คอลัมนิสต์

วอน "บิ๊กตู่" จัดหนัก "กรรมการมุบมิบ"ขายสารพิษเกษตรกร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วอน "บิ๊กตู่" จัดหนัก "กรรมการมุบมิบ"ขายสารพิษเกษตรกร : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ

  
  
          สถานการณ์ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากตัวแทนเครือข่ายแพทย์ เภสัชกร นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อมและภาคประชาชนเกือบ 700 องค์กร จับมือกันเคลื่อนไหวต่อต้านสารพิษ 3 ตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน ....
 

          หากคณะกุนซือที่ปรึกษา “รัฐบาล คสช.” มองข้ามผ่าน หรือหน้ามืดตามัวกระซิบข้างหู “นายกฯ บิ๊กตู่” ว่าเป็นแค่ประท้วงประเดี๋ยวประด๋าวสักพักก็ลืมๆ กันไป...ด้วยความเคารพ..ถ้าบิ๊กตู่หลงเชื่อคำปรึกษาเหล่านี้จริง คงทำนายได้ไม่ยากว่าหายนะของรัฐบาลทหารคงจะมาถึงอีกไม่นานเกินรอ...

          ก่อนอื่นอยากขอร้องให้ “บิ๊กตู่” ช่วยท่องจำสารเคมี 3 ตัวนี้ให้ดียาฆ่าหญ้า “พาราควอต” (Paraquat) “ไกลโฟเซต” (Glyphosate) และยาฆ่าแมลง “คลอร์ไพริฟอส” (Chlorpyrifos) ชื่ออาจจำยากสักนิดนึง แต่ผู้ที่มีความจำดีเยี่ยมระดับนายกประเทศไทยคงไม่เกิน 5 นาทีท่องขึ้นใจได้แน่นอน

          “พาราควอต” คำนี้อาจไม่ค่อยคุ้นหู แต่ถ้าบอกเป็นชื่อยี่ห้อมากกว่า 200 ชื่อ คงต้องร้อง “อ๋อ!” โดยเฉพาะยี่ห้อ “กรัมม็อกโซน” ที่โฆษณาใส่หูชาวบ้านทุกวัน ชื่อกรัมม็อกโซนนี้คุณหมอห้องฉุกเฉินสยองนัก เพราะคนฆ่าตัวตายมักนิยมซื้อไปกรอกปากตัวเอง หมอล้างท้องบ่อยๆ จนแทบไม่ต้องถามรายละเอียด..

 

วอน "บิ๊กตู่" จัดหนัก "กรรมการมุบมิบ"ขายสารพิษเกษตรกร

 

          เนื่องจากเป็นสารพิษชนิดรุนแรงได้ใจ กินทีเดียวเห็นผลสมใจนึก!ถือเป็นยาฆ่าตัวตายยอดนิยม ซื้อง่ายราคาถูกมีขายทั่วไป  ส่วนยี่ห้อรองๆ ลงมาที่ชาวบ้านรู้จักเช่น ยี่ห้อแอคชั่น, อะโกรควอท, อะโกรโซน, เฮอโบโซน, เฮอบิคิว ฯลฯ

          กลุ่มนักวิชาการและกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคพยายามต่อต้านไม่ให้มีการใช้สารพิษทั้ง 3 ตัวนี้ในแปลงเกษตรมาหลายปีแล้ว เพราะงานวิจัยทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นอันตรายทั้งในคนใช้ คนกิน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
 
          ประเทศที่เน้นการทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่แบบไทยต่างทยอยยกเลิกหรือควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัด ปัจจุบันมี 51 ประเทศ “ยกเลิกห้ามใช้อย่างอย่างเด็ดขาด” อยู่ในทวีปเอเชีย 9 ประเทศ แม้แต่เพื่อนบ้านของไทยเช่น กัมพูชา เวียดนาม และลาว ก็ประกาศห้ามใช้แล้ว ที่เหลือเป็นกลุ่มประเทศทวีปยุโรป 31 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 11 ประเทศ

          งานวิจัยมากมายรวมถึงรายงานผลกระทบจากประสบการณ์จริงของผู้ใช้ ผู้กิน ยืนยันชัดเจนว่าสารพิษร้ายทั้ง 3 ชนิดนี้ ไม่ควรให้ใช้ในแปลงเกษตรอีกต่อไป เช่น หญิงตั้งท้องพบความเสี่ยงรับสารพิษพาราควอตมากกว่าคนทั่วไป 6 เท่า สารพิษไกลโฟเซตมากกว่าคนทั่วไป 12 เท่า ผลสำรวจแม่ลูกอ่อนพบสารพิษคลอร์ไพริฟอสในน้ำนมแม่ร้อยละ 41 และทารกน้อยร้อยละ 5 กำลังรับสารตัวนี้ผ่านทางน้ำนมแม่
 
          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พยายามเดินสายขึ้นเวทีหลายแห่งในช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ เพื่อกล่าวเตือนถึงอันตรายของสารเหล่านี้ว่าไม่ใช่ก่อมะเร็งเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดผลกระทบถึงสมองด้วย
 
          “ทั้งพาราควอตและไกลโฟเซต มีหลักฐานหลายชิ้นยืนยันผลการทดลองในระดับเซลล์และในระดับยีนตรงกันว่าก่อให้เกิดพิษในระยะยาว คนสัมผัสเสี่ยงเป็นโรคทางสมองแบบรักษาไม่ได้ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และเกี่ยวพันไปถึงเซลล์มะเร็งต่างๆ ผมเจอคนตายอย่างทรมานมาแล้วหลายคนเพราะไปพลาดโดนสารพวกนี้ทางผิวหนัง หรือกินเข้าไปแบบไม่ตั้งใจ ต้องตายอย่างทรมานจากเนื้อปอดเป็นพังผืดตับวาย หรือไตวาย สารพวกนี้ต่อให้ใส่เสื้อผ้าปิดมิดชิด ก็อาจไปโดนแผลแล้วซึมเข้าร่างกายอันตรายถึงชีวิตได้เหมือนกัน”

   

 

วอน "บิ๊กตู่" จัดหนัก "กรรมการมุบมิบ"ขายสารพิษเกษตรกร


          ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ดูเหมือนยังสื่อสารไปไม่ถึงหูบิ๊กตู่หรือบิ๊กๆ ในกระทรวงเกษตรฯ
   
          ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยซื้อสารพิษ 3 ตัวนี้ใช้ปีละเกือบ 8 พันล้านบาท ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรปี 2559 ไทยนำเข้าสารพิษ “พาราควอต” มาฉีดฆ่าหญ้า 32 ล้านกิโลกรัม ปี 2560 พุ่งขึ้นเป็น 44.5 ล้านกิโลกรัม มูลค่าประมาณ 3.8 พันล้านบาท โดย บริษัท ซินเจนทา (Syngenta) เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่

          “ไกลโฟเซต” นำเข้า 60 ล้านกิโลกรัม 3.3 พันล้าน ผ่านทาง บริษัท มอนซานโต้ (Monsanto) ผู้นำเข้ารายใหญ่ ส่วน “คลอร์ไพริฟอส” นำเข้า 3.7 ล้านกิโลกรัม มูลค่า 607 ล้านบาท ผ่านทาง บริษัท ดาวเคมีคอล (Dow Chemical) ผู้นำเข้ารายใหญ่
  
          สาเหตุที่ยอดตัวเลขสูงขนาดนี้เพราะเกษตรกรนิยมซื้อไปพ่นฆ่าหญ้าหรือฆ่าวัชพืชในแปลงเกษตรแทบทุกชนิด เช่น ไร่มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ยางพารากระเทียม ผักชี ฯลฯ
 
          เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจลงบทสัมภาษณ์ของ นายธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการกลุ่มบริษัทซินเจนทา ประเทศไทย ผู้นำเข้าสารเคมีเกษตรรายใหญ่ของไทย นายธนัษอธิบายว่า สารพาราควอตมีคุณสมบัติเด่นคือ ออกฤทธิ์ในการคุมฆ่าหญ้าทันที นิยมใช้ในหมู่เกษตรกรอย่างแพร่หลายนานกว่า 50 ปี หากไม่มีสารพาราควอตใช้จะกระทบโดยตรงแก่เกษตรกรทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและการใช้สารทดแทนตัวอื่นก็ไม่คุ้มเพราะมีประสิทธิภาพด้อยกว่า และต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่าสารพาราควอต ในปี 2559 ซินเจนทามียอดขายสารเคมีเกษตรทั้งหมดรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท ปี 2560 คาดว่าจะมียอดขายรวมเติบโตประมาณร้อยละ 10 จากปีก่อน ส่วนตัวเลขยอด

          ขายสารพาราควอตมีประมาณร้อยละ 20 ของยอดขายรวมทั้งหมด

          คำสัมภาษณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าเฉพาะบริษัทเดียวนำเข้าสารเคมีเกษตรมาขายมากถึง 5 พันล้านบาท ทำให้กลุ่มผู้บริโภคและเครือข่ายภาคประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวประท้วงยกเลิกการนำเข้าสารพิษทั้ง 3 ตัว

 

วอน "บิ๊กตู่" จัดหนัก "กรรมการมุบมิบ"ขายสารพิษเกษตรกร

 

 

          โดยได้รับเสียงตอบรับสนับสนุนจากกลุ่มแพทย์เป็นอย่างดีเพราะทั่วโลกห้ามใช้กันเกือบหมดแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2560 “คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” มีมติให้ “ยกเลิก” การใช้และนำเข้า “พาราควอต” กับ “คลอร์ไพริฟอส” ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้อย่างเด็ดขาดในวันที่ 1 ธันวาคม 2562
   
          ถือเป็นชัยชนะยกแรกของผู้บริโภค เพียงแต่ “อำนาจตัดสินที่แท้จริง” ในการสั่งให้ห้ามใช้และห้ามนำเข้าเป็นของ “กระทรวงเกษตรฯ” ผ่านทาง “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ซึ่งเป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้าย

          คณะกรรมการชุดนี้มีทั้งหมด 29 คน ส่วนใหญ่เป็นโดยตำแหน่ง เช่น อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการแพทย์ ฯลฯ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 10 คน
 
          เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” มีมติตัดสิน “ไม่ยกเลิก” การขายสารพิษอันตรายฆ่าหญ้า 3 ชนิด “พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต” แต่ให้ไปหาวิธีจำกัดการใช้แทน
  
          “สมบูรณ์ ยินดียั่งยืน” รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการทั้งหมด 29 คน มาเข้าร่วมประชุม 24 คน ในการออกเสียงมี 18 คน ลงมติว่า “ควรจำกัดการใช้” ไม่ใช่เลิกใช้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ
  
          ตั้งแต่ “มติ” วันที่ 23 พฤษภาคม ถูกเผยแพร่ออกมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมผู้บริโภค เกษตรปลอดสารพิษทั้งหมด 686 องค์กร รวมตัวจับมือกันประกาศก้องว่าต้องประท้วงยกเลิกมติของ “คณะกรรมการมุบมิบ” ชุดนี้ให้ได้

 

วอน "บิ๊กตู่" จัดหนัก "กรรมการมุบมิบ"ขายสารพิษเกษตรกร


  
          สาเหตุที่ต้องเรียกว่า “คณะกรรมการมุบมิบ” เพราะทุกคนรู้ซึ้งว่าสารพิษทั้ง 3 ชนิดอันตรายเพียงไร แต่ทำไมยังไม่กล้าสั่งเลิกใช้ เลิกนำเข้ามาขายให้คนไทย
   
          หรือเพราะมี “ผลประโยชน์” ก้อนใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเปล่า ?

          เช้าวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนเกือบ 700 องค์กรนัดหมายเดินขบวนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้ “นายกฯ บิ๊กตู่” รับรู้ว่ามีกรรมการมุบมิบน่าสงสัยในกระทรวงเกษตรกร

          เนื้อหาสำคัญในหนังสือแถลงการณ์ร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ

          "ขอให้ทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส"
 
          โดยเฉพาะปัญหาการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย” ที่มี 12 คน คัดเลือกตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ถึง 4 คน และอีก 4 คนเลือกมาจากผู้ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ ที่สำคัญคืออนุกรรมการเกือบทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความเข้าใจเรื่องสารพิษเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 
   
          มีคนแอบเปิดข้อมูลลับว่ากรรมการอย่างน้อย 2-3 คน มีส่วนได้เสียกับยักษ์ใหญ่บริษัทค้าขายสารเคมีกำจัดศัตรูพืช
 
          “อุบล อยู่หว้า” ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสาน หนึ่งในแกนนำ 700 องค์กรที่ไปยืนตากแดด รอยื่นหนังสือร้องเรียนถึง “บิ๊กตู่” เปิดเผยความในใจกับ คม ชัด ลึก 
  

 

วอน "บิ๊กตู่" จัดหนัก "กรรมการมุบมิบ"ขายสารพิษเกษตรกร

 


          "เอาเป็นว่าคนในวงการเกษตรรู้ดีแล้วกัน เห็นชื่อก็รู้ว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทขายสารเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่บ้าง แน่นอนอาจไม่ได้มีชื่อมีตำแหน่งเป็นทางการ แต่รู้ว่าเป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียง หรือต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนแน่ๆ การแก้ปัญหาตอนนี้ง่ายมาก ขอเพียงรัฐบาลมีคำสั่งให้แต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจชุดใหม่ขึ้นมา
  
          เริ่มจากตั้งกระบวนการสรรหาอย่างโปร่งใสจริงๆ คนที่ได้รับเลือกเข้าไปต้องเป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ถ้าเป็นตัวแทนกระทรวงต้องเป็นข้าราชการมีความรู้มือสะอาด ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีความเป็นกลาง มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ ไม่ใช่เป็นคนที่รู้ๆ กันอยู่ว่าบริษัทขายสารเคมีสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง"
 
          ข้อเรียกร้องของ “อุบล อยู่หว้า” อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน หากรัฐบาลนำไปพิจารณาจะได้รับการสรรเสริญจากทุกฝ่าย
 
          วินาทีนี้ขึ้นอยู่กับกุนซือของ “บิ๊กตู่” ว่าจะเลิกหน้ามืดตามัว เปิดใจรับความคิดเห็นของภาคประชาชนเกือบ 700 องค์กรนี้หรือไม่?

          ถ้ายังดื้อรั้นอยู่อาจถูกสงสัยได้ว่าเป็นหนึ่งใน “แก๊งกรรมการมุบมิบ” ของกระทรวงเกษตรฯ หรือเปล่า
  
          หรือถึงเวลาแล้วที่ “นายกฯ บิ๊กตู่” ต้องส่งสายลับไปไล่เช็กประวัติกุนซือทุกคนใหม่อีกครั้ง!?!

 

วอน "บิ๊กตู่" จัดหนัก "กรรมการมุบมิบ"ขายสารพิษเกษตรกร

 

 

           ข้อดี–ข้อเสีย ... ยกเลิก 3 สารพิษ !  
          "รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์" หนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเอกสารแสดงความคิดเห็นส่วนตัวให้สื่อมวลชนโดยระบุถึงข้อดีและข้อเสียของการยกเลิกสารเคมี 3 ตัวนี้ว่า
 
          ข้อดี
          1.หยุดการใช้สารเคมีพิษอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
          2.สนับสนุนนโยบายเกษตรอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรส่งออกของไทย
          3.ใช้ช่วงเวลา 1 ปี เปลี่ยนพฤติกรรมให้ใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยกว่า
          4.ลดค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยในระยะยาวโดยเฉพาะโรคมะเร็ง
          ข้อเสีย
          1.อาจมีการลักลอบขาย ถ้ากระทรวงเกษตรฯ ไม่เข้มงวด
          2.สารทดแทนช่วงแรกอาจมีราคาสูงขึ้น
 
          ทางเลือกใหม่ กำจัดหญ้า  !
          1.ใช้จอบหมุนติดรถไถเดินตามและแทรกเตอร์
          2.ปลูกยางผสมผสานกับไม้ยืนต้น เช่น ตะเคียนทอง กฤษณา จำปาทอง ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช
          3.ใช้พืชตระกูลถั่วคลุมดิน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ