คอลัมนิสต์

"ฉีก" ได้ไง ? รัฐธรรมนูญ "SUPER LOCK" 5 ชั้น !!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำรวจเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ล็อกไว้ถึง 5 ชั้น แบบนี้พรรคอนาคตใหม่จะ "ฉีก" ได้ไหม??

 

               นอกจากนโยบายเพื่อปากท้องแล้ว อีกเรื่องที่จะถูกหยิบมาเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอนคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

               เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาหลังการประกาศจาก “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” สองผู้นำพรรคอนาคตใหม่ในการประชุมพรรคครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

"ฉีก" ได้ไง ?  รัฐธรรมนูญ "SUPER LOCK" 5 ชั้น !!

(อ่านต่อ..."พรรคอนาคตใหม่"เล็งแก้"รธน.60"ทั้งฉบับ!!)

 

               “ปิยบุตร” แสดงท่าทีว่าพรรคจะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ๆ โดยจะเริ่มจากมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่นิรโทษกรรมให้แก่ คสช. ขณะที่ “ธนาธร” บอกว่า ใช้คำดุดเดือดว่าจะ “ฉีก” เลย

               ความจริงนอกจากพรรคอนาคตใหม่ยังมีพรรคอื่นที่เคยแสดงท่าทีว่าต้องการจะแก้ไขรัฐธธรรมนูญฉบับคสช. เพียงแต่ถ้อยคำและท่าทีอาจจะไม่แรงเหมือนพรรคอนาคตใหม่

               ท่าทีของพรรคอนาคตใหม่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก บ้างว่าเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น บ้างบอกอย่างนี้ต้องยุบพรรค รวมถึง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ที่ออกมา “สั่ง” กกต.ว่าต้องตรวจสอบคำประกาศและนโยบายดังกล่าว

               จนกระทั่ง “ชำนาญ จันทร์เรือง” รองหัวหน้าพรรค ต้องออกมาอธิบายว่า คำว่า “ฉีก” ของธนาธร เป็นแค่ภาษาพูด แต่ในความเป็นจริงคือจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ โดยจะใช้วิธีเหมือนตอนรัฐธรรมนูญ 2534 คือแก้ไขมาตรา 211 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาร่างรัฐธรรมนูญ

"ฉีก" ได้ไง ?  รัฐธรรมนูญ "SUPER LOCK" 5 ชั้น !!

(อ่านต่อ..."อนาคตใหม่"ยันแนวคิดแก้รธน.ภายใต้กติกา-ยึดฉันทามติปชช.)

 

               แน่นอน “ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ต้องออกมาสนับสนุนแนวคิดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะนั่นคือผลงานชิ้นโบแดงของ “บรรหาร ศิลปอาชา” ผู้เป็นพ่อ แต่เขายังมีติ่งถึงรายละเอียดในการแก้ไข โดยบอกว่าบางประเด็นในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นเรื่องที่ดีที่อยากให้คงไว้

 

"ฉีก" ได้ไง ?  รัฐธรรมนูญ "SUPER LOCK" 5 ชั้น !!

(อ่านต่อ...ชทพ.โดดร่วมวงแก้รธน.-มั่นใจทุกพรรคร่วมมือทำสำเร็จ )

 

               ส่วนพรรคเพื่อไทย จุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ถ้าเข้าไปมีอำนาจจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน

               สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ การที่พรรคนี้มีจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในตอนทำประชามติ ก็น่าจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่ง

               อย่างไรก็ตามต้องบอกว่าการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ทำได้ยากมาก เพราะกลไกที่ถูกออกแบบไว้ โดย “มีชัย ฤชุพันธุ์” เรียกว่าวางเงื่อนไขไว้แบบ “ซูเปอร์ล็อก”

               เทียบรัฐธรรมนูญตั้งแต่หลังการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบและเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534 เป็นต้นมา ต้องบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือรัฐธรรมนูญที่คณะผู้ยึดอำนาจเขียนเงื่อนไขล็อกแล้วล็อกอีกไว้หลายชั้น จนเรียกได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้คือรัฐธรรมนูญที่แก้ไข “ยากที่สุด”

               นับแต่ปี 2534 มีรัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 ฉบับ คือ

               รัฐธรรมนูญ 2534 ของ รสช. ที่นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร

               รัฐธรรมนูญ 2540 ฉบับที่ถูกเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน

               รัฐธรรมนูญ 2550 ของคณะยึดอำนาจในนาม “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

               รัฐธรรมนูญ 2560 ของคณะยึดอำนาจในนามคสช.นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

               เปรียบเทียบเฉพาะบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ จะพบว่าฉบับ 2560 เขียนไว้แน่นหนาที่สุด

               ในส่วนของผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะเรียกได้ว่าทั้ง 4 ฉบับมีช่องทางไม่ต่างกันมากนักคือให้ครม. หรือ ส.ส. หรือ ส.ส.กับ ส.ว. และฉบับปี 2560 เพิ่มช่องทางให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5 หมื่นคนเสนอได้ด้วย

               แต่ในรายละเอียดขั้นตอนการพิจารณาที่กำหนดให้ต้องทำโดยที่ประชุมรัฐสภา และพิจารณา 3 วาระ ตรงนี้แหละที่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมา ถึงขนาดมีการพูดกันว่า ถ้าจะเขียนขนาดนี้ก็น่าจะเขียนเลยว่า “ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

               สำหรับรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับแรก เขียนเงื่อนไขการพิจารณาใน 3 วาระไว้เหมือนกัน คือในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา ในวาระที่ 2 ใช้เสียงข้างมากเป็นประมาณ ก็คือ เสียงข้างมากของผู้ที่ร่วมพิจารณาอยู่ขณะนั้น แต่ก็ต้องครบองค์ประชุม และวาระ 3 ใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา

               และเมื่อผ่านการพิจารณาทั้ง 3 วาระแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ

               ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในวาระแรก นั่นคือ ในเสียงรับหลักการที่ต้องใช้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภานั้น จะต้องมี ส.ว.อยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว.ทั้งหมด

               ต้องไม่ลืมว่า ส.ว.ชุดแรกที่ให้มี 250 คน (จากปกติมี 200 คน) ในจำนวน 200 คน คสช.เป็นคนเลือก และอีก 50 คน มาจากกระบวนการเลือกกันเองที่ก็มีการเพิ่มเงื่อนไขพิเศษเข้าไปในบทเฉพาะกาลของกฎหมาย ส.ว. ด้วย

               หากผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ “ฝั่งตรงกันข้าม คสช.” โอกาสที่จะมี ส.ว.ไม่น้อยกว่า 64 คนจะเห็นด้วย มีน้อยมาก

               มาถึงวาระ 3 ก็เพิ่มเงื่อนไขล็อกเข้าไปอีกว่า ในจำนวนเสียงเห็นชอบที่ต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภาต้องมีเสียงจาก ส.ส.ฝ่ายค้านทุกพรรคไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของทุกพรรครวมกัน และเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของส.ว.ทั้งหมด

               ล็อกอีก 2 ล็อก

               นอกจากปมส.ว. ในทางการเมืองโอกาสที่ฝ่ายค้านจะเห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาลนั้นก็ยากยิ่ง ยกเว้นจะเป็นประเด็นที่มีแรงกดดันจากกระแสสังคมภายนอก

               นอกจาก 3 ล็อกข้างต้นที่เพิ่มขึ้นมา ก็ยังมีอีก 2 ล็อก คือ 1.หากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ “ต้องทำประชามติ” ด้วย

               2.ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบของร่างแก้รัฐธรรมนูญได้

               รวม 5 ล็อก !!

 

"ฉีก" ได้ไง ?  รัฐธรรมนูญ "SUPER LOCK" 5 ชั้น !!

 

               คงไม่ลืมกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับเรื่องที่มา ส.ว. เมื่อปี 2556 ขัดรัฐธรรมนูญ

               เหตุผลในการชี้ว่าพรรคเพื่อไทยทำขัดรัฐธรรมนูญครั้งนั้น มีเหตุตั้งแต่เรื่องกระบวนการที่ไม่ชอบ ตั้งแต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ การลงคะแนนแทนกัน การตัดสิทธิการอภิปราย ไปจนถึงเนื้อหาที่เสนอแก้ไข

               นี่แหละที่ “วิรัตน์ กัลยาศิริ” มือกฎหมายจากพรรคประชาธิปัตย์บอก “ธนาธร” ว่า ต้องไปดูเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญให้ดี มิฉะนั้นจะเป็นเพียงลมปากเพื่อการหาเสียงเท่านั้น

               อย่างไรก็ตามพรรคอนาคตใหม่ก็คงจะเข้าใจเงื่อนไขเรื่องนี้อย่างดีแล้ว จึงบอกว่าต้องได้รับฉันทามติจากประชาชนก่อนจึงจะทำได้

               สุดท้ายจะเป็นไปได้ไหม ขึ้นอยู่กับเสียงประชาชน !!

 

===============

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ