คอลัมนิสต์

ตัวปัญหา !!?? คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สแกนคำสั่ง 53/2560 ที่ทำให้ "พรรคการเมืองเก่า" กำลังอยู่อย่างอึดอัด แทบจะอกแตก

 

              ในขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ลั้นลาพาคณะรัฐมนตรีสัญจรพิจิตร-นครสวรรค์ มีอดีต ส.ส.จากหลายพรรคมาเข้าคิวรอต้อนรับเพียบ อีกมุมบรรดา “พรรคการเมืองเก่า” กำลังอยู่อย่างอึดอัด อัดอั้น แทบจะอกแตก

              หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย คือ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. รวมไปถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ที่แก้กฎหมายพรรคการเมือง “ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ” ดูเหมือนว่าเส้นทางไปสู่การเลือกตั้งถูกเคลียร์โล่ง

              แต่เมื่อกลับเข้าไปดูเงื่อนไขการดำเนินการต่างๆ ของพรรคการเมืองตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ จะพบว่า พวกเขายังทำอะไรไม่ได้เลย แถมในคำสั่งดังกล่าวถูกสร้างเงื่อนผูกปมให้พรรคการเมืองเก่าตกอยู่ในสภาพ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก” จะขยับไปทางไหนก็ไม่ได้

              โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่เคยทำให้พรรคการเมืองเก่ากระอักมาแล้วครั้งหนึ่งในการ “รีเซตสมาชิกพรรค”

ตัวปัญหา !!?? คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560

(อ่านต่อ...ถอดรหัส !! ม.44 ซ่อนเงื่อน "รีเซตสมาชิกพรรค-โรดแม็พ" ??)

 

ตัวปัญหา !!?? คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560

(อ่านต่อ...พรรคไหนกระอักสุด ?? สมาชิกหายสูงสุด 99 เปอร์เซ็นต์ !!)

 

              ด้วยเงื่อนไขที่ให้สมาชิกพรรคเก่าต้องมายืนยันการเป็นสมาชิก จนทำให้สมาชิกพรรคหายไปต่อหน้าต่อตา 80-90 เปอร์เซ็นต์นี้ ยังส่งผลกระทบไปถึง “สาขาพรรค" อีกด้วย

              วิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มือกฎหมายของพรรค บอกว่า เดิมพรรคมีสาขาพรรคอยู่ประมาณ 200 สาขา จากคำสั่ง คสช.ดังกล่าว ทำให้สาขาพรรคทั้งหมดก็หายไปด้วย

              นั่นหมายความว่า คำสั่ง คสช. ไม่ใช่แค่ รีเซตสมาชิกพรรค แต่ยังรีเซตสาขาพรรคด้วย

              แม้ไม่ถึงกับ “รีเซตพรรคการเมือง” อย่างที่ฝ่าย คสช.เคยมีไอเดีย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็แทบจะมีความหมายแบบนั้น

              นอกจากคำสั่ง คสช.ที่แทบจะสลายพรรคการเมืองเก่าแล้ว ยังล็อก “จังหวะก้าว” ของพรรคการเมืองเก่าให้ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างสะดวก

              ด้วยเงื่อนไขในคำสั่ง คสช.ฉบับดังกล่าว ทำให้พรรคการเมืองเก่าไม่สามารถดำเนินกิจกรรมของพรรคในส่วนที่เป็น “หัวใจ” ที่จะไปสู่การเลือกตั้งได้ ดังนี้

 

ตัวปัญหา !!?? คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560

              1.พรรคการเมืองเก่ายังไม่สามารถประชุมได้ ถ้ายังไม่มีการเลิกประกาศ คสช. ที่ 57/2557 (ห้ามพรรคการเมืองประชุม) และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป) ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งข้อ 1 ของ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 โดยกำหนดให้ประชุมได้ภายใน 90 วันหลังยกเลิก 2 คำสั่งดังกล่าว

              2.ยังหาสมาชิกพรรคไม่ได้ เนื่องจากคำสั่งยังล็อกไว้

              3.สาขาพรรคหายไปทั้งหมด เพราะสมาชิกพรรคที่หายไป สมาชิกที่เหลืออยู่ก็ยังไม่รู้ว่าใครอยู่ในเขตไหนบ้าง เนื่องจาก กกต.ยังไม่ได้มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง

              4.ตั้งสาขาพรรคใหม่ไม่ได้ เนื่องจากการตั้งสาขาพรรคมีข้อกำหนดเรื่องจำนวนสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในพื้นที่ของสาขาพรรคนั้นด้วย คือ ถ้าเป็นสาขาพรรค จะต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตของสาขาพรรคนั้นตั้งแต่ 500 คน ขึ้นไป แต่ถ้าเขตไหนไม่มีสาขาพรรค ก็สามารถมีฐานะเป็น “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” ได้ ถ้ามีสมาชิกในเขตเลือกตั้งนั้น 100 คนขึ้นไป

              เรื่องสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้ง ดังนั้นเมื่อ กกต.ยังไม่ได้แบ่งเขตเลือกตั้ง กระบวนการตั้งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคก็ไม่สามารถดำเนินการได้

              ทั้งนี้เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง กำหนดไว้ในร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ว่าให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหมายความว่า ต้องรอให้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ก่อน กกต.จึงจะสามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้

              หากเป็นไปตามขั้นตอน สมมุติว่า กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเดือนมิถุนายน ก็จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นผลจากที่มีการใช้ “อภินิหารกฎหมาย” แก้ไขให้กฎหมายลูกฉบับนี้มีผลบังคับใช้หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา 90 วัน

              เนื่องจากในกฎหมายกำหนดเงื่อนไขในการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า กกต.ต้องรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ประกอบด้วย ทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งทาง กกต. บอกว่า จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

              นั่นหมายความว่า อีก 2 เดือนจึงจะทราบว่าเขตเลือกตั้งไหนประกอบด้วยพื้นที่ใดบ้าง จากนั้นพรรคการเมืองจึงจะสามารถไปดำเนินการเรื่องสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้ ขณะที่ระยะเวลาเดินไปสู่การเลือกตั้ง 150 วัน จะเริ่มนับตั้งแต่กฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้

              จุดนี้เองที่พรรคการเมืองออกมาประสานเสียงบอกว่า จะไม่สามารถทำไพรมารีโหวตได้ทัน

              ทั้งนี้ ในการทำไพรมารีโหวต หัวหน้าสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดต้องจัดให้มีการประชุม หากเป็นการประชุมสาขาพรรคต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน หากเป็นการประชุมตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน

              วราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นอีกคนที่ออกมาสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับดังกล่าว ซึ่งทำให้สมาชิกพรรคหายไปจำนวนมากและกระทบไปถึงเรื่องการทำไพรมารีโหวต

              “ตอนนี้พรรคชาติไทยพัฒนา มีสมาชิกที่ยืนยันเพียง 4 พันกว่าคน ดังนั้นหากจะส่งผู้สมัครส.ส.ครบทุก 350 เขต จำเป็นต้องหาสมาชิกเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 8,000 คนถึง 10,000 คน ไม่เช่นนั้นเราจะทำไพรมารีโหวตไม่ได้ ผมขอความเห็นใจ อย่างน้อยขอให้ คสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่ได้ เพราะการทำไพรมารีโหวต ผูกอยู่กับจำนวนสมาชิกพรรค”

              ว่าที่หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา บอกว่า การทำไพรมารีโหวตจำเป็นต้องใช้เวลา ต้องลงพื้นที่ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบใหม่กับสมาชิกพรรคในพื้นที่ ต้องชี้แจงถึงการต้องออกมาเลือกผู้แทนของตนเองถึง 2 ครั้ง คือผ่านไพรมารีโหวตของพรรค กับการแข่งขันในสนามใหญ่ รวมถึงนำระบบไพรมารีโหวตผูกเข้ากับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยิ่งต้องใช้เวลา

              “วิษณุ เครืองาม” ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย ผู้บัญญัติคำ “อภินิหารกฎหมาย” ออกมาให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 มีปัญหา และเตรียมทางออกไว้แล้ว ซึ่งมีอยู่ 4 ทาง คือ 1.ไม่ต้องทำอะไรเลย 2.ให้มีการตีความ 3.แก้ไขกฎหมาย และ 4.ใช้มาตรา 44

              พิจารณาทั้ง 4 ทางที่ “วิษณุ” บอก

              ทางแรกไม่ต้องทำอะไรเลย ผลก็คือหากพรรคการเมืองไหนทำไพรมารีโหวตไม่ทันก็จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่ได้

              ทางที่สอง ให้มีการตีความ หรือทางที่สาม แก้ไขกฎหมาย ก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

              ทางที่สี่ ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา ตอนนี้มีหลายส่วนที่เสนอแนวทางนี้ รวมทั้ง กกต.ด้วย

              ทั้งนี้ “วิษณุ” ได้นัดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กกต. และ กรรมาธิการของสนช.มาหารือในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ จากนั้นจะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาหารือ

 

ตัวปัญหา !!?? คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560

(อ่านต่อ...วิษณุ" เรียกกรธ.- กกต.หารือเรื่องเลือกตั้ง 14 มิ.ย.)

 

              อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 แล้ว จะพบว่าปมปัญหาที่ทำให้พรรคการเมือง โดยเฉพาะ “พรรคการเมืองเก่า” ต้องติดหล่มนั้นไม่ได้อยู่ที่เพียงปมใดปมหนึ่ง แต่มีการผูกหลายเรื่องโยงไปโยงมาเข้าหากัน

              นอกจากในเนื้อคำสั่งที่มีอยู่ 9 ข้อแล้ว ในส่วนของอารัมภบทคำสั่ง ที่เขียนไว้ 2 หน้าเต็ม ก็มีรายละเอียดเงื่อนไขที่วันนี้สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะเหตุผลในการคง 2 คำสั่งของ คสช. เรื่องห้ามพรรคการเมืองประชุม และห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ที่บอกไว้ว่า

              “ความจําเป็นต้องคงประกาศและคําสั่งดังกล่าวต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสอ้างการดําเนินการตามกฎหมายไปกระทํากิจกรรมทางการเมืองอื่น อันกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและความปกติสุขในบ้านเมือง ซึ่งกําลังดําเนินมาด้วยดี ตลอดจนกระทบต่อบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง การอยู่ระหว่างการจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศ และการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ ประกอบกับในขณะนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่แล้วเสร็จ”

              ส่วนที่เปลี่ยนไปแล้วแน่ๆ คือ ท่อนหลัง เรื่องกฎหมายลูก 2 ฉบับ ที่ คสช.อ้างว่า สนช.ยังทำไม่แล้วเสร็จ แต่วันนี้ทำเสร็จแล้ว

              ส่วนท่อนแรก เป็นดุลพินิจของ คสช. ซึ่งเหตุผลนี้ คสช.ใช้มาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามายึดอำนาจ

              หากยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งจะเป็นตัวชิงตำแหน่ง “นายกฯ” หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า และพรรคการเมืองของฝั่ง คสช. เดินสายปล่อยพลังดูดอย่างเต็มที่ ก็อย่าได้แปลกใจถ้าจะมีนักการเมืองออกมาโวยอีกว่า  “บิ๊กตู่” เอาเปรียบคู่แข่ง !!

 

===============

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

***เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ถอดรหัส !! ม.44 ซ่อนเงื่อน "รีเซตสมาชิกพรรค-โรดแม็พ" ??

ตัวปัญหา !!?? คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ