คอลัมนิสต์

แกะรอย... "เกมดูด" มีอะไรซ่อนอยู่??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เกมดูด" ของฝ่าย คสช. ที่กำลังทำพรรคเพื่อไทย "วุ่นวายที่สุด ปั่นป่วนที่สุด ยับเยินที่สุด" มีอะไรซ่อนอยู่...??

                 จากวันแรกๆ ที่แอบดูด วันนี้ “ดูด” ให้เห็นกันชัดๆ พร้อมเปิดตัวโชว์เครือข่ายปฏิบัติการ “ดูด”

                 จากวันแรกๆ ที่มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าแกนนำคนสำคัญของปฏิบัติการ “ดูด” คือกลุ่มนักการเมือง ส. อันได้แก่ สมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สุชาติ ตันเจริญ ซึ่งดีลผ่านรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และอีก ส. คือ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดมีการเปิดตัวออกมาเป็น “กลุ่มสามมิตร” 

                 “ภิรมย์ พลวิเศษ” อดีตส.ส.โคราช พรรคภูมิใจไทย ตัวเดินเกมดูดอีกคนออกมาเฉลยเองว่า ชื่อนี้ “สุริยะ” เป็นผู้ให้มา ซึ่งมาจากชื่อธุรกิจของตระกูลแต่ตั้งเดิม ก่อนจะมาเป็น “เครือซัมมิท” และที่ตั้งชื่อ “สามมิตร” เพราะต้องการสะท้อนแกนนำคนสำคัญ 3 คนของกลุ่ม คือ สุริยะ สมศักดิ์ และสมคิด

                 สำหรับปฏิบัติการดูดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ทางการเมือง เราลองมาแกะรอยเข้าไปในเกมดูด เพื่อดูว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในเกมนี้บ้าง

แกะรอย... "เกมดูด" มีอะไรซ่อนอยู่??

                 **ดูดเพื่อให้ “บิ๊กตู่” ได้ไปต่อ

                 ถึงวันนี้คงไม่ต้องพูดอะไรกันอีกแล้วสำหรับความพยายามในการผลักดันให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะยึดอำนาจในนามคสช.กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้น “ไม่ให้เสียของ” และชัดเจนว่าจะใช้วิธีใส่ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ไว้ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหา “นายกฯ คนนอก”

                 อีกอย่างถ้าจะรอเป็น “นายกฯ คนนอก” ก็เสี่ยงเกินไป เพราะต้องรอก๊อกสอง คือเลือกคนที่อยู่ในบัญชีไม่ได้ก่อนและต้องใช้เสียงส.ส.และ ส.ว.มากถึง 500 จาก ทั้งหมด 750 คน

                 นี่จึงเป็นเหตุผลที่ฝ่ายคสช.ต้องมีพรรคการเมืองและต้องปฏิบัติการ “ดูด” ซึ่งถึงวันนี้คาดกันว่าพรรคนั้นคือ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่มีการไปจดแจ้งไว้แล้ว

  

                 **เพื่อไทยโดนทึ้ง 

                 เกมดูดก็คือเกมตกปลาในอ่าง พรรคที่มี ส.ส.มาก จึงย่อมมีโอกาสโดนตกปลาไปมาก ซึ่งก็คือพรรคเพื่อไทย และถ้าพูดกันตรงๆ ก็ต้องบอกว่าอีกเป้าหมายในเกมดูด คือ เพื่อลดขนาดพรรคเพื่อไทย

                 พื้นที่ที่ “ดูด” กันคึกคักคือ โซนภาคกลาง อีสาน และเหนือบางส่วน

                 กลุ่มแรกที่เห็นชัดคือ “ตระกูลสะสมทรัพย์” ที่นครปฐม ที่มีการเปิดสนามกอล์ฟต้อนรับ “บิ๊กตู่” และคณะ ถึงแม้ว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนออกมา แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่รอด

                 ที่ฮือฮาอีกรอบคือ ที่ “ภิรมย์ พลวิเศษ” เอาโพยมาแจกว่ามีอดีต ส.ส.และส.ว. รวม 54 คน ที่จะมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ถึงแม้ว่าจะมีบางคนออกมาปฏิเสธ แต่ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ “มีมูล”

                 "โคราช” จังหวัดที่มีส.ส.มากถึง 14 คน เป็นอีกพื้นที่ที่กำลัง “ดูด” กันอย่างคึกคักบ้างไปแล้ว บ้างอยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งส่วนใหญ่ก็คืออดีต ส.ส.ของฝั่งเพื่อไทย

                 รายล่าสุดคือที่เมืองเลยที่ “สมศักดิ์” กับ “สุริยะ” เดินทางไปหาด้วยตัวเอง แต่จะว่าไปแล้ว “ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข” อดีต ส.ส.13 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ใน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เจ้าถิ่นเมืองเลยคนนี้ก็เป็น “คนกันเอง” กับสมศักดิ์ เคยอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่พรรคกิจสังคม

                 "ประยุทธ์ ศิริพานิชย์" อดีต ส.ส.มหาสารคาม และอดีตรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า ตอนนี้เพื่อไทยกำลังเจอศึกหนักที่สุด โดยเขาบอกว่าตั้งแต่เป็นนักการเมืองมา 40 ปี ไม่เคยเจอหนักขนาดนี้

                 “วุ่นวายที่สุด ปั่นป่วนที่สุด ยับเยินที่สุด” 

 

แกะรอย... "เกมดูด" มีอะไรซ่อนอยู่??

                 ประยุทธ์ บอกว่า ตอนนี้ “พรรคพลังประชารัฐ” กำลังบุกอย่างหนักที่ภาคอีสาน อดีต ส.ส.อีสานของพรรคโดน “พยายามดูด” แล้วมากกว่า 40 คนแล้ว และคงไม่หยุดแค่นี้ คงจะไปทุกพื้นที่ สิ่งที่ทางพรรคเพื่อไทยทำได้คือ “พยายามดึง”

                 “เขาไปทุกจังหวัด พยายามชวนทุกคนที่รู้จัก ที่คุ้นเคย ตอนนี้เรา(พรรคเพื่อไทย)ก็พยายามไปพูดคุยกับคนที่กำลังจะโดนดูด เราก็พยายามไปพูดคุยเพื่อดึงไว้ ก่อนนี้เขาได้ภาคกลางไปแล้ว ตอนนี้กำลังลุยอีสาน ต่อไปก็คงเป็นภาคเหนือ” 

                 ประยุทธ์ บอกว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าคนที่ถูกชักชวนจะไปเท่าไร คงจะชัดเจนว่าใครจะไปใครจะอยู่ตอนที่ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมือง

                 อย่างไรก็ตามตอนนี้พรรคเพื่อไทยก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการออกมาพูดในทำนองว่า เป็นความพยายามสืบทอดอำนาจของคสช. ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่านักการเมืองคนไหนมีอุดมการณ์หรือไม่ และขู่ว่าใครย้ายอาจจะสอบตก 

                 “ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรคเพื่อไทยออกมาบอกว่ากระแสข่าวการดูดส.ส.เป็นปรากฏการณ์ปกติที่สะท้อนให้เห็นจุดมุ่งหมายของกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันที่ยังไม่ได้ก้าวข้ามไปจากวิถี “การเมืองน้ำเน่าแบบดั้งเดิม”

                 “ผลการเลือกตั้งระยะหลังๆ ได้สะท้อนการตัดสินใจของประชาชนคือส.ส.คนเดิมที่ถูกดูดล้วนสอบตกเกือบหมดทุกคน ทั้งนี้เพราะประชาชนผู้ลงคะแนนเขารู้ดีว่าจุดยืนของคนเหล่านี้คือเงินและผลประโยชน์ของตน ที่สำคัญได้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนย้ายจากอุดมการณ์ประชาธิปไตยเพื่อประชาชนไปสู่อุดมการณ์แบบเผด็จการของกลุ่มทหารและผู้มีอำนาจซึ่งเป็นชนชั้นนำ”

                 นอกจากดูดรายคนรายกลุ่มแล้ว จริงๆ มีความพยายามที่จะดูดยกพรรคด้วย เพียงแต่พรรคเป้าหมายไม่เล่นด้วย เพราะรู้ดีว่าหากไปรวมอยู่ในพรรคเดียวกันอำนาจต่อรองจะหายไปทันที จึงได้เห็นเพียงการจับมือทอดไมตรีต่อกัน เช่นที่การที่ดึง “ตระกูลคุณปลื้ม” เข้ามามีตำแหน่งช่วยงานในรัฐบาล การประชุมครม.สัญจรที่บุรีรัมย์ ที่ “เนวิน ชิดชอบ” เปิดสนามช้างอารีนา ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ และเกิดภาพที่เจ้าถิ่นดูแลเอาอกเอาใจ “บิ๊กตู่” จนทำให้มีการไปค้นภาพความหลังครั้งที่เนวิน เคยกอดกับทักษิณ และอภิสิทธิ์ ออกมาเตือนความจำกัน

 

                 ** "ทหาร-ทักษิณ” จอมดูด

                 เรื่อง “ดูด” ไม่ใช่เรื่องใหม่ทางการเมือง จะว่าไปแล้วเป็น “การเมืองเก่า” ด้วยซ้ำ ถ้าเรียกการดูดแบบสุภาพหน่อยก็จะบอกว่าคือการรวบรวมอดีต ส.ส.เก่าให้มาอยู่พรรคเดียวกัน

                 การดูดเกิดมาครึ่งศตวรรษแล้ว ส่วนใหญ่เกิดในยุครัฐบาลทหาร เช่น “พรรคสหประชาไทย” ของ พล.อ.ถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2511 “พรรคชาติประชาธิปไตย” ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2525 และพรรคสามัคคีธรรมที่เกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจของรสช. ที่สุดท้ายมาหนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ เมื่อปี 2535

                 การดูดในการเมืองยุคหลังและถือว่าเป็นการดูดครั้งที่ฮือฮาที่สุด คือการดูดทั้งพรรคมารวมกับพรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” หลังการเลือกตั้งปี 2544 ครั้งนั้นดูดพรรคเสรีธรรมมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ตอนนั้นนายประจวบ ไชยสาส์น เป็นหัวหน้าพรรคและดูดพรรคความหวังใหม่ของ “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อมีนาคม 2545 จนมีการเรียกทักษิณว่าเป็น “เจ้าพ่อแห่งการดูด”

 

                 **นักย้ายพรรคมืออาชีพ

                 จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา บรรดาส.ส.ที่ย้ายพรรคเพราะปฏิบัติการดูดในครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองที่ผ่านการย้ายพรรคมาแล้วหลายครั้ง ไล่ตั้งแต่หัวขบวนในปฏิบัติการดูด คือ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เขาเริ่มการเมืองจากพรรคกิจสังคม ต่อมาย้ายมาพรรคไทยรักไทย ตอนหลังไปอยู่พรรคประชาราช พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคภูมิใจไทย และกลับมาพรรคเพื่อไทยอีกครั้งเมื่อการเลือกตั้งปี 2557 ก่อนจะฉีกตัวออกมาหลังการยึดอำนาจของคสช.

                 “ปรีชา เร่งสมบูรณ์” ที่เมืองเลยก็เช่นกัน

                 รวมไปถึงที่สนามโคราช อดีตส.ส.ที่ถูกระบุว่าตัดสินใจไปอยู่พรรคพลังประชารัฐแล้ว อย่าง “วิรัช รัตนเศรษฐ” หรือตระกูล “สุวรรณฉวี” ตั้งแต่ยุค “ไพโรจน์ สุวรรณฉวี” ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ผ่านการย้ายพรรคมาหลายรอบ

 

                 **กติกาเอื้อ “นักการเมืองเก่า”

                 จากกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวแต่มีส.ส. 2 ระบบ และคิดคะแนนแบบ “ไม่ให้ตกน้ำ” คือคะแนนของคนที่แพ้ก็ยังสามารถนำไปรวมกันทั้งประเทศและไปคำนวณออกมาเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ดังนั้นหากพื้นที่ไหน “ดูด” อดีตส.ส.ครั้งที่แล้วไม่ได้ก็สามารถไปดูดอดีตผู้สมัครแถว 2-3-4 ได้เพื่อสะสมคะแนน เพราะผู้สมัครสอบตกในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ได้คะแนนเป็นหลักหมื่นทั้งนั้น นี่ยิ่งเป็นแรงจูงใจให้ปฏิบัติการ “ดูดนักการเมืองเก่า” คึกคักยิ่งขึ้น

                 บวกกับการที่คสช.ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ทำให้นักการเมืองหน้าเก่ายิ่งได้เปรียบในพื้นที่ เพราะนักการเมืองเก่าส่วนใหญ่จะมีฐานเสียงมีหัวคะแนนของตัวเองอยู่แล้ว สามารถประสานทำงานกันได้ตลอดเวลา ขณะที่นักการเมืองหน้าใหม่ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด แต่ยังขยับได้ไม่สะดวก

 

                 **ผลประโยชน์-เงื่อนไขต่อรอง

                 แน่นอนในทุกโต๊ะเจรจาต้องมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง เพียงแต่จะเป็นผลประโยชน์เพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ หรือเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น

                 ประโยคสูตรที่เป็นเหตุผลในการย้ายพรรค คือมีอุดมการณ์เดียวกัน แนวทางของพรรคมีประโยชน์จะสามารถทำประโยชน์ให้ประชาชนได้มากขึ้น มีนโยบายตอบสนองความต้องการของประชาชน

                 นอกจากเรื่องผลประโยชน์ที่มีการเจรจาต่อรองว่าจะเป็น “โล” หรือเป็น “ลัง” ว่ากันว่าอีกเรื่องที่มักถูกหยิบยกมาในการเจรจาด้วย คือ คดีความต่างๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบมาขู่ หรือหยิบมาปลอบ ดังนั้นเมื่อใครย้ายพรรค คำถามหนึ่งที่มักเกิดขึ้นคือ คนนี้มีคดีติดตัวอยู่หรือเปล่า

                 นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ถึงกรณีที่รัฐบาลจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นหลังเลือกตั้ง ส.ส. จากเดิมที่จะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนว่า นี่ก็เป็นแผนหนึ่งที่ต้องการตัวนักการเมืองท้องถิ่นมาลงสนาม ส.ส. เพื่อสะสมคะแนนให้ก่อน หากไม่ได้รับเลือกตั้ง ค่อยไปลงสนามท้องถิ่น โดยมองไปถึงกรณีที่นักการเมืองท้องถิ่นบางคนได้รับการปลดล็อกจาก คสช.ด้วย

                 “เวลาลงพื้นที่เลือกตั้งเราก็ไม่อยากให้เกิดบรรยากาศการเผชิญหน้ารุนแรง โดยเฉพาะครั้งนี้ และไม่อยากอยู่ตรงข้ามกับฝ่ายอำนาจรัฐ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจออะไรบ้าง” เสียงจากอดีต ส.ส.คนหนึ่ง ที่คาดว่าจะย้ายไปอยู่กับพรรคสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงอีกเหตุผลในการย้ายพรรค

                 ตอนนี้เป็นคิวของนักการเมืองที่จะตัดสินใจ มีเลือกตั้งเมื่อไร ถึงคิวประชาชนตัดสิน !!

 

=================

โดยสมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ