คอลัมนิสต์

คิดเมนูอาหารกลางวันไม่ออกบอก'Thai School Lunch'  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คิดเมนูอาหารกลางวันไม่ออกบอก'Thai School Lunch'   : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย... หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ  [email protected]

 

          ในที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี “วิชวุทย์ จินโต” เห็นชอบไล่ออก ผอ.โรงเรียนบ้านท่าใหม่ ที่ให้เด็กนักเรียนอนุบาลกิน “ขนมจีนคลุกน้ำปลา” ในถาดหลุม และ สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 2 ลงนามให้ออกจากราชการ ส่งต่อศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงนามให้ออกจากราชการ พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ซึ่งมีหลายฝ่ายมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นทำให้มีการตรวจสอบโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะในความเป็นจริงงบอาหารกลางอยู่ที่ 20 บาท/คน/วัน ที่รัฐบาลจัดสรรให้นักเรียนก่อนประถมศึกษา(ปฐมวัย)ถึงประถมศึกษาตั้งแต่ปี 2535 นั้น เพียงพอสำหรับการจัดอาหารกลางวัน

คิดเมนูอาหารกลางวันไม่ออกบอก'Thai School Lunch'  

 

          แต่จะว่าไปแล้วการจัดอาหารกลางวันก็มีปัญหาหลายประการ เช่น บางโรงเรียนมีนักเรียนน้อย เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดสรรงบให้ตามรายหัว ทำให้งบอาหารกลางวันจะไม่เพียงพอต่อค่าวัตถุดิบและค่าจ้างแม่ครัว จะทำอย่างไรให้เด็กกว่า 5 ล้านคนในโรงเรียนสังกัด อปท.ทั่วประเทศ 13,000 โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. อีกกว่า 30,000 โรงเรียนทั่วประเทศได้อาหารทั้งสะอาดปลอดภัยและมีคุณค่าสารอาหารตามที่เด็กควรได้รับ

          “จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี” ผู้จัดการโครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส กล่าวว่า งบประมาณที่จัดให้ 20 บาทนั้นเพียงพอสำหรับการจัดอาหารกลางวันให้มีคุณภาพได้ เพียงแต่ผู้บริหารโรงเรียนและครูที่รับผิดชอบใช้เมนูอาหารกลางวันตาม Thai School Lunch ที่จัดขึ้นตามโครงการเด็กไทยแก้มใสถวายเจ้าฟ้านักโภชนาการ ที่ต้องการให้เด็กไทยมีร่างกายสมบูรณ์ดูแลเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงให้มีร่างกายที่แข็งแรง มีการพัฒนาทางสมองและร่างกายอย่างสมวัย

 

คิดเมนูอาหารกลางวันไม่ออกบอก'Thai School Lunch'  


          ซึ่งโปรแกรมดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียน เพื่อช่วยครูบริหารจัดการอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาที่คุณครูจะต้องมานั่งคิด มีความหลากหลายบนพื้นฐานคุณค่าทางโภชนาการ งบประมาณที่เหมาะสมหรือจะดูของที่นักโภชนาการจัดมารวมทั้งสุ่มดูโรงเรียนอื่นได้ ซึ่ง สพฐ.ออกเป็นนโยบายให้ทุกโรงเรียนในสังกัดได้ใช้และให้ติดตามด้านภาวะโภชนาการของนักเรียน

          ปัจจุบันมีเว็บไซต์ไว้ให้โรงเรียนสามารถดาวน์โหลดเมนูอาหารไปใช้ได้ และมีข้อมูลเกี่ยวกับหลักโภชนาการที่ดี ความอ้วน เตี้ย และลักษณะโภชนาการที่ถูกต้องอื่นๆ ด้วย โดยในโปรแกรมจะออกแบบไว้ว่าถ้าจัดรายการอาหารได้ถูกต้องตามหลักโภชนาการจะมีเขียว ถ้าขึ้นเป็นสีแดงขาด สีม่วงเกิน ซึ่งสามารถปรับลดได้ตามขนาดความต้องการ และสามารถจัดเมนูอาหารกลางวันได้เป็นรายสัปดาห์ รายเดือนและทั้งภาคเรียนขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละโรงเรียน

          ทั้งนี้ ปริมาณอาหารมื้อกลางวันเด็ก 3 กลุ่มอายุกลุ่มอาหาร (ปริมาณ) ข้าว-แป้ง อายุ 3-5 ปี 1.5 ทัพพี ป.1-3 (6-8 ปี) 2 ทัพพี ป.4-6 (9-12 ปี) 2.5 ทัพพี และ ม.1-3 (13-15 ปี) 3 ทัพพี, เนื้อสัตว์ 1.5-2, 2, 2, 3 ช้อนกินข้าว ผัก 0.5, 1, 1, 1 ทัพพี ผลไม้ อัตราส่วน 0.5, 1, 1, 1 และน้ำมัน 1, 1.5, 2, 2.5 ช้อนชา

 

คิดเมนูอาหารกลางวันไม่ออกบอก'Thai School Lunch'  

 

          “อาหารกลางวันที่ควรจัดให้นักเรียน 6-13 ปี ควรประกอบด้วย ข้าว แป้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ขนมหวาน นมวันละ 2 แก้ว โดยเฉพาะผักควรจะมีทุกวัน ปริมาณมากน้อยตามวัย ส่วนขนมหวานทำมาจากถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หรือเผือก เพราะให้สารอาหารแก่ร่างกาย ในส่วนของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อย จะได้รับงบอาหารกลางวันน้อยตามไปด้วย สามารถบริหารจัดการโดยใช้ให้ครูและนักเรียนทำอาหารกลางวันเอง โดยวางแผนการผลิตทางการเกษตรเพื่อนำไปป้อนให้แก่โครงการอาหารกลางวัน” จงกลนี กล่าว

          ขณะที่ “รายา ปัญจมานนท์” อดีตผอ.โรงเรียนโคกวัด อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี โรงเรียนต้นแบบจัดอาหารกลางวันโดยใช้โปรแกรม Thai School Lunch ปัจจุบันเป็น ผอ.โรงเรียนบ้านเนินจำปา ในพื้นที่เดียวกัน เล่าว่า ที่โรงเรียนใช้โปรแกรมดังกล่าวช่วยวางแผนจัดอาหารกลางวันให้นักเรียนได้รับคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ โดยระบบนี้จะช่วยคำนวณปริมาณและคุณค่าทางอาหารให้ 

          เช่นถ้าการทำแกงเขียวหวาน สำหรับเด็ก 100 คน วัตถุดิบที่ใช้อะไรบ้าง ปริมาณเท่าไร คุณค่าทางโภชนาการที่เด็กจะได้รับจากอาหารมื้อนี้เท่าไร ระบบจะช่วยคำนวณให้ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนจัดซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่เหมาะสม และได้อาหารที่คุณค่าถูกหลักโภชนาการ โดยให้ครูและนักเรียนช่วยกันเตรียมวัตถุดิบและช่วยกันประกอบอาหาร

 

คิดเมนูอาหารกลางวันไม่ออกบอก'Thai School Lunch'  

 

          “ที่โรงเรียนจะเลี้ยงไก่เพื่อนำไข่มาประกอบอาหารให้กับนักเรียน ตามที่โปรแกรมกำหนดไว้ว่าในหนึ่งสัปดาห์นักเรียนจะต้องได้รับประทานไข่อย่างน้อย 2-3 ฟอง ใน 20 บาทสามารถทำอาหารได้ 3 อย่างให้แก่นักเรียนอนุบาล-ป.6 จำนวน 425 คน และยังเหลือพอแบ่งปันให้พี่ ม.1-ม.3 เอากลับบ้านอีกด้วย” ผอ.รายา กล่าว 

          ด้าน “สง่า ดามาพงษ์” นักโภชนาการ เสนอว่า การจะทำให้อาหารกลางวันของเด็กวัยเรียนมีคุณภาพ จะต้องมีนักโภชนาการเข้ามาดูแลเรื่องอาหาร อย่างน้อยตำบลละ 1 คน โดยอาจจะนำร่องในเทศบาลตำบลที่มีความพร้อมก่อน มาช่วยดูแลเรื่องอาหารทั้งในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมทั้งผลักดัน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การผลักดันให้ทุกโรงเรียนใช้ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือ Thai School Lunch จะช่วยควบคุมคุณภาพอาหาร คำนวณวัตถุดิบ

 

คิดเมนูอาหารกลางวันไม่ออกบอก'Thai School Lunch'  

 

          2.ร่วมกันวิเคราะห์รูปแบบของอาหารกลางวันทั้ง 5 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่ 1 ครูทำเองทั้งหมด แบบที่ 2 จ้างแม่ครัวโรงเรียนควบคุมวัตถุดิบ แบบที่ 3 การเปิดประกวดราคา  แบบที่ 4 จ้างคนทำอาหารจากภายนอก และแบบที่ 5 ร้านค้าประมูลขายอาหารนักเรียนนำคูปองมาซื้อ

          3.การจัดทำระบบติดตามที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบตรวจต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีระบบการรายงาน แต่อาจจะต้องเพิ่มให้พ่อแม่ ชุมชน นักเรียนมีบทบาทร่วมตรวจสอบ หรือกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของโรงเรียน 4.เสนอให้มีนักโภชนาการประจำตัว เพื่อดูแลอาหารในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และ 5.ให้บ้านและชุมชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาคุณภาพอาหารให้ดีขึ้น
 

 

คิดเมนูอาหารกลางวันไม่ออกบอก'Thai School Lunch'  

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ