คอลัมนิสต์

เมื่อวินัยจราจรถึงทางตัน!? ตร.ดันกฎตัดแต้มถอน'ใบขับขี่'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อวินัยจราจรถึงทางตัน!? ตร.ดันกฎตัดแต้มถอน'ใบขับขี่' : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย...  พรรณทิพา จิตราวุฒิพร (เนชั่นทีวี)

 

          “วันนี้เรามีใบสั่งจราจรประมาณปีละ 20 ล้านใบ มีผู้มาชำระค่าปรับเพียงร้อยละ 10 นั่นหมายความว่า มากกว่า 10 ล้านคดี ถูกปล่อยทิ้งไป ไม่สามารถชำระค่าปรับได้ตามกฎหมาย ถ้ายิ่งบวกตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นทุกปี จึงเป็นคำถามว่า การออกใบสั่งไปมีประสิทธิภาพพอที่จะควบคุมพฤติกรรมคนให้เคารพกฎจราจรหรือไม่”

          ปัญหาการจราจรส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ซึ่งไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎจราจร จนเป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายสิบปี แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมายได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ แต่ยิ่งแก้เท่าไหร่ ปัญหานี้กลับไม่ได้ลดน้อยลงได้เลย มิหนำซ้ำยังสร้าง “คู่ขัดแย้ง” ระหว่างประชาชนกับตำรวจจราจร เมื่อมีการเข้มงวดกวดขันกำหนดมาตรการต่างๆ นานา รวมถึงการใช้เทคโนโลยีกล้องวงจรปิด เพื่อเป็นหลักฐานมัดคนทำผิด ออก “ใบสั่งออนไลน์” มี “บาร์โค้ด” อำนวยความสะดวกให้สามารถชำระที่ร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร และไปรษณีย์ จนบางทีถูกตราหน้าว่า “ตั้งด่านลอย” ออก “ใบสั่ง” หวังทำยอดรับส่วนแบ่งจากค่าปรับ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เป็นผลสัมฤทธิ์ ใบสั่งที่ถูกออกไปเหมือนงบประมาณที่สูญเปล่า การบังคับใช้กฎหมายจึงดูเหมือนว่า ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น..!!

 

เมื่อวินัยจราจรถึงทางตัน!? ตร.ดันกฎตัดแต้มถอน'ใบขับขี่'

 

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ​พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดพิมพ์ใบสั่งปีละหลายสิบล้านใบ ค่าใช้จ่ายประมาณใบละ 5 บาท นั่นหมายถึงเงินงบประมาณหลักร้อยล้านบาท เท่าที่ตรวจสอบแต่ละปีมีการออกใบสั่ง 20 ล้านใบ แต่มีผู้มาชำระค่าปรับแค่ร้อยละ 10 คือมีการชำระค่าปรับตามกฎหมายแค่ 2 ล้านคดี ทั้งที่ออกใบสั่งไป 20 ล้านคดี อีก 18 ล้านคดีถูกปล่อยทิ้ง นับเป็นยอดการกระทำผิดที่สูงมากในแต่ละปี

 

เมื่อวินัยจราจรถึงทางตัน!? ตร.ดันกฎตัดแต้มถอน'ใบขับขี่'

 

         “เราไม่ได้มองถึงการคุ้มทุนหรือไม่คุ้มทุน ที่แต่ละปีใช้งบประมาณพิมพ์ใบสั่งเป็นร้อยล้านบาท เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่รายได้จากการออกใบสั่งและเก็บค่าปรับ แต่เพื่อให้คนที่ทำผิดมีสำนึกไม่ทำผิดซ้ำ เกิดการเคารพกฎหมายจราจร ไม่ฝ่าฝืน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของประชาชน ให้เป็นไปตามมาตรฐานการบังคับกฎหมาย แต่เมื่อการบังคับใช้กฎหมายด้วยการออกใบสั่งเพื่อให้เกิดการยับยั้งไม่ทำผิดซ้ำของผู้ขับขี่ไม่เป็นผล ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงหาทางแก้ไข โดยได้เสนอกฎหมายเกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนให้คณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) พิจารณา โดยเฉพาะเรื่องใบอนุญาตขับขี่ การเพิ่มโทษ ว่า ถ้าหากมีการกระทำผิดจะให้ตัดคะแนนความประพฤติ ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งคณะกรรมการเห็นชอบ เพราะจะบังคับให้คนขับรถดี หากกระทำผิดซ้ำอีกโทษจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากในต่างประเทศใช้วิธีนี้เห็นผล คนเคารพกฎหมายมากขึ้น” พล.ต.ต.เอกรักษ์ อธิบาย

 

เมื่อวินัยจราจรถึงทางตัน!? ตร.ดันกฎตัดแต้มถอน'ใบขับขี่'

 

          การแก้ไขที่ว่านี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอให้แก้กฎหมายและเพิ่มโทษทางปกครอง เสนอให้มีการตัดคะแนนความประพฤติแบบที่ต่างประเทศใช้ ซึ่งขณะนี้หลักเกณฑ์ที่วางไว้แล้วร้อยละ 80 คือ ผู้มีใบอนุญาตขับขี่จะมีคะแนนทั้งหมด 12 คะแนน การตัดคะแนนจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.การกระทำผิดต่อตนเองแต่ไม่กระทบต่อสาธารณะ เช่น การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การไม่สวมหมวกกันน็อก จะโดนตัด 1 คะแนน 2.ความผิดปานกลาง คือทำให้สาธารณะได้รับผลกระทบ เช่น การฝ่าไฟแดง การขับรถย้อนศร จะตัด 2 คะแนน และ 3.ความผิดรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อสังคม เช่น เมาแล้วขับ เสพยาเสพติดแล้วขับรถ หรือ การชนแล้วหนี จะถูกตัดคะแนนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากทำผิดซ้ำจะโดนตัดคะแนนเป็น 2 เท่า

          ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับผู้ขับขี่รถสาธารณะ หากกระทำผิดจนคะแนนความประพฤติหมดจะถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ 12 เดือน แต่หากกระทำผิดซ้ำอีกอาจถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ส่วนใบสั่งรุ่นใหม่ผู้ที่ได้รับใบสั่งสามารถปฏิเสธใบสั่งแล้วต่อสู้คดีได้ แต่ถ้าได้รับใบสั่งแล้วไม่ชำระค่าปรับจะถูกปรับเป็น 2 เท่า ทั้งนี้กฎหมายใหม่จะไม่มีการยึดใบอนุญาตขับขี่ แต่ความผิดจะถูกบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์แทน ซึ่งเบื้องต้นการปรับแก้กฎหมายนี้จะใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมาย 6 เดือนเท่านั้น เพราะเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้ทันปลายปีนี้ แล้วบังคับใช้ในปี 2562 

 

เมื่อวินัยจราจรถึงทางตัน!? ตร.ดันกฎตัดแต้มถอน'ใบขับขี่'

 

          พล.ต.ต.เอกรักษ์ บอกว่า ตอนนี้ประเทศไทยติดอันดับโลกที่มีผู้เสียชีวิตอุบัติเหตุจากท้องถนนสูงที่สุด ถนนที่อันตรายที่สุดในโลกก็อยู่ในประเทศไทย การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดในโลกก็อยู่ในประเทศไทย โดยทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้แก้ไขเร่งด่วน จึง​ให้ความสำคัญกับเรื่องกฎหมายจราจร โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้รับนโยบายมาว่าจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร เพราะโรคนี้ป่วยมานานหลายปีแล้ว คงต้องใช้ยาหลายตัว แต่ทว่ายาตัวไหนที่จะรักษาอาการนี้ได้ วันนี้มองว่าการตัดคะแนนความประพฤติน่าจะรักษาอาการนี้ได้ เพียงแต่กระบวนการนิติบัญญัติต้องใช้เวลาผ่านการพิจารณาจากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ และเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ เราใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมาย 6 เดือนเท่านั้น เพราะเป็นวาระเร่งด่วน เมื่อไปถึงคณะรัฐมนตรีแล้วก็จะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นก็บรรจุเป็นวาระเลย เพื่อให้ทันปลายปีนี้ แล้วบังคับใช้ในปีหน้า 

 

เมื่อวินัยจราจรถึงทางตัน!? ตร.ดันกฎตัดแต้มถอน'ใบขับขี่'

 

          ถึงกระนั้นการแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ หากนำไปใช้จริงในปี 2562 แล้ว จะต้องมีการประเมินผล ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี เพื่อดูว่าการปรับแก้ครั้งนี้ได้ผลหรือไม่ อุบัติเหตุลดน้อยลงแค่ไหน มีผู้กระทำผิดมากน้อยอย่างไร หากปรับแก้แล้วแต่ยังไม่เป็นผล ก็อาจต้องนำ “ศาลจราจร” มาบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ “ศาลยุติธรรม” อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ ซึ่งจะศึกษาคู่ขนานกับการประเมินผลการตัดคะแนน เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่า กระบวนการที่นำมาใช้ระหว่างตำรวจกับประชาชนไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ ตำรวจจราจรก็พยายามปรับปรุงมาตรฐานให้สูงขึ้น เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวกัน ในวัฒนธรรมของคนไทย ถ้าเกิดมีคนกลางมาตัดสิน คู่ขัดแย้งจะยอมรับมากกว่า ตอนนี้ประชาชนกับตำรวจจราจรเป็นคู่ขัดแย้งกัน สิ่งที่ดีที่สุดคือให้คนกลางมาตัดสิน ถ้าไปถึงตรงนั้นจริงๆ เชื่อว่าประชาชนจะยอมรับตามพยานหลักฐาน และเชื่อว่าคนจะไม่ทำผิดอีก แต่จะให้เป็นหนทางสุดท้าย เพราะคงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างวุ่นวาย และเป็นภาระกับประชาชน

 

เมื่อวินัยจราจรถึงทางตัน!? ตร.ดันกฎตัดแต้มถอน'ใบขับขี่'

 

          เมื่อพูดถึงแนวทางการแก้กฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้นและบังคับใช้ในปี 2562 แล้ว ฟากฝั่งผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เห็นด้วย พร้อมกับเห็นด้วยที่ยกเลิกไม่ยึดใบขับขี่ เพราะถ้าเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะหรือรถแท็กซี่จะต้องใช้ขับขี่ ซึ่งด้านหลังบัตร มีรหัสกำกับบัตร แถบแม่เหล็ก (Magnetic Strip) รองรับการใช้งานกับเครื่องแสดงตัวตนในการขับรถ เช่น เครื่องรูดบัตรของรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกขนส่ง ทั้งรถบรรทุกวัตถุอันตราย และรถบรรทุกสิบล้อขึ้นไป รถแท็กซี่ หรือรถในกลุ่มเป้าหมายตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศบังคับใช้ เพราะถ้าหากใบขับขี่ถูกยึดก็จะไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนเรื่องการจัดตั้งศาลจราจร มองว่าอาจจะยุ่งยากเกินไปสำหรับประชาชนที่จะต้องไปขึ้นศาล เนื่องจากอาจไม่มีเวลา แต่ควรให้ตำรวจออกใบสั่งแล้วไปจ่ายค่าปรับจะสะดวกกว่า

          เหนือสิ่งอื่นใดแม้จะมีกฎหมายมาบังคับใช้ หากยังฝ่าฝืนไม่เคารพกฎระเบียบ ขาดวินัยและน้ำใจในการใช้รถใช้ถนน ต่อให้มีผู้วิเศษ หรือเทวดานางฟ้าก็ไม่อาจแก้ปัญหาจราจรได้ทั้งหมด..!!
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ