คอลัมนิสต์

โทษประหาร ควรมีหรือไม่? ข้อถกเถียงที่ยังไม่จบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โทษประหาร ควรมีหรือไม่? ข้อถกเถียงที่ยังไม่จบ : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  จักรวาล ส่าเหล่ทู

 

          ภายหลังที่กรมราชทัณฑ์บังคับโทษประหารชีวิตเด็ดขาด นช.ธีรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี ในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์โดยผู้ต้องหาได้แทงเหยื่อร่วม 24 แผลก่อนที่จะชิงโทรศัพท์มือถือและกระเป๋าสตางค์ไปที่สวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 จ.ตรัง

          เรื่องนี้ถือเป็นข่าวใหญ่มากๆ สำหรับประเทศไทยเพราะแม้โทษประหารชีวิตจะยังคงมีอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายไทย ทว่าการบังคับใช้จริงๆ ก็ไม่มีมานานมากถึง 9 ปี โดยครั้งล่าสุดนี้ใช้วิธีฉีดยาเกิดขึ้นเมื่อปี 2552 เวลาที่เนิ่นนานผ่านไปจนหลายๆ คนคิดว่าโทษนี้มีแค่เพียงในกฎหมายเท่านั้นทำให้พลาดโอกาสในการเป็นประเทศที่ละเว้นโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติในรอบ 10 ปี

          นอกจากนี้ทั้งไทยเองก็เคยให้คำมั่นสัญญากับนานาประเทศว่าจะดำเนินตามมาตรการต่างๆ เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยสมบูรณ์ในระหว่างการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทยตามกลไก Universal Periodic Review เมื่อปี 2559 อีกทั้งยังย้ำคำมั่นสัญญาได้แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติฉบับที่ 3 แต่แล้วโทษนี้ก็กลับมาโดยที่ไม่ได้มีสัญญาณมาก่อนแดนนักโทษประหารเริ่มมีความตึงเครียดอีกครั้ง

          แต่แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้ถูกจุดประเด็นไปสองฟากคือ “ไม่ควรมีโทษประหารชีวิต” และ “สมควรให้มีโทษนี้ต่อไป” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานมากๆ ทว่าไม่ยังไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าความเห็นฝั่งไหนจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

          ฟากที่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตเหตุผลหลักๆ ก็คือเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเรื่องของสิทธิการมีชีวิตอยู่ของทุกๆคนโดยไม่คำนึงถึงสภาพชาติพันธุ์ชาติกำเนิดหรือศาสนาซึ่งการพรากชีวิตผู้อื่นถือเป็นการละเมิดในเรื่องดังกล่าว

          นอกจากนี้ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนระบุชัดเจนว่าการกำหนดโทษประหารชีวิตนั้นจะทำให้อัตราการทำความผิดลดลงหรือทำให้สังคมมีความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่ต้องโทษดังกล่าวไม่ว่าจะประเทศไหนก็มักจะเป็นประชาชนชั้นผู้น้อยที่มีฐานะยากจนไม่มีทุนทรัพย์ในการจ้างทนายดีๆ มาคอยแก้ต่าง หรือช่วยในคดีทำให้เขาต้องโทษในที่สุด

          อีกประการก็คือคนที่ต้องโทษเหล่านี้อาจจะโตในสังคมที่ไม่ได้ดีพร้อมหากเขาได้รับโอกาสที่ดีก็อาจคืนคนดีสู่สังคมได้ซึ่งก็ถือเป็นแนวคิดหนึ่งของคนที่ค้านโทษประหารเช่นกัน

          อีกทั้งการตัดสินประหารชีวิตเมื่อทำไปแล้วไม่สามารถย้อนคำตัดสินได้ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศไปแล้ว กล่าวคือทางศาลตัดสินประหารชีวิตนักโทษเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อมีกระบวนการรื้อฟื้นคดีกลายเป็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดจริงเคสแบบนี้ไม่ว่าจะให้ชดใช้อย่างไรก็ไม่สามารถปลุกให้ผู้บริสุทธิ์ฟื้นอย่างแน่นอน

          สำหรับฝ่ายที่เห็นว่าควรมีโทษประหารชีวิตต่อไปนั้นก็คงจะไม่พ้นแนวคิดเรื่องของตาต่อตาฟันต่อฟันชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตเพราะว่าเหยื่อบางรายก็ถูกพรากชีวิตไปโดยที่ไม่ได้ถูกสนใจไยดีในการร้องขอชีวิตรวมถึงเป็นการทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตรู้สึกได้รับความเป็นธรรม

          โดยทางครอบครัวของเหยื่อคดีนี้เปิดเผยความรู้สึกต่อสื่อว่าหลังจากที่รอคอยมา 6 ปีสุดท้ายเขาก็ได้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถทำได้จริง

          นอกจากนี้แม้การคงโทษประหารชีวิตยังไม่ได้มีงานวิจัยหรือการทดลองไหนรับรองได้ว่าจะสามาถลดอาชญากรรมได้ฉันใด การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้ยังไม่มีงานวิจัยรองรับในเรื่องนี้เช่นกันหลายๆคนจึงมองว่าด้วยสภาพสังคมไทยนั้นการคงโทษเช่นนี้ไว้ก็น่าจะทำให้คนกลัวได้หรือการบังคับใช้จริงๆ ก็จะตรงกับสุภาษิตไทยว่า “เชือดไก่ให้ลิงดู”

          และอีกประเด็นสำคัญที่อาจทำให้คนค้านโทษประหารชีวิตพูดค้านได้ไม่เต็มปากก็คือถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของพวกเขาเองเขาจะยังคงค้านโทษประหารชีวิตหรือไม่ ซึ่งการให้อภัยกับเคสเหล่านี้ถือว่าต้องใช้ใจที่กว้างมากๆ

          แน่นอนนี่ก็คือความเห็นของทั้งสองฝ่ายที่จะยังคงเป็นที่ถกเถียงทุกๆ ครั้งเมื่อเกิดคดีที่สะเทือนใจหรือว่ามีคำตัดสินดังกล่าวซึ่งเรื่องแบบนี้เถียงอย่างไรก็ไม่จบเพราะต่างคนก็ต่างมุมมอง แต่อย่างน้อยๆ ทั้งสองมุมมองย่อมมีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำอย่างไรให้การกระทำผิดลดน้อยลงไป...

          เมื่อพูดถึงจุดมุ่งหมายแล้วถ้าคิดดีๆ กฎหมายไทยมีทั้งโทษที่รุนแรงขั้นประหารชีวิตชัดเจนแต่ทำไมการกระทำผิดยังคงมีอยู่เรื่อยๆหรือนั่นอาจเป็นเพราะสังคมเราเองขาดในเรื่องของความแน่นอนว่าจะถูกลงโทษ (certainty of punishment) กันแน่?

          อย่าลืมว่าท่ามกลางเสียงถกเถียงเรื่องดังกล่าวก็ยังคงมีประเด็นที่ว่าอย่างไรเสียโทษหนักคนที่โดนมักจะเป็นคนจนหรือคนด้อยโอกาสในขณะที่คนใหญ่โตแม้จะโดนโทษหนักแต่ก็ยังได้รับการประกันตัวยังคงอยู่ในสังคมได้ตามปกติแบบค้านสายตา

          หรือจริงๆ แล้วเราควรจะเรียกร้องเรื่องนี้มากกว่าการเพิ่มโทษที่หนักขึ้นกว่าเก่า...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ