะยังถูกรบกวนอยู่อีกหรือไม่ และไม่มีหลักประกันอะไรว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ