คอลัมนิสต์

สังคมเชียร์โทษประหารเพราะติดคุกไม่นานก็ออกมาเดินปร๋อ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สังคมเชียร์โทษประหารเพราะติดคุกไม่นานก็ออกมาเดินปร๋อ? : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย...  ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

          อีกหนึ่งประเด็นที่ยังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย ก็คือ “ประเทศไทยควรมีโทษประหารต่อไปหรือไม่ ?” ซึ่งจากการทำโพลล์อย่างไม่เป็นทางการของสื่อหลายสำนัก พบข้อมูลว่าประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 สนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิต เพราะเชื่อว่าจะส่งผลควบคุมอาชญากรรมร้ายแรงให้ลดน้อยลงได้

          ส่วนฝ่ายที่คัดค้านเรื่องโทษประหารชีวิต ส่วนมากเป็นนักสิทธิมนุษยชน และนักอาชญาวิทยา เพราะงานวิจัยหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า การมีโทษประหารไม่ได้มีผลให้อาชญากรรมลดลง และไม่ได้ยับยั้งผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยกเลิกการกระทำ เพราะกลัวโทษประหาร

          เรื่องนี้เถียงกันอย่างไรก็ไม่จบ เพราะแต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลสนับสนุนของตนเอง แต่ยังมีข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก เป็นข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายซึ่งทำงานอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน ได้ศึกษาเอาไว้

          ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บอกว่า สาเหตุสำคัญที่สังคมไทยสนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิต เพราะหากลงโทษผู้กระทำผิดแบบอื่น โดยเฉพาะ “โทษจำคุก” สังคมจะรู้สึกว่าผู้กระทำผิดได้รับโทษไม่สาสมกับการกระทำ โดยเฉพาะคดีฆ่าข่มขืน ฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ เช่น คดีฆ่าหั่นศพของ “ทีมเปรี้ยว” หรือ คดีข่มขืนเด็กหญิง แล้วโยนทิ้งจากตู้รถไฟ

          คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญเหล่านี้ หลายคดีศาลไม่ได้พิพากษาประหารชีวิต แต่พิพากษาจำคุก ไม่ว่าจะเป็นจำคุกตลอดชีวิต จำคุก 50 ปี จำคุก 25 ปี ฯลฯ ทว่าเวลาผู้กระทำผิดเข้าไปใช้กรรมในเรือนจำ กลับติดคุกเพียงไม่นานก็ออกมาเดินปร๋อนอกคุก เช่น โทษจำคุกตลอดชีวิต แต่อาจติดจริงแค่ 10 กว่าปีเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น จุดนี้เองที่ทำให้สังคมไม่เชื่อมั่น มองว่ากระบวนการยุติธรรมหย่อนยาน ทำให้อาชญากรได้ใจ สุดท้ายจึงสนับสนุนให้คงโทษประหารชีวิตเอาไว้

 

          สำหรับสาเหตุที่ผู้กระทำผิดหรือนักโทษถูกศาลตัดสินจำคุกแล้ว แต่ปรากฏว่าไปอยู่ในคุกไม่นานก็ได้อิสระออกมาใช้ชีวิตสบายอยู่ข้างนอก หรือบางรายก็กระทำผิดซ้ำ กลับเข้าไปคุกอีก เหมือนผู้ก่อคดีข่มขืนหลายๆ คดี ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บอกว่า เป็นเพราะนโยบาย “ลดวันต้องโทษ” ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 52 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งการลดวันต้องโทษ และการพักโทษ 

          หลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษ ก็คือ ถ้าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษเดือนละ 5 วัน นักโทษชั้นดีมาก ได้ลดโทษเดือนละ 4 วัน นักโทษชั้นดี ได้ลดโทษเดือนละ 3 วัน นี่คือได้เป็นอัตโนมัติ นอกจากการเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก และชั้นดี จะได้ลดวันต้องโทษแล้ว การออกไปทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เช่น การขุดลอกคูคลอง ลอกท่อระบายน้ำ ก็จะได้รับการลดโทษเป็นจำนวนวันเท่ากับจำนวนที่ออกทำงานสาธารณะด้วย ทั้งยังมีโอกาสได้รับการพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษในวันสำคัญต่างๆ อีกมาก

          อัตราการลดโทษที่ว่านี้ ถือว่ามากเกินไปหรือไม่ ลองยกตัวอย่าง “คดีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ” ซึ่งศาลสั่งลงโทษจำคุก 34 ปี 6 เดือน หากได้ลดโทษตามเกณฑ์สูงสุดของกรมราชทัณฑ์ คือเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมตลอด จะติดคุกจริงกี่ปี คำนวณง่ายๆ แบบนี้ โทษจำคุก 34 ปี 6 เดือน คิดเป็นเดือนก็เท่ากับ 414 เดือน ถ้าได้ลดโทษเดือนละ 5 วัน (นักโทษชั้นเยี่ยม) จะลดโทษไป 2,070 วัน หรือ 69 เดือน นั่นก็คือเกือบ 6 ปี นี่แค่การเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมอย่างเดียว ได้ลดไปแล้วเกือบๆ 6 ปี ยังไม่นับการออกไปทำงานสาธารณะ และการลดโทษในโอกาสพิเศษต่างๆ อีก

 

สังคมเชียร์โทษประหารเพราะติดคุกไม่นานก็ออกมาเดินปร๋อ?

 

          อดีตผู้พิพากษาอาวุโสรายหนึ่ง ให้แง่คิดว่า การออกกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อลดวันต้องโทษของกรมราชทัณฑ์ จริงๆ แล้วมีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลหรือไม่ เพราะศาลและผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีได้เห็นหลักฐาน เห็นพฤติการณ์ของจำเลยมาตั้งแต่ต้น ก่อนจะชั่งน้ำหนักแล้วพิจารณากำหนดโทษ ซึ่งบางคดีก็ลดโทษให้ไปแล้ว เช่น ลดจากประหารชีวิต เป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่พอคนเหล่านี้เข้าเรือนจำ กลับได้รับสิทธิ์ “ลดวันต้องโทษ” ทำให้ติดคุกจริงไม่ครบตามจำนวนปีที่ศาลพิพากษา

          สำหรับสาเหตุที่กรมราชทัณฑ์มีหลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษ ทางราชทัณฑ์ชี้แจงว่า เป็นการจูงใจให้นักโทษกลับเนื้อกลับตัว กระทำความดี จะได้ออกจากคุกเร็วๆ แต่จากสถิติของกรมราชทัณฑ์เองกลับพบว่า นักโทษที่พ้นโทษออกไป มีโอกาสกระทำผิดซ้ำ และหวนกลับสู่เรือนจำมากถึงเกือบ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 23 คำถามก็คือตัวเลขสูงแบบนี้ คุ้มหรือไม่ กับการได้สิทธิ์ลดวันต้องโทษ

          อดีตผู้พิพากษาอาวุโส บอกด้วยว่า ไม่ได้คัดค้านเรื่องการ “ลดวันต้องโทษ” เพราะกฎหมายก็ให้อำนาจกรมราชทัณฑ์ในการพิจารณาได้ แต่กระบวนการพิจารณาควรมีศาลหรือผู้พิพากษาที่ร่วมตัดสินคดีนั้นร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีข้อมูลของนักโทษรายนั้นๆ มากที่สุด

          ข้อสังเกตนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต ที่บอกว่า การออกมาตรการห้ามลดโทษจำคุกกับการกระทำความผิดบางประเภท เช่น ฆ่าข่มขืนอย่างโหดเหี้ยมทารุณ อาจจะได้ผลกว่าการคงโทษประหารชีวิตเอาไว้ เพราะการติดคุกนานๆ หรือติดแบบไม่มีวันออก มีผลต่อจิตใจและสร้างความหวาดกลัวได้มากกว่าการประหารชีวิต

          คงโทษประหาร ไทยได้หรือเสีย?
          การประหารชีวิตนักโทษวัย 26 ปีรายล่าสุด โดยใช้วิธี “ฉีดสารพิษเข้าร่างกาย” ซึ่งนับเป็นรายที่ 7 แล้วที่ถูกประหารด้วยวิธีนี้ หลังจากเปลี่ยนวิธีประหารชีวิตจาก “ยิงเป้า” เป็น “ฉีดสารพิษ” เมื่อปี 2546

          ประเด็นที่กลายเป็นดราม่าก็คือ การประหารชีวิตนักโทษครั้งนี้ เป็นการประหารหลังจากเว้นว่างไปเกือบ 9 ปี นับจากการประหารครั้งสุดท้ายเมื่อ 24 สิงหาคม 2552 ทั้งๆ ที่หากไม่มีการประหารชีวิตจริงๆ เลยครบ 10 ปี ประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับเป็น “ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ” ตามการประกาศของสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น โดยอัตโนมัติ ทำให้บางฝ่ายมองว่าไทยเสียโอกาส

          แต่จากการตรวจสอบข้อมูลกับนักกฎหมายและนักอาชญาวิทยา พบว่า การจะบอกว่าไทยเสียโอกาสในเรื่องนี้ ก็ไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เพราะการจะเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตจริงๆ ต้องแก้ “กฎหมายภายใน” ของเราเองด้วย หากยังมีกฎหมายคงโทษประหารชีวิตอยู่ แต่ไม่ประหารจริงเกิน 10 ปี ก็จะเป็นเพียง “ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ” เท่านั้น แม้จะทำให้ดู “ศิวิไลซ์” ขึ้นระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว ประเทศศิวิไลซ์หลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐ หรือสิงคโปร์ ก็ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นกัน

          ส่วนผลกระทบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น อาจมีบ้างในกระบวนการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากไทยไปขอผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว ทางประเทศผู้ถูกขออาจพิจารณาไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยยังมี “โทษประหารชีวิต” แต่ความเข้มข้นของเงื่อนไขนี้มีไม่มากนัก และไม่ได้เป็นบรรทัดฐานที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม

          ข้อมูลจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ระบุว่า มีประเทศถึง 142 ประเทศ หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของโลก ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมาย หรือในทางปฏิบัติแล้ว แต่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศส่วนน้อยที่ยังคงโทษประหารชีวิตอยู่

          การเดินหน้าบังคับโทษประหารชีวิตครั้งนี้ ทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยมีโอกาสบังคับโทษประหารชีวิตกับนักโทษคนอื่นๆ อีกในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากปัจจุบันมีนักโทษต้องคำพิพากษาประหารชีวิตในทุกประเภทความผิดและทุกชั้นศาล จำนวน 517 คน แยกเป็นนักโทษชาย 415 คน นักโทษหญิง 102 คน หากนับเฉพาะ “นักโทษเด็ดขาด” ที่คดีถึงที่สุดแล้ว ก็มีถึง 200 คน
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ