คอลัมนิสต์

วัดใจกันยาวๆ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดใจกันยาวๆ : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  ขนิษฐา เทพจร

 

          สัญญาณที่ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งถึงนักการเมืองขั้วต่างๆ ต่อปรากฏการณ์ของการเลือกตั้ง แม้ถูกย้ำหลายครั้งว่ายังไงจะไม่ผิดไปจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562

          แต่เอาเข้าจริง “โรดแม็พเลือกตั้ง” ของ “บิ๊กตู่” ยังถูกมองว่าเอาแน่เอานอนไม่ได้ เนื่องจากกลไกทางกฎหมายและไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาจยืดช่วงเลือกตั้งนั้นออกไปอย่างน้อยอีก 5-6 เดือน

          ยกเว้นมีปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เร็วกว่า ระยะทางที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

          ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกันถึงแนวคิด “พล.อ.ประยุทธ์” ต่อเรื่องการเมือง ที่เขาพยายามส่งสัญญาณไปยังพรรคการเมืองขั้วต่างๆ ที่ขอให้คิดในมุมเดียวกัน คือ ทำเพื่อบ้านเมือง

          สำหรับบทบาทของ “รัฐบาลคสช.” ในช่วงนี้ “บิ๊กตู่” ย้ำว่า คือการทำเพื่อประเทศ ทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวาของผู้นำรัฐบาลล้วนคิดเพื่อก้าวต่อไปของชาติ​โดยชูประเด็น “งบประมาณ” เป็นตัวนำ พร้อมย้ำแนวคิดที่ว่านั้นไม่ใช่เรื่อง “การเมือง” ที่เป็นปมเหตุการทะเลาะทุกเช้า-เย็น

          เมื่อจับหัวใจและถอดรหัสคำพูดจะเห็นความแจ่มชัดที่ว่าเป้าหมายของ “รัฐบาลประยุทธ์” คืออะไร หากแปลความในภาษาทหาร นั่นหมายถึงการเดินไปตามแนวทางและแนวคิดเดียวกันเพื่อภารกิจที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยไม่สนว่าแนวทางนั้นจะต้องแลกมาด้วยอะไร

          แต่หากแปลความในภาษาการเมืองนั่นหมายถึงการบังคับให้ยอม และปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างไร้ข้อต่อรอง

          ทำให้เราได้เป็นปรากฏการณ์ของพลังดูด-ปรากฏการณ์ตกเขียว อดีตส.ส. ในช่วงโรดแม็พเลือกตั้งเริ่มขยับ และกลายเป็นเสียงสะท้อนของแกนนำพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค ที่บอกข่าวว่าเจอพลังดูด-พลังตกเขียว เข้าให้แล้ว

          และปรากฏการณ์ที่ว่านั้นสะท้อนให้เห็นเป็นภาพระหว่างการเยือนจังหวัดต่างๆ ของ “คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์” ช่วงจัดกิจกรรมประชุมครม.สัญจร หลายภูมิภาค ที่ภูมิภาคแรกที่ลงไป นักการเมืองยังสงวนท่าที และไม่ออกมาเผยหน้าให้เห็นระหว่างการลงพื้นที่

          แต่พอถึงครั้งถัดไป​ และครั้งล่าสุดนี้ กลับปรากฏภาพอดีตส.ส. และอดีต ส.ว. พาเหรดจัดคิวเข้าพบ “บิ๊กตู่” กันอย่างหนาตา แบบไม่สงวนท่าทีกันอีกต่อไป

          นั่นเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นปรากฏการณ์ “ดูด” ที่ได้ผล แม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่าปัจจัยช่วยดูดนั้นคือเงินทองก้อนโตช่วงเลือกตั้ง หรือ เก้าอี้สำคัญหลังเลือกตั้งตามที่ “อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย-ชวลิต วิชยสุทธิ์” บอกหรือไม่ แต่เป็นสิ่งที่ “คสช.” ต้องการให้เกิดภาพการยอมรับจาก “ฝ่ายการเมือง” ในบทบาทการทำงานเพื่อประเทศ

          จากเดิมที่ถูก “นักการเมือง” มองในแง่ลบอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การยึดอำนาจ-รัฐประหาร และออกกติกาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง เพื่อหวังสืบทอดอำนาจ

          และเมื่อได้รับการยอมรับจากขั้วการเมืองหนึ่งย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือการแยกขั้วการเมืองที่ชัดเจน ระหว่างฝ่ายที่ “เอา” กับ “ไม่เอา”
เมื่อแยกได้อย่างชัดเจนผ่านแกนนำพรรคการเมืองและเครือข่ายคนการเมือง ย่อมสะท้อนไปสู่ปรากฏการณ์เลือกตั้ง

          ตามที่นักวิชาการด้านการเมืองและคนการเมืองวิเคราะห์ตรงกัน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญออกแบบให้ระบบเลือกตั้งเป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม คือ การทำให้พรรคการเมืองที่เข้าสู่รัฐสภามีสภาพเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมากในสภาหินอ่อนและหมดอำนาจต่อรองกับ พลังรวมขั้ว-ศูนย์บัญชาการอำนาจ

          และภาพยิ่งปรากฏเมื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่ คสช.ที่ยังคงออกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองหาเสียงทำให้ความได้เปรียบยังคงอยู่ที่ “คสช.” ที่ได้สิทธิ์ลงพื้นที่หาความนิยมให้ “บิ๊กตู่” พร้อมจัดเต็มกับนโยบายโกยคะแนนที่อาจมีการจัดสรรปันส่วนให้ “คนการเมือง” ที่แสดงตัวว่าพร้อมจะอยู่รวมขั้วเดียวกัน

          ทั้งงบประมาณด้านช่วยเหลือและงบลุงทุนในจังหวัดต่างๆ แม้การส่งผ่านงบประมาณจะถูกจัดส่วนไปยังหน่วยงานราชการส่วนพื้นที่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน่วยงานท้องที่ยังคงอิงแอบอยู่กับ “แกนนำกลุ่มการเมือง” ที่ทรงอิทธิพลในพื้นที่ ดังนั้นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อาจจะเกิดขึ้น ทั้งการใช้งบประมาณที่แฝงการหาเสียงให้ “นักการเมือง” ในพื้นที่ก็เป็นไปได้

          ขณะที่ “พรรคการเมือง” ที่เจอภาวะแช่แข็งห้ามทำกิจกรรมการเมือง และภาวะบีบตามกฎหมาย โดยเฉพาะห้ามหาสมาชิกพรรคเพิ่มเติม ห้ามจัดประชุมพรรคเพื่อเตรียมพร้อมสู่สนามเลือกตั้ง ห้ามจัดระดมทุนจนกว่าคำสั่งคสช. จะยอมปลดล็อก

          แม้จะโวยวายและชี้ช่องให้สังคมเห็นความไม่เป็นธรรม หากเป็นภาวะปกติคงกลายเป็นเรื่องที่ “รัฐบาลถูกบี้” และกดดันจากสังคม แต่จนถึงขณะนี้ “รัฐบาลคสช.” ยังคงยึดเงื่อนไขเดิมที่พวกเขาได้เปรียบอยู่ดี

          เพราะนั่นอาจจะเป็นอีกเกมวัดใจที่ใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองไปสู่เป้าหมายของแนวทาง

          ตามที่นักวิชาการและคอการเมืองวิเคราะห์ได้คือ แนวทางนำไปสู่รัฐบาลแห่งชาติ ที่ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีฝ่ายเห็นแย้ง การเมืองต้องเดินบนถนนความสงบ-เรียบร้อย อย่างน้อย 4 ปี นับจากการเลือกตั้งที่จะมาถึง

          แต่คำว่าการเมืองที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ปรากฏการณ์ “บีบ” ด้วยยุทธวิธีด้านกฎหมาย ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ และกลยุทธ์ทางรัฐศาสตร์ แม้จะได้ผลอย่างยิ่งในตอนนี้

          เมื่อเกมการเมืองเปิดเต็มขั้น เราอาจเห็นภาพความจริงที่ย้อนแย้งกับ “ฉากหน้า” ตามที่เป็นข่าวรายวันก็เป็นได้

          งานนี้เชื่อว่าต้องวัดใจกันยาวๆ และเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งจริง ปัจจัยชี้ขาดทางการเมืองคงมีอยู่ 2 ทาง ระหว่างการยึดผลประโยชน์ทางอำนาจของกลุ่มบุคคล กับผลประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศชาติ​จะได้รับอย่างแท้จริง

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ