คอลัมนิสต์

ไทยต้องการ"คน"ระบบราง3หมื่นอาชีวะ-อุดมศึกษาเร่งผลิตรองรับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทยต้องการ"คน"ระบบราง3หมื่นอาชีวะ-อุดมศึกษาเร่งผลิตรองรับ : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] 

 

          ปัจจุบันมีการก่อสร้างระบบราง การขนส่งทางราง ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนด้านคมนาคมขนส่งเร่งด่วน 44 โครงการ งบกว่า 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ส่วนของอุดมศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ประมาณการความต้องการกำลังคนรวม 31,307 คน โดยจำนวนนี้มีความต้องการกำลังคนระดับช่างเทคนิค 11,479 คน และระดับวิศวกร 5,740 คน เพื่อรองรับพัฒนาและขยายระบบขนส่งทางรางของไทย

          เร่งผลิตคนรับอุตสาหกรรมระบบราง
          นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) กล่าวว่า วศรท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดทำหลักสูตรพัฒนาครูช่าง เพื่อนำความรู้ถ่ายทอดสู่บุคลากรสายช่าง ให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้และตรงต่อความต้องการตลาด มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านระบบรางจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษา ทั้งช่างซ่อมบำรุง ช่างไฟฟ้า เครื่องกล โยธา พนักงานบริการในสถานี พนักงานขายตั๋ว พนักงานต้อนรับ พนักงานดูแลชานชาลา ซึ่งขณะนี้มีการอบรมไปแล้ว 1 รุ่น รวมถึงได้สนับสนุน อบรมการเรียนการสอนร่วมกับอุดมศึกษา
 

ไทยต้องการ"คน"ระบบราง3หมื่นอาชีวะ-อุดมศึกษาเร่งผลิตรองรับ

 

          ทั้งนี้ภาคเอกชนไทย สถานประกอบการของไทย สวทน. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัย และหน่วยงานเกี่ยวกับระบบรางได้มีแนวทางในการพัฒนาด้านต่างๆ มีศักยภาพและทำได้อยู่แล้ว หากได้รับการสนับสนุน ลงทุนจากภาครัฐว่าอุตสาหกรรมระบบราง ทั้งผลิตอะไหล่ ชิ้นส่วนต่างๆ  ก็สามารถดำเนินการได้

          หลักสูตรพรีเมียมระบบขนส่งทางราง

          ขณะนี้หลักสูตรอาชีวะพรีเมียม สาขาระบบขนส่งทางราง มีหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เรียน 3 ปี เปิดสอนใน 4 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วท.วาปีปทุม โดยร่วมกับกลุ่มวิทยาลัยคู่ความร่วมมือจากจีน ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น วิทยาลัยและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน วิทยาลัยเทคนิคการรถไฟความเร็วสูงหูหนาน และวิทยาลัยการคมนาคมขนส่งสาธารณะฉงชิ่ง  นอกจากสายช่างเทคนิค วิศวกร ที่มีความรู้ทั้งด้านระบบราง และการซ่อมบำรุงต่างๆ แล้ว ในระบบขนส่งทางราง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังขาดแคลนบุคลากรอีกมากเช่นเดียวกัน

 

ไทยต้องการ"คน"ระบบราง3หมื่นอาชีวะ-อุดมศึกษาเร่งผลิตรองรับ

 

          ว.เทคนิคชลบุรีทุ่มงบ 59 ล้านบาท
          วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เป็น 1 ใน 4 วิทยาลัยที่นำร่องหลักสูตรอาชีวะพรีเมียม สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง ใช้เวลาเรียน 3 ปีโดยเรียนในประเทศไทย 2 ปีและอีก 1 ปีเรียนและฝึกทักษะวิชาชีพที่ประเทศจีน โดยในปีการศึกษา 2561 เปิดรับนักศึกษาระดับปวส.1 ในสาขางานอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม (Signaling and Telecommunication) จำนวน 40 คนขณะนี้รับนักศึกษาแล้ว 25 คน ส่วนที่เหลือกำลังเปิดรับสมัครเพิ่มเติม โดยผู้สมัครต้องจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปีที่ 3 ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น ไฟฟ้า และผู้ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เกรดเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป

 

ไทยต้องการ"คน"ระบบราง3หมื่นอาชีวะ-อุดมศึกษาเร่งผลิตรองรับ

 

          นายปริวัฒน์ ถานิสโร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กล่าวว่าวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดจำนวน 59 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อใช้การจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีการพัฒนาบุคลากรโดยส่งอาจารย์ 5 คนไปอบรมด้านระบบรางที่วิทยาลัยการคมนาคมขนส่งสาธารณะฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี และวิทยาลัยรังสิต ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางเพื่อต่อยอดการศึกษาด้วย ในปีการศึกษา 2562 และ 2563 วิทยาลัยจะขยายการรับนักศึกษาในสาขางานตู้รถไฟ (Rolling Stock) และสาขางานซ่อมบำรุงระบบราง (Track Work) ตามลำดับ

 

ไทยต้องการ"คน"ระบบราง3หมื่นอาชีวะ-อุดมศึกษาเร่งผลิตรองรับ

 

          ธุรกิจบริการไม่ต่ำกว่า 2,000 คน
          น.ส.วัชรวี จันทรประกายกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) กล่าวว่า เพื่อรองรับระบบรางต้องผลิตบุคลากรที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ต่อเนื่องเชื่อมต่อกับขนส่งโลจิสติกส์ รวมถึงการวางผังเมือง อย่างการสร้างคอนโดมิเนียมเชื่อมโยงระบบราง การบริหารทรัพยากรทางกายภาพ หรือบริหารสถานี เพื่อสร้างรายได้
   
          ซึ่งประเทศอาเซียนมีองค์กรและบริษัทต่างๆ ที่มีความต้องบุคลากรสายตรงเกี่ยวข้องกับการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบรางไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 อัตรา ขณะที่ไทยมีความต้องการปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 อัตรา แต่ขณะนี้ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการจัดการธุรกิจระบบราง

 

ไทยต้องการ"คน"ระบบราง3หมื่นอาชีวะ-อุดมศึกษาเร่งผลิตรองรับ

 

          ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ร่วมกับวิทยาลัย Luizhou College ประเทศจีน และบริษัทรถไฟฟ้า รฟท. จำกัด พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมการจัดการธุรกิจและผลิตบุคลากรที่มีองค์ความรู้การจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง ตอบสนองความต้องการของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าบนดิน และรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งก่อสร้างในปัจจุบันและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุม 76 จังหวัด รวมระยะทางมากกว่า 30,000 กิโลเมตร ผ่านย่านธุรกิจ การค้าและอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาสถานีและย่านธุรกิจโดยรอบ 76 จังหวัดไม่น้อยกว่า 400 สถานี 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ