คอลัมนิสต์

งบดับไฟใต้ละลายทะลุ 3 แสนล้าน - 5 วัน 12 ศพยังไร้คำตอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

งบดับไฟใต้ละลายทะลุ 3 แสนล้าน - 5 วัน 12 ศพยังไร้คำตอบ : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

          ผ่านวาระแรกไปแล้วสำหรับ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ประเด็นที่วิจารณ์และดราม่ากันหนัก ไม่ใช่เรื่องเม็ดเงินงบประมาณ แต่กลายเป็นการนั่งหลับในห้องประชุมของ สนช.หลายคน

          อย่างไรก็ดี รายละเอียดของร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2562 ก็ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าบันทึกไว้ โดยเฉพาะอัตราการเพิ่มขึ้นของงบกระทรวงกลาโหมในยุครัฐบาลทหาร และงบประมาณที่ใช้ในภารกิจดับไฟใต้ ซึ่งเป็นงานหลักที่รัฐบาลชุดนี้หมายมั่นปั้นมือเช่นเดียวกัน

          งบประมาณรายจ่ายปี 2562 กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายทั้งสิ้น 3,000,000 ล้านบาท (3 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 17.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2561 จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จัดเป็นงบขาดดุล เพราะมีประมาณการรายได้สุทธิเพียง 2,550,000 ล้านบาท (2.55 ล้านล้านบาท) เท่านั้น จึงกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 450,000 ล้านบาท

          สำหรับงบประมาณที่จัดสรรรายกระทรวงที่น่าจับตา คือ งบกระทรวงกลาโหม 227,671,419,500 บาท หรือราวๆ 2.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ราวๆ 7 พันล้านบาท โดยในปี 2561 กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณราวๆ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งงบปี 2561 ก็สูงขึ้นกว่าปี 2560 ที่ได้รับจำนวน 2.13 แสนล้านบาท คือเพิ่มขึ้นราวๆ 7 พันล้านบาทเช่นกัน

 

งบดับไฟใต้ละลายทะลุ 3 แสนล้าน - 5 วัน 12 ศพยังไร้คำตอบ

 


          และหากนับย้อนกลับไปตั้งแต่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง จะพบว่างบกลาโหมไต่ระดับสูงขึ้นตลอดทุกปี ตั้งแต่งบปี 2558 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท เป็นทะลุ 2 แสนล้านบาทในปี 2559 แล้วขยับขึ้นเป็น 2.13 แสนล้านในปี 2560

          ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระแรก ปรากฏว่ากระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบสูงเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มกระทรวงและหน่วยงานอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง รวม 20 กระทรวง/หน่วยงาน โดยกระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบสูงกว่า มีเพียงกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลังเท่านั้น ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ยังได้รับงบน้อยกว่ากระทรวงกลาโหม

 

งบดับไฟใต้ละลายทะลุ 3 แสนล้าน - 5 วัน 12 ศพยังไร้คำตอบ

 

          ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ
          1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 329,239.6 ล้านบาท
          2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำนวน 406,499.1 ล้านบาท
          3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน จำนวน 560,881.8 ล้านบาท
          4.ยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 397,581.4 ล้านบาท
          5.ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จำนวน 117,266 ล้านบาท
          6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ จำนวน 838,422.2 ล้านบาท

          แต่ละยุทธศาสตร์จะแยกเป็นแผนบูรณาการ จำนวน 24 แผนงาน โดยแผนบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “งบดับไฟใต้” ตั้งไว้ที่ 12,025.3 ล้านบาท บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง (ยุุทธศาสตร์ที่ 1)

          งบดับไฟใต้ที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น 12,025.3 ล้านบาทนี้ ลดลงจากงบประมาณปี 2561 เล็กน้อย โดยงบปี 2561 อยู่ที่ 13,295.4 ล้านบาท ส่วนงบปี 2560 อยู่ที่ 12,692 ล้านบาท โดยตัวเลขงบดับไฟใต้ นับเฉพาะงบยุทธศาสตร์ตามแผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ “งบฟังก์ชัน” เท่านั้น ยังไม่รวมงบบุคลากร งบเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มพิเศษ และงบอื่นๆ อีกจำนวนมาก

 

งบดับไฟใต้ละลายทะลุ 3 แสนล้าน - 5 วัน 12 ศพยังไร้คำตอบ

 

          สำหรับงบดับไฟใต้ปี 2562 จำนวน 12,025.3 ล้านบาท กระจายอยู่ในกระทรวงและหน่วยงานระดับกระทรวง รวมถึงองค์กรอิสระ รวม 16 หน่วยงาน ที่สำคัญก็เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จำนวน 3,821 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม 1,518 ล้านบาท (แยกตามเหล่าทัพ) กระทรวงมหาดไทย 1,601 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในกำกับ 1,419 ล้านบาท และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) 1,958 ล้านบาท

          การใช้จ่ายงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติงานความมั่นคงและงานพัฒนา นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 เป็นต้นมา จนถึงปีล่าสุด คือปีงบประมาณ 2562 ซึ่งยังไม่ผ่านสภา รวม 16 ปีงบประมาณ ยอดรวมงบดับไฟใต้ทะลุ 3 แสนล้านบาทไปแล้ว แยกแยะเป็นรายปีงบประมาณได้ดังนี้ ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท, ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท, ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท, ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท, ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท, ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท, ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท, ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท, ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท, ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท, ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท, ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท, ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท, ปี 2560 - 12,692 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการ) ปี 2561 - 13,255.7 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการ) ปี 2562 - 12,025.3 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการ) รวมทั้งสิ้น 302,926.9 ล้านบาท

 

งบดับไฟใต้ละลายทะลุ 3 แสนล้าน - 5 วัน 12 ศพยังไร้คำตอบ

 

          เหตุการณ์ฆ่าหมู่ใน 2 อำเภอ คือ สุคิริน จ.นราธิวาส กับ บันนังสตา จ.ยะลา ในห้วงเวลาห่างกันเพียง 5 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 ศพ และยังมีเหตุยิงรายวันอื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ รวมแล้ว 5 วัน (7-11 มิ.ย.61) สังเวยไปทั้งสิ้น 12 ศพ ทำให้สังคมหันกลับมาตั้งคำถามว่านี่ไฟใต้ไม่ได้ใกล้มอดเหมือนที่ฝ่ายความมั่นคงตอกย้ำอยู่บ่อยๆ ใช่หรือไม่?

          แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามสรุปเบื้องต้นว่าเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์ทางความมั่นคงก็ตาม แต่เป็นความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร (หาแร่ทองที่สุคิริน) หรือผลประโยชน์เรื่องยาเสพติด (ข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่บันนังสตา) ทว่าเหตุผลเหล่านี้ก็ไม่ได้ช่วยอธิบายเชิงสนับสนุนว่าสถานการณ์ไฟใต้มันดีขึ้นตรงไหน อย่างไร

          หากเราเชื่อทฤษฎีของฝ่ายความมั่นคงที่ว่าการสร้างสถานการณ์ของพวกอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เช่น บีอาร์เอ็น กำลังลดระดับลง แต่เหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นระยะหลังกลายเป็นฝีมือของพวกผู้มีอิทธิพล ค้าของเถื่อน ยาเสพติด และเช็กบิลกันเรื่องการเมืองท้องถิ่น ทำให้น่าคิดว่าสถานการณ์แบบนี้กำลังน่าวิตกยิ่งกว่าหรือไม่ เพราะศัตรูของสันติภาพที่กวนสถานการณ์ให้ขุ่น กำลังมี “ผู้เล่น” มากขึ้นกว่ากลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนพวกเดิมๆ

          จริงๆ จะว่าไป ปัญหายาเสพติด ค้าของเถื่อน หรือผู้มีอิทธิพล ก็เป็นปัญหาเก่าๆ ในพื้นที่นี้อยู่แล้ว บางทฤษฎียังพยายามอธิบายว่าไฟใต้จากพวกอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนก็ทับซ้อนกับปัญหาฐานรากของอำเภอชายแดนและอาชญากรรมพื้นฐานพวกนี้ด้วยซ้ำ

 

งบดับไฟใต้ละลายทะลุ 3 แสนล้าน - 5 วัน 12 ศพยังไร้คำตอบ

 

          แต่ต้องไม่ลืมว่าการก่อเหตุได้เกือบจะเสรีของกลุ่มเหล่านี้เป็นเพราะสถานการณ์ความรุนแรงจากพวกที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่ยืดเยื้อยาวนาน และฝ่ายความมั่นคงปิดเกมไม่ได้จริงๆ เสียที จึงเกิดช่องว่างให้พวกใต้ดินสามารถสร้างอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว และปฏิบัติการความรุนแรงได้แทบจะตามใจชอบ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะยังมีพวกอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนเป็นเป้าหมายหลักในมุมมองของรัฐอยู่

          การที่กลุ่มใต้ดินใช้ความรุนแรงได้แบบอหังการ์ ย่อมสะท้อนว่าสังคมที่ชายแดนใต้มีปัญหายาเสพติด ธุรกิจผิดกฎหมาย และผู้มีอิทธิพลหนักมาก และปัญหาเหล่านี้ถูกซุกไว้ใต้พรม (แต่มีบทบาทบนพรม) เพราะมีสถานการณ์ที่สร้างโดยกลุ่มอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนบดบัง แถมเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนเองนั่นแหละก็ได้ผลประโยชน์จากปัญหาพวกนี้ โดยหลบอยู่หลังเงาปัญหาแบ่งแยกดินแดนเช่นกัน

          ประเด็นที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 14 ปี ก่อความหวาดระแวงให้แก่ผู้คนต่างศาสนา ความหวาดระแวงระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ และความหวาดระแวงระหว่างประชาชนด้วยกันเอง จนไม่เหลือ “ทุนทางสังคม” ที่มากพอในการจัดการปัญหาให้ลุล่วง ไม่บานปลาย หรือขยายวง อย่างเช่น ปัญหา “ฮิญาบอนุบาลปัตตานี” หรือการขอแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามของนักเรียนมุสลิมโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ซึ่งคุกรุ่น คุมเชิงกันนานร่วมเดือน ท่ามกลางกระแสข่าวลือบ้าง จริงบ้าง ที่สร้างรอยแยกระหว่างคนสองศาสนาให้ถ่างกว้างยิ่งขึ้นไปอีก น่าแปลกที่ป่านนี้หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ยังดับเชื้อไฟไม่ได้เลย

          เช่นเดียวกับการรวมตัวของชาวบ้านสุุคิริน จ.นราธิวาส จำนวนหลายพันคนเพื่อแสดงจุดยืนปฏิเสธการตั้ง “หมู่บ้าน” รองรับผู้เข้าร่วมโครงการคนกลับบ้านของกองทัพภาคที่ 4 จนฝ่ายความมั่นคงต้องยอมถอย ล้มเลิกโครงการ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนภาพความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและไม่ได้ให้อภัยแก่ “ผู้กลับใจ” ตามที่ฝ่ายความมั่นคงเรียกขาน แม้คนเหล่านั้นจะไม่เคยมีหมายจับในคดีความมั่นคงเลยก็ตาม แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมก็ยังตั้งข้อรังเกียจ

          หากใครได้ศึกษา “กระบวนการ” ของโครงการพาคนกลับบ้านที่ลอกแนวทางมาจากโครงการ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ที่เคยเปิดป่าต้อนรับคนที่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในอดีตให้กลับคืนสู่เมือง และอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ธงชาติไทยผืนเดียวกัน จะพบความจริงว่าเมื่อชุมชนยังตั้งข้อรังเกียจ “คนกลับใจ” ก็เท่ากับโครงการพาคนกลับบ้านที่ทำกันมานานนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะการต้อนรับ “คนกลับบ้าน” หรือ “คนกลับใจ” คือหัวใจที่สำคัญที่สุดของโครงการลักษณะนี้

          นี่คือสารพัดปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ท่ามกลางความรุนแรงที่ดูจะลดระดับลง แต่โจทย์ของการดูแลสังคมหลังความรุนแรงเริ่มผ่านพ้นไป ดูจะยากเสียยิ่งกว่าการลดสถิติระเบิด วางเพลิง และยิงรายวันเสียอีก นี่ยังไม่นับปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยว เด็กกำพร้าจากความรุนแรงที่กำลังจะ “ฝีแตก” ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้

          ที่น่าเศร้าใจก็คืองานแบบนี้ดูจะเป็นงานที่กองทัพไม่ถนัดเอาเสียเลย ทั้งยังแทบไม่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้แก้ไขปัญหาสังคมที่กำลังล่มสลาย แม้ว่าจะละลายงบไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาทแล้วก็ตาม!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ