คอลัมนิสต์

สังคมเชียร์โทษประหาร เพราะติดคุกไม่นานก็ออกมาเดินปร๋อ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สังคมกระหน่ำเชียร์โทษประหาร ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่มีมูลเหตุที่ีทำให้เขาคิดเช่นนั้น แล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร : ปกรณ์ พึ่งเนตร ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22


    อีกหนึ่งประเด็นที่ยังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย ก็คือ "ประเทศไทยควรมีโทษประหารต่อไปหรือไม่?" ซึ่งจากการทำโพลล์อย่างไม่เป็นทางการของสื่อหลายสำนัก พบข้อมูลว่าประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 สนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิต เพราะเชื่อว่าจะส่งผลควบคุมอาชญากรรมร้ายแรงให้ลดน้อยลงได้ 

ส่วนฝั่งที่คัดค้านเรื่องโทษประหารชีวิต ส่วนมากเป็นนักสิทธิมนุษยชน และนักอาชญาวิทยา เพราะงานวิจัยหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า การมีโทษประหารไม่ได้มีผลให้อาชญากรรมลดลง และไม่ได้ยับยั้งผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยกเลิกการกระทำ เพราะกลัวโทษประหาร 

    เรื่องนี้เถียงกันอย่างไรก็ไม่จบ เพราะแต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลสนับสนุนของตนเอง แต่ยังมีข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก เป็นข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายซึ่งทำงานอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน ได้ศึกษาเอาไว้ 

    ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บอกว่า สาเหตุสำคัญที่สังคมไทยสนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิต เพราะหากลงโทษผู้กระทำผิดแบบอื่น โดยเฉพาะ "โทษจำคุก" สังคมจะรู้สึกว่าผู้กระทำผิดได้รับโทษไม่สาสมกับการกระทำ โดยเฉพาะคดีฆ่าข่มขืน ฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ เช่น คดีฆ่าหันศพของ "ทีมเปรี้ยว" หรือ คดีข่มขืนเด็กหญิง แล้วโยนทิ้งจากตู้รถไฟ 

    คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญเหล่านี้ หลายคดีศาลไม่ได้พิพากษาประหารชีวิต แต่พิพากษาจำคุก ไม่ว่าจะเป็นจำคุกตลอดชีวิต จำคุก 50 ปี จำคุก 25 ปี ฯลฯ ทว่าเวลาผู้กระทำผิดเข้าไปใช้กรรมในเรือนจำ กลับติดคุกเพียงไม่นานก็ออกมาเดินปร๋อนอกคุก เช่น โทษจำคุกตลอดชีวิต แต่อาจติดจริงแค่ 10 กว่าปีเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น จุดนี้เองที่ทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม มองว่ากระบวนการยุติธรรมหย่อนยาน ทำให้อาชญากรได้ใจ สุดท้ายจึงสนับสนุนให้คงโทษประหารชีวิตเอาไว้ 

สำหรับสาเหตุที่ผู้กระทำผิดหรือนักโทษถูกศาลตัดสินจำคุกแล้ว แต่ปรากฏว่าไปอยู่ในคุกไม่นานก็ได้อิสระออกมาใช้ชีวิตสบายอยู่ข้างนอก หรือบางรายก็กระทำผิดซ้ำ กลับเข้าไปคุกอีก เหมือนผู้ก่อคดีข่มขืนหลายๆ คดี ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บอกว่า เป็นเพราะนโยบาย "ลดวันต้องโทษ" ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 52 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งการลดวันต้องโทษ และการพักโทษ  

    หลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษ ก็คือ ถ้าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษเดือนละ 5 วัน นักโทษชั้นดีมาก ได้ลดโทษเดือนละ 4 วัน นักโทษชั้นดี ได้ลดโทษเดือนละ 3 วัน นี่คือได้เป็นอัตโนมัติ นอกจากการเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ชั้่นดีมาก และชั้นดี จะได้ลดวันต้องโทษแล้ว การออกไปทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เช่น การขุดลอกคูคลอง ลอกท่อระบายน้ำ ก็จะได้รับการลดโทษเป็นจำนวนวันเท่ากับจำนวนที่ออกทำงานสาธารณะด้วย ทั้งยังมีโอกาสได้รับการพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษในวันสำคัญต่างๆ อีกมาก 

สังคมเชียร์โทษประหาร   เพราะติดคุกไม่นานก็ออกมาเดินปร๋อ?

    อัตราการลดโทษที่ว่านี้ ถือว่ามากเกินไปหรือไม่ ลองยกตัวอย่าง "คดีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ" ซึ่งศาลสั่งลงโทษจำคุก 34 ปี 6 เดือน หากได้ลดโทษตามเกณฑ์สูงสุดของกรมราชทัณฑ์ คือเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมตลอด จะติดคุกจริงกี่ปี คำนวณง่ายๆ แบบนี้ โทษจำคุก 34 ปี 6 เดือน คิดเป็นเดือนก็เท่ากับ 414 เดือน ถ้าได้ลดโทษเดือนละ 5 วัน (นักโทษชั้นเยี่ยม) จะลดโทษไป 2,070 วัน หรือ 69 เดือน นั่นก็คือเกือบ 6 ปี นี่แค่การเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมอย่างเดียว ได้ลดไปแล้วเกือบๆ 6 ปี ยังไม่นับการออกไปทำงานสาธารณะ และการลดโทษในโอกาสพิเศษต่างๆ อีก 

สังคมเชียร์โทษประหาร   เพราะติดคุกไม่นานก็ออกมาเดินปร๋อ?

    อดีตผู้พิพากษาอาวุโสรายหนึ่ง ให้แง่คิดว่า การออกกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อลดวันต้องโทษของกรมราชทัณฑ์ จริงๆ แล้วมีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลหรือไม่ เพราะศาลและผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีได้เห็นหลักฐาน เห็นพฤติการณ์ของจำเลยมาตั้งแต่ต้น ก่อนจะชั่งน้ำหนักแล้วพิจารณากำหนดโทษ ซึ่งบางคดีก็ลดโทษให้ไปแล้ว เช่น ลดจากประหารชีวิต เป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่พอคนเหล่านี้เข้าเรือนจำ กลับได้รับสิทธิ์ "ลดวันต้องโทษ" ทำให้ติดคุกจริงไม่ครบตามจำนวนปีที่ศาลพิพากษา 

    สำหรับสาเหตุที่กรมราชทัณฑ์มีหลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษ ทางราชทัณฑ์ชี้แจงว่า เป็นการจูงใจให้นักโทษกลับเนื้อกลับตัว กระทำความดี จะได้ออกจากคุกเร็วๆ แต่จากสถิติของกรมราชทัณฑ์เองกลับพบว่า นักโทษที่พ้นโทษออกไป มีโอกาสกระทำผิดซ้ำ และหวนกลับสู่เรือนจำมากถึงเกือบ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 23 คำถามก็คือตัวเลขสูงแบบนี้ คุ้มหรือไม่ กับการได้สิทธิ์ลดวันต้องโทษ 

    อดีตผู้พิพากษาอาวุโส บอกด้วยว่า ไม่ได้คัดค้านเรื่องการ "ลดวันต้องโทษ" เพราะกฎหมายก็ให้อำนาจกรมราชทัณฑ์ในการพิจารณาได้ แต่กระบวนการพิจารณาควรมีศาลหรือผู้พิพากษาที่ร่วมตัดสินคดีนั้นร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีข้อมูลของนักโทษรายนั้นๆ มากที่สุด 

    ข้อสังเกตนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ที่บอกว่า การออกมาตรการห้ามลดโทษจำคุกกับการกระทำความผิดบางประเภท เช่น ฆ่าข่มขืนอย่างโหดเหี้ยมทารุณ อาจจะได้ผลกว่าการคงโทษประหารชีวิตเอาไว้ เพราะการติดคุกนานๆ หรือติดแบบไม่มีวันออก มีผลต่อจิตใจและสร้างความหวาดกลัวได้มากกว่าการประหารชีวิต
------

รายงานโดย   "ปกรณ์ พึ่งเนตร"


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ